นายทุนเดินหน้าทำรีสอร์ท 700 ไร่ เหตุศาลยกคำขอคุ้มครองฯ ป่าชายเลนพังงา

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว ให้เอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.3 ก ที่ออกทับซ้อนป่าชายเลนบ้านในไร่  ต.นาเตย   อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จำนวน 7 แปลง รวม 59.02 ไร่ ต่อไปได้  ตามคดีหมายเลขดำที่ 39/2553 ระหว่าง นายบัณฑิต  หลีบำรุง ที่ 1 กับพวกรวม 46 คน ผู้ฟ้องคดี กับ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมือง ที่ 1 กรมที่ดิน ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี นางศิระภา  วาระเลิศ  ผู้ร้องสอด

ศาลให้เหตุผลว่า ในพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าว ผู้ร้องสอดได้ถมดิน ปลูกต้นมะพร้าว และต้นปาล์มไว้  และมีโครงการที่จะทำรีสอร์ทในที่ดินทั้งหมดรวม 700 กว่าไร่ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเปลี่ยนไปจากป่าชายเลนแล้ว การห้ามมิให้เอกชนดำเนินการก่อสร้าง เปลี่ยนแปลง หรือทำประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อชะลอหรือระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลนไว้ จึงไม่มีผลใดๆ ที่จะป้องกันมิให้ป่าชายเลนที่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปโดยการถมดินและปลูกต้นไม้จะถูกชะลอหรือระงับการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมได้ ประกอบกับการมีคำสั่งดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องสอด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1373 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 46 ได้ร้องขอมาใช้กับคดีนี้

นายสงกรานต์  ป้องบุญจันทร์  ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ตัวแทนชาวบ้านยื่นฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก ที่ออกทับซ้อนที่ดินป่าชายเลน จำนวน 7 แปลง รวม 59.02 ไร่ เนื่องจากป่าชายเลนดังกล่าวเป็นอู่ข้าว อู่น้ำและแหล่งป้องกันมรสุมของชุมชนบ้านในไร่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เคยมีใครเข้าไปทำประโยชน์เป็นการส่วนตัว ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จึงได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ามาทำประโยชน์ โดยเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนเป็นที่ราบเพื่อทำรีสอร์ท ชาวบ้านจึงรวมตัวกันต่อสู้ คัดค้าน ไม่ให้เอกชนเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2547 เพื่อปกป้องรักษาป่าชายเลนไว้ให้ลูกหลาน  โดยในการฟ้องได้มีการขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วไม่ให้มีการปลูกไม้ยืนต้นหรือก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว  เพราะหากปล่อยให้มีการดำเนินการย่อมทำให้การฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนเป็นไปได้ยากกว่าสภาพที่เป็นอยู่  แต่ศาลไม่เห็นด้วยกับเรา “ท่านเห็นว่าเมื่อมันเปลี่ยนสภาพไปแล้วก็ไม่มีเหตุต้องคุ้มครอง”  ทั้งที่เราเห็นว่าแม้ปัจจุบันมันเปลี่ยนสภาพไปแต่ก็ยังสามารถฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้  แต่หากปล่อยให้สร้างสิ่งก่อสร้างถาวรย่อมมีเป็นการยากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้   ซึ่งทีมทนายจะได้ปรึกษากันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท