Skip to main content
sharethis

ในงานโครงการฝึกอบรม "เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา" ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ช่วงเสวนา "บทบาทของกลไกระหว่างประเทศ International Court of Justice (ICJ), Permanent Court of Arbitration (PCA) และกรณีศึกษาเขตแดนระหว่างประเทศ - กลุ่มประเทศยุโรป" ได้มีการพูดถึงกรณีการจัดการชายแดนของประเทศตัวอย่างในเอเชียและยุโรป ซึ่งเป็นบทเรียนและข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเส้นเขตแดนและ พื้นที่ชายแดน


กระชับความสัมพันธ์ของผู้นำในการปักเขตแดนระหว่างประเทศเวียดนาม-กัมพูชา

อ.สุริยา คำหว่าน มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า เวียดนามมีแผนที่ประเทศเป็นตัว S เกิด การตื่นตัวเรื่องเขตแดนเมื่อ ค.ศ. 1887 หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง เมื่อช่วงสงครามเวียดนามชายแดนของทั้ง 3 ประเทศ ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ติดต่อในการขนส่งอาวุธเพื่อใช้ในสงคราม เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าขึ้นหลายครั้งหลายครา ปัจจัยต่างๆ นั้นต่างขึ้นอยู่กับการผลัดเปลี่ยนอำนาจของผู้นำประเทศในแต่ละยุคที่จะเข้ามามีอิทธิพลในการเจรจาระหว่างประเทศร่วมกัน

สถานการณ์ปักปันเขตแดนระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา เริ่มต้นจากอนุสัญญาแนบท้ายสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา ปี ค.ศ. 1985 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ได้ระบุว่าเวียดนามและกัมพูชาจะดำเนินการปักปันเขตแดนและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างประเทศให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 อย่างไรก็ตามทั้งสองประเทศไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ต้องเลื่อนกำหนดการปักปันเขตแดนระหว่างสองประประเทศไปในปี 2012 โดยในช่วงระหว่างการดำเนินการนี้ ทั้งสองประเทศได้มีการกระชับสัมพันธ์ต่างๆ ให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้นจากการเดินทางเพื่อพบปะพูดคุยและเจรจากันของผู้นำประเทศ

แต่เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น รูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน รวมไปจนถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศกัมพูชาได้ส่งผลกระทบต่อการปักปัน เขตแดนเวียดนาม-กัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2010 ระบุว่าเวียดนามและกัมพูชาสามารถดำเนินการจัดทำหลักเขตแดนแล้วเสร็จ 152 หลัก จาก 374 หลักที่กำหนดไว้ คิดเป็น 40.64% ในขณะที่ระยะเวลาที่กำหนดที่เหลืออีก 2 ปี 2 เดือน นับเป็นประเด็นที่ท้าทายทั้งสองประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ข้ามความขัดแย้งในอดีต: ปักหมุดเขตแดนทางบกจีน-เวียดนาม
อ.พิเชฐ สายพันธ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าแนวพรมแดนทางบกระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม-สาธารณรัฐประชาชน จีน มีความยาวประมาณ 1,450 กิโลเมตร หลังจากได้ผ่านการทำสงครามกันมาอย่างยาวนานจนถึงการลำดับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยสนธิสัญญาและการปักปันเขตแดน ระหว่างกันซึ่งได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ในการลงนามความตกลงชั่วคราวว่าด้วยการแก้ไขปัญหาชายแดนระหว่างสองประเทศ เป็นต้นมาจนถึง พิธีฉลองความสำเร็จในการเจรจาปักปันเขตแดนทางบกระหว่างเวียดนาม-จีน เดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2009 โดยมีหลักเขตแดนทั้งสิ้นจำนวนถึง 1,970 หลักเฉลี่ยแล้วแต่ละหลักมีระยะห่างประมาณ 600 เมตร นับว่าเป็นแนวเส้นเขตแดนแนวหนึ่งที่มีความถี่ของการปักหลักเขตแดนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติบนโลก ใช้ระยะเวลาเพียง 20 ปีเท่านั้นในการฟื้นฟูความสัมพันธ์และทำข้อตกลงร่วมกันดังกล่าว นับเป็นความประสบความสำเร็จอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายได้มองข้ามปัญหาความขัดแย้งที่เคยมีในอดีตและหันมาร่วมมือกันสร้างสันติภาพความเจริญทางเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นระหว่างภูมิภาคได้อย่างน่าชื่นชม ก่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม ระหว่างกันอย่างพึ่งพาอาศัยกันและเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ผ่านกระบวนการเจรจากัน ในกรณีปัญหาในการปักหลักเขตแดนทางบก ในพื้นที่ 232 ตารางกิโลเมตร สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้พื้นที่ 117.1 ตารางกิโลเมตร สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้พื้นที่ 114.9 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น

 


ภูมิศาสตร์ไข่แดงในยุโรป: การจัดการพื้นที่ข้ามจินตนาการรัฐชาติ
ดร.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า หนึ่งหมู่บ้านสองแผ่นดิน เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในการปักปันเขตแดนในยุโรป หมู่บ้านดังกล่าวมีสภาพเป็นภูมิศาสตร์ไข่แดง กล่าวคือ ส่วนของหมู่บ้านเรียกว่าบาร์เลอร์นาซเซาเป็นของประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนบาร์เลอร์แฮร์ท็อกเป็นของประเทศเบลเยียม สถานการณ์ประหลาดนี้เรียกว่า เอ็นเคล็ฟ/เอกซ์เคล็ฟ (Enclave/Exclave) หรือ ภูมิศาสตร์แบบไข่แดงนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่พบทั่วไปในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางเรื่อยมาจนถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่18-19 กล่าวคือ ใช้เรียกดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ของประเทศตัวเอง แต่ตั้งอยู่บนแผ่นดินของประเทศอื่น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เมืองของประเทศหนึ่งไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง มีสาเหตุมาจากเงื่อนไขในอดีตก่อนเกิดพรมแดนแบบรัฐชาติ เช่น อาจจะมอบเป็นเมืองเป็นของกำนันให้กัน เป็นต้น

การต่อรองเขตแดนของเบลเยียมเริ่มขึ้นอย่างจริงจังประมาณ ค.ศ.1829 เป็นต้นมาจนกระทั่งมาเสร็จสมบูรณ์หลังจากที่ยืดเยื้อกันมานานในเดือนกันยายน 1986 ทางเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือข้ามพรมแดนและข้อตกลงนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1991 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1995 ในเวลาต่อมา

หอระฆัง: มรดกโลกข้ามพรมแดนภูมิภาคและรัฐชาติ
ดร.มรกต กล่าวอีกว่า ความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างเบลเยียมและฝรั่งเศส (Trans-boundary co-operation between Belgium and France) ในการจัดการขึ้นทะเบียนหอระฆังเป็นมรดกโลกแบบข้ามพรมแดนได้สำเร็จกล่าวคือ ในปี 1995 หอระฆัง (Bulfry) จำนวน 32 แห่งในเบลเยียมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแบบชุดหรือซีรีส์ (Serial Nomination) ถ้ามองแบบผิวเผินแล้วการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นชุดหรือซีรีส์ไม่มีอะไรน่าสนใจนัก แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า การขึ้นทะเบียนเป็นชุดหรือซีรีส์นี้มีความพิเศษตามที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ บันทึกเพิ่มเติมในคำตัดสินว่า "การขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นชุดหรือซีรีส์ (Serial Nomination) เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เนื่องจากโบราณสถานเหล่านี้ตั้งอยู่ในเมืองหลายๆ เมืองและต่างภูมิภาคในประเทศเบลเยียม" เพราะถ้าหากคิดไปในเชิงรัฐศาสตร์และสังคมนิยมวิทยาเนื้อที่(Sociology of space)แล้ว สิ่งที่เบลเยียมทำเป็นการสร้าง "มรดกโลกข้ามพรมแดนภูมิภาค" ทั้งวาโลเนียและแฟลนเดอร์เป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม มีรัฐบาลท้องถิ่นต่างกัน รวมทั้งมีความขัดแย้งในการช่วงชิงการกำหนดทิศทางของสังคมการเมืองเบลเยียมมา ตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราชและจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างท้องถิ่นนี้เอง ได้พัฒนาไปสู่ความร่วมมือของท้องถิ่นข้ามพรมแดนรัฐชาติ ดังเห็นว่า เบลเยียมและฝรั่งเศส ได้ร่วมกันเสนอชื้อหอระฆังในฝรั่งเศสจำนวน 22 แห่งให้เป็นมรดกโลก เพิ่มเติมจากรายชื่อหอระฆังที่เคยขึ้นทะเบียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1999 ส่งผลให้เกิดมรดกโลกข้ามพรมแดนรัฐชาติควบคู่ไปกับมรดกโลกข้ามพรมแดนภูมิภาค
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net