สุรพศ ทวีศักดิ์: เรื่องเล่า “ศีลธรรมอำมหิต”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จำได้ว่าราวสองปีที่แล้ว มีพระจากวัดใหญ่แห่งหนึ่งแถวประทุมธานีมาเสนอโครงการเกี่ยวกับการจัดอบรม ศีลธรรมโลกหรืออะไรสักอย่าง เสร็จแล้วผู้บริหารก็ให้มาคุยกับผม เมื่อพระท่านเล่ารายละเอียดให้ฟังว่ากิจกรรมในโครงการจะต้องมีการซื้อ หนังสือธรรมะ มีค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ มีการนำนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกับทางวัดเป็นครั้งๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นสรุปได้ว่าจำเป็นต้องบังคับหรือเกณฑ์นักศึกษาเข้าร่วม โครงการ โดยทางมหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบในการจัดการทั้งหมดนั้นให้ด้วย (ส่วนค่าใช้จ่ายอาจจะต้องให้นักศึกษาออกเงินเอง แต่ถ้าเข้าร่วมในระยะนี้ทางวัดก็มีโปรโมชั่นจัดส่วนลดเรื่องค่าใช้จ่ายให้)

ผมฟังท่านเล่าจบ ก็ตอบท่านไปตามตรง (คือผมไม่ชอบพูดอะไรอ้อมค้อม) ว่า “ผม ไม่เห็นด้วยกับการบังคับหรือเกณฑ์เด็กเข้าร่วมกิจกรรมมอบรมศีลธรรม เรื่องแบบนี้ควรปล่อยให้เป็นความสมัครใจของเด็กเอง ทางวัดอาจจะติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการแล้วก็ให้เด็กเขาติดต่อสมัคร เข้าร่วมโครงการเองจะดีกว่า”

พอผมพูดจบสังเกตเห็นว่า พระท่านแสดงสีหน้าไม่ค่อยพอใจ และพูดขึ้นว่า “ถ้า คิดแบบโยมโครงการของวัดก็คงทำไม่สำเร็จ อาตมาไปมาหลายที่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารของสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นอย่างดี เขายอมเกณฑ์เด็กเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเขารู้ว่าในที่สุดมันก็จะเกิดผลดีแก่ตัวเด็กโดยตรง โยมก็รู้ว่าเด็กสมัยนี้เป็นอย่างไร จะให้เขาสนใจศาสนาเองคงเป็นเรื่องยาก อาตมาอยากถามว่าการบังคับเด็กให้ทำความดีนี่มันผิดตรงไหน”

ผมรู้สึกว่าบรรยากาศการสนทนากำลังตึงเครียด แต่ก็ยังตอบพระไปว่า “ผม เข้าใจว่าการบังคับเด็กให้ทำความดีนี่ผิดหลักการของพุทธศาสนาครับ ผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ คือผมไม่เคยพบหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์สาวกบังคับให้ใครทำความดี หรือกะเกณฑ์ให้ใครๆ มาศึกษาปฏิบัติธรรม คนที่สนใจเขาก็เข้ามาหาพระพุทธเจ้าเอง เมื่อเขาฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมหรือสนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าข้อคิดนั้นมีเหตุผลเขาก็นำไปปฏิบัติ เคยมีด้วยซ้ำไปครับที่มีคนนับถือศาสนาอื่นมาฟังธรรมแล้วเลื่อมใสจะเปลี่ยนมา นับถือพระรัตนตรัย แต่พระพุทธเจ้ากลับเตือนให้เขาทบทวนการตัดสินใจ แสดงว่าพระองค์ไม่กระหายลูกศิษย์ใช่ไหมครับ โดยเฉพาะการศึกษาปฏิบัติธรรมในสมัยนั้นก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วย ไม่มีบรรยากาศของการหมอบกราบฟังพระเพื่อที่จะเชื่อโดยไม่ต้องโต้แย้งเหมือน สมัยนี้”

คำพูดของผมยิ่งไปเพิ่มบรรยากาศการสนทนาให้ตึงเครียดมากขึ้น ผมรู้สึกว่าการสนทนากับพระวันนี้ไม่มีบรรยากาศของความสงบเย็นเลย หลังจากนิ่งไปพรรคหนึ่งพระท่านก็เป็นฝ่ายสรุปการสนทนาว่า “เอาล่ะถ้า โยมจะมีทิฐิอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของโยม อาตมาถือว่าวันนี้ได้ทำหน้าที่ของตนเองแล้วคือเอาบุญมาฝากโยม ...หมดธุระแล้วอาตมาต้องขอตัวกลับก่อนนะ”

พระท่านกล่าวลาด้วยท่าทีที่สงบสำรวม แต่เป็นท่าทีสงบสำรวมที่ทำให้ผมรู้สึก “เย็น ยะเยียบ” ผมไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “เอาบุญมาฝากโยม” และหากผมเห็นต่างจากพระผมจำเป็นต้องกลายเป็น “คนบาป” ด้วยหรือ เมื่อพระมาขอความร่วมมือในการทำโครงการอบรมศีลธรรม เรามีสิทธิจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็ได้ไม่ใช่หรือ พระไม่ควรจะแสดงออกถึงการอ้าง “อำนาจทางศีลธรรม” มาบังคับเราให้ร่วมมือ หรือเพื่อใช้เราไปบังคับให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมอบรมศีลธรรมอีกต่อหนึ่ง (โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องออกค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย)

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีนักศึกษาจากชุมรมพุทธศาสนามาบอกกับผมว่า พวกเขาต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดรถตู้พร้อมทั้งเบี้ยเลี้ยงให้คนขับรถ เบี้ยเลี้ยงให้สมาชิกชมรมที่ไปทำกิจกรรมซึ่งเขาได้รับเชิญไปอบรมความรู้ทาง พุทธศาสนาที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งแถวจังหวัดสุรินทร์ ผมถามว่าค่าใช้จ่ายพวกนี้ทางหน่วยงานที่เขาเชิญเราไปควรเป็นผู้รับผิดชอบมิ ใช่หรือ

และบังเอิญอ่านในโครงการมีเขียนไว้ในวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า “เพื่อ นำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทยและเป็นการปฏิบัติตามพระปฐม บรมราชโองการของในหลวง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ผมเลยลองถามเพื่อจะร่วมแลกเปลี่ยนว่า “เรามั่นใจได้อย่างไรว่า จะนำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทย” แต่คำตอบที่ได้ต้องทำให้ผมถึงกับอึ้ง คือ “ถ้าอาจารย์อยากรู้อาจารย์ต้องมาเรียนกับพวกผม” ผมเลยถามต่อว่า “แล้วอะไรคือคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนา” เขาตอบว่า “คำสอนที่แท้จริงคือปรมัตถสัจจะเป็นคำตอบเดียวของพระพุทธเจ้า”

คำตอบนี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อปีก่อน มีนักศึกษาคนหนึ่งในชมรมนี้ ชวนผมไปฟังอาจารย์ฆราวาสที่พวกเขานับถือซึ่งเปิดบ้านของตัวเองสอนอภิธรรมที่ ชะอำ ผมถูกรบเร้าอยู่หลายครั้งจึงลองไปฟังดู แต่พอได้ฟังเขาบรรยายว่า “ศาสนา คริสต์เอาปรมัตถธรรมไปจากพุทธศาสนา เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพมาโจมตีอินเดียแล้วเอาปรมัตถธรรมจากพุทธศาสนา ไป ให้โมเสสซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมนำไปบรรจุไว้ในศาสนาคริสต์”

ผมถามว่าที่เขาเล่ามาเขาอ้างอิงหลักฐานอะไร และปรมัตถธรรมอะไรของพุทธศาสนาที่ถูกนำไปบรรจุไว้ในศาสนาคริสต์ แต่คำตอบของเขาคลุมเครือมาก ผมจึงติงว่าคำอธิบายแบบนี้มันเป็นการ “จับแพะชนแกะ”

ทว่า “ลีลา” การพูดของเขาชวนให้คนที่อาจไม่มีพื้นความรู้ด้านพุทธศาสนาดีพอเคลิบเคลิ้ม และหลงเชื่อได้ว่าเขาคือผู้รู้จริง สไตล์ของเขาคือใช้วิธีอธิบายไปข่มคนอื่นๆ ไปว่า พระทุกวันนี้สอนพุทธศาสนากันผิดๆ แม้แต่พุทธทาสก็เข้าใจอภิธรรมไม่ถูกต้อง เป็นต้น หลังจากนั้นผมก็ไม่ไปฟังอาจารย์คนนี้อีกเลย พยายามอธิบายแง่มุมอื่นๆ ของความเป็นพุทธศาสนาให้นักศึกษากลุ่มที่ไปเป็นศิษย์ของอาจารย์ผู้นี้ที่มา ตั้งชมรมของพวกเขาเอง แต่ไม่เป็นผล พวกเขา “ปิดประตูความคิด” อย่างสนิท ใครที่เห็นต่างจากที่อาจารย์ของพวกเขาสอนล้วนแต่เข้าใจพุทธศาสนาผิดหรือไม่ รู้จริงทั้งสิ้น

หลังจากการสนทนาจบลงด้วยข้อสรุปว่า หน่วยงานที่เชิญไปเป็นวิทยากรควรรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดูเหมือนว่านักศึกษาชมรมดังกล่าวไม่ค่อยพอใจนัก พวกเขาบอกว่าพวกเขากำลังทำตามแนวทางของในหลวงคือ “จะปกครองแผ่นดินโดย ธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดยพวกเขาจะนำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนากลับมาแก้ปัญหาสังคมไทย พวกเขาทำงานด้วยความเสียสละ ถ้ามหาวิทยาลัยจะไม่สนับสนุนก็ไม่เป็นไร

ผมเองก็เข้าใจเจตนาดีของนักศึกษาชมรมพุทธศาสนาดังกล่าวดี อยากจะช่วยแต่มหาวิทยาลัยไม่มีงบประมาณที่ตั้งไว้ในแผน

แต่ที่รู้สึกสะเทือนใจก็คือว่า สังคมเรามีการปลูกฝังเรื่องทางศีลธรรมกันมาอย่างไร ทำไมคนที่คิดว่าตัวเองกำลังทำกิจกรรมอะไรในนามพุทธศาสนา ในนามของการทำเพื่อในหลวง จึงคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะต้องถูกโดยไม่มีข้อโต้แย้ง และเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุนเสมอ ใครไม่เห็นด้วยหรือไม่ให้การสนับสนุนคือคนผิด หรือเป็นคนที่ไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมศีลธรรม ที่สำคัญคนเหล่านี้เขาประเมินตัวเองจากกอะไรจึงถึงกับกล้าสรุปว่า พวกเขาคือผู้จะนำศีลธรรม นำปัญญาที่ถูกต้องกลับมาสู่สังคม

ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เขากำลังจะทำและคิดว่าดีแก่สังคมมันอาจไม่ดีอย่างเขาคิดก็ได้ เหมือนกับที่มีการอ้างธรรมนำหน้า อ้างความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อสร้าง “อำนาจทางศีลธรรม” ไปกดข่มฝ่ายที่เห็นต่างจนทำให้เกิดปัญหาต่อการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

แล้วการอ้างศีลธรรม อ้างความดีงามต่างๆ บางครั้งมันก็แสดงให้เห็นถึงความใจแคบ มีนัยของการใช้อำนาจบังคับคนอื่นๆ รวมทั้งอาจ อำมหิต” ต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีความคิดเห็น มีอุดมการณ์แตกต่างอย่างเลือดเย็น!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท