อินเดียปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยาต้านไวรัสของแอ๊บบอต หวังไทยเอาอย่างระบบอินเดีย

4 ม.ค.54 สำนักงานสิทธิบัตรของอินเดีย ณ นครมุมไบได้ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยาโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ เม็ดแข็ง (the heat stable tablet formulation of lopinavir/ritonavir [PCT/US2004/027401]) ของบริษัทแอ๊บบอต ตามคำคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (pre-grant opposition) ของกลุ่มนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์เพื่อการเข้าถึงยาในนาม IMAK ที่ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญซิปร้า และบริษัทแมททริกซ์ที่ได้ร่วมกันคัดค้าน

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า คำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรอินเดียเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะคำขอสิทธิบัตรเช่นนี้ไม่สมควรได้ เนื่องจากเป็นการนำยาเก่า 2 ตัวมาผสมกันโดยที่ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (no inventive step) ซึ่งอุตสาหกรรมยาต้นแบบมักใช้วิธีการเช่นนี้เพื่อขยายการผูกขาดยา

 

“ในขณะที่ ยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรในบ้านเรา เพราะการได้หรือไม่ได้สิทธิบัตรนั้นขึ้นอยู่กับผู้ตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร หากวางแนวทาง-หลักเกณฑ์การให้สิทธิบัตรที่ไม่รัดกุมพอ หรือการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านเภสัชศาสตร์อยู่เลย จึงไม่เข้าใจถึงขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นของยา คิดไปว่า การผสมยา 2-3 ตัว ก็น่าจะมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแล้ว แต่หากไปถามเด็กเภสัชฯ จะรู้กันดี ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการสิทธิบัตรที่มีอยู่ก็ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ ทำให้มียาหลายตัวในบ้านเราได้สิทธิผูกขาดทั้งๆที่ไม่สมควรได้”

 

ทางด้านผศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ ทีมวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพเป็นที่ตระหนักมากขึ้นว่าเป็นภาระงบประมาณประเทศและขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชน หลายฝ่ายจึงได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิบัตรยาในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขอสิทธิบัตรที่มีลักษณะ Evergreening

 

“นี่เป็นโครงการแรกที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทีมวิจัยจากแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี-เภสัช ได้ทำงานร่วมกันพัฒนาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิบัตรยาในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขอสิทธิบัตรที่มีลักษณะ Evergreening

Evergreening เป็นคำนิยมใช้ในการอธิบายกลยุทธ์ของการจดสิทธิบัตรที่มีเจตนาในการขยายระยะเวลาผูกขาดสิทธิบัตรของยาชนิดเดิม เช่น โดยการอ้างข้อถือสิทธิใหม่ของยาเดิมว่าสมควรได้รับสิทธิบัตรใหม่เนื่องจากมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ผู้ครอบครองสิทธิบัตรของยาเดิมขยายระยะเวลาผูกขาดและกีดกันยาชื่อสามัญไม่ให้เข้าสู่ตลาด

 

ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบการออกสิทธิบัตรให้มีคุณภาพได้อย่างเร่งด่วน ก็จะสามารถป้องกันปัญหาการผูกขาดตลาดยาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐและประชาชน รวมถึงการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย”

 

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยและคณะผู้เชี่ยวชาญได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายต่อคู่มือในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรทางยาสำหรับประเทศไทย

 

“จากนี้ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้นำคู่มือดังกล่าวไปทดสอบ พร้อมๆกับที่ทีมวิจัยจะใช้คู่มือดังกล่าวไปประเมินสิทธิบัตรที่ได้รับในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2553 เพื่อคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการให้สิทธิบัตรในรูปแบบ evengreening patent ทั้งผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดยาของประเทศและผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยโดยตรง” 

 

ทั้งนี้ โลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสสูตรสำรองที่สำคัญ แต่ได้สิทธิบัตรในประเทศไทย ทำให้ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) เพื่อนำยาดังกล่าวเข้ามาจากประเทศอินเดีย โดยราคาของยาดังกล่าวก่อนการประกาศใช้สิทธินั้นอยู่ที่ 8,900 บาทต่อขวดต่อเดือน ปัจจุบันยาชื่อสามัญที่นำเข้าจากอินเดียนั้นราคาต่ำกว่า 2,100 บาทต่อขวดต่อเดือน และเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ประกาศการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนี้เพิ่มเติมจนหมดอายุสิทธิบัตรทมี่ครอบคลุมทุกรูปแบบยาและทุกอนุพันธ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท