นักปรัชญาชายขอบ : ละครรักโรแมนติกทางการเมืองของพันธมิตร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เราไม่ควรดูพันธมิตรทะเลาะกับรัฐบาลอภิสิทธิชนด้วยความ “สะใจ” เพราะจากสิ่งที่เห็นเราไม่แน่ใจว่ามันคือการแสดงละครหรือเรื่องจริง (serious) ความจริงที่เราเห็นได้ชัดจากที่พวกเขาแสดงให้เห็นคือ สัจธรรมที่ว่า “ในทางการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” และพวกเขาก็เล่นบทถนัดแบบนี้ได้ดีกว่าละครน้ำเน่ามาโดยตลอด

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทำไมตอนที่พันธมิตรชุมนุมเมื่อปี 2551 และเสื้อแดงชุมนุมปี 2553 มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ตูมๆ และสื่อก็เสนอทำนองว่าน่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายเสื้อแดง หรือเสื้อแดงใช้วิธีการต่อสู้แบบ 3 ประสาน คือ ใช้เวทีสภา การชุมนุมของมวลชน และวิธีรุนแรง แต่ก็ไม่เคยจับคนลงมือหรือผู้บงการได้ชัดเจนเท่ากับที่เพิ่งเปิดแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งที่ตอนนี้คนเสื้อแดงสู้ด้วยแนวทางสันติวิธีอย่างชัดเจน และไม่มีสถานการณ์อะไรมากดดันให้คนเสื้อแดงต้องใช้ความรุนแรง

อีกอย่างหนึ่งข้อสังเกตของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ว่า อาจมีการสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การทำรัฐประหาร และการก่อตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ก็เป็นข้อสังเกตที่ไม่ควรจะมองข้ามกันง่ายๆ

เรารู้อยู่แล้วว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้ของพันธมิตรคือ ไม่ให้ทักษิณกลับเข้าสู่การเมืองอีกอย่างเด็ดชาด ยุทธวิธีที่เขาใช้ก็คือทำทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ เป้าหมายการไม่เอาทักษิณก็เสนอขึ้นมาควบคู่กับการยืนยันว่า “ระบบการเลือกตั้งถึงทางตัน” และต้องแก้ด้วยอำนาจพิเศษ ฟันธงไว้ล่วงหน้าเลยว่าหากมีรัฐประหารและรัฐบาลแห่งชาติ พันธมิตรย่อมมีเอี่ยวด้วยอย่างแน่นอน! (คราวนี้พวกเขาจะหน้าหนาขึ้นยิ่งกว่าตอนที่เข้าไปกินตำแหน่งทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร 49)

การสู้เพื่อไม่ให้ทักษิณกลับเข้าสู่การเมืองอย่างเด็ดขาด การยืนยันว่าการเลือกตั้งถึงทางตัน และการเชียร์ทหารทำรัฐประหารหรือถวิลหาอำนาจพิเศษ ไม่อาจอ้างอิงอุดมการณ์หรือหลักการใดๆ ของประชาธิปไตยได้เลย สิ่งที่พันธมิตรทำมาตลอดคือการกล่าวอ้างความชั่วร้ายของตัวบุคคล แต่ระบบที่เขาเสนอเพื่อแก้ปัญหาความชั่วร้ายของตัวบุคคลกลับไม่ใช่ระบบที่เป็นประชาธิปไตย หรือระบบที่เคารพเสรีภาพและอำนาจของประชาชน ฉะนั้น เป้าหมายการต่อสู้ของพวกเขาจึงขัดแย้งในตัวเอง

และวาทกรรมทางการเมืองของพวกเขาก็ขัดแย้งในตัวเอง คือ พวกเขาอ้างความรักเพื่อสร้างความเกลียดชัง อ้างความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์อย่างโรแมนติก ในขณะเดียวกันก็วาดภาพตัวบุคคลที่พวกเขาต้องการสร้างความเกลียดชังให้ชั่วร้ายราวกับ “ปีศาจ”

พูดอีกอย่างคือ พันธมิตรพยายามวาดภาพ “เทวดา” ที่บริสุทธิ์สะอาด กับ “ปีศาจ” ที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย พร้อมกับยื่นข้อเสนอ (คำขาด) ว่า ประชาชนต้องไม่เอาปีศาจ ประชาชนที่เอาปีศาจคือประชาชนที่ถูกหลอก ถูกซื้อ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของชาติ ฯลฯ และข้อเสนอนี้ก็มีการตอบรับอย่างล้นเหลือในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง

ความดีงามสูงส่งที่ตั้งคำถามไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ กับความชั่วร้ายอย่างปราศจากข้อสงสัย และความรักสุดพรรณนากับความเกลียดชังสุดๆ ดูเหมือนจะเป็น “ทวิภาวะ” หรือสองภาวะขัดแย้งที่ดำเนินไปด้วยกันในขบวนการพันธมิตร

ทว่าโดยธรรมชาติแล้ว “ความรัก” คือความอ่อนโยนของจิตใจ แต่ความเกลียดชังคือความรุนแรงในจิตใจ เหตุใดคนที่มีความรักหรือมีจิตใจที่อ่อนโยน จึงมีท่าทีต่ออีกฝ่ายด้วยจิตใจที่แข็งกระด้างและรุนแรง เช่นที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่าทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่ผ่านมา ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นการสลายการจลาจล ย่อมมีคนถูกลูกหลงตายบ้างเป็นธรรมดา เขาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ให้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน

ผมนึกถึงภาพ (ที่เห็นในหนังสือ) นักศึกษาถูกทำทารุณกรรมช่วงประวัติศาสตร์ 6 ตุลา พวกที่ใช้เชือกผูกคอศพนักศึกษาลากไปบนพื้นดิน และที่ส่งเสียงเชียร์อย่างสะใจ พวกเขาก็กระทำด้วยความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างโรแมนติกเช่นเดียวกับที่เสื้อเหลืองเชียร์ให้ปราบคนเสื้อแดงด้วยความรักสถาบันอย่างโรแมนติกในปี 53 ที่ผ่านมา

คำถามคือ ทำไมความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเกลียดชัง หรือแม้กระทั่งเป็นเงื่อนไขในการสั่งฆ่านักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่า?

ผมคิดว่า คนที่อยู่ในภาพที่ใช้เชือกผูกคอลากศพนักศึกษา และพวกที่ส่งเสียงเชียร์ เขาคงไม่รู้จักคนตายมาก่อน ไม่เคยโกรธเกลียดกันมาก่อน ไม่เคยนั่งสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดในทางการเมืองกันมาก่อน ฯลฯ หากเพียงแต่เขาได้รู้จักพูดคุยกันมาบ้าง มองเห็นความเป็นคนของกันและกันที่อาจมีทั้งคิดถูกคิดผิด คิดต่างเห็นต่างกันบ้างเป็นธรรมดา เขาคงไม่เกลียดกันหรือคงฆ่ากันไม่ลง

แต่ทำไม “ความรักโรแมนติก” จึงทำให้เรามองข้ามความเป็นคนของกันและกันไปได้ โดยเฉพาะความเป็นคนของผู้ที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองที่แม้จะคิดต่างจากเรา แต่ก็ต่างปรารถนาดีต้องการให้บ้านเมืองมีความยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตย    ความรักโรแมนติกแบบนี้มันนำไปสู่การฆ่า การสนับสนุนหรือเชียร์ให้ฆ่า หรือการปกป้องฝ่ายที่ฆ่า และสร้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจชั่วฟ้าดินสลายของฝ่ายที่สั่งฆ่าได้อย่างไร!

และจนถึงวันนี้ สังคมของเราก็ยังตกอยู่ในวังวนของการใช้ความรักโรแมนติกปั่นกระแสความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ความคลั่งชาติที่ไม่เห็นหัวประชาชน เพื่อให้พวกชนชั้นนำรอจังหวะเวลาที่จะกระชับอำนาจของพวกเขาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และกดหัวประชาชนตลอดไป

หรือการปั่นความขัดแย้งด้วยการอ้างความรักโรแมนติกกลายเป็นวัฒนธรรมเข้มแข็งของสังคมไทยที่แก้ไม่ตก แต่ถ้าสังคมแก้ไม่ตกหรือข้ามพ้นวัฒนธรรมล้าหลังทางการเมืองเช่นนี้ไปไม่ได้ ความเป็นประชาธิปไตยก็ยังคงอยู่ห่างไกล

ละครรักโรแมนติกทางการเมืองก็คงเล่นกันต่อไปเรื่อยๆ และมักจบแบบ happy ending ที่ไม่ใช่สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท