ท้อง แท้ง และท้องใหม่ : สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานมองไม่เห็น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปรากฏการณ์ท้อง แท้งและท้องใหม่ในสถานที่ทำงานได้เกิดขึ้นกับแรงงานหญิงซึ่งเป็นกำลังหลัก ของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมา คือ

1. แท้งอันเนื่องมาจากการทำงานหรือไม่

2. นายจ้างมีปฏิกิริยาต่อปัญหาการแท้งของพนักงานหญิงอย่างไร

3. กระบวนการทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะอย่างไร ส่งผลต่อการเกิดภาวะแท้งมากน้อยเพียงใด

4. แรงงานหญิงได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไร เมื่อตั้งครรภ์

การนำเสนอประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมานี้มีเหตุผลสำคัญ คือ การคำนึงถึงความเสี่ยง/อันตรายถึงชีวิตของผู้หญิงที่สามารถเกิดขึ้นได้จาก การทำงานที่สัมผัสกับสารเคมีในการผลิต (Chemical concentration) ไม่ว่าจะเป็นการท้องแล้วแท้ง หรืออาการแพ้สารเคมีในที่ทำงาน  และประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้เขียนสนใจกระบวนการผลิตว่ามีความปลอดภัยต่อคนงาน ผู้ผลิตหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบความรับผิดชอบของนายจ้างเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพในสถานที่ทำ งาน

ทั้งนี้เนื่องจากมีคำพูดทางสื่อว่า “การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง” นั้นอาจไม่เป็นความจริง ทัศนะเช่นนี้เน้นการแก้ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องกลายเป็นภาระและค่าใช้ จ่ายส่วนบุคคล แทนที่จะเป็นการเรียกร้องให้รัฐและนายจ้างรับผิดชอบดูแลสุขภาพและความ ปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพราะรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนและนายจ้างได้กำไรจากการทำงานของแรงงาน ที่ควรนำกลับมาลงทุนสร้างสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่แรงงาน และป้องกันอันตรายจากการทำงาน

เมื่อได้ไปสอบถามพนักงานฝ่ายผลิตจำนวนหนึ่งของบริษัทผลิตชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผ่นวงจรพิมพ์ ตัวกรองฝุ่นในฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลาง ภาคอีสานและภาคตะวันออก ในปี 2552-2553  ที่จ้างกำลังแรงงานตั้งแต่หนึ่งพันถึงสี่หมื่นคน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง หยุดงานเดือนละ 4-5 วัน ทำให้เห็นสภาพการทำงานที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานหญิง ที่รัฐจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่สิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะผู้หญิงให้มากขึ้น

ปรากฏการณ์การท้องแล้วแท้ง และท้องใหม่

ด้วยลักษณะงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ เช่น คาร์บอน ตะกั่วดิบ ตะกั่วผสมดีบุกกับทองแดง แอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol-IPA) น้ำยาทำความสะอาด Flux อะซิโตน (Acetone) น้ำยา NMP (N-Methyl-2-pyrrolidone) สารทำให้เย็น (coolant) ฝุ่นในห้องคลีนรูม ทั้งรังสีจากแสงเลเซอร์ จนเกิดอาการแพ้ตามผิวหนัง ระคายเคืองบนใบหน้า วิงเวียนศีรษะ อาเจียน เป็นหวัด  การนั่งทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน จนเกิดอาการปวดหลัง และเกิดปรากฏการณ์การแท้งขึ้น  โดยไม่มีการตรวจสอบสาเหตุอย่างจริงจังและไม่มีการสรุปสาเหตุให้พนักงานทุกคน รับทราบ  กลายเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนของพนักงานหญิงเพราะฝืนทนอยู่กับสภาพการทำงาน กับสารเคมี การนั่งนาน ใช้สายตาเพ่ง ฯลฯ จนเจ็บป่วยโดยไม่เรียกร้องอะไรจากนายจ้าง  และถ้าหากทนไม่ได้ ก็จะมีทางออกเดียวคือ ลาออกไป 

แผนกที่ใช้สารเคมีในการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ได้แก่ แผนกผลิตหัวอ่าน (slider fabrication) แผนกประกอบไดร์ฟ (Head drive assembly) แผนกซ่อมชิ้นงาน (rework) แผนก Hand Load แผนกประกอบแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ลงเครื่อง แผนกประกอบบอร์ด PCB เปล่า ห้องคาร์บอน เตรียมวัตถุดิบ แผนกบำรุงรักษาเครื่องจักรในการผลิต (tooling) เป็นต้น

คนงานหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า ในขณะที่ตนทำงานในบริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดอยุธยา หลักการปฏิบัติต่อคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ คือ คนงานต้องแจ้งให้หัวหน้าทราบเมื่อตั้งครรภ์ ภายใน 3 เดือน เพื่อที่จะคัดแยกคนงานหญิงให้ออกมาทำงานนอกสายการผลิต (นอกไลน์) และทำงานเบาในสถานที่ๆ จัดให้  เช่น จัดทำเอกสาร จัดห้องประชุม ช่วยงานสำนักงาน ซึ่งตนเห็นว่า เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีในห้องคลีนรูมที่เต็มไปด้วย ฝุ่นจากสารเคมีที่มองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม รายได้ของคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์จะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 5,000 บาท/เดือน)

ที่แย่กว่านั้น คือ คนงานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือคนหนึ่งเล่าว่า คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์กำลังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตรายจากการทำงาน  ดังเห็นได้จากการเขียนความเห็นเสนอแนะลงในกล่องรับความคิดเห็นของบริษัท  ที่ซึ่งบริษัทไม่เคยตอบกลับมา  ข้อเสนอแนะของคนงานนั้นมีใจความว่า 

- ขอให้ผู้บริหารจัดพื้นที่ทำงานสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้คนงานอื่นเดินชนคนท้องที่สวมใส่ชุดทำงานคล้ายหมี (smog) ที่สามารถปิดบังการตั้งครรภ์ได้  เพราะเคยเกิดเหตุการณ์เดินชนคนงานที่ท้อง ถูกนำส่งโรงพยาบาล และแท้งในเวลาต่อมา

- ควรให้คนงานหญิงเข้างานสายขึ้น จากเดิมที่ต้องเข้างานตั้งแต่เวลา 6.00 และเลิกงานเวลา 14.00 น. เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์ ได้สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของพวกเขา คือ ต้องตื่นแต่เช้าประมาณ 4.30 น. ออกจากบ้านมารอรถรับ-ส่ง เวลา 04.50 น. และรถมารับตรงเวลาคือ 05.10 น. มาถึงโรงงานเวลา 05.30 น. และเหลือเวลารับประทานอาหารเช้าเพียง 30 นาที ก็เข้างานเวลา 6 โมง  แต่บริษัทผ่อนปรนให้เข้าสาย 30 นาทีเท่านั้น   เมื่อคำนึงถึงสภาพของคนท้องที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก ทั้งเจ็บป่วยบ่อย  จึงเสนอให้ผู้บริหารผ่อนปรนเวลาเข้างาน เป็นเวลา 8.00 น. และเลิกงานเวลา 17.00 น. เพื่อป้องกันการเบียดเสียดกับคนงานปกติด้วย

ข้อเสนอดังกล่าว สะท้อนสภาพการทำงานของคนงานที่ตั้งครรภ์ คือ

1. ระบบการแจ้งว่าท้องไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจน  คนงานบางคนแจ้งว่าท้องแล้ว แต่ผู้บริหารไม่คัดแยกให้ทำงานนอกไลน์ให้ชัดเจน และผู้บริหารปล่อยให้ทำงานในไลน์ในขณะที่ท้องแก่  บางคนไม่แจ้งว่าท้องเพราะต้องการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ทำงานกะดึก (18.00-06.00 น.) และทำงานในวันหยุด เนื่องจากต้องการคงรายได้เอาไว้ ประมาณเดือนละ 10,000 บาท หากทำงานเพียงวันละ 8 ช.ม. (6.00-14.00 น.) จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ วีคละ 2,000 กว่าบาท หรือประมาณ 5,000 บาท/เดือน  โดยไม่ได้เบี้ยขยันเหมือนบริษัทอื่น

2. เกิดปัญหาสุขภาพภาวะเจริญพันธุ์ตามมา เช่น การแท้งในที่ทำงานโดยไม่สืบหาสาเหตุ  คนงานคนหนึ่งตั้งครรภ์ 3 เดือนแจ้งต่อผู้บริหาร แต่ยังถูกใช้ให้ทำงานในไลน์ตามปกติ เพียงแค่ไม่ต้องยกของหนัก แต่ยังคงสัมผัสกับสารเคมี  ตัวอย่างเช่น

แผนกผลิตหัวอ่าน มีการใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ IPA 100% เช็ดตัวงาน (ชิพ) และผสมน้ำยาชนิดอื่นให้เจือจางเพื่อเช็ดทำความสะอาดเครื่องจักรด้วย  ทั้งยังมีการใช้เครื่องยิงแสงเลเซอร์ไปยังหัวอ่าน  ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้  นอกจากนี้เพื่อนร่วมงานของคนงานที่ให้สัมภาษณ์ตั้งครรภ์ 7 เดือนและยังคงทำงานอยู่ในไลน์การผลิตเช่นเดียวกัน  อีกรายหนึ่งอายุราว 29 ปี ท้องแล้วแท้งในเดือนที่ 7  เนื่องจากไม่ได้แจ้งหัวหน้างานให้ทราบว่าท้องตั้งแต่ต้น และทำงานเหมือนคนงานปกติ แต่ในเวลาต่อมาคนงานรายนี้ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่ 2 (เมื่อปลายปี 2553)   อีกรายหนึ่งคลอดลูกออกมาผิดปกติ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เด็กทารกอยู่ในห้องไอซียู เป็นกรณีที่ร้ายแรงกรณีหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีชะตากรรมเช่นไร

คำบอกเล่าของคนงาน มีอีกว่า คนงานหญิงบางรายท้องเมื่ออายุมากแล้ว เช่น รายหนึ่งท้องในขณะอายุ 43 ปี   การท้องในขณะอายุมากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนงานยังคงอดทนทำงานในสภาพเช่น นี้ต่อไป โดยไม่กล้าเสนอให้ผู้บังคับบัญชาปรับปรุงสภาพการทำงานของตนเอง  เพราะถ้าหากถูกเลิกจ้างจะทำให้หางานทำยากมากเพราะคนงานสูงอายุมักไม่เป็นที่ ต้องการของโรงงาน
คนงานคนเดียวกันเล่าอีกว่า ตนท้องอยู่ราว 3 เดือนก็แท้ง ก่อนหน้าได้แจ้งให้หัวหน้าว่ากำลังท้อง 2 เดือน และถูกย้ายไปทำงานส่องกล้องแทนการทำงานกับสารเคมี  อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่า ลักษณะการทำงานที่ต้องนั่งนานเกินไปจนเกิดอาการปวดเมื่อย บวกกับประสบอุบัติเหตุเล็กน้อยในขณะที่ท้อง 2 เดือน แต่ไม่พบว่ามีความผิดปกติอะไร หลังจากที่ไปพบแพทย์แล้ว  ต่อมาประมาณ 1 เดือนเกิดอาการปวดท้องในที่ทำงานและแท้งในห้องน้ำของบริษัท  และเข้าพักรักษาพยาบาลเป็นเวลา 3 วันจึงกลับมาทำงานใหม่  โดยไม่มีการขอให้หัวหน้างานสืบสาเหตุของการแท้งแต่อย่างใด และผู้บริหารไม่ได้ไถ่ถาม และตรวจสอบการแท้งในสถานที่ทำงานเลย

3. เจ้าหน้าที่จากกรมแรงงานได้เข้าไปตรวจสอบโรงงาน  แต่ไม่เคยพบปะพูดคุยกับคนงานฝ่ายผลิต ยกเว้นคณะกรรมการสวัสดิการของโรงงานที่มีคนงานเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเท่านั้น  จึงมีคนงานเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแลสอบถามสารทุกข์สุขดิบของคนงาน ฝ่ายผลิตบ้าง โดยเฉพาะคนงานที่กำลังตั้งครรภ์

กระบวนการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ : ยิ่งเร่งผลิตยิ่งเสี่ยงอันตราย

การผลิตในห้องคลีนรูม (ห้องผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบปิดขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมจัดการฝุ่นและ สิ่งปนเปื้อนที่มาจากการใช้สารเคมีในการผลิต) จะมีการวัดฝุ่น (particles) ที่เกิดจากการใช้สารเคมีให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย  ทว่าแม้ฝุ่นจะมองไม่เห็นและมีไม่มากหากเทียบกับพื้นที่การผลิต  แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการขับออกและฟื้นฟูร่างกาย  ในความเป็นจริงคนงานมีเวลาพักผ่อนน้อย ทำงานหลายชั่วโมงติดกัน สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวได้  สารเคมีร้ายแรง เช่น สารตะกั่วทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ของหญิงผิดปกติได้  อีกทั้งหากเป็นช่วงของการเร่งผลิต คนงานจะต้องทำงานกับสารเคมีเข้มข้นยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดอาการแพ้เพราะตะกั่วมีกลิ่นเหม็น เมื่อนำไปอบความร้อนจนสุก บางรายเจ็บคอจากการบัดกรีตะกั่ว   ส่วนสารเคมีบางประเภท เช่น IPA ก็เช่นเดียวกัน คือมีกลิ่นฉุน และถูกใช้บ่อยในช่วงของการเร่งผลิต จนทำให้คนงานแพ้ มีสิวเขลอะ แสบคอ แสบจมูก เมา วิงเวียน Coolant ทำให้แสบหน้า เป็นหวัด ไอ และปวดหัว  หรือแม้แต่การทำงานที่ต้องผูกสายดินไว้กับข้อมือของคนงานที่อนุญาตให้มี กระแสไฟฟ้าสถิตย์ผ่านร่างกายสู่ดินตลอดเวลาที่ทำงาน ก็สามารถส่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจได้ คนงานเล่าว่า สายดินบางเครื่องไม่ได้มาตรฐาน เก่า ชำรุด และไม่ส่งเสียงเตือนเมื่อไฟเกินในขณะทำงาน ซึ่งอาจทำให้คนงานถูกไฟดูดได้

แม้ว่า โดยปกติคนงานจะต้องสวมชุดป้องกันสิ่งปนเปื้อน อุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงาน แต่เมื่อมีการเร่งผลิตคนงานจำต้องถอดเครื่องมือบางชิ้นเพื่อความสะดวกในการ ทำงานมากขึ้น เช่น บางรายถอดผ้าปิดจมูกเพราะหายใจไม่ออก บางรายถอดแว่นเพราะลมหายใจตีขึ้นแว่น ทำให้เกิดควันขาว มองไม่ค่อยเห็น หรือสวมหน้ากากถึง 3 ชั้นเพื่อป้องกันกลิ่นของ IPA แต่ก็ยังแสบจมูก เพราะมีการใช้อย่างเข้มข้น

ในส่วนของความรับผิดชอบของบริษัท บริษัทไม่มีแนวทางปฏิบัติในการรับมือกับปัญหาสุขภาพของคนงานในระยะยาว มีเพียงแต่สวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปีและการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยเฉพาะ หน้า  และให้สิทธิตามบัตรประกันสังคม  ทำให้ภาระตกอยู่ที่คนงาน ซึ่งหากพบว่าตนเจ็บป่วยเรื้อรัง ก็มักจะลาออกจากงานและกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านต่างจังหวัด และทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง

ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจากปัญหา สุขภาพในระยะยาว เช่น เป็นโรคนิคมฯ โรคบิสสิโนซิส (โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย) (อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล 2546) และชุมชุนยังต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน  ประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งทิ้งขยะสารพิษ กลับไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้ใน อุตสาหกรรม   และยิ่งก่อให้เกิดช่องว่างมาตรฐานความเป็นอยู่ระหว่างแรงงานผู้มีรายได้น้อย กับคนรวย และเป็นปัญหาระดับประเทศตามมา นั่นคือ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพชีวิต และปัญหาความยุติธรรม

สิ่งที่ต้องทำในเฉพาะหน้านี้ คนงานหญิงกล่าวย้ำด้วยความเป็นห่วงสถานการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานต้องไปตรวจสอบสภาพการทำงานของคนงานหญิง โดยเฉพาะที่กำลังตั้งครรภ์และที่เกิดปัญหาการแท้งในสถานที่ทำงาน โดยลงไปพูดคุย สอบถาม สัมผัสกับการทำงานของคนงานฝ่ายผลิต เพื่อหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที อย่าปล่อยให้มีข่าวเล่าซุบซิบกันภายในโรงงานว่า “ท้องแก่ยังแท้งได้” และอย่าปล่อยให้คนงานหญิงเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว เพราะที่ๆ ที่เธออยู่ แทบไม่มีใครกล้าท้าทาย และเรียกร้องความยุติธรรมจากนายจ้าง ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในดินแดนอันลึกลับ ที่ขาดการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

------------------------------------------------

แหล่งอ้างอิง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (2550)
http://www.dbd.go.th/corpsearch2/corptop100_profit.phtml?type=5
อาชนัน เกาะไพบูลย์. เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของไทย: นัยต่อการ
พัฒนาอุตสาหกรรม.หนังสือรายงานการสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2552 เรื่อง “การบริหารโลกาภิวัตน์ :ประสบการณ์ของภาคอุตสาหกรรมไทย” จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552
อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล. (2546)  โรคจากการทำงาน สารพิษและสิ่งแวดล้อมที่พบบ่อยและการป้องกัน (น.
56-67). ใน สมบุญ สีคำดอกแค (บรรณาธิการ) คู่มือแรงงานและชุมชน “การเฝ้าระวังโรคจากการทำงานสารพิษ และสิ่งแวดล้อม”.  กรุงเทพฯ : สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
สัมภาษณ์คนงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ กันยายน 2552-มกราคม 2554
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท