Skip to main content
sharethis

พีมูฟ ร่วมคณะกรรมการปฏิรูปจัดเสวนา ‘โฉนดชุมชน’ นำนโยบายสู่การปฏิบัติ กก.คปท.เผยปัญหาหลัก ปชช.ยังถูกข่มขู่คุกคาม ย้ำอย่าหวังให้รัฐบาลจัดการให้ ชุมชนต้องจัดการเองก่อน ‘ไพโรจน์’ ยันต้องรวมรายชื่อเสนอให้ ‘โฉนดชุมชน’ เป็นกฎหมาย

 
 
วันนี้ (5 มี.ค.54) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินและฐานทรัพยากร คณะกรรมการปฏิรูป โครงการพัฒนาความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาโต๊ะกลม “นโยบายโฉนดชุมชนเพื่อความเป็นธรรม ข้อเสนอต่อการแปรหลักการสู่การปฏิบัติ” ณ ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม กรรมการปฏิรูป แสดงปาฐกถา โฉนดชุมชนกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ระบุว่า นโยบายโฉนดชุมชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดขึ้นมา แต่ต้องดูให้ดีว่าเป็นโฉนดของใคร เป็นโฉนดที่รัฐกำหนด หรือภาคประชาชนเป็นผู้กำหนด โครงสร้างของสังคมในอดีตทุกคนเหลื่อมล้ำกันในแบบอาวุโสพี่น้อง ระบบสังคมชาวนาแบบเดิม อยู่ในระบบอุปถัมภ์มาตลอด แต่ปัจจุบันนี้เมื่อโลกาภิวัตน์เข้ามามันเปลี่ยนไป ทั้งสองส่วนถูกครอบโดยทุนนิยมเสรี หรือทุนนิยมเดรัจฉาน กำลังเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านถูกบดขยี้โดยทุนและรัฐมาตลอด ดังเช่นกรณีปัญหาเขตแดนไทย-เขมร ต้นเหตุคือเรากำลังเสียที่ดินให้กับระบบอุตสาหกรรมไร้พรมแดน ที่ทำให้ภาวะสังคมล่มสลาย
 
รศ.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางโฉนดชุมชนเป็นมิติเดียวกับการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น เพราะโฉนดชุมชนเป็นเรื่องทีมีแฝงอยู่แล้วในอดีต อยู่ในพื้นที่ส่วนรวม ลำน้ำป่าเขา บ้านและเมืองจะอยู่ร่วมกัน บ้านคือตัวชุมชนตามธรรมชาติ  หลายชุมชนรวมเป็นท้องถิ่น แต่เมื่อรัฐมาแบ่งชุมชนเป็นเขตปกครอง เป็นชุมชนของรัฐในภาคราชการ กระแสการพัฒนาจากข้างบนลงล่างได้ทำลายความเป็นชุมชนตามธรรมชาติไป ดังนั้นถ้าจะฟื้นสังคมท้องถิ่นต้องดูจากชุมชนธรรมชาติ ให้มีสำนึกท้องถิ่น การสร้างฐานอำนาจของชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อต่อรอง ท้องถิ่นต้องมีการต่อรองอำนาจของรัฐ แต่ละหมู่บ้านต้องมีองค์กรที่จัดตั้งกันเอง แบบเบ็ดเสร็จ มีส่วนต่างๆ มาร่วมกันบริหาร สร้างให้เกิดพลังเพื่อต่อรองกับภาครัฐ รวมทั้งมีการแบ่งปันพื้นที่ นิเวศใดที่มีลุ่มน้ำเป็นหลักจะมีการใช้พื้นที่ร่วมกัน
 
ด้าน ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป อ้างถึงข้อสรุปการขับเคลื่อนโฉนดชุมชนจากบทเรียนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน แห่งประเทศไทยว่า ยังไม่มีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ นอกจากการมอบพื้นที่คลองโยงแล้ว ยังเหลืออีกกว่า 34 ชุมชนที่ผ่านการพิจารณาแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ และมีอีกกว่า 100 ชุมชนที่รอการพิจารณา ผลแห่งความล่าช้านี้ได้ส่งผลกระทบให้มีคดีความฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านเพิ่ม ขึ้น เช่น ที่ชาวบ้านคอนสาร จ.ชัยภูมิที่ถูก อ.อ.ป.ฟ้อง 21 ราย ในส่วนพื้นที่พิพาทเขตป่า จ.เพชรบูรณ์ จ.ชัยภูมิ และจ.ตรัง ถูกฟ้องทางแพ่งข้อหาทำให้โลกร้อน รวม 34 ราย รวมค่าเสียหาย 12 ล้านบาท มีนายทุนสวนปาล์ม จ.สุราษฎร์ฯ ฟ้องชาวบ้าน 27 ราย มีนายทุนออกเอกสารสิทธิมิชอบฟ้องชาวบ้านที่ลำพูนและเชียงใหม่รวม 128 ราย
  
สมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นเรื่องการผลักดันโฉนดชุมชนของภาคประชาชนกับรัฐบาลว่า พี่น้องไม่ควรคิดหรือหวังจะให้รัฐจัดการให้เรื่องโฉนดชุมชน ชุมชนต้องจัดการเอง โดยไม่ต้องรอ หลายพื้นที่ที่เสนอเข้ามาในสำนักงานโฉนดชุมชน ยังมีหลายชุมชนที่การจัดการยังไม่สมบูรณ์ ที่ทางคณะกรรมการต้องลงตรวจสอบพื้นที่ แนวคิดและรูปธรรมเรื่องโฉนดชุมชนจริงๆ แล้วมีการจัดการมายาวนาน ไม่ใช่พึ่งมาเกิดขึ้น
สมนึกกล่าวด้วยว่า ชุมชนต้องเข้าใจเรื่องโฉนดชุมชนให้ชัด ไม่ใช่ความต้องการเรื่องที่ดินอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญเรื่องการจัดการทรัพยากร มีการดูแลป่า รักษาป่า จัดระบบเกษตรและวิถีการผลิตที่สมดุลสอดคล้องกับพื้นที่ มีการจัดการเรื่องวัฒนธรรม สังคมและการอยู่ร่วม มีการสร้างกลไกเพื่อให้เกิดความมั่นคงที่ดิน รองรับการเปลี่ยนมือที่ดิน เช่น กองทุนธนาคารที่ดิน ที่ชุมชนจัดขึ้นเอง
 
สมนึก ยังกล่าวถึงปัญหาหลักของชุมชนในตอนนี้ว่า คือการข่มขู่คุกคามของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานฯ เข้าไปตรวจยืดพื้นที่ แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ทำให้ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติสุข ปัญหาคนภายในชุมชนที่ไม่เข้าใจเรื่องโฉนดชุมชน มีการยุยงคนในชุมชนให้คัดค้านเรื่องโฉนดชุมชน ไปส่งเสริมคนที่ลักลอบตัดไม้เพื่อทำลายความชอบธรรมเรื่องโฉนดชุมชน ปัญหาที่สำคัญนอกจากนี้คือ ส่วนราชการไม่สนับสนุนเรื่องการทำโฉนดชุมชน การที่จะฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาเหล่านี้
 
“พี่น้องต้องเข้มแข็งและขับเคลื่อนโฉนดชุมชนที่เราคาดหวังให้เดินไปให้ ได้ ทำให้โฉนดชุมชนเป็นไปตามที่เราฝัน เดินหน้าสร้างโฉนดชุมชนที่เราต้องการเพื่อนำไปสู่สังคมใหม่ที่ดีงาม สังคมน่าอยู่ มีความสุข ดีงามทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต การใช้สิทธิร่วมกัน อย่าไปติดกรอบโฉนดชุมชนที่เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว” สมนึกกล่าว
 
ส่วนไพโรจน์ พลเพชร ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า เรื่องโฉนดชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ ที่เป็นเจ้าของอำนาจใจการจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศ และเรากำลังเผชิญกับอำนาจและกลไกตลาด ซึ่งเป็นสองอุปสรรคใหญ่มาก แต่ในหมวดชุมชนคือทางเลือกที่จะต้านทานสองอำนาจนี้ ดังนั้นความเป็นชุมชนต้องเหนียวแน่นเพียงพอ ความเป็นชุมชนต้องเข้มแข็ง ที่สำคัญคือแรงกดดันจากตลาด ทุนที่ยึดครองและเป็นทุนข้ามชาติ โฉนดชุมชนเป็นทางเลือกที่จะต้องสร้างความมั่นคงในชีวิตให้คนอยู่ได้ และให้ความมั่นคงว่าจะไม่เปลี่ยนมือ อีกทั้งสร้างความมั่นคงพื้นที่เกษตรและอาหาร รวมถึงการสร้างความมั่นคงในการจัดการทรัพยากรโฉนดชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยาน ต้องรักษาทรัพยากรเพื่อสังคมโดยรวม
 
ไพโรจน์ ได้กล่าวถึงแนวทางเดิน 4 แนวทางคือ 1.การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบซึ่งเป็นข้อจำกัด ทำอย่างไรจะโอนที่ดินให้มาอยู่ในหน่วยงานรัฐก่อนเพื่อขอใช้ประโยชน์แล้วจึง ให้ชุมชนต่อ โดยกดดันให้สำนักนายกฯ ขอใช้พื้นที่ทั้งหมดให้อยู่ในความดูแลก่อน 2.องค์กรชุมชนต้องผนึกกำลังกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดูแลบริหาร จัดการ เพื่อให้มีพลังเพียงพอในการต่อรอง 3.การพัฒนาโฉนดชุมชนเป็นกฎหมาย ซึ่งหากให้รัฐบาลทำก็อาจจะไม่คืบหน้า ดังนั้นทางเลือกก็คือรวบรวม 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายเอง แม้บางคนกลัวว่าจะซ้ำรอยกฎหมายป่าชุมชน แต่ก็ยังยืนยันว่าจำเป็นต้องทำ เพราะเวลาเสนอกฎหมายต้องต่อสู้กันทางความคิด อยู่ที่ดุลกำลังและความรู้ และ 4.อาศัยกลไกที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับรัฐบาล
  
กันยา ปันกิตติ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ความเข้าใจของคนในสังคมรวมถึงคนที่ทำงานด้านป่าไม้ต่อนโยบายโฉนดชุมชนเห็น ว่าเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของรัฐบาล ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน แต่เราผู้เดือดร้อน เราเจ้าของปัญหา ต้องออกมาแสดงตัวตนว่า เราไม่เกี่ยวข้องว่ารัฐบาลจะหาเสียงหรือไม่ โฉนดชุมชนเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอขึ้นไป การผลักดันต้องให้พี่น้องประชาชนเจ้าของปัญหาเป็นคนพูด เพราะถ้าให้คนอื่นไปพูดเขาก็จะไม่เชื่อ นักการเมืองพูดเขาก็ไม่เชื่อ คิดว่าเป็นการหาเสียง อยากให้แยกว่าโฉนดชุมชนที่พี่น้องทำอยู่เป็นคนละอันกับโฉนดชุมชนของรัฐบาล เจตนารมณ์เรื่องโฉนดชุมชนต้องไม่ให้แยกขาดจากเรื่องของสิทธิชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net