Skip to main content
sharethis

 

 
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในการระดมความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนสื่อจากภาคประชาชน โดยในเวทีสาธารณะ “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาได้ข้อสรุปร่วมกัน 4 ประเด็น คือ 
 
ประเด็นแรก การเข้าถึงเจตนารมณ์และฐานะของกองทุนสื่อฯ เห็นตรงกันว่า กองทุนสื่อฯ จะไม่ใช่กองทุนในความหมายแบบเดิมที่เข้าใจกันว่าทำหน้าที่เพียงแจกเงินหรือแจกทุน แต่กองทุนสื่อฯ คือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ในสังคมหรือการนำพาสังคมไปสู่ช่องทางใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับรู้ สร้างสื่อทางปัญญาที่ดี 
 
“สถานะกองทุนสื่อฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน่วยงานที่คัดเลือกหรือจัดสรรสื่ออีกต่อไป ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ทำงานเชิงรุก ในลักษณะหลายอย่าง เช่น สำรวจสื่อทุกประเภท การบริโภคสื่อ การรับสื่อต่างๆ และสร้างสรรค์ให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและแม้แต่ในเชิงของการพัฒนานโยบาย ไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสื่อสร้างสรรค์”
 
ประเด็นที่สอง กองทุนสื่อฯ ทำให้เกิดอะไร ทุกกลุ่มมองร่วมกันว่า ทำให้เกิดกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ยั่งยืนและต่อเนื่อง อาทิ สร้างชุมชนเข้มแข็ง เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เกิดความภาคภูมิใจ อัตลักษณ์ ตัวตน และทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เกิดการจัดการโดยชุมชน ซึ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของกองทุนสื่อ นอกจากนี้กองทุนสื่อฯ ทำให้ เกิดความรู้ นวัตกรรม ไม่ว่าในฐานะที่ตัวเองเป็นศูนย์รวบรวมความรู้ งานวิจัย สร้างนวัตกรรม จัดการความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ ฯลฯ ทำให้ เกิดสื่อสร้างสรรค์ เกิดขึ้นและ เกิดการกระจายสื่อในราคาถูก สร้างโอกาสการเข้าถึงสื่อประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสื่อพื้นบ้านหรือสื่อทางเลือก และ เกิดการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เช่น ผู้ผลิตสื่อสามารถอบรมร่วมกับเยาวชน ร่วมเรียนรู้การทำงานและสุดท้ายกองทุนนี้จะทำให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง 
 
ประเด็นที่สาม การเข้าถึงและการมีส่วนร่วม หากเกิดกองทุนสื่อฯ อยากให้เกิดการกระจายการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ กำหนดสัดส่วนให้พอเหมาะ โดยเฉพาะให้กับกลุ่มที่อาจไม่เคยมีโอกาสและเข้าไม่ถึง รวมไปถึงการออกแบบเงื่อนไขการเข้าถึงเอกสารสัญญาต่างๆ เช่น ออกแบบเอกสารสัญญาตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงความหลากหลายของทุกกลุ่ม แม้แต่เราพูดถึงเด็กพิการเองก็มีหลายประเภท กองทุนสื่อฯจะคำนึงถึงความหลากหลายและการเป็นตัวแทนของทุกกลุ่ม และต้องให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข กำหนดหลักเกณฑ์ของกองทุนและที่ขาดไม่ได้คือ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย รวมทั้งการทำงานต่างๆ ต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรู้ทั่วถึงว่ามีกองทุนสื่อฯ และจะเข้าถึงกองทุนสื่อได้อย่างไรบ้าง 
 
ประเด็นสุดท้าย มีการตั้งข้อสังเกตในร่างพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ที่มีส่วนแก้ไขในชั้นของกฤษฎีกาขณะนี้ ประเด็นหลักๆ ที่กล่าวถึงคือ จะทำให้กองทุนนี้มีอิสระได้อย่างไร “ถ้าโครงสร้างกรรมการแค่มีนายกฯ เป็นประธานก็อาจไม่อิสระแล้ว จึงปรับโครงสร้างกรรมการและตัวกลไกล พ.ร.บ.ให้คล่องตัว และที่สำคัญให้มีตัวแทนสื่อเข้าไปมีส่วนในโครงสร้างกรรมการได้อย่างไร ไม่ใช่ให้ภาคราชการและนักวิชาการเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก อันนี้เป็นข้อสังเกต ส่วนเรื่องแหล่งทุน ขยายเพิ่มเติมว่าไม่ใช่ให้ผูกแค่แหล่งทุนใดแหล่งทุนหนึ่งแต่อาจเขียนให้ชัดเรื่องการบริจาคและการหักลดภาษี เป็นต้น
 
ด้าน ศ.เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาโครงการจับตากองทุนสื่อฯ และ อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวว่า สำหรับพ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ ขั้นตอนที่จะไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ชะงักงันนาน เกินไป ต้องทำสองอย่างคือ เร่งรัดให้ร่างกฎหมายนี้ไปออกจากคณะกรรมาการกฤษฎีกากลับมาที่คณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และให้ครม.นำเสนอต่อสภาผู้แทนฯ รับหลักการไว้เลย กับอีกอย่าง คือ มีการนำเสนอ ร่างกฎหมายใหม่เข้าสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป 
 
การบริหารจัดการกองทุนฯ ยังมีประเด็นแก้ไขพอสมควร ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์ การบริหารจัดการกองทุน แหล่งที่มาของกองทุน วิธีจัดสรรกองทุนให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากที่สุดเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันต่อไปและไม่หยุดอยู่แค่นี้ รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนฯ ถูกหลักการมากที่สุด คือ เสนอวิธีที่จะให้กองทุนอยู่ได้ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ อาจให้มีการรับบริจาคและสามารถนำมาหักภาษีได้ เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาสนับสนุน และต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสื่ออินเทอร์เน็ตหรือโทรคมนาคมอื่นๆ ต้องคิดว่ากองทุนสื่อฯจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น 
 
ศ.เศรษฐพร กล่าวด้วยว่า การทำรายการเพื่อเด็กและเยาวชนสามารถคู่ไปกับการพาณิชย์ได้ โดยสามารถทำโฆษณาดีๆ สำหรับเด็กซึ่งก็น่าจะไปกันได้ และสื่อกระแสหลักทีวีบางช่องก็เริ่มมีให้เห็น นอกจากนี้อยากให้มองไปที่เคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศและถูกมองว่ามีแต่รายการ “เน่า” นั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะเขาไม่มีรายการดีๆ ไปออก นี่จึงเป็นโอกาสหากกองทุนทำให้เกิดรายการดีๆก็สามารถไปเผยแพร่ในช่องทางเหล่านี้ได้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net