ขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบที่จะได้ผลจริง...ต้องถูกและดี

23 ก.พ. 54 - ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ระบุว่าข้อจำกัดของแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่คือ นอกจากจะมีรายได้ค่อนข้างต่ำแล้ว ยังมีความไม่แน่นอนของอาชีพและรายได้ด้วย  ดังนั้นการสร้างรูปแบบสวัสดิการพื้นฐานของรัฐให้คนกลุ่มนี้  ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่สามารถจูงใจให้พวกเขาสมัครเข้าร่วมต้องเป็น “สวัสดิการที่ดี ราคาถูก และให้สิ่งที่แรงงานนอกระบบต้องการจริงๆ”

สำหรับแนวคิดการขยายประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบนั้น ทีดีอาร์ไอได้ทำงานวิจัย เรื่อง แนวทางการขยายความคุ้มโครงโดยรัฐร่วมจ่ายในประกันสังคมมาตรา 40 แห่ง พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  เพื่อศึกษาสวัสดิการที่แรงงานนอกระบบต้องการ ศึกษาดูความสามารถในการจ่ายเท่าไหร่ และศึกษาดูว่าจะจัดสวัสดิการอย่างไรถึงจะให้ยั่งยืนได้  โดยนำสวัสดิการ 5 ด้าน คือ การชดเชยรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต บำนาญ และคลอดบุตร มาให้แรงงานนอกระบบเรียงลำดับความสำคัญ (ไม่รวมอีกสองข้อที่ประกันสังคมทั่วไปมี คือ ไม่มีเงินช่วยเหลือเมื่อว่างงาน และไม่มีการสงเคราะห์บุตร) แล้วนำมาจัดเป็น 6 ชุดสิทธิประโยชน์ และนำไปให้กลุ่มตัวอย่างแรงงานนอกระบบระบุความสามารถในการจ่ายเพื่อให้ได้ ชุดสิทธิประโยชน์นั้น จากนั้นประเมินว่าแต่ละชุดสิทธิประโยชน์นั้นจะต้องการเงินสมทบเท่าไหร่ถึงจะ อยู่ได้ในระยะยาว

 

ตารางชุดสิทธิประโยชน์ตาง ๆ

 

การศึกษาทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างแรงงานนอกระบบ อาทิ กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ จำนวน 3,093 คน เป็นชาย 1,525 คน หญิง 1,568 คน  ผลการสำรวจพบว่า  กลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงมีแนวโน้มในการให้ความสำคัญกับลำดับของสิทธิ ประโยชน์ไปในทิศทางเดียวกัน  โดยให้ความสำคัญกับการชดเชยรายได้เมื่อต้องนอนโรงพยาบาล 2-3 วันขึ้นไปมากที่สุด   รองลงมาคือต้องการเงินบำนาญเมื่อสูงอายุ  ลำดับต่อมาคือ เงินเลี้ยงชีพกรณีทุพพลภาพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต และการช่วยเหลือกรณีคลอดบุตร

ในด้านความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน/เงินสมทบ พบว่า คนส่วนใหญ่จ่ายได้ระหว่าง 50-100 บาทต่อเดือน ถ้าเป็นไปได้ในกลุ่มเกษตรกรขอจ่ายที่ 50 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มแท็กซี่ในเมืองและแรงงานนอกระบบในจังหวัดใหญ่ส่วนใหญ่บอกว่าจ่าย ได้ที่ 100 บาทต่อเดือน  นอกจากนี้ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่ง (แต่ไม่ถึงครึ่งของคนที่สำรวจ) ระบุว่าหากสวัสดิการเพิ่มขึ้นก็ยินดีจ่ายเพิ่มแต่ไม่เกินเดือนละ 200-300 บาท

“แต่ถ้าเป้าหมายของรัฐคือสร้างระบบสวัสดิการมาความคุ้มครองให้กับคนที่ ยังไม่มีสวัสดิการ ก็ควรเลือกระบบที่สามารถจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายสมัครเข้ามาร่วมให้มากที่สุด ..เพราะถ้าระบบไม่จูงใจให้คนเข้าร่วม แต่เมื่อคนกลุ่มนี้เดือดร้อน รัฐก็ต้องเข้ามาดูแลอยู่ดี”

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า  ด้วยสมมติฐานดังกล่าวเมื่อต้องการให้คนเข้ามาร่วมมาก ๆ ก็ควรเก็บเบี้ยประกันในอัตราน้อย ๆ  เช่น เดือนละไม่เกิน 50-100 บาท  และก็ต้องมาดูว่าถ้ามีเงิน 100 บาทต่อเดือนจะเพียงพอสำหรับสิทธิประโยชน์ขนาดไหน  ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ในบรรดาชุดสิทธิประโยชน์ที่ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเลือกนั้น เงินสมทบเดือนละ 100 บาทเพียงพอสำหรับการจัดทำสิทธิประโยชน์ชุดที่ค่อนข้างดี (เช่น มีบำนาญให้เดือนละ 1,000 บาท สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 100 เดือน และสามารถจ่ายชดเชยให้ผู้ที่ทุพพลภาพเดือนละ 2,000 บาทตั้งแต่ปีแรก โดยไม่ต้องจ่ายเป็นขยักแบบในโครงการประชาวิวัฒน์)

ในด้านความยั่งยืนของโครงการนั้น การศึกษาพบว่า อาศัยการจ่ายเบี้ยสมทบเดือนละ 100 บาท โครงการจะสามารถอยู่ได้ไปอย่างน้อย 30 ปี ทั้งนี้มีเงื่อนไขข้อเดียวคือสัดส่วนของแรงงานนอกระบบที่เข้าร่วมโครงการจะ ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ยากเลยถ้าโครงการมีชุดสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ  ทั้งนี้ แม้กระทั่งการคำนวณที่มีข้อสมมุติว่า แรงงานนอกระบบจะเข้าร่วมโครงการถึงร้อยละ 90 ในปีที่ 10  ซึ่งหมายความว่า อย่างน้อยแรงงานนอกระบบถึงร้อยละ 90 จะได้รับบำนาญในปีที่ 19 เป็นต้นไป ก็พบว่ากองทุนจะยังคงมีเงินเพิ่มขึ้นในระหว่างปีที่ 20-30 ที่ศึกษาไปถึง  จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะอยู่รอดได้ในระยะยาว

ดร.วิโรจน์ อธิบายว่า  สาเหตุที่ผลการศึกษาดูต่างจากที่เสนอในโครงการประชาวิวัฒน์ (ที่ให้ผลประโยชน์ต่ำกว่ามากและไม่มีบำนาญให้) ก็เพราะงานวิจัยนี้ใช้แนวคิดแบบประกันสังคมจริงๆ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ไม่ใช่การคำนวณแบบบริษัทประกัน หรือคำนวณแบบบัญชีรายบุคคล  นอกจากนี้ การศึกษานี้คำนวณโดยใช้ความเสี่ยงเฉลี่ยของประชากร (ซึ่งจะตรงกับความเป็นจริงในกรณีที่มีคนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก)  ขณะที่สำนักงานประกันสังคมใช้ความเสี่ยงสูงสุดในอดีตมาเป็นฐานคำนวณ  

ภายใต้แนวคิดที่ต้องการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อคุ้มครองคนที่ตกหล่นใน สังคม  ความต้องการแท้จริงของตัวแรงงานนอกระบบ และการคำนวณอย่างยุติธรรมบนความเป็นไปได้ในเรื่องค่าใช้จ่ายดำเนินการ ทำให้ได้ชุดสวัสดิการสิทธิประโยชน์ที่ได้รับสัมพันธ์กับความสามารถในการจ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คนส่วนใหญ่สนใจเข้ามาร่วม 

“วิธีคิดง่าย ๆ จากผลการศึกษาก็คือ เงิน 100 บาทนั้นเพียงพอสำหรับ 5 สิทธิประโยชน์ที่เขาต้องการซึ่งรวมถึงเงินบำนาญอย่างน้อยเดือนละ 1,000 บาท   แต่ถ้าจะให้ดีรัฐบาลควรร่วมจ่ายสมทบด้วย ถ้าแบ่งกันจ่ายแบบ 50:50 ก็น่าจะทำให้กลุ่มคนที่ตกหล่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนสามารถเข้าถึงสวัสดิการ ที่ดีในราคาถูก และจูงใจให้สมัครเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก”

สำหรับประเด็นที่ว่าการช่วยจ่ายเงินสมทบให้แรงงานนอกระบบจะทำให้คนเหล่า นี้ได้เปรียบแรงงานในระบบนั้น ดร.วิโรจน์ กล่าวว่าปัจจุบันเงินอุดหนุนที่รัฐให้แรงงานในระบบไม่ได้น้อยกว่าที่ให้กับ แรงงานนอกระบบอย่างที่คนมักจะเข้าใจ  ทั้งนี้ แรงงานในระบบได้รับการอุดหนุนจากรัฐจากที่รัฐจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ2.75 ของเงินเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท (หรือไม่เกินคนละ 4,950 บาทต่อปี) ซึ่งควรสังเกตด้วยว่าการสมทบแบบนี้คนรายได้น้อยก็จะได้รับสมทบจากรัฐน้อย กว่าคนรายได้มาก  สำหรับแรงงานนอกระบบนั้น สิ่งที่รัฐจ่ายให้คือโครงการบัตรทองการรักษาฟรี ซึ่งปัจจุบันมีงบเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,500 บาทต่อคนต่อปี  ส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท/คน/เดือนก็เป็นสิทธิที่จะได้รับต่อเมื่ออายุ 60 ปีแล้วเท่านั้น

จากแนวคิดและรูปแบบสวัสดิการดังกล่าว งานวิจัยเสนอว่าในการขยายประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบแบบสมัครใจนี้ รัฐควรรับภาระจ่ายสมทบร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายของโครงการที่ให้ชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐาน (รัฐกับประชาชนจ่ายฝ่ายละ 50 บาทต่อเดือน) ซึ่งกรณีนี้จะต้องแก้กฎหมายประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  ในระยะยาวกองทุนนี้ถูกออกแบบมาให้อยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว แต่ในช่วงเริ่มแรก กองทุนคงต้องพึ่งกองทุนประสังคมใหญ่อยู่บ้าง ทั้งในด้านบุคลากร เครื่องมือ และฐานข้อมูล

สำหรับการขยายประกันแรงงานนอกระบบในมาตรการประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลนั้น  ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ชุดสิทธิประโยชน์ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่าย  ไม่ว่าจะเป็น ชุด 100 บาทต่อเดือน (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 30 บาท) หรือ 150 บาทต่อเดือน (ผู้ประกันตน 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท)  และชุดสิทธิประโยชน์นี้ยังละเลยเรื่องบำนาญซึ่งแรงงานนอกระบบให้ความสำคัญ  โดยแยกออกไปให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ดำเนินการต่างหาก ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าร่วมและการจ่าย อันอาจทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่สนใจจะเข้าร่วมได้  และคงทำให้มีคนเข้าร่วมไม่มากเท่าที่ควร  

“อย่าลืมว่า ถึงแม้จะมีคนเข้าร่วมจำนวนสักหนึ่งล้านคน จากกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มที่รัฐบาลเน้น คือ กลุ่ม หาบเร่แผงลอย แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงง่ายและคนเห็นชัดเจน  แต่หนึ่งล้านคนก็ยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มแรงงานนอกระบบในภาพรวม 23-24 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งมองหาตัวตนได้ยากกว่า  แต่ที่คิดว่าเป็นไปได้มากกว่าคือ จำนวนคนที่เข้าร่วมจะน้อยกว่าหนึ่งล้านคนแบบมองไม่เห็นฝุ่น”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท