Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ เปิดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ อิสลามศึกษาหลังยุคโลกาภิวัตน์ ยันรัฐยอมรับความจริงประวัติศาสตร์ปัตตานี ย้อนอดีตความเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาโลก พร้อมทุ่มงบประมาณพัฒนาวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. ชี้เป็นความก้าวหน้าทางการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

กนก วงษ์ตระหง่าน (ซ้าย) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอูมัร อุบัยด์ ฮาซานะห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนาอิสลาม ประเทศกาตาร์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

 

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีการจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ หัวข้อ "Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies" โดยมีนักวิชาการทางด้านอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ 40 แห่ง ใน 16 ประเทศเข้าร่วม

รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงานว่า มหาวิทยาลัยมีความปรารถนาที่จะให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.เป็นศูนย์กลางทางด้านอิสลามศึกษาของภูมิภาค ที่ให้นักศึกษาทั้งประเทศเพื่อนบ้านและจีนเข้ามาเรียนอิสลามศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี โทและเอก ปัจจุบันมีนักศึกษาจากประเทศจีน โซมาเลีย และไนจีเรียมาเรียนแล้ว 20 คน

จากนั้นรศ.ดร.บุญสม พร้อมด้วย ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยศ.ดร.กนก แถลงว่า เหตุที่จัดสัมมนาครั้งนี้ที่ปัตตานี เนื่องจากในอดีตเมื่อ 700 – 800 กว่าปีก่อน ปัตตานีเป็นดินแดนที่มีอารยธรรม มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพมากมาย และมีประวัติศาสตร์ของนักคิดนักวิชาการจำนวนมาก ที่อยู่ในภูมิภาคนี้มากมาย ได้ใช้ปัตตานีในการศึกษา วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อิสลาม และเทคโนโลยีอิสลาม

ศ.ดร.กนก แถลงต่อไปว่า เพราะฉะนั้นปัตตานี จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลาง เพื่อที่จะตอบคำถามเรื่องอิสลามศึกษาในยุคหลังโลกาภิวัฒน์ เพราะฉะนั้นคำตอบที่ปัตตานีวันนี้ จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับประเทศไทย แต่เป็นการตอบคำถามสำหรับโลกที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และให้การสนับสนุน แต่นายกรัฐมนตรีมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องทางวิชาการ เป็นเรื่องความคิด น่าจะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความรุ่งเรืองของอิสลามศึกษา ซึ่งปัตตานีเคยเป็นศูนย์กลาง และหวังว่าหลังจากนี้ไป ปัตตานีจะปรากฏอยู่ในแผนที่โลกของอิสลามศึกษา ใครที่ไหนก็ตามที่พูดถึงอิสลามศึกษา จะต้องพูดถึงปัตตานี” ศ.ดร.กนก กล่าว

ศ.ดร.กนก แถลงอีกว่า มั่นใจว่าในอนาคตเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของอิสลามศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์หน้านั้น ก็จะบอกอีกว่า ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง นี่คือความภาคภูมิใจของคนไทย ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศที่จะได้ทำประโยชน์ในทางวิชาการให้กับโลกมุสลิมในอนาคต

ศ.ดร.กนก แถลงด้วยว่า รัฐบาลตั้งใจจะสนับสนุนอิสลามศึกษาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้อาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ ให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษามุสลิมทั่วโลก ที่สำคัญคือจะจัดให้มีการสอนภาษาอาหรับที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา และจะมีการทดสอบมาตรฐานทางภาษา นักศึกษาที่สอบผ่านก็ไม่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ สามารถที่จะสมัครเรียนต่อไปเลย เหมือนกับการสอบโทเฟลที่ใช้ในการสอบภาษาอังกฤษ

ศ.ดร.กนก แถลงเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐบาลบาลจะทำต่อหลังจากนี้คือ การสัมมนาลักษณะนี้จะมีต่อไป อาจเป็นทุก 2 ปี และสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ และบุคลากร นอกเหนือจากอาคารสถานที่ เป็นศูนย์กลางของภาษาและเป็นศูนย์ในเรื่องการวิจัย

รศ.ดร.บุญสม แถลง มีความเป็นไปได้ที่วิทยาลัยอิสลามจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลาม มีความพร้อมสู่ความเป็นเลิศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางที่ดึงเด็กจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในพื้นที่ โดยหวังว่าจะให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาเป็น “sekolah” (โรงเรียน) ของโลกอิสลามศึกษา ปัจจุบันนักวิชาการของวิทยาลัยอิสลามศึกษามีความรู้ระดับโลก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารภาษาอาหรับ จึ้งจำเป็นต้องตั้งศูนย์ภาษาอาหรับ

จากนั้นการสัมมนาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเวลา 15.00 น. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน และกล่าวปาฐกถา โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นหัวใจหลักของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการส่งเสริมการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ทางด้านศาสนาและทางโลก ซึ่งต้องเข้าใจว่าอิสลามไม่ได้ทำให้แตกต่างกันระหว่างศาสนาการศึกษาหลักสูตรทั่วไป เนื่องจากมีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน

“หลักสูตรอิสลามศึกษาจำเป็นต้องมีการออกแบบโดยให้มีมุมมองสำคัญด้านการตลาด เมื่อนักศึกษาด้านอิสลามศึกษาเรียนจบ เขาต้องได้รับการรับรองว่าจะสามารถหางานที่ต้องการได้” นายอภิสิทธิกล่าว

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมนานาชาติว่าด้วยอิสลามศึกษา ซึ่งมีผู้แทนจากต่างประเทศ จากหลายมหาวิทยาลัยในโลกมุสลิมมาร่วม เป็นก้าวสำคัญมากสำหรับเรื่องการศึกษา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะลูกหลานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามที่ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พูดถึงการที่จะให้ปัตตานีปรากฏอยู่ในแผนที่โลกอิสลามศึกษา หมายถึงรัฐบาลไทยได้ยอมรับการมีอยู่จริงของประวัติศาสตร์ปัตตานีแล้วอย่างเป็นทางการ และสิ่งที่จะตามมาคืออะไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่า เรื่องวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์ ต้องเคารพในความเป็นจริงและความหลากหลาย คิดว่ารัฐบาลไม่ปฏิเสธเรื่องนี้

“เราได้ยอมรับเรื่องความเป็นจริงและความหลากหลายมาโดยตลอด ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนพึงได้รับรู้รับทราบ และจริงๆ แล้ว ในแง่ความหลากหลายที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ควรจะมีความภาคภูมิใจ และส่งเสริมความหลายหลายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภายใต้นโยบายของรัฐบาล และขณะนี้จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานได้สนองนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอูมัร อุบัยด์ ฮาซานะห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนาอิสลาม ประเทศกาตาร์ กล่าวในการแถลงข่าวด้วยว่า การประชุมในครั้งนี้ไม่เป็นเพียงการนำเสนอ บทความเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ควรมีการสรุปแล้วนำมาใช้ประโยชน์จริง

นายอูมัร แถลงต่ออีกว่า หลังจากนี้ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมทั้งทางระบบและหลักสูตรอิสลามศึกษา โดยมีนักวิชาการทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมร่วมกันทำงานเพื่อตอบโจทย์ในข้อของการเข้าถึงความหลากหลายและความเข้าใจร่วมกันระหว่างมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

“รัศมีแห่งอิสลามจะเจิดจ้าขึ้นมาในผืนแผ่นดินปัตตานีอีกครั้งเพราะเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาในภูมิภาคดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตตามที่มีบันทึกตามหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

นายอุมัร แถลงอีกว่า ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชนโดยเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมได้ดำเนินงานศาสนาอย่างเป็นอิสระและเต็มที่นั่นคือจุดเด่นของรัฐบาลไทยในชุดปัจจุบัน

นายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลหวังจะให้ปัตตานีเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษา โดยให้ปรากฏในแผนที่โลกอิสลามศึกษานั้น เป็นเพียงวาทกรรม ต้องดูว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำหลังจากนี้มีอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net