Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ไม้ซีกน้อยด้อยแรงงัดแต่ถ้ามัดกันแล้วมุ่ง                                     รวมใจงัดไม้ซุงมีหรือมิเคลื่อนไป
พลังอันน้อยนิดจะพิชิตอำนาจใหญ่                                           รวมกันเข้าผลักใสใหญ่แค่ไหนไม่อาจทาน
มาเถิดไม้ซีกน้อยถึงจะด้อยแต่อาจหาญ                                          สองมือคือแรงงานใครจะทานพลังเรา”
จากอีเมลสหภาพคนงาน GM 21 ม.ค.54

วันที่ 23 มกราคม 2554
กลอนบทนี้ ที่ได้จากอีเมลของสหภาพแรงงาน GM ทำให้เป็นแรงจูงใจที่จะเขียนบทความนี้ ขึ้นมา เพราะเป็นบทกลอนที่ตรงใจของกลุ่มผู้ป่วยอย่างพวกเรา

ช่วงที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างกันนั้น พวกเราจะถูกทักท้วงด้วยคำพูดนี้เสมอว่า จะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงหรือไง ?
แล้วก็มีคนหวังดีเข้ามาทักท้วงตักเตือนกันมากมาย แต่เราก็ไม่ได้หวั่นวิตกกับคำนี้เท่าไหร่เพราะเราคิดว่า สู้ก็ป่วย ไม่สู้ก็ป่วย ดังนั้นพวกเราสู้จะดีกว่า เพราะถ้าเราป่วยแล้วไม่มีเงินรักษาตัวนี่ซิจะทำอย่างไร ? แล้วนายจ้างก็ปฎิเสธการป่วยของพวกเราก่อน

ผู้ป่วยเกือบ 200 คนต้องถูกนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทน ที่ว่าพวกเราป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงาน ทั้งๆที่เราทุกคนได้รับการวินิจฉัย กับ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล คลินิกแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ราชวิถี ว่าพวกเราป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิส ปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงาน ต้องกินยามื้อหนึ่งเกือบ 10 เม็ด 3 มื้อก็ตก 30 เม็ดต่อวันพวกเราทรมานด้วยอาการป่วย มีเจ็บคอ คอแห้ง มีเสมหะพันคอ มีไข้ ไอมากไม่หยุด จนเจ็บซี่โครง เสียวลึกๆในปอด หายใจไม่สะดวก จะนั่ง ยืน เดิน หรือ นอนก็เหนื่อยหายใจไม่เต็มอิ่ม

9 พฤษภาคม 2538 คนป่วยโรคบิสซิโนซิสจากการทำงาน 37 คนนี้ จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างโดยแต่ละคนเรียกค่าสินไหมทดแทนคนละ 1 -2 ล้านบาท คิดจากค่ายาค่ารักษาตกเดือนละ 2-3 พันบาท ค่าขาดโอกาสในการประกอบอาชีพเดือนละ 5 พันบาท ค่าภาระเลี้ยงดูบุตร บิดามารดาเดือนละ 3 พันบาท ค่าสูญเสียสมรรถภาพปอดตลอดชีวิตประเมินค่ามิได้ เพราะปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายในการผลิตเลือดไปสู่หัวใจและหล่อเลี้ยงร่างกาย โดยทนายยื่นฟ้องบริษัทฐานที่เป็นผู้ก่อมลพิษทำการประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้มลพิษฝุ่นฝ้ายอยู่ในอากาศจนเข้าสู่ร่างกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนพวกเรา เกิดปอดอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพไปอย่างถาวรตลอดชีวิต

ระยะเวลาเนิ่นนานผ่านไปด้วยการที่โจทก์จำเลย นำพยาน มาสืบต่อศาลต้องดินขึ้นลงศาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องเจอกับสถานการณ์ ที่ทำร้ายกระทบกระเทือนจิตใจ ผู้ป่วยอย่างพวกเราตลอดเวลา ด้วยฝ่ายนายจ้างผู้ ก่อมลพิษปฏิเสธต่างๆนา ท้าให้พวกเราต้องไปตรวจพิสูจน์กับแพทย์ท่านอื่น ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีคิด ที่ไม่เคารพกัน มองว่าฝ่ายคนงานที่เจ็บป่วยเป็นฝ่ายผิดที่ฟ้องร้องนายจ้าง ถึงต้องทำการตรวจพิสูจน์ ซึ่งเราก็คิดว่าทำไมไม่ท้าไปตรวจพิสูจน์โรงงานบ้าง หลายคนต้องลาออกจากงานเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว ทนเจ็บป่วยแล้วทำงานต่อไปไม่ไหว และมีหลายคนที่ถูกปลดออกจากงาน ชีวิตคนป่วยต้องตกระกำลำบาก เจ็บป่วยกายแล้วก็ยังเจ็บป่วยใจ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง แต่ก็ไม่เลิกราที่จะต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการทำงานจริงๆ ตามที่นายจ้างมองว่าพวกเราไม่ได้ป่วย แกล้งป่วย ???

จนกระทั่งเวลาผ่านไป 8 ปี 4 เดือน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีวันที่ 30 กันยายน 2546 ให้นายจ้างมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อ ปล่อยฝุ่นฝ้ายทำให้พวกคนงานป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานจนปอดเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของปอดอย่างถาวรตลอดชีวิต โดยให้ได้รับเงินสินไหมทดแทนคนละ 1 แสน -2 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 / ปี แต่โรงงานใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา

ช่วงนี้เองที่คนป่วยส่วนใหญ่ก็เริ่มมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้น หลายคนใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจ หลายคนต้องหาเงินเลี้ยงชีพด้วยการไปรับจ้างเขา ด้วยพละกำลังที่ป่วย เพราะมีภาระมีลูกที่ยังเล็ก มีพ่อแก่แม่เฒ่าต้องดูแล และคนป่วยจึงพยายามปกปิดตัวเองไม่ให้ใครรู้ว่าป่วยอยู่ มีคดีในศาล เพราะเกรงว่าสังคมไม่เข้าใจจะรังเกียจ คนป่วยเริ่มมีอาการป่วยแทรกซ้อนมากขึ้น ทั้งปอดอักเสบ เสื่อม เป็นหวัดบ่อย เป็นไข้บ่อย โรคความดัน โรคเครียด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่สำคัญ คือโรคกระดูก ซึ่งเป็นกันเกือบทุกคน คงเป็นเพราะว่ากินยาระยะยาวนาน และปอดที่สำคัญเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน จึงพาให้ร่างกายสุขภาพมีโรครุมเร้า

ผลจากการที่ต้องต่อสู้ระยะยาวทำให้คนป่วยโรคบิสซิโนซิสไม่เพียงแต่เป็นผู้สูญเสียสุขภาพเท่านั้น หลายคนต้องเป็นผู้สูญเสียสภาพจิตใจไปด้วย คือ คนป่วยจะเก็บตัว ไม่เข้าสังคม ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย เครียด นอนไม่ค่อยหลับ หลงๆลืมๆ เบลอๆ เป็นผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้ ทุกคนต้องเป็นหนี้เป็นสิน บางคนถึงขั้นเคยคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาและเกิดความเบื่อหน่ายชีวิต ที่จะอยู่ในโลกอันเลวร้ายนี้

เวลาผ่านไปเป็น 11 ปี ศาลแรงงานกลางนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2549 ทุกคนไปฟังคำพิพากษาฎีกา กันอย่างพร้อมเพียงด้วยหัวใจจดจ่อหวังว่าคดีคงสิ้นสุดคราวนี้แน่แล้ว แต่เมื่อฟังคำฎีกา มีคำสั่งว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงๆไม่เพียงพอจึงยกคำพิพากษาครั้งแรก และให้ศาลแรงงานกลางสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมใหม่กับโจทก์ทั้ง 37 คนใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.ผ้าปิดจมูกที่จำเลยจัดให้ลูกจ้างใช้ในโรงงานได้มาตรฐานตามที่หน่วยราชการกำหนดหรือไม่
2.จำเลยออกระเบียบให้พนักงานสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะปฏิบัติงานหรือไม่และคอยควบคุมดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด
3.หากฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำการละเมิดต่อโจทก์การละเมิดเกิดขึ้นเมื่อใด สิ้นสุดเมื่อใด โจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมตั้งแต่เมื่อใด

วันนั้นจึงไม่ต้องบอกว่าคนที่ไปศาลจะเห็นอะไร ? น้ำตาผู้ป่วยไงคะ ที่มันไหลรินออกมา แทบหมดกำลังล้มทั้งยืน มีบางคนแอบคิดสั้น “ นี่ 11 ปีแล้วนะ!! ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆคนป่วยก็ยื่นส่งศาลไปหมดกันครบถ้วนแล้วทำไมต้องมาสืบใหม่ ? การสืบใหม่ครั้งนี้ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด ? ผลจะเป็นอย่างไร ถ้าหากตัดสินให้คนป่วยชนะจะต้องมีอุทธรณ์ฎีกาอีกไหม ? และถ้าหากแพ้จะทำอย่างไร ? ในใจคนป่วยทุกคนมีแต่คำถาม เคยมีคดีแบบนี้บ้างไหม ?
คนป่วยโรคบิสซิโนซิสหลายคนเริ่มทยอยห่างหายไป สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ก็พยายามหางบมาจัดกิจกรรมเพื่อให้คนป่วยได้มีเวทีมาแลกเปลี่ยนพบปะกันเป็นประจำทุกเดือน หรือออกไปเป็นตัวแทนองค์กร มีบางรายเอายามาแบ่งกัน มีบางรายก็มาขอยืมเงินกัน เอาของมาขายให้กัน มีบางรายต้องไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่นอนป่วยไปไหนไม่ไหวพากันไปหาหมอ
แล้ววันนัดฟังคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาครั้งที่ 2 ก็มาถึงในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 นับเวลาผ่านไปรวม 12 ปีโดยศาลแรงงานกลางตัดสินให้ผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิสชนะคดีอีกครั้ง โดยให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้ง 37 คนต่ำสุด 6 หมื่นบาทสูงสุด 110,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนถึงวันที่จ่ายเงินเสร็จ ทุกคนดีใจเป็นที่สุดคิดว่าคดีคงยุติแล้ว ถึงแม้ค่าสินไหมทดแทน จะลดลงครึ่งหนึ่งก็ช่างเถอะ แต่แล้วความดีใจก็มีได้ไม่นาน เมื่อรู้ว่านายจ้างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้คนป่วยท้อแท้มากๆบางคนก็มาลาออกจากกลุ่มบอกว่าไม่เอาแล้วเงินศาล เพราะสุขภาพไปไม่ไหว ไม่มีเงิน ไม่มียา ไม่อยากสู้แล้ว

ระหว่างรอคำฎีกาจากศาลก็มีหมายจากกรมบังคับคดีมาถึงโจทก์ทุกคนว่าขณะนี้นายจ้างกำลังล้มละลาย จึงขอให้ศาลล้มระลายกลางมีคำสั่งให้เข้าฟื้นฟูกิจการ โดยให้พวกเราคนป่วยไปร้องเป็นเจ้าหนี้กับบริษัท ช่วงนี้คนป่วยต้องลงมาจากต่างจังหวัด มาประชุมมาทำใบมอบอำนาจ ซึ่งก็มีอยู่ 3-4 รายที่จะสละสิทธิไม่สู้ต่อ และจะไม่มอบอำนาจ แต่สุดท้ายทุกคนก็พร้อมใจกันเหมือนเดิม

ระหว่างการเจรจาเพื่อชำระหนี้ทางนายจ้างก็มาต่อรองว่าจะให้เงินคนละ 100,000 บาทโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาฎีกา แล้วที่เหลือก็ยกประโยชน์ให้กับโรงงานไปแต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไปขอระงับการพิจารณาคดี ซึ่งที่ประชุมคนป่วย ก็ไม่ยินยอมกันที่จะให้ไประงับคำพิพากษาฎีกา แต่สุดท้ายผลจากคำพิพากษาศาลล้อมระลายกลางพิพากษาว่าทางโรงงานไม่ได้ล้มระลายจริง จึงไม้ต้องเข้าข่ายฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด และนี่ก็เป็นจุดแข็งของกลุ่มคนป่วยที่ทุกคนร่วมกันตัดสินใจ ไม่ได้ใช้ความคิดของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

การติดตามคำพิพากษาฎีกาก็มีอยู่เป็นระยะๆโดยทางกลุ่มออกหนังสือไปถึงเลขาธิการประธานศาลฎีกาก็ผู้ป่วยไปยื่น ได้รับคำตอบทุกครั้งว่า คดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ในใจผู้ป่วยหลายคน เริ่มมีความคิดว่าผลคดีสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ? เริ่มมีความรู้สึกว่า ความเป็นธรรมนี่หนา ช่างบางเบาเหมือนปุยฝ้ายจริงๆ ล่องลอยไปเรื่อยๆจนพวกเราคนป่วยไขว่คว้าหยิบจับแทบไม่ได้ มองแทบไม่เห็น

พี่ๆป้าๆมาบ่นเสมอว่า “สมบุญ ป้าจะอยู่ถึงคำพิพากษาไหมหนอ ? สามวันดี สี่วันไข้ อยู่อย่างนี้ บางคนก็บ่นว่าพี่ไม่มีเงินเลย”...บางคนก็เจ้าหนี้ทวง ต้องขายบ้านขายช่องหนีเจ้าหนี้ ไม่มีบ้านซุกหัวนอน ทางกลุ่มก็ต้องคอยให้กำลังใจกันไปหากิจกรรมให้คนป่วยทำไม่ให้ต้องเครียด พาไปร่วมกิจกรรมตามที่กลุ่มจัดในที่ต่างๆอย่างสม่ำเสมอตามกำลังที่จะสามารถทำได้เพื่อไม่ให้คนป่วยเครียด

ย่างเข้าปีที่ 15 ปี 6 เดือน คุณอุไร ไชยุชิต เป็นหนึ่งเดี่ยวที่ได้รับหมายศาลจากศาลแรงงานกลางให้ไปฟังคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ โจทก์ 37 คนแต่ได้รับหมายเพียงคนเดียว ทางสภาเครือข่ายฯ ต้องนำเอกสารหมายศาลฉบับนี้ถ่ายสำเนา แล้วส่งไปแจ้งคนป่วยทั้ง 37 คนที่อยู่กันคนละทิศละทาง แต่ถึงวันตัดสินจริงๆทุกคนกลับทำใจได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ? ขอเพียงแต่ให้คดีสิ้นสุดเสียทีเถอะจะได้นอนตายตาหลับสักที เพราะเครียดมามากแล้ว ต่อสู้มายาวนานแล้ว ยังโชคดีที่ยังมีชีวิตไปฟังคำพิพากษาศาล

ถึงกระนั้นก็ยังมีอยู่ 2-3 รายที่เมื่อรับแจ้งแล้วไม่เชื่อว่าศาลตัดสินแล้ว แน่นอนผลคดีออกมายืนตามศาลชั้นต้น(ศาลแรงงานกลาง)ทุกคนจึงดีใจ กับชัยชนะที่ขาวสะอาด และการได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา ว่าเรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้พวกเราป่วยจริง เราต่อสู้เพื่อความจริง เพื่อให้สังคมได้รู้ว่าเราไม่ได้อยากได้เงิน แต่เราอยากได้รับชัยชนะ(ได้รับคำฎีกานี้)เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคมผู้ใช้แรงงานได้รับรู้ ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย แต่ก็อยากฝากว่าการต่อสู้คดีเจ็บป่วยจากการทำงานนี้น่าจะมีความรวดเร็ว เป็นธรรมในเรื่องค่าสินไหมทดแทน และให้ทันกับสถานการณ์การเจ็บป่วย ที่จะต้องได้รับการเยียวยารักษาฟื้นฟูสุขภาพทุกวันอย่างต่อเนื่อง ขอให้คดีนี้เป็นบทเรียนแรกและสุดท้ายของการต่อสู้เพื่อสิทธิด้านสุขภาพของคนงานเถอะค่ะ

จึงอยากฝากความคิดตรงนี้ว่า สิทธิที่ได้รับกับจากกองทุนเงินทดแทนนั้น มันเป็นสิทธิขั้นต่ำสุดของกฎหมายหากจะขยับขยายวงเงิน การทดแทนค่ายาค่ารักษาพยาบาล ให้มันเพียงพอดีกับชีวิตคนป่วยที่พอจะอยู่ได้ในสังคม มันควรจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ? หรือจะปล่อยให้คนป่วยพิการจากการทำงานเหล่านี้ต้องเผชิญชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อแต่เพียงลำพังผู้เดียวต่อไปแบบนี้หรืออย่างไร?

“ หากจะถามว่าคนป่วย ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ดิฉันก็อยากตอบว่าความเป็นธรรมที่ผู้ป่วยได้รับถ้าเปรียบดั่ง ผลไม้ ก็คงเป็นผลไม้ ที่ถูกหนอนชอนไช กินเนื้อที่หอมหวานไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลือให้คนป่วยได้รับก็คงมีแต่เม็ดที่เกือบจะเน่าเท่านั้น ดังนั้น ความล่าช้า แห่ง คดี คือ ความไม่เป็นธรรม อย่างหนึ่ง ต่อแต่นี้ชีวิตของคนป่วยโรคบิสซิโนซิส ปอดอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพอย่างถาวร ก็คงต้องดำเนินชีวิตต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดลมหายใจสุดท้าย ซึ่งพวกเราเอง ก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะต้องตกระกำลำบากต่อไปอีกมากน้อยแค่ไหน..?


***เราจะมีการพูดคุยกันหลายแง่มุม ทั้งผู้ถูกกระทบ ทนายความ นักวิชาการ นักกฎหมาย ของเรื่อง 15 ปีคดีทอผ้าฯขอเชิญพี่น้องนักข่าวสื่อมวลชน คนที่สนใจเข้าร่วมเวทีได้ค่ะ ณ .ที่ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net