เศรษฐกิจทุนนิยมกับการดูดกลืนทางสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความเจริญเติบโตของการค้า เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดพลวัต กลายเป็นพลังขับดันที่พลิกโฉมระบบเศรษฐกิจ และสังคมของโลกโดยเฉพาะตะวันตกกลายเป็นมหาอำนาจจวบจนปัจจุบัน...

ความก้าวหน้าทางความคิด และระบบเศรษฐกิจยังเจริญรุดหน้าไม่หยุดยั้ง หลังจากมีการค้นพบโลกใหม่ ศูนย์กลางการค้าในยุโรปเริ่มขยายตัวเข้าสู่ยุโรปตะวันตก เช่น ประเทศฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส   สินค้าต่าง ๆ จากตะวันออกและโลกใหม่ พากันหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดในยุโรป   การค้าที่เติบโตขึ้นส่งผลให้เริ่มมีการคิดทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ให้ผลประโยชน์สูงขึ้น พร้อมกันนั้นได้ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางในยุโรปเพิ่มจำนวนมากขึ้น เหล่านี้เองได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลายประการเพื่อสนองตอบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ    พัฒนาการและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป มีผลอันเนื่องมาจากแนวคิด “จักรวรรดินิยม” (imperialism)   ที่เป็นปัจจัยในการสนับสนุน โดยนำจักรวรรดินิยมมาอธิบายและพรรณนาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งปัญหาความด้อยพัฒนาของประเทศโลกที่สาม

ซึ่งเดิม คำว่า “จักรวรรดินิยม” มักใช้เรียกนโยบายต่างประเทศของรัฐหรือพฤติกรรมการกระทำของรัฐที่มุ่งแผ่ขยายอำนาจและดินแดน หรือมุ่งแผ่อิทธิพลออกไปเหนือดินแดนอื่นในลักษณะที่เป็นการสร้างจักรวรรดิขึ้นมา โดยเริ่มใช้กันทั่วไปในประเทศอังกฤษตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1870    ต่อมาเมื่อมีการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษเพื่อเป็นการแข่งขันและตอบโต้ต่อการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสและเยอรมันจักรวรรดินิยมจึงมีความหมายไปในแง่ของการแข่งขันกันระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปซึ่งมุ่งแสวงหาอาณานิคมและเขตอิทธิพลในทวีปอาฟริกาและดินแดนอื่นๆ โดยอ้างวาทกรรม “การสร้างอารยะธรรม”เพื่อการแผ่ขยายอารยะธรรมของชนผิวขาวที่ถือว่ามีลักษณะเหนือกว่าชนผิวอื่นๆ ในด้านชาติพันธุ์   ด้านวัตถุ ด้านวัฒนธรรม ไปยังประชาชนที่ด้อยกว่าในดินแดนที่ล้าหลัง ซึ่งมีลักษณะของการเข้าไปมีอำนาจครอบครองหรือครอบงำสังคมอื่น

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน “จักรวรรดินิยม” หมายถึงการที่ประเทศหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปใช้อำนาจครอบงำประเทศอื่นหรือคนกลุ่มอื่นโดยวิธีการที่ทำให้ผู้ครอบงำได้รับประโยชน์ แต่ผู้ที่ถูกครอบงำนั้นเสียประโยชน์ และในบรรดาการครอบงำทั้งหลายนั้นการครอบงำทางด้านเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุด[i]

Hilferding นักทฤษฏีมาร์คซิสม์ ชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวของทุนอุตสาหกรรมกับทุนธนาคารส่งผลให้เกิดทุนการเงิน เพื่อสนับสนุนทุนผูกขาดด้านอุตสาหกรรม และเมื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมจากรัฐอย่างใกล้ชิด ทำให้ทุนผูกขาดด้านอุตสาหกรรมและด้านการเงินได้ขยายตัวและเติบโตภายในประเทศอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้   ดังนั้นจึงต้องมีดินแดนใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ และแสวงหาวัตถุดิบในการลงทุนรวมทั้งระบายผลผลิต การขยายตัวออกไปของกลุ่มประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว จึงเกิดจากความจำเป็นในการลดต้นทุนและแสวงหากำไรสูงสุดของนายทุนผูกขาด   Hobson[ii] นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1858-1940) ได้อธิบายที่มาของการครอบงำของอังกฤษ ว่าเกิดจากการผลิตได้สูงขึ้นอันเนื่องมากจากการพัฒนาเทคโนโลยี ส่งผลให้การบริโภคไล่ตามการผลิตไม่ทัน การกระจายความมั่งคั่งไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนส่วนใหญ่มีอำนาจซื้อต่ำการบริโภคจึงอยู่ในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องยักย้ายถ่ายเทไปที่อื่น เพื่อต้องการแสวงหาตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมและการลงทุน[iii]  เป็นไปตามหลักการค้าเสรี(Free Trade)

การก่อตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการค้า อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งผลให้การผลิตมีผลผลิตส่วนเกินมากขึ้น สินค้าผลิตเพื่อจำหน่ายเพิ่มทวีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจในยุโรปและส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม และ การเมือง ทั่วโลก อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจของ Adam Smith (1776 ตรงกับ พ.ศ. 2319 ) ได้ผลักดันให้เกิดนโยบายทุนนิยมเสรีไปทั่วโลก ต่อมา ค.ศ. 1867 (ตรงกับ พ.ศ. 2410 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) Karl Marx[iv] ได้นำเสนอ Das Capital จนแพร่กระจายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกระแสต่อต้านทุนนิยม ซึ่งตามทัศนะของมาร์คไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะเชื่อว่าโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งถูกกำหนดโดยวิถีการผลิต จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม จึงให้ความสำคัญกับแรงงานมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต การสร้างมูลค่าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเสียเปรียบของผู้ใช้แรงงานเกิดจากระบบทุนนิยมที่กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานขายแรงงานของตนราคาถูกแก่เจ้าของทุนซึ่งจะนำไปทำกำไรขึ้นเรื่อยๆ แรงงานจึงเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุนในการสร้างมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) 

เมื่อพัฒนาการของทุนนิยมเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การพัฒนาทั้งด้านการผลิต เทคโนโลยี การสื่อสาร เป็นไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มทุนอุตสาหกรรมในประเทศอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าวได้สะสมทุน ขยายการผลิต และขยายตลาดออกไปทั่วโลก และพัฒนาไปจนถึงขั้นหนึ่งก็ต้องการสร้างระบบตลาดโลกขึ้นมากลายเป็น “บรรษัทข้ามชาติ” ทำให้โลกทั้งโลกเป็นตลาดอันเดียวกัน ระบบทุนนิยมโลกได้ก้าวสู่ขั้นเป็นทุนการเงินที่รวมทุนธนาคาร และกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน มีอำนาจและอิทธิพลเหนือรัฐ จนกระทั่งเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เรียกกันว่านโยบายสาธารณะในประเทศอุตสาหกรรม จนกล่าวได้ว่ารัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมเองก็เริ่มถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติ ขณะเดียวกันยังได้ขยายบทบาทเข้าไปครอบงำทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง   ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อาทิ กรณีของการค้ากล้วยในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาที่ต้องการขอขึ้นภาษีกล้วยที่ส่งออก โดยประเทศผู้ส่งออกกล้วยหลายประเทศเห็นว่า การส่งออกที่ผ่านมาไม่ได้มีการขึ้นภาษีมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีมาแล้ว ทั้งๆ ที่ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ราคาของสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของประเทศผู้ส่งออกกล้วยลดลง 60 เปอร์เซ็นต์ และโดยเฉพาะประเทศฮอนดูรัสและปานามารายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการส่งออกกล้วย จึงได้รวมตัวกันเรียกร้องขอขึ้นภาษีการส่งออกกล้วยจำนวน 1 เหรียญสหรัฐต่อกล้วยทุกๆหนึ่งลังที่ส่งออก[v]  

การเรียกร้องได้ถูกปฏิเสธจากบริษัทค้ากล้วยแห่งสหรัฐอเมริกาตลอดมา เนื่องจากบริษัทมีอำนาจในการควบคุมระบบตลาดและมีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งบริษัทยักใหญ่ดังกล่าวได้แก่ ยูไนเต็ดแบรนด์ (United Brands) แคสเติลแอนด์คุ๊ก (Castle and Cooke) และเดลมอนเต้ (Del Monte) บริษัททั้งสามได้ควบคุมการตลาดและการจัดจำหน่ายถึง 90 เปอร์เซ็นต์   จึงได้หยุดการตัดกล้วยอย่างกะทันหัน รวมทั้งปล่อยให้กล้วยจำนวนถึง 145,000 เครือเน่าตายคาต้น สุดท้ายแม้จะต่อรองกันได้แต่ต้องจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูง และก็ไม่ใช่ราคาตามที่เรียกร้อง พร้อมกันนั้นใน ค.ศ. 1975 สหประชาชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาดังกล่าวพบว่า[vi] “ประเทศผู้ผลิตกล้วยทั้งหลายมีรายได้ลดลงจำนวนมาก ประชาชนผู้ยากไร้จำนวนมหาศาลไม่มีอำนาจต่อรอง ประกอบกับเผด็จการทหารซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นนำที่มั่งคั่งได้ปกครองประเทศในละตินอเมริกาส่วนใหญ่เกือบตลอด 30 ปีที่ร่วมมือกับบริษัทของอเมริกาและประเทศกลุ่มทุนนิยมปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน”

กรณีประเทศกัวเตมาลาในทศวรรษที่ 1950 บริษัทยูไนเต็ดแบรน (United Brands) ต่อมาเปลี่ยนเป็น บริษัทยูไนเต็ดฟรุ๊ต (United Fruit) ได้ถือครองที่ดินเพื่อใช้ทำธุรกิจด้านการเกษตรเป็นจำนวน 2ใน3 ของที่ดินทั้งประเทศ รวมทั้งได้ผูกขาดระบบการเดินรถไฟในการขนส่งสินค้ากล้วยทั้งประเทศ   ต่อมาในปี ค.ศ. 1945 เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี นายจาโคโบ อาร์เบนส์ (Jacobo Arbenz)ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ โดยได้ริเริ่มนโยบายปฏิรูปที่ดินและเกษตรกรรม เพื่อให้ผูยากจนสามารถมีที่ดินทำกินเป็นของตน กลายเป็นชนวนสร้างความไม่พอใจให้บริษัทยูไนเต็ดฟรุ๊ต (United Fruit)ซึ่งมองว่าบริษัทถูกคุกคาม จึงได้ล็อบบี้รัฐบาลไอเซนฮาวร์ (Eisenhower) ให้เข้าไปแทรกแซง หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้ส่งหน่วยสืบราชการลับซีไอเอ (C I A ) เข้าไปปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีจาโคโบ อาร์เบนส์ และจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการขึ้นมาแทน[vii]  

นอกจากนั้นบรรษัทข้ามชาติยังอาศัยองค์กรข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก แกตต์ หรือ ไอเอ็มเอฟ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเข้าไปครอบงำในระบบเศรษฐกิจของนานาชาติ เข้าไปมีบทบาทกดดันและปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจการเมืองของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเข้าไปผลักดันองค์กรข้ามชาติดังกล่าว ให้ดำเนินกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบรรษัทข้ามชาติในการครองโลก ด้วยการสร้างรัฐบาลโลกหรือองค์การปกครองโลกส่งผลให้รัฐชาติทั้งหลายจำต้องยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยของตนในระดับหนึ่งเพื่อให้ประเทศต่างๆพึ่งพากันมากขึ้น ภายใต้มายาภาพของคำว่า “การค้าเสรี หรือการพัฒนา และตลอดจนคำว่าโลกาภิวัตน์” ตามวาทกรรมที่มหาอำนาจกำหนดขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเปิดพรมแดนของตนเพื่อการค้าและการลงทุนให้เป็นเสรี รวมทั้งจำต้องยอมสูญเสียอำนาจบางประการเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

ธนาคารโลก และ ไอเอ็มเอฟ ได้เข้าไปมีบทบาทในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้เงินกู้เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศตามแนวทางที่มหาอำนาจกำหนด เช่น การสร้างความเจริญเติบโตเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม อันนำมาสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สังคมแตกสลาย และสร้างความยากจนให้แก่ประชาชนทั่วโลก ส่วนแกตต์ก็กลายเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่สร้างเงื่อนไขทางการค้าเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประเทศอุตสาหกรรมขณะที่ทางหนึ่งก็เอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา เช่น การกำหนดมิให้ประเทศสมาชิกสร้างเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าต่อกัน ส่งผลให้สินค้าของประเทศอุตสาหกรรมที่มีทั้งทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหนือกว่าสามารถยึดครองตลาดประเทศของกำลังพัฒนาได้โดยสะดวกขึ้น และเมื่อมีการกำหนดนโยบายภาครัฐในการพัฒนาประเทศตามแนวทางขององค์กรข้ามชาติเหล่านี้จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตกอยู่ภายใต้สภาพการครอบงำและควบคุมของประเทศอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ประชาชนเกิดความยากจนขึ้นอย่างรุนแรง สภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนขยายกว้างยิ่งขึ้นตามลำดับอันเนื่องมาจากวาทกรรมแห่งการพัฒนา และเมื่อเชื่อมโยงบทบาทขององค์กรเหล่านี้เข้าด้วยกันจะพบว่า องค์กรดังกล่าวแท้จริงแล้วคือเครื่องมือของทุนนิยมในการแสวงหาผลประโยชน์ และดูดซับทรัพยากรจากประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ 


การครองโลกของบรรษัทข้ามชาติ

โลกาภิวัตน์เป็นวาทกรรมในการครองโลกของมหาอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และการขูดรีดทางเศรษฐกิจ มีการใช้กระบวนการต่างๆ ทุกวิถีทางทั้งการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การแทรกแซงทางการเมือง กระทั่งการใช้กำลังทางทหาร ผลักดันให้โลกทั้งโลกต้องใช้กฎกติกาเดียวกันและคิดเหมือนกัน เพื่อเป้าหมายในทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยม การที่นักเศรษฐกิจมองว่าระบบเศรษฐกิจไม่ขึ้นและไม่ครอบคลุมกับระบบกายภาพอื่น ๆเข้าไว้ในระบบเศรษฐกิจเพราะทุนนิยมได้แยกระบบเศรษฐกิจออกจากการฝังตัวในระบบสังคม แต่เมื่อระบบทุนนิยมแยกกระบวนการทางเศรษฐกิจออกมาจากการฝังตัวในระบบสังคมทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเป็นหลักเติบโตขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งระบบตลาดก็ได้ดูดกลืนระบบสังคมให้เข้ามาฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์จึงเป็นเพียงวาทกรรม ในการดูดกลืนสังคมเท่านั้น ซึ่งการดูดกลืนดังกล่าวมี4 ลักษณะกล่าวคือ[viii]

 

ลักษณะที่หนึ่ง ระบบตลาดทำให้สิ่งต่างๆ ที่โดยธรรมชาติไม่มีสภาพเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้า นั่นคือ (1)แรงงาน (มนุษย์ไม่ควรเป็นสินค้า เพราะมนุษย์เป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาดเพียงเป็นปัจจัยในการผลิตเท่านั้น  แต่เมื่อมนุษย์กลายเป็นวัตถุที่เป็นสินค้าในตลาด ซึ่งย่อมหมายถึงทำลายทิ้งได้เท่ากับมนุษย์และตลาดกำลังทำลายตัวเอง)  (2)ที่ดิน (ที่ดินหรือธรรมชาติเป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาดเช่นกันและเป็นระบบกายภาพที่เป็นรากฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์อันเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานแต่กลายเป็นสิ่งที่กำหนดราคาซื้อขายกันได้) และ(3)เงิน (เพราะเงินเป็นแค่สิ่งสมมติ เป็นแค่เครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเมื่อเงินกลายเป็นสินค้า ทำให้ระบบตลาดในปัจจุบันไม่เอื้อให้เกิดการผลิตจริงแต่ไปทุ่มเทให้กับการเก็งกำไรหรือแสวงหาสิ่งสมมติในการค้าขายเงิน หวังประโยชน์ส่วนต่างจากค่าของเงิน)

ลักษณะที่สอง เมื่อทั้งแรงงาน ที่ดิน และเงิน กลายเป็นสินค้าโลกาภิวัตน์จึงก้าวไปสู่การทำให้กิจกรรมอื่นๆของมนุษย์ที่ไม่เคยและไม่ควรเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้าไปด้วย นั่นคือ การศึกษาสาธารณสุข สวัสดิการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัยของสิ่งมีชีวิต วัฒนธรรม เพศสัมพันธ์แม้กระทั่งรหัสพันธุกรรม เป็นต้นจนทำให้มนุษย์สมัยใหม่มีแนวโน้มจะตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ เช่นคุณค่าของวัฒนธรรมจะมีหรือไม่ต้องวัดกันที่การขายได้หรือไม่ได้ในแง่ของการท่องเที่ยวดังที่พูดกันติดปากว่าท่องเทียวเชิงวัฒนธรรมเป็นต้น 

ลักษณะที่สาม โลกาภิวัตน์ทำให้กาละและเทศะกลายเป็นสินค้า กาละที่กลายเป็นสินค้า มีอาทิเช่นการเก็งกำไรค่าเงิน การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า การประกันราคา การบริหารความเสี่ยงพันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯโดยรวมคือตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่ง เป็นการทำกำไรจากเหตุการณ์ที่จะเกิดหรือไม่เกิดในอนาคตเทศะที่กลายเป็นสินค้า มีอาทิเช่นการโยกย้ายเงินทุนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในพริบตาการย้ายสถานประกอบการจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเรื่อย ๆ ฯลฯ สถานที่ที่มีการโยกย้ายเงินเข้าออกจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของรัฐทั้งนี้ดูจากตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ

การเคลื่อนย้ายของเงินละเงินทุนได้สลายความสำคัญของทั้งเวลาและสถานที่ เนื่องจากเป็นการเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและเกิดขึ้นพร้อมๆ กันผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กโทรนิกส์ ทุนในรูปของเงินได้สลายเส้นแบ่งในสองระดับที่ทำให้ทุนในรูปของเงินเคลื่อนย้ายโดยไม่หยุดนิ่งไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และทุนในรูปของเงินเลิกสนใจการลงทุนในภาคการผลิตจริง แต่หันไปลงทุนในภาคเก็งกำไรแทน สามารถเคลื่อนย้าย ส่งต่อหรือไหลผ่านไปตามช่องทางการสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของโลกโดยไม่ต้องคำนึงถึงเขตแดนของประเทศ เงินจึงสามารถทำให้สรรพสิ่งสูญเสียคุณลักษณะเชิงรูปธรรมเหลือไว้แต่คุณลักษณะด้านนามธรรมเท่านั้นix] 

ลักษณะสุดท้ายคือการครองความเป็นใหญ่ในการกำหนดนโยบายของทุกสังคมทำให้แง่มุมของชีวิตทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากลต้องยอมรับโครงสร้างของตลาดในระบบทุนนิยมต้องยอมปรับรื้อสถาบันหรือองค์การดั้งเดิมทั้งหมดของตนเพื่อตอบรับกับข้อเรียกร้องของตลาดไม่ว่าข้อเรียกร้องนั้นจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม กล่าวง่าย ๆ คือโลกาภิวัตน์ได้เข้าไปครอบงำกระบวนการคิดและจุดยืนทางจริยศาสตร์ของมนุษย์เกือบทุกรูปแบบ

การดูดกลืนระบบสังคมให้เข้าไปฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้พฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันถูกกระตุ้นด้วยการบริโภคที่ไม่มีขอบเขตจำกัดกลไกของสถาบันทางสังคมก็ตกอยู่ภายใต้การกระตุ้นของระบบเศรษฐกิจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้สังคมกลายเป็นเพียงระบบย่อยๆที่ฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น   ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าปัญหาเด็กวัยรุ่น อาชญากรรม ยาเสพย์ติด ความรุนแรงทางเพศ ฯลฯที่เราเรียกว่า ปัญหาทางสังคม นอกจากนั้นยังส่งผลให้ แรงงาน ที่ดินและเงิน ที่เคยเป็นเพียงปัจจัยในการผลิต กลายเป็นสินค้าที่ซื้อหากันในทางการค้า การดูดกลืนระบบสังคมให้เข้าไปฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านและต่อสู้ขั้นพื้นฐานทางชนชั้น ซึ่งมิใช่เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นในทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ได้ขยาบขอบเขตเป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแรงงาน ที่ดินและเงินออกจากการเป็นสินค้า  รวมทั้งเริ่มมีการต่อสู่ที่เป็นรูปธรรมให้หลุดพ้นจากการครอบงำทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ต่อการอยู่รอดของมวลมนุษย์โดยส่วนรวม

................................................................................................................................................................

อ้างอิง



[i]อนุสรณ์ ลิ่มมณี. ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองยุคปัจจุบัน. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545 : 132-143
[ii]Hobson ,J.A. 1972 The Economic Taproot of Imperialism . pp 1-17 in Kenneth E. Boulding   and Tapan Mukerjee (eds) Economic Imperialism Ann Arbor : The University of Michigan press
[iii] Hobson , J.A. 1965   Imperialism: A Study Ann Arbor : The University of Michigan Press. pp 19-30,72-77,80-85 
[iv]ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง . กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย., 2546 : 142  146
[v]ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.ทฤษฏีพึ่งพาและเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มูลนิธิวิถีทรรศน์. 2544 :115-117
[vi]ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.ทฤษฏีพึ่งพาและเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มูลนิธิวิถีทรรศน์. 2544 :118-119
[vii] Annette Fuentes and Barbara   Ehrenreich. Women in the Global Factory (Boston: South End Press) , 1987,  p 42
[viii]ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.ความเปราะบางของโลกหลังยุคสงครามเย็น . กรุงเทพฯ.รัฐศาสตร์สาร. 2547 ปีที่ 25ฉบับที่ 2 :30-34
[ix] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.ความเปราะบางของโลกหลังยุคสงครามเย็น . กรุงเทพฯ.รัฐศาสตร์สาร. 2547 ปีที่ 25ฉบับที่ 2 :35-40

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท