นิวยอร์กไทม์: การสืบสวนเรื่องความรุนแรงของไทยไร้ความคืบหน้า

กรุงเทพฯ  - ผู้ดูแลสวนสัตว์คนหนึ่งถูกยิงและเสียชีวิตขณะที่กำลังจะออกจากที่ทำงาน ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลอีกคนหนึ่งที่หลบภัยในวัดแล้วถูกยิงห้าครั้งแต่รอดชีวิตซึ่งอาจเป็นเพราะเหรียญในย่ามของเขาช่วยสะท้อนกระสุน ทหารคนหนึ่งที่รีบรุดไปช่วยเพื่อนที่ล้มลงจากเหตุระเบิด ได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรงเมื่อเกิดระเบิดครั้งที่สอง

เรื่องราวของผู้เสียชีวิตและ ผู้บาดเจ็บจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2553) ในกรุงเทพฯสามารถบันทึกเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเอกสารการพิจารณาคดีของศาลไทยเลย

แปดเดือนหลังจากกำลังทหารเคลื่อนพลผ่านกรุงเทพฯ และขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากแหล่งชุมนุมที่มีแนวป้องกัน ผ่านไปแล้ว การสอบสวนว่าใครมีส่วนรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต 90 ศพ และผู้บาดเจ็บราว 2,000 คน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

คณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป. - ผู้แปล) หน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเพื่อสอบสวนความรุนแรง ก็กล่าวว่าทหารและตำรวจปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ

สมชาย หอมลออ กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องสัมภาษณ์ทหารหลายคนที่อยู่ในพื้นที่ เราได้ส่งจดหมายหลายฉบับ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากพวกเขาเลย”  คณะกรรมการดังกล่าวที่เพิ่งเลื่อนการพบปะที่ได้วางแผนกันไว้ว่าจะมีออกรายงานชั้นต้นออกไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในคราวนี้ก็กล่าวว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่ารายงานจะพร้อมเมื่อใด

สมชายกล่าวว่า หน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลไม่ตอบสนองต่อคำขอให้มีการผ่าศพ และบริษัทโทรศัพท์เอกชนทั้งหลายไม่ให้ความร่วมมือเพราะพวกเขาไม่ต้องการ “ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดี”

เหยื่อหลายคนจากความรุนแรงครั้งนั้นยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก

วสันต์ ศรีทองเอี่ยม ลูกจ้างขององค์การด้านไฟฟ้าของรัฐบาล (เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากข่าวในประเทศไทยแล้วพบว่าวสันต์เป็นลูกจ้างของการไฟฟ้านครหลวง-ผู้แปล) ซึ่งถูกยิงระหว่างเดินกลับจากการทำงานเมื่อเดือนพฤษภาคมกล่าวว่า “ผมยังหวังว่าจะมีความยุติธรรม ผมต้องการรู้ว่าทำไมผมถึงถูกยิงและใครเป็นคนทำ”

พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกของทางฝ่ายทหารกล่าวว่าตัวแทนฝ่ายทหารได้พบกับคณะกรรมการค้นหาความจริง (คอป.) เมื่อปีที่แล้วสองครั้ง และได้ให้ “ทุกสิ่งที่เรามี” เขากล่าวว่าเขาไม่ทราบเรื่องคำขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคณะกรรมการ

พันเอกสรรเสริญกล่าวว่า “ในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในระหว่างการปะทะกันนั้น จุดยืนของเราชัดเจนคือจะให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป เราไม่สามารถสั่งใครในนั้นได้”

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  ซึ่งเทียบเคียงได้กับ FBI (หน่วยงานสืบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา – ผู้แปล) มีความกระตือรือร้นในการติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับแกนนำการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะที่การสืบสวนบทบาทของทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ทางกรมฯ บอกว่าพวกเขากำลังอยู่ในขั้นตอนสืบสวนอยู่

ความไม่พอใจหลักๆ อย่างหนึ่งของกลุ่มผู้ชุมนุมคือการที่ประเทศไทยขาดความยุติธรรม ฉะนั้น ความล่าช้าในการสืบสวนยิ่งจะเป็นการขัดขวางความพยายามปรองดองในหมู่ผู้มีสิทธิออกเสียงที่แบ่งขั้วกันมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ออกเสียงชาวชนบททางภาคอีสานที่แสดงความไม่พอใจเรื่องสองมาตรฐาน ระหว่างพวกชนชั้นนำกับคนส่วนที่เหลือในประเทศ

นักวิจารณ์หลายคนกล่าวหาว่ารัฐบาลยื้อเวลาการสอบสวนเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง อย่างเช่น ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ กล่าวว่าผู้นำทหารกลัว ที่จะต้องเผชิญกับเสียงโจมตีจากสาธารณชนหากยอมรับว่าทหารฆ่าพลเรือน

ธีระกล่าวว่า “รัฐบาลกำลังมุ่งที่จะเอาชนะการเลือกตั้งซึ่งจะต้องมีขึ้นในปลายปีนี้ รัฐบาลจึงต้องยื้อเวลาเรื่องนี้เอาไว้”

ความรุนแรงโกลาหลในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมนั้นโหดร้ายและยากที่จะถอดรหัสอย่างยิ่ง เนื่องจากมีส่วนของการลุกขึ้นสู้ปนอยู่ด้วย มีกลุ่มลึกลับปะปนอยู่กับผู้ประท้วง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีระเบิดมือและอาวุธอย่างอื่นได้ทำการต่อสู้กับทหาร แพทย์ต้องทำการรักษาแผลซึ่งปกติแล้วพวกเขาควรจะอยู่ในสมรภูมิรบ ไม่ใช่ในการประท้วงตามท้องถนน

พันโท นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผู้บังคับการหน่วยทหารหน่วยหนึ่งที่เข้าทำการสลายผู้ชุมนุม (จากการตรวจสอบพบว่าเขาเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ในช่วงระหว่างการล้อมปราบผู้ชุมนุมในเดือนเมษายน-ผู้แปล) กล่าวว่ากำลังพลในหน่วยของเขา 21 นาย จากทั้งหมด 24นายได้รับบาดเจ็บในระหว่างการประท้วง และมีนายหนึ่งถูกฆ่า

พันโท นพสิทธิ์กล่าวว่า “ทหารไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราอยากจะนอนอยู่บ้านมากกว่าอย่างยิ่ง” เขาเองได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิดซึ่งอาจเกิดขึ้นจากระเบิดมือ

นักวิเคราะห์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่าทหารปฏิบัติการในสภาพที่ยากลำบากอย่างยิ่ง แต่ยอดการตายที่ไม่สมดุล --ทหาร 9 คนเสียชีวิต เมื่อเทียบกับพลเรือนซึ่งเสียชีวิตถึง 80 คน หลายคนในที่นี่เป็นเพียงผู้สัญจรไปมา -- และภาพวิดีโอที่ทหารยิงอย่างบ้าคลั่งไปยังทิศทางที่มีผู้ชุมนุมบ่งชี้ว่าทางกองทัพละเมิดกฎของตนเองเกี่ยวกับการยิงพลเรือนเฉพาะในกรณีป้องกันตนเองเท่านั้น

รายงานที่รั่วไหลออกมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดูเหมือนจะสรุปไปในทางเดียวกัน โดยทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการการเสียชีวิตอย่างน้อย 13 ศพ ตามเอกสารที่รายงานในหนังสือพิมพ์ไทย เดอะเนชั่น (The Nation)

ในกรณีหนึ่ง ผู้สอบสวนสรุปว่า นายมานะ อาจราญ ผู้ดูแลสวนสัตว์ในกรุงเทพซึ่งมีหน้าที่ป้อนอาหารเต่า “น่าจะ” ถูกสังหารโดยทหารบนรถกระบะที่แล่นผ่านมาและเกิดอาการตื่นตระหนก ทหารวิ่งเข้าไปในสวนสัตว์และยิงนายมานะ ซึ่งในภายหลังถูกพบว่าเสียชีวิตพร้อมกับรอยกระสุนที่ด้านหลังศีรษะ ตามที่รายงานที่รั่วไหลออกมาสรุปไว้

รายงานอีกฉบับมาจากรอยเตอร์อ้างถึงเอกสารภายในของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กล่าวว่าช่าง ภาพของรอยเตอร์ซึ่งถูกสังหารในวันที่ 10 เมษายนว่า “ทรุดลงเมื่อแสงไฟจากปืนสว่างวาบขึ้นจากทางทิศทางฝั่งทหาร”

ช่างภาพคนดังกล่าวคือนายฮิโระ มุราโมโตะมาจากญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นรู้สึกขัดเคืองใจที่คดีไม่มีความคืบหน้า พวกเขาได้กดดันรัฐบาลไทยให้ปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเขาออกมามากขึ้น ทางการไทยตอบสนองโดยบอกว่าพวกเขายังคงสอบสวนอยู่

จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ กล่าวว่า “กระบวนการยุติธรรมมีความล่าช้าผิดปกติ อำนาจทางการเมืองบ่อนทำลายกฎหมายในประเทศไทย”

การที่ทหารปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในการสอบสวนเน้นย้ำให้เห็นอำนาจอิทธิพลของทหารในประเทศไทย

งบประมาณของทหารและอิทธิพลโดยรวมต่อการเมืองของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ พ.ศ.2549 เมื่อทหารเข้ายึดอำนาจโดยการรัฐประหารเพื่อล้มล้างทักษิณ ชินวัตร และทำให้ผู้สนับสนุนเขาหลายล้านคนโกรธแค้น

รัฐบาลกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตรว่าสนับสนุน “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุมเมื่อปีที่แล้วและอาจมีส่วนรับผิดชอบในการโจมตีทหารและตำรวจ

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานนั้น ในหมู่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการประท้วง 1,898 คน มีทหารประมาณ 400 คน ส่วนที่เหลือเป็นพลเรือนทั้งหมด

ผู้ได้รับบาดเจ็บบางคนกลับไปทำงานโดยแผลจากกระสุนและสะเก็ดระเบิดมีรอยแผลเป็นปกคลุม ในขณะที่คนอื่นต้องเดินเข้าออกโรงพยาบาลและศูนย์บำบัดฟื้นฟูอย่างอ่อนแรงและ ยังคงสั่นสะท้านด้วยคำพยากรณ์โรคของแพทย์ที่ว่าพวกเขาอาจจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในแบบปกติได้อีก

แพทย์หลายคนบอกกับเสกสิทธิ์ ช้างทอง วัย 28 ปี อดีตคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า เขาจะต้องใช้ชีวิตที่เหลือโดยมีกระสุนฝังอยู่หลังตาของเขา เสกสิทธิ์ผู้ซึ่งตาบอดจากการถูกยิงด้วยปืนในระหว่างการชุมนุมรู้สึกขมขื่น “ผมรู้สึกเสียใจที่ผมสูญเสียการมองเห็น แต่ผมเสียใจยิ่งกว่ากับประเทศไทยเพราะว่าที่นี่ไม่มีความยุติธรรม”

หมายเหตุ: ปรับปรุงแก้ไขบางส่วนจากบันทึกใน Facebook  ของ "สลักธรรม โตจิราการ" โดยผู้แปลอนุญาตให้เผยแพร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท