Skip to main content
sharethis

กรมโรงงานอ้างกฎหมาย “บัวสมหมาย” ไม่ได้ตั้งในหมู่บ้านจัดสรร คอนโด หรือตึกแถว แต่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านไม่เป็นไร ใครไม่พอใจเชิญไปฟ้องศาลปกครอง

อุบลราชธานี - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ นายบัณฑร อ่อนดำ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และคณะปฏิรูปประเทศไทยได้ลงพื้นที่ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๘ ก.พ. ๒๕๕๔ เพื่อรับฟังปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ซึ่งจะตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านของหมู่ที่ ๑๗ บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ โดยจัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลขึ้นที่ห้องพิมานทิพย์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อมูล อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมอุบลราชธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกิจการพลังงาน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๑๒

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา ๕ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตัวแทนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ชี้แจงกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบ อนุญาตให้แก่บริษัท บัวสมหมายฯ ว่า
การวินิจฉัยออกใบอนุญาตให้บริษัท บัวสมหมายฯ ได้ใช้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕  โดยโรงไฟฟ้าของบัวสมหมายฯ จัดอยู่ในโรงงานจำพวกที่ ๓ คือ โรงงานประเภทที่การประกอบกิจการอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมโรงงาน หรือก่อเหตุเดือดร้อนอันตรายต่อประชาชน จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เจ้าของกิจการจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน และมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับทำเลสถานที่ตั้งโรงงาน ดังนี้  ๑. ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภท ในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย บ้านแถวเพื่อการอาศัย ๒. สถานที่ตั้งโรงงานต้องอยู่ห่างจากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา วัด หรือ ศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐไม่น้อยกว่า๑๐๐ เมตร เมื่อโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายฯ เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด และมีสถานที่เพียงพอในการประกอบการ กรมโรงงานจึงออกใบอนุญาตให้

นายวีรชาติ พิมพ์พัฒน์ เจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานชำนาญงาน   สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี   ชี้แจงว่า การขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายฯ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเผาศาลากลางอุบลราชธานี และทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เห็นว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในอุบลราชธานี จึงนำเรื่องเสนอผู้ว่าฯ และส่งให้ทางกรมโรงงานดำเนินการออกใบอนุญาต ซึ่งตนเองเห็นว่าเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ จะไม่ก่อผลกระทบใดๆ ต่อชุมชน 

ขณะที่นายโอภาส  พรหมศร ที่ปรึกษาด้านการออกใบอนุญาต ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อดีตเจ้าหน้าที่กรมโรงงานที่ดำเนินการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท บัวสมหมายฯ แต่ภายหลังได้ลาออกและได้เป็นที่ปรึกษาด้านการออกใบอนุญาตของ กกพ. ชี้แจงว่า กกพ. ได้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทฯ แล้ว จะขาดก็แต่ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า  โดยจะมีการพิจารณาหลังสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ  หากชุมชนต้องการให้ถอนใบอนุญาตก็ต้องใช้อำนาจของศาลปกครอง เท่านั้น   ส่วนข้อมูลผลกระทบที่ชาวบ้านวิตกกังวล กกพ. จะนำไปเป็นเงื่อนไขในการสร้างโรงงานต่อไป

ด้านนายเฉลียว สีสง่า   ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค ๑๒ ชี้แจงว่า เห็นด้วยกับการใช้พลังงาน ทดแทนมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้ามีเทคโนโลยี ๒ แบบ คือ แบบการเผาแกลบในที่อับอากาศ และนำมีเทนจากการเผามาต้มน้ำ และแบบใช้แกลบบดพ่นกับอากาศเพื่อต้มน้ำ  ซึ่งทั้งสองแบบมีความแตกต่างกัน เนื่องจากแบบที่ ๑ ไม่มีฝุ่น  การเผาแกลบต้องระวังเพราะในแกลบมีซิลิกาบริสุทธิ์อยู่ ดังนั้น หากนำแกลบไปเผา จะมีเถ้าอยู่ร้อยละ ๑๐ จะมีซิลิกาตกค้างอยู่ร้อยละ ๒๘- ๓๐ และก่อให้เกิดโรคทางปอด และต้องใช้เวลา ๑๐ ปีจึงจะแสดงอาการ  จึงมีข้อกำหนดว่าหากสารซิลิกาเกินร้อยละ ๒๐ ถือว่าเป็นสารที่เป็นอันตราย ในกรรมวิธีทั้งหมด มีเงื่อนไขทางเทคนิคที่ได้กำหนดเอาไว้แล้ว แต่มักมีข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายฯ ที่ จ.ร้อยเอ็ดยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าโรงไฟฟ้าที่จังหวัดอุบลก็ไม่น่าจะดำเนินการได้เช่นกัน

ขณะที่กลุ่มนักวิจัยชุมชนที่ศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ กรณีบัวสมหมายฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แก่ นายทองคับ มาดาสิทธิ นายบุญโฮม วงศ์สีกุลนายรุ่งทวี คำแข็ง  และนางสาวสดใส สร่างโศณก ซึ่งคนทั้งสี่คนนำเสนอว่า ชุมชนมีประกอบอาชีพด้านการเกษตรและอยู่มาเป็น ๑๐๐กว่าปี  การสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบด้านเศรษฐกิจแล้ว ชุมชนจะเสียผลประโยชน์มากกว่าได้รับประโยชน์ และไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน ขนาดเพียงแต่บริษัทฯ ขุดบ่อก็เกิดผลกระทบต่อประปาหมู่บ้านทำให้ขาดน้ำแล้ว

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง  ตัวแทนกรมโรงงาน กล่าวว่า ผลการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของชาวบ้าน หากมีอันตรายอย่างร้ายแรง ก็ต้องร้องต่อคณะกรรมการที่จะ ประเมินว่าเข้ามาตรา ๖๗ วรรค ๒ หรือไม่ เหมือนกรณีมาบตาพุด สุดท้ายต้องขอศาลเป็นที่พึ่ง เพราะการออกใบอนุญาตเห็นเท่าใด ก็ต้องออกเท่านั้น

นายทองคับ มาดาสิทธิ์  กล่าวว่า เหตุใดข้อมูลการศึกษาวิจัยของชาวบ้านที่แสดงเหตุและผลอย่างชัดแจ้ง จึงไม่สามารถใช้ประกอบการยกเลิกใบอนุญาตได้ ต้องให้ไปฟ้องศาล

“ตอนที่ออกใบอนุญาตฯ ศาลไม่ต้องสั่ง แต่เมื่อยกเลิก ทำไมต้องใช้คำสั่งศาล” นายทองคับกล่าว

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวสรุปว่า หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าตนเองทำตามกฎหมายและตัดสินใจจากข้อมูล และเมื่อได้รับข้อมูลการศึกษาของชาวบ้านที่ใช้สิทธิ์จาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต้องนำเอาข้อมูลนี้มาพิจารณาประกอบ มิใช่ว่าต้องให้ไปฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอน อย่างไรก็ตามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ต้องพิจารณาเรื่องแบบนี้ด้วย   ในฐานะข้าราชการ ประชาชนได้ลุกขึ้นมารักษาสิทธิชุมชน ประชาชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะหากโรงงานสร้างมาแล้วเกิดผลกระทบก็จะเกิดความเสียหาย หน่วยงานธุรกิจก็อยากให้หน่วยงานเข้ามาดูแล ราชการมีหน้าที่ในการรักษาสมดุลของเอกชนและชาวบ้าน 

“หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเพื่อระงับความเสียหาย เนื่องจากว่า เมื่อคดีเข้าสู่ศาลจะต้องใช้เวลากว่าคดีจะสิ้นเสร็จ กว่าที่ศาลจะมีคำพิพากษาทุกฝ่ายล้วนได้รับความสูญเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักลงทุน และประเทศชาติ ถ้าตัดสินใจได้ก็ควรตัดสินใจ” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว

ด้านนางสาวสดใส สร่างโศรก แกนนำชาวบ้านกล่าวว่า เพื่อประหยัดค่าการลงทุน โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าในเมืองใหญ่อันเป็นที่ ตั้งของหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และตึกแถว ดังนั้น เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจึงใช้ไม่ได้กับท้องถิ่นของประเทศ สมควรมีการแก้ไขกฎหมายให้ทันกับสถานการณ์ เนื่องจากกระแสพลังงานทดแทนกำลังมาแรง และชนบทและท้องถิ่นทั่วประเทศคือเป้าหมายของนายทุนพลังงาน

“หมู่บ้านในชนบทเขาอยู่อาศัยกันมานับศตวรรษ มีโครงสร้างและความสัมพันธ์ของ ชุมชนที่เหนียวแน่น มีจารีต วัฒนธรรม ประเพณี มีประวัติศาสตร์ ซึ่งต่างจากหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโด ที่อยู่กันอย่างหลวมๆ และไม่อาจเรียกได้ว่าชุมชนเสียด้วยซ้ำ แต่กฎหมายกลับให้ความคุ้มครอง จริงๆ แล้วถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ต้องมีกฎหมายเลยก็ได้” แกนนำชาวบ้านกล่าว

อนึ่ง บริษัท บัวสมหมายฯ ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้แกลบเป็นพลังงานความร้อน ได้ขอตั้งโรงไฟฟ้าขนาด ๙ เมกะวัตต์ในหมู่บ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ แต่ถูกชาวบ้าน ๒ ตำบล ๖ หมู่บ้านร่วมกันคัดค้านมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับชาวบ้านใน จ.ร้อยเอ็ด ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายฯ แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทฯ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net