Skip to main content
sharethis

กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลเผย ร่วมขบวนพีมูฟ มีการแก้ปัญหาคืบหน้า รมว.สาทิตตั้งกรรมการ กกพ.รับข้อมูลการศึกษากลุ่มอุบลฯ ประกอบการพิจารณา

กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังจากปักหลักชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.54 มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา รัฐมนตรีสาทิต วงศ์หนองเตย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กกพ. รับข้อมูลงานวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอุบลประกอบการพิจารณา ยันถ้าข้อมูลชาวบ้านมีน้ำหนักใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไม่ออกแน่

เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 จังหวัด ได้เข้าร่วมปักหลักชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมซึ่งประกอบ ไปด้วย 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือปฏิรูปสังคมและการเมือง เครือข่ายสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งมีปัญหากรณีป่า ออป. ทับที่ อ.พิบูลมังสาหาร กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต และกลุ่มกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหมืองแร่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากร และความเป็นธรรมในสังคม

ล่าสุด วันนี้ ( 3 มี.ค.54) กลุ่มกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้รวมตัวกันเดินทางเข้าพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา โดยมีนายกวิน ทังสุพานิช เลขาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นตัวแทนพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งนายกวิน ทังสุพานิชกล่าวชี้แจงกับชาวบ้านว่า กกพ. เป็นองค์กรอิสระของรัฐที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจในการอนุญาต ของกรมโรงงาน ซึ่งการอนุญาตทำไปตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งการอนุญาตประกอบไปด้วยใบอนุญาตสร้างโรงงานซึ่งทาง กกพ.ต้องขอความเห็นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. กรมโรงงาน พ.ศ.2535 และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าซึ่ง กกพ. เป็นผู้อนุญาต ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งทั้ง 2 ใบ แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับ แต่สามารถตัดขาดจากกันได้ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน ซึ่งข้อมูลผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณี โรงไฟฟ้า บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ณ บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี นั้น ตอนนี้ได้อยู่ในขั้นอุทธรณ์ซึ่ง ทาง กกพ. จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากพบว่าการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้ามีผลกระทบกับชาวบ้าน ทาง กกพ. จะไม่ออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้กับบริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ซึ่งตนยืนยันว่าหน้าที่ของ กกพ. คือการถ่วงดุลอำนาจในการออกใบอนุญาตของกรมโรงงาน และต้องปกป้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ ในส่วนที่ชาวบ้านขอพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตนจะประสานและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบภายในวันศุกร์ที่ 4 มี.ค. 54

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.54 มีการประชุมแก้ไขปัญหาโดยมีนายสาทิศ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีการพูดคุยแก้ปัญหาของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กรณีป่า ออป. ทับที่ อ.พิบูลมังสาหาร กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต และกลุ่มกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหมืองแร่ ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ประกอบไปด้วย ตัวแทนรัฐบาล ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี  ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมโรงงานอุตสหกรรม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ตัวแทนนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่  นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นายหาญณรงค์   เยาวเลิศ ตัวแทนชาวบ้าน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก 5 จังหวัด ได้แก่  นางสาวสดใส  สร่างโศรก จ.อุบลฯ นายวิชัณย์ เขตชำนิ จ.เชียงราย นางแน่งน้อย  นิลขลัง จ.ตาก นายพัฒติกร  เลสัก  จ.ลำพูน และนายบุญมี  โสภัง จ.สุรินทร์ โดยคณะทำงานมีหน้าที่  ตรวจสอบกระบวนการและขั้นตอนการออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถเรียกบุคคลหรือหน่วยงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาเพื่อประกอบ กระบวนการพิจารณา ใน 5 พื้นที่คือ เชียงราย ตาก สุรินทร์ ลำพูน  อุบลราชธานี   ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ดำเนินโครงการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้ แกลบ เศษไม้ วัสดุทางการเกษตร เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ด้วยกำลังการผลิตตั้งแต่ 0.99-9.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีข้อกำหนดที่มีกำลังผลิต 10 เมกกะวัตต์ สามารถแต่งตั้งบุคคลหรือคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบหรือดำเนินการแก้ไขปัญหา เพิ่มเติมได้  มีอำนาจเสนอให้ชะลอหรือหยุดโครงการที่พบ กระบวนการที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม  และกำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รอบบริเวณที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน ผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล(แกลบ) ในพื้นที่พบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ส่วนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมเพื่อศึกษา และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ด้านนายทองคับ มาดาสิทธิ์ ตัวแทนชาวบ้านกล่าวหลังเข้าพบ กกพ. ว่า พอทราบว่า กกพ. ไม่จำเป็นต้องออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้บริษัทบัวสมหมาย ก็รู้สึกโล่งใจ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของ กกพ. ต่อไป แต่ตนหวังว่า กกพ. ในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่ดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรม จะทำหน้าที่ช่วยติดตามแก้ไขปัญหา และรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาของชาวบ้านไปพิจารณา เพราะตอนนี้ชาวบ้านกำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net