Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.ตาข่ายความปลอดภัยที่บกพร่อง  กองทุนประกันสังคมตั้งขึ้นในปี 2533 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นตาข่ายความ ปลอดภัยของสังคมที่จะดูแล “ลูกจ้าง” ไม่ให้ตกสู่ภาวะความยากลำบาก  โดยระยะที่หนึ่ง คุ้มครองการเจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย และทุพพลภาพ ระยะที่สอง (ปลายปี 2541) เพิ่มความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ และระยะที่สาม (ปี2547) เพิ่มความคุ้มครองการว่างงาน

ยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า ตาข่ายความปลอดภัยนี้มีช่องของตาข่ายที่กว้างมากเกินไป ทำให้ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยตกสู่ภาวะยากแค้นลำเค็ญ เช่น การกำหนดประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หรือบำนาญไว้ที่ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ยห้าปีสุดท้าย  กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 15 ปี  กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นปีละ 1%  ดังนั้น เงินบำนาญสูงสุดไม่น่าจะเกิน 40% ของเงินเดือน (ทำงาน 35 ปี) ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพ (มาตรฐานที่ควรจะเป็นคือ 70% ส่วนมาตรฐานที่อยู่ในเกณฑ์รับได้คือ 50-60%)

หลักเกณฑ์ที่แข็งตัว ระบบราชการที่เทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้ตาข่ายความปลอดภัยนี้ไม่สามารถอุ้มคนงานได้พ้นจากภาวะความยากลำบาก ได้ตามเป้าหมายหรือภารกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างที่มีความมั่นคงในการทำงานน้อย อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เงินเดือนที่มีความมั่นคงในการทำงานนั้นได้รับประโยชน์ จากประกันสังคมมากกว่าโดยไม่รู้ตัว และโดยไม่ได้ออกแรง

2.ความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบธรรม การที่กองทุนประกันสังคมอยู่ในมือของข้าราชการประจำ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง ทำให้บ่อยครั้งที่มีข่าวการทุจริต หรือความไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นกรณีจัดซื้อจัดจ้างสมาร์ทการ์ด  การใช้เงินประกันสังคมไปดูงานต่างประเทศ ของบอร์ดประกันสังคม  การใช้เงินประกันสังคม (ซึ่งเก็บจากลูกจ้าง 9.3 ล้านคนทั่วประเทศ) ไปจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ (ขององค์กรแรงงานบางแห่ง)  หรือการมีแนวคิดจะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปปลดหนี้ครู ฯลฯ    

3.ความไม่สมเหตุสมผล การที่กองทุนประกันสังคมอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง ยังส่งผลให้เกิดการตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุสมเหตุ   เช่น  ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี   จะมีการลดอัตราเงินสมทบเพื่อเอาใจผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของกองทุน  หรือ ในขณะที่บางช่วงเมื่อนักการเมืองพบว่านโยบายประชานิยมสามารถซื้อเสียงได้โดยไม่ต้องลงทุนเอง  ก็จะมีการขยายหรือเพิ่มประโยชน์ทดแทนเพื่อหาคะแนนเสียง โดยประโยชน์ทดแทนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้างในระยะยาว

4.กองทุนถังแตก หรืออาจถึงล้มละลาย ประเด็นเรื่องกองทุนประกันสังคมอาจจะถังแตก หรือล้มละลายในยี่สิบปี สามสิบปีข้างหน้า เป็นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมและนักวิชาการได้พูดถึงมานานแล้ว โดยมุ่งเน้นที่กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพที่จะต้องเริ่มจ่ายบำนาญในปี 2557 ที่จะถึงนี้ แต่นักการเมืองไม่สนใจเรื่องระยะยาวขนาดนั้น  (ขบวนการแรงงานเองก็อาจจะไม่สนใจเท่าที่ควร)  แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกและจะเกิดขึ้นกับเมืองไทยแน่นอน  คำถามมีแค่ว่าเมื่อไหร่

ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย  ก็จะเกิดขึ้นภายในยี่สิบปีนี้ หรือถ้ายิ่งเพิ่มประโยชน์ทดแทนมากขึ้น  แต่ลงทุนเหมือนเดิม กองทุนก็จะยิ่งถังแตกเร็วขึ้น

ข่าวเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครได้อ่านก็คือ เมื่อปลายปี 53 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือกันในประเด็นนี้ กรอบการหารือก็คือ การขยายอายุเกษียณเพื่อรับเงินประกันสังคมจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องกระทบกับแรงงานจำนวนมาก  แต่ไม่เป็นข่าว เทียบกับข่าวการเปิดรับแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมแล้ว  ประเด็นหลังเป็นข่าวมานานหลายปี แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น  กล่าวได้ว่าเป็นเพียงการหาเสียงของนักการเมืองเท่านั้นเอง

ถ้ากองทุนถังแตกจะเกิดอะไรขึ้น  มีทางเลือกดังนี้ 1)เพิ่มอายุเกษียณ  2)เก็บเงินสมทบเพิ่ม 3)ขยายเวลาจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพจาก 15 ปี เป็น 20 ปี 4)จ่ายผลประโยชน์น้อยลง (ในอนาคต) 5)หาฐานคนร่วมเฉลี่ยมาเพิ่มซึ่งไม่ง่าย เพราะในอนาคต คนทำงานจะน้อยลง คนแก่จะเยอะขึ้น 6)ลงทุนให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้น (ซึ่งต้องเริ่มให้เร็วที่สุด และทำร่วมกับมาตรการอื่น)

5.โจทย์ใหญ่และยากที่รออยู่

1) อุปสรรคข้างหน้าของกองทุนประกันสังคมไม่ใช่แค่ถังแตก    เพราะถังแตกเป็นแค่ผลลัพธ์จากโครงสร้างสองประการ  หนึ่ง รูปแบบการจ่ายบำนาญ  ระบบการจ่ายบำนาญของประกันสังคม (ไม่รวมบำเหน็จ) คือ การจ่ายตามกติกา รูปแบบการจ่ายตามกติกานี้จะแตกต่างกับรูปแบบการจ่ายแบบระบุเงินออม

การจ่ายตามกติกา เราอาจจะออมหนึ่งร้อยบาท  แต่ได้มากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับกติกา  ถ้ากติกาบอกว่าจะจ่ายตลอดชีวิต  เราก็จะได้เงินเกษียณไปตลอดชีวิตตามจำนวนที่กติกากำหนดไว้  ส่วนการจ่ายแบบระบุเงินออม คือ เราออมไว้เท่าไหร่ก็ได้เงินเท่านั้น (อาจรวมที่นายจ้างหรือรัฐบาลจ่ายสมทบ) บวกดอกเบี้ย  เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

การจ่ายตามกติกานี้อาศัยเงินของคนวัยแรงงาน (รุ่นปัจจุบัน) มาจ่ายคนที่เกษียณ พอคนรุ่นปัจจุบันเกษียณ ก็อาศัยเงินของคนวัยแรงงานรุ่นถัดไป  ซึ่งจะเกี่ยวพันถึงหัวข้อถัดไป สอง โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไปในอนาคต  คนแก่จะมากขึ้น คนวัยแรงงานจะลดลง  ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะกองทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2) การทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นตาข่ายความปลอดภัยที่แท้จริง ท่ามกลางสถานะทางการเงินที่ล่อแหลมนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายนำแรงงานนอกระบบเข้ามาในระบบประกันสังคม  การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ต่ำเกินไป (ไม่ครอบคลุมเจ็บป่วยและเกษียณ) อย่างที่รัฐบาลเสนอ จะไม่จูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาในระบบประกันสังคม  พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนจากตัวเลขผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่มีแค่ 60 คน ในปี 52 และลดเหลือ 49 คนในปี 53

ตัวเลข 49 คน กับ 24 ล้านคนนั้นแตกต่างกันอย่างมากว่า เป็นเพียงนโยบายหาเสียง หรือเป็นนโยบายที่มีการนำไปสู่การปฏิบัติ ?

การให้สิทธิประโยชน์ที่สูงเกินไปจะซ้ำเติมสถานะการเงิน และการเปิดทางเลือกให้เป็นภาคสมัครใจจะเพิ่มความเสี่ยงให้กองทุน ขณะที่การกำหนดให้เป็นภาคบังคับจะมีปัญหาในทางปฏิบัติว่า จะบังคับแรงงานนอกระบบได้อย่างไร ?

แนวโน้มของสถานะกองทุนประกันสังคมดังกล่าวข้างต้นและโจทย์ใหญ่และยากที่รออยู่นี้เอง ที่เรียกร้องต้องการให้มืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุน โดยการตัดสินใจบนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และต้องเป็นนโยบายและกลยุทธ์ในเชิงรุก  แน่นอนว่านอกจากผู้บริหารแล้ว องคาพยพของสำนักงานกองทุนก็ต้องเป็นองค์กรอิสระด้วย

หมายเหตุ: เอกสารประกอบการแถลงข่าวจัดงานสมัชชาแรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net