เสนอ ผกก.Insect in the Backyard ฟ้องศาล รธน. ตีความห้ามฉายหนังขัด รธน.?

(13 ก.พ. 54) ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการจัดเสวนา "ภาพยนตร์กับการเซ็นเซอร์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน 'ฝังความทรงจำ' โดยธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ Insects In The Backyard เล่าถึงหนังที่ถูกห้ามฉายของเธอว่า ขณะที่หนังเข้าสู่ของการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่นั้น มีการถกเถียงกันหลายเรื่อง โดยในเรื่องที่ว่าด้วยศีลธรรมอันดี นั้นเป็นอันตกไปหมด เพราะเป็นการขอเรท 20 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม สุดท้ายมีการอ้างว่า หนังเรื่องนี้ผิดกฎหมาย เพราะมีฉากที่มีหนังโป๊อยู่ 3-5 วินาที ซึ่งได้ตั้งคำถามต่อคณะกรรมการว่าเหตุใดจึงตัดสินหนังทั้งเรื่องจากจุดๆ เดียว โดยไม่ดูเจตนาองค์รวม ก็ไม่มีใครตอบ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมบอกกับเธอด้วยว่าลูกชายวัย 20 กว่าปีดูแล้วยังไม่ดูต่อเลย คนขับรถดูแล้วก็ไปอาเจียน ทำให้เห็นว่า ขณะที่มีการอ้างเหตุผลเรื่องผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่สื่อออกมาคือ "ผิดเพศ" ไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่เคยมีการพูดออกมาตรงๆ

ธัญญ์วารินกล่าวว่าไม่ได้รู้สึกโทษคณะกรรมการเซ็นเซอร์หรือมองว่าเขาผิด เพราะเข้าใจว่าด้วยระบบวิธีคิดของเขาทำให้เขาเชื่อแบบนั้น แต่ก็น่าจะให้ตนเองมีสิทธิเสนอความคิด และควรให้คนมีสิทธิเลือกที่จะไม่ดูด้วย ทั้งนี้ ล่าสุด มีตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมเสนอว่าให้ตัดฉาก 3-5 วินาทีนั้นออก ซึ่งเธอยังยืนยันว่าจะไม่ตัดฉากดังกล่าว

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ที่บังคับใช้อยู่ว่ามีความสับสนในทางหลักการ โดยที่มักโฆษณาว่าไม่มีการเซ็นเซอร์แล้วนั้นไม่จริง เพราะมีการจัดเรทติ้งประเภทห้ามฉายอยู่ด้วย โดยกฎหมายปัจจุบันที่เกี่ยวกับสื่อมีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่ให้อำนาจรัฐใช้มาตรการเร่งด่วนในการเซ็นเซอร์ นั่นคือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งพ.ร.บ.ภาพยนตร์จะแย่กว่าตรงที่เป็นการเซ็นเซอร์ก่อนฉาย ขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีมาตรา 20 ที่ขอปิดกั้นหลังจากมีการเผยแพร่แล้ว

นอกจากด้านหลักการแล้ว สาวตรีระบุว่า ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนของถ้อยคำของกฎหมาย โดยพบว่าในคู่มือการตรวจพิจารณาภาพยนตร์มีการอธิบายอย่างละเอียดถึงการจัด เรทแต่ละประเภท แต่พอถึงเรทที่ 7 ที่ว่าด้วยการห้ามฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและความมั่น คงกลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งที่ปกติแล้วกฎหมายที่มีผลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องบัญญัติให้ ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าอะไรทำได้ไม่ได้

อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ซึ่งของไทยมาจากการแต่งตั้ง โดยแบ่งเป็นมาจากภาครัฐอย่างน้อย 4 คน เอกชนที่แต่งตั้งโดยภาครัฐ 3 คน เปรียบเทียบกับองค์กรพิจาร ณาภาพยนตร์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน เรียกย่อๆ ว่า FSK ว่า องค์กรนี้มีตัวแทน 200 คนมาจากการเลือกตั้ง โดยแต่เดิมมีองค์กรของรัฐทำหน้าที่ควบคู่ไปด้วย แต่ภายหลัง รัฐได้ยุบองค์กรของตัวเองไปแล้วส่งคนมานั่งใน FSK บ้างเพราะมองว่าเอกชนทำได้ดีกว่า โดยองค์กร FSK นี้มีเป้าหมายในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยพิจารณาสื่อ เกม และทีวี

สาวตรีเล่าถึงขั้นตอนการพิจารณาว่ามีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ซึ่งคณะกรรมการในแต่ละขั้นตอนจะเป็นชุดใหม่ทั้งหมด ขั้นแรก มีกรรมการ 7 คนประกอบด้วยตัวแทนจากแวดวงผู้ประกอบการ 3 คน ประชาชนทั่วไปที่มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับเด็ก 4 คน หากผู้ยื่นไม่พอใจผลการตัดสิน สามารถยื่นใหม่ โดยมีคณะกรรมการ 9 คนประกอบด้วยตัวแทนจากแวดวงธุรกิจ 4 คนและประชาชนทั่วไป 5 คนเป็นผู้พิจารณา และหากยังไม่พอใจผลการตัดสิน สามารถอุทธรณ์ได้ โดยมีคณะกรรมการ 7 คนประกอบด้วยประธาน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฝ่ายปกครอง 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก 2 คนและจากสำนักงานคุ้มครองเยาวชน 4 คน ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐเข้ามาเมื่อพิจารณา โดยเอกชน 2 ครั้งแล้วยังมีปัญหา ขณะที่ในไทย คณะกรรมการชุดใหญ่มาจากภาครัฐ 14 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน ซึ่งเป็นสัดส่วน 4:3 อยู่ตลอด

ทั้งนี้ สาวตรีแนะนำว่า กรณีการห้ามฉายหนังนั้น ผู้กำกับในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายโดยตรงสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผ่านช่องทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน และหากทั้งสองหน่วยงานยังไม่ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ซึ่งหากสามารถยกเลิกกฎหมายได้ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว

ด้านธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เสนอว่า ปัญหาทั้งหมดนั้นไม่ได้อยู่ที่หนัง หรืออยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่โครงสร้างที่ล็อคด้วยพระพุทธศาสนาที่อยู่เหนือกฎหมายขึ้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันแก้ด้วยกฎหมายได้ เพราะมันต้องเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนตัวของสังคม เมื่อใดที่บรรยากาศและวิธีคิดของสังคมเปลี่ยน กฎหมายก็จะต้องปรับตามไปเอง เราจึงยังต้องพูดถึงปัญหานี้ต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องทัศนะต่อเพศที่สาม หากจะแก้ก็คงต้องทำให้เพศที่สามบวชได้เสียก่อน

สำหรับงาน "ฝังความทรงจำ" จัดโดย Siam Inception Art & Culture Club (SIACC) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของศิลปิน คนทำหนัง คนทำละคร และนักวิจารณ์สังคมรุ่นใหม่ เพื่อตรวจสอบที่ว่างทางสังคม และความทรงจำของเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2554 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ มีกิจกรรมประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ การแสดงละคร การอ่านบทกวี การแสดงดนตรี และงานเสวนา ดูรายละเอียดได้ที่ http://siaminception.blogspot.com/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท