โรงพยาบาลแจ้งตำรวจจับคนไข้พม่า หลังค้างจ่ายค่ารักษา

แรงงานชาวพม่าประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน อวัยวะช้ำต้องผ่าตัดลำไส้เพื่อขับถ่ายทางช่องท้อง ซ้ำนายจ้างทิ้งพร้อมหนี้ค่ารักษาร่วม 8 หมื่น ล่าสุดโรงพยาบาลแจ้งตำรวจจับคนไข้ ส่ง ตม. รอผลักดันกลับพม่า ขณะที่นักสิทธิเผยฯ แนวปฏิบัติของ สธ. ปี 51 ระบุให้ยึดหลักมนุษยธรรม - นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน 

"ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54 ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ โดยถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รอการส่งกลับประเทศ (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)

 

โรงพยาบาลแจ้งตำรวจจับคนไข้พม่า หลังค้างจ่ายฯ - ตม. เตรียมเนรเทศกลับ 

กรณีผู้ป่วยซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่า ถูกโรงพยาบาลแจ้งตำรวจเพื่อเนรเทศกลับประเทศ หลังถูกนายจ้างส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุ ต่อมาถูกนายจ้างทอดทิ้งพร้อมหนี้รักษาพยาบาลกว่า 8 หมื่น ได้รับการเปิดเผยเมื่อวานนี้ (1 ก.พ. 54) โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

โดยผู้ป่วยที่รอส่งกลับพม่าดังกล่าว ชื่อนายชาลี หรือชื่อตามบัตรอนุญาตทำงานคือชาลี ติยู อายุ 25 ปี สัญชาติพม่า ภูมิลำเนาเดิม หมู่บ้านกับเย่า เมืองจายเมียว ประเทศพม่า เข้าเมืองผิดกฎหมายทางชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

เดิมนายชาลีทำงานกับนายจ้างชื่อนายไก่ (ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง) ลักษณะงานเป็นงานก่อสร้าง มีลูกจ้างประมาณ 10 คน นายไก่มีที่พักอยู่ ตรงข้ามวัดสุวรณ ถนนลำลูกกา คลองเก้า ปทุมธานี นายชาลีแจ้งว่ามีใบอนุญาตทำงานตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วและต่อใบอนุญาตตลอดมา โดยประกันตนกับโรงพยาบาลธัญบุรี คลองหก ซึ่งบัตรประจำตัวปี 2553 เพิ่งหมดอายุเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา

สำหรับเอกสารประจำตัวต่างๆ นายชาลีแจ้งว่าเก็บไว้ที่ที่พักซึ่งเช่าอยู่รวมกับเพื่อนคนงานที่ย่านคลองเก้า หลังประสบอุบัติเหตุไม่ได้กลับไปและเพื่อนคนงานที่พักอยู่ด้วยกันย้ายออกจากห้องพักดังกล่าวทำให้เอกสารทั้งหมดสูญหาย

ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือนครึ่ง นายชาลีได้ไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่ ชื่อนายธารา ริตแตง ภูมิลำเนาอยู่ อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยที่ไม่ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อนายจ้าง โดยนายธารามีที่พักอยู่บ้านเช่าย่านคลองเก้า อ.คูคต จ.ปทุมธานี ลักษณะงานก่อสร้างเหมาช่วง มีคนงานเพียง 3 คน คือตัวนายธาราเอง ภรรยานายธารา และนายชาลี ได้ค่าจ้างวันละ 250 บาท

วันเกิดเหตุ คือเมื่อวันที่ 9 ม.ค.54 ที่ผ่านมา นายธาราพานายชาลีไปรับจ้างก่อปูนที่ไซท์งานของบริษัท NSU supply จำกัด ซึ่งรับเหมาต่อเติมโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปเครือซีพี ลาดหลุมแก้ว ขณะทำงานเกิดอุบัติเหตุผนังคอนกรีตพังลงมาทับตัวนายชาลีได้รับบาดเจ็บ นายวีรศักดิ์ คำศรี หัวหน้าคนงานบริษัท NSU supply นำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี อาการสะโพกด้านซ้ายหัก อวัยวะในช่องท้องได้รับบาดเจ็บรุนแรง ลำไส้ใหญ่แตก กระเพาะปัสสาวะช้ำ ปัสสาวะเป็นเลือด ต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ระบายอุจจาระทางหน้าท้องชั่วคราว

กระทั่งวันที่ 25 ม.ค.54 แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ต้องดูแลถุงถ่ายอุจจาระทางหน้าท้องอีกประมาณ 2 เดือน และต้องกลับมารับการตรวจรักษาเพื่อเย็บปิดหน้าท้องกลับตามเดิม โดยค่ารักษาพยาบาลตกเป็นเงินประมาณ 7-8 หมื่นบาท ไม่มีผู้รับผิดชอบ เนื่องจากหลังเกิดเหตุนายธารา ซึ่งเป็นนายจ้างได้หลบหนีไป โดยทางโรงพยาบาลเห็นว่าอาการของนายชาลีอยู่ในขั้นที่สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้แล้วและหากอยู่ต่อไปจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อโรงพยาบาลจึงต้องการให้ออกจากโรงพยาบาล หรือดำเนินการเพื่อส่งตัวกลับภูมิลำเนาต่อไป

จากการสอบถามนายชาลีทราบว่านายชาลีไม่มีเงินติดตัวพอที่จะดูแลตัวเองหรือเดินทางไปไหนได้ ทั้งไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในประเทศไทย หากจำเป็นต้องออกจากโรงพยาบาลก็จะไปหาเพื่อนคนงานซึ่งพักอาศัยอยู่ย่านชุมชนที่พักคนงานชาวพม่าที่คลองเก้า

กระทั่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. โรงพยาบาลปทุมธานีจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมารับตัวนายชาลี นายชาลีซึ่งยังอยู่ในสภาพเจ็บป่วยและต้องขับถ่ายผ่านถุงอุจจาระทางหน้าท้อง จึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจอำเภอเมืองปทุมธานี และได้ถูกส่งตัวไปควบคุมตัวไว้ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร ดังกล่าว

โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เปิดเผยว่า ขณะนี้นายชาลี ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ย่านสวนพลู เพื่อรอการส่งกลับออกไปยังประเทศพม่า

 

เผยแนวปฏิบัติ สธ. ปี 51 ให้ยึด พ.ร.บ.เงินทดแทน นายจ้างต้องจ่าย

หนังสือเลขที่ สธ. 0707.05.1/5099 ลงวันที่ 16 ต.ค. ลงนามโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น เรื่อง “ชี้แจงเกี่ยวกับระบบและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน” โดยระบุว่าการให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นตามหลักมนุษยธรรมและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และหากมีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายเนื่องมาจากการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาล และให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 [อ่านเอกสารดังกล่าวที่นี่]

 

อนึ่ง ในสำเนาหนังสือราชการที่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เผยแพร่แก่สื่อมวลชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เคยยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 51 เพื่อสอบถาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เกี่ยวกับ "ระบบและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน" โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือเลขที่ สธ. 0707.05.1/5099 เพื่อตอบกลับเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 51

โดยตอนหนึ่งของหนังสือตอบกลับระบุว่า “การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่นั้น เป็นการให้บริการรักษาพยาบาลการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยนอกเหนือจากการทำงาน ดังนั้นเมื่อมีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายเนื่องมาจากการทำงานจึงเข้าอยู่ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 13 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิดอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง..." [อ่านเอกสารดังกล่าวที่นี่]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท