นักข่าวพลเมือง:เครือข่ายสู้โรงไฟฟ้าชีวมวลร่วม ขปส.บีบนายกฯเจรจา

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่รอ “อภิสิทธิ์” หลังยื่นหนังสือ โดดเข้าร่วม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม บีบนายกฯ เจรจาให้รู้ดำรู้แดง

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2554 ชาวบ้านจาก “เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล” อันประกอบด้วยชาวบ้านจากจังหวัดเชียงราย ที่ประท้วงโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ที่บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ด้วยการนำเสาปูนขวางทางเข้าสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า พร้อมด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล อีก 5 จังหวัดที่โรงไฟฟ้ากำลังก่อสร้างและเดือนเครื่อง ดังนี้ จังหวัดสุรินทร์ ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า บริษัท บริษัท จัสมิน กรีน เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี จำกัด อยู่ที่หมู่ที่ 10 บ้านน้อยสนาม  ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์  ชาวจังหวัดลำพูน ได้รับผลกระทบจากบริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อยู่หมู่ที่ 5 บ้านหนองปลาขอ  ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งกำลังทดลองเดินเครื่อง ชาวจังหวัดตากได้รับผลกระทบจากบริษัท โรงไฟฟ้าบ้านตาก จำกัด อยู่ที่หมู่ 11 บ้านวังไม้สร้าง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก ชาวประจวบคีรีขันธ์ ได้รับผลกระทบจากบริษัท พลังงานสะอาดทับสะแกจำกัด บ้านหมู่ที่ 3 บ้านทุ่งยาว ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก  จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังทดลองเดินเครื่อง และชาวอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด กำลังก่อสร้างอยู่ที่ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี

โดยในวันที่ 14 ก.พ. ศกนี้ เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ศกนี้ โดยขอให้สั่งการระงับการสร้าง และยกเลิกการออกใบอนุญาตที่ไม่เป็นธรรมและโปร่งใส  พร้อมให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุความขัดแย้งระหว่างชาว บ้านกับบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 ที่ จ.เชียงราย และนายกรัฐมนตรีได้
มอบหมายให้พลตรีสุรพันธ์ อินทระบัวสี ที่ปรึกษาคณะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ ซึ่งพลตรีสุรพันธ์ได้กล่าวกับเครือข่ายฯ ว่า กรณีเร่งด่วนที่ จ.เชียงราย ตนได้โทรศัพท์สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเข้าดูแลปัญหาความขัด แย้งที่กำลังเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้านกับบริษัทฯ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายแล้ว และจะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ เสนอต่อนายกฯ เพื่อนำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 15 ก.พ. ที่จะมีการพิจารณาประเด็นเรื่องพลังงานชีวมวลพร้อมกันนี้

ในวันที่ 15 กพ.ศกนี้เครือข่ายฯ ยังได้ยื่นหนังสือต่อนายประเทศ ศรีชมภู ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตัวแทนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และนายประเทศ กล่าวกับเครือข่ายฯ อีกเช่นกันว่า การจะตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องได้รับใบอนุญาตจำนวน 2 ใบจาก กกพ. กล่าวคือ ใบอนุญาตการประกอบการ (ก่อสร้างโรงงาน) และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า  ขณะนี้ กกพ. ได้ออกใบอนุญาตใบที่ 1 ให้แก่บริษัทโรงไฟฟ้า 6 แห่งดังกล่าวแล้ว ส่วนใบที่ 2 ได้อนุญาตให้เพียงบริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด จ.ลำพูน ส่วนอีก 5 บริษัทยังไม่ได้รับ และนายประเทศกล่าวอีกว่า กกพ. จะนำข้อกังวลของชาวบ้านมาประกอบการพิจารณา โดยจะพิจารณาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม “ข้อกังวลของชาวบ้านที่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้จะนำมาเป็นเงื่อนไขให้โรง งานปฏิบัติ หากโรงงานไม่สามารถปฏิบัติได้ กกพ. จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาต  ส่วนข้อเสนอนโยบายการพัฒนาพลังงานชีวมวล ก็จะให้รัฐกับชุมชนทำการศึกษาความพร้อม ความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาทรัพยากรชีวมวล และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรชีวมวลของแต่ละจังหวัด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ก่อนเปิดให้เอกชนมาลงทุน  และจะนำข้อเสนออื่นๆ ของเครือข่ายนำเสนอต่อ กกพ. พิจารณาต่อไป”
นายประเทศกล่าว

วานนี้ (16 ก.พ.) ภายหลังที่ได้รับคำตอบจากตัวแทนนายกฯ และ กกพ. แล้ว เครือข่ายฯ ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์แล้วเห็นว่า ไม่อาจรอคอยคำตอบหรือรอการพิจารณาได้ เนื่องจากบริษัทฯ ได้เร่งมือก่อสร้างโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน เครือข่ายฯ จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นขบวนการของเกษตรกรและ
คนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณี คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 6,000 คน

ทั้งนี้ ขปส. ได้ออกแถลงการณ์และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างใด และ ขปส. ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเร่งเปิดการเจรจากับตัวแทน ขปส. อย่างเป็นทางการโดยเร็ว

น.ส.สดใส สร่างโศรก ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13-14 ก.พ. ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้จัดประชุมชาวบ้านจาก 7 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้แกลบ เศษไม้และวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ด้วยกำลังการผลิตตั้งแต่ 0.99-9.99 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาของบริษัทที่จะหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม ที่มีข้อกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปจะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม “ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้าน  ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนล้อมรอบ และอยู่ใกล้สถานที่ราชการ ซึ่งการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่ง เป็นการดำเนินการที่ไม่มีเปิดเผยข้อมูลด้านลบ ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจ และบางพื้นที่ไม่รับฟังการทำประชาคมหมู่บ้าน มติสมาชิกสภาองค์การบริหาร

ส่วนตำบล และได้มีการขอให้มีการขอออกใบอนุญาต การก่อสร้างโรงงาน และการผลิตไฟฟ้า อย่างไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส รวมทั้งได้ก่อให้เกิดผลกระทบในชุมชน  ไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ  และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่ก่อน เช่นของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส ที่ จ.ร้อยเอ็ดได้ละเมิดอำนาจของ กกพ. อย่างจงใจ เราจึงรอไม่ได้” ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท