รายงาน: ปิดตำนาน “ศูนย์ข้อมูลคนหาย” 9 ปีกับภารกิจพาคนกลับบ้าน

เป็นเวลา เกือบ 9 ปี ที่มูลนิธิกระจกเงา ได้ดำเนินโครงการ “ศูนย์ข้อมูลคนหาย” โดยมีภารกิจหลักในการรับแจ้งเหตุและประสานงานติดตามคนหาย โดยถือเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่จับประเด็นปัญหาทางสังคม ในด้านนี้ จำนวนคนหายที่รับแจ้งตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการกว่า 2,000 ราย และสายโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษากว่าหมื่นสาย คือ สิ่งยืนยันว่า โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย ได้ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้กับครอบครัวที่ประสบปัญหาคนหาย และเชื่อมโยงการจัดการปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจนภาคประชาสังคมเพื่อให้ประเด็นปัญหาคนหาย ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ และกลายเป็นประเด็นทางสาธารณะ

จากวันนั้นถึงวันนี้ 9 ปีกับภารกิจติดตามหาย ถึงเวลาที่โครงการต้องปิดตัวลงอย่าง น่าใจหาย แม้เจตนารมณ์ของโครงการจะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า จะต้องปิดตัวเองลงเมื่อหน่วยงานรัฐ สามารถบริหารจัดการปัญหาคนหายได้อย่างเป็นระบบ วันนี้โครงการต้องปิดตัวมาถึงเร็วเกิดกว่าที่คาดคิด ด้วยจำยอมรับโดยดุษฎีถึงปัจจัยรอบด้านที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้โครงการได้ รับใช้สังคมต่อไป และนี่คือตำนาน ตั้งแต่ก้าวแรก ก้าวที่ยืนอยู่ และทิศทางการก้าวเดินข้างหน้า ในภารกิจติดตามคนหาย ของมูลนิธิกระจกเงา

ก้าวแรกกับปัญหาคนหาย

นับตั้งแต่ปี 2534 คนหนุ่มสาวในนามของกลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ได้ดำเนินกิจกรรมทางสังคมอยู่ในพื้นที่ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเปรียบเสมือนห้องทดลองปัญหาทางสังคมซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางทางนโยบาย ของรัฐ จนกระทั่งปี 2546 พบว่าในพื้นที่ ตำบลแม่ยาว ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการทำงาน เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ของคนบนพื้นที่สูง เข้าสู่เมือง เช่น เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งนำมาซึ่งปัญหาคนหายออกจากชุมชน ขาดการติดต่อจากครอบครัวโดยไม่ทราบสาเหตุ คนหายบางส่วนในชุมชนกลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ถูกหลอกไปบังคับใช้แรงงาน และหลอกไปบังคับค้าประเวณี

ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่ ได้พยายามมองหามาตรการในการช่วยเหลือ แต่ก็พบว่ากระบวนการจัดการปัญหาคนหายของประเทศไทยในขณะนั้น แทบจะไม่มีกลไกใดๆ เลย นอกจากกระบวนการแจ้งความ และได้รับเพียงบันทึกประจำวันเพียงใบเดียวจากสถานีตำรวจ

ในจำนวนการได้รับแจ้งเหตุคนหายจากชาวบ้านเพียงตำบลเดียวถึงเกือบ 20 ราย จึงทำให้ กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา มองถึงปัญหาในเชิงมหภาคระดับประเทศว่า แท้จริงแล้วในประเทศไทยมีปัญหาคนหายจำนวนกี่ราย เพราะตำบลเดียวยังมีถึง 20 ราย

เดือนตุลาคม พ.ศ.2546 กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา จึงจัดตั้งโครงการศูนย์ข้อมูล คนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเอเชีย และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และขยายสำนักงานจากเชียงราย มาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งภายหลังไม่นานจากนั้น กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์ข้อมูล คนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ จึงถือเป็นโครงการแรกของมูลนิธิกระจกเงาในสำนักงานกรุงเทพมหานคร

การทำงานในช่วงเวลาแรกเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเชื่อมโยงกับการจัดการปัญหา มีการจัดทำโปรแกรมฐานข้อมูลรับแจ้งคนหายและประวัติคนหายในรูปของระบบอิเล็ค ทรอนิคส์ และการจัดทำเว็บไซต์ติดตามคนหาย www.backtohome.org เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารในการติดตามคนหาย และสื่อกลางในการนำเสนอปัญหาคนหายในประเทศไทย

ในช่วงระยะสองปีแรกของการดำเนินโครงการ เป็นช่วงที่มีการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินโครงการมีเจ้าหน้าที่เต็มกำลังถึง 7 คนในการบริหารงานรับแจ้งเหตุ ติดตาม และประชาสัมพันธ์คนหายผ่านเครื่องมือทางสาธารณะ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว การรับแจ้งคนหายของโครงการฯ ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นระยะเริ่มต้นของโครงการ การรับแจ้งเหตุในช่วงนั้น จึงเป็นเคสที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการค้ามนุษย์เป็นหลัก ทั้งคนหายที่ถูกหลอกไปลงเรือประมง และเคสคนหายจากชุมชนในจังหวัดเชียงราย การดำเนินงานในช่วงสองปีแรก จึงเป็นการโยนหินก้อนใหญ่ลงกลางแม่น้ำ เพื่อประกาศต่อสังคมว่า เรากำลังเผชิญกับปัญหาคนหายในสังคม

ก้าวที่สอง-ระยะเปลี่ยนผ่าน

ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านของโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย อยู่ในช่วงปลายปี 2547 ซึ่งขณะนั้น เป็นช่วงที่งบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนหมดลง จึงทำให้มีการปรับลดเจ้าหน้าที่ลงเหลือเพียง 2-3 คน โดยช่วงเวลาดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลคนหายได้รับแจ้งเหตุเด็กทารกถูกลักพาตัว จึงขยายผลไปเชื่อมโยงกับขบวนการที่นับเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน และได้รับการสนับสนุนจาก โครงการเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง องค์การสหประชาชาติ (UNIAP) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการดำเนินโครงการศึกษาและสำรวจเด็กขอทานในประเทศไทย จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์ข้อมูลคนหายเพียง 2 คน ต้องทำงาน 2 โครงการไปพร้อมกัน โดยต้องทำโครงการเกี่ยวกับเด็กขอทานเป็นหลัก เพื่อประคับประคองให้โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย ดำเนินการต่อไปได้
ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงที่ศูนย์ข้อมูลคนหายเริ่มที่เป็นรู้จักของสังคมมากขึ้น จึงรับแจ้งเหตุคนหายตกเดือนละประมาณ 60 ราย ซึ่งจำเป็นต้องบริหารจัดการช่วยเหลือเคสที่มีความสำคัญเร่งด่วนก่อน โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด เนื่องจากบุคลากรน้อย แต่ปริมาณเคสมีเข้ามาเป็นจำนวนมาก และต้องบริหารจัดการโครงการถึงสองโครงการไปพร้อมกันเป็นเวลายาวนานถึง 4 ปีเต็ม กระนั้นก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าว เริ่มมีการใช้กลไกทางกฎหมายมาเชื่อมโยงกับการติดตามคนหาย และมีการแบ่งประเภทคนหายออกเป็น 10 ประเภท เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัจจัย และแนวทางในการติดตามหาตัวคนหาย นอกจากนี้เมื่อมีการแยกประเภทคนหายตามสาเหตุของการหาย จึงทำให้มีการแตกยอดโครงการใหม่ๆ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดที่ต้นเหตุของปัญหา โดยมีการเริ่มโครงการใหม่ ดังนี้

  1. โครงการยุติธุรกิจเด็กขอทาน
  2. โครงการศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี
  3. โครงการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมง
  4. โครงการผู้ป่วยข้างถนน
  5. โครงการอาสาสมัครสนามหลวง

โดยระหว่างการแตกยอดโครงการใหม่ จากประเด็นปัญหาสังคมที่พบเจอในระหว่างการดำเนินโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย มีแหล่งทุนสนับสนุนโครงการใหม่หลายแห่ง รวมทั้งบริษัทเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนงานของศูนย์ข้อมูลคนหายเป็นระยะเวลา 2 ปี จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลคนหายได้ ทำงานอย่างเต็มกำลังภายใต้เจ้าหน้าที่เต็มเวลา 2 คน และทำให้ศูนย์ข้อมูลคนหาย เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้าง และเชื่อมโยงการทำงานกับสื่อสารมวลชนเพื่อนำภาพถ่ายคนหายประกาศติดตามหาใน รายการโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังได้มีการถอดประสบการณ์รับแจ้งเหตุและติดตามคนหาย ในรูปแบบคู่มือติดตามคนหายเพื่อใช้เป็นแนวทางในการติดตามคนหาย ระยะโครงการช่วงนี้ เป็นช่วงแตกยอดโครงการเพื่อก้าวไปยืนในปัญหาสังคมที่เชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม อย่างมุ่งเน้น เอาจริงเอาจังในแต่ละประเด็นปัญหา

ก้าวปัจจุบัน-เมื่อโครงการถึงทางตัน

นับแต่เริ่มต้นโครงการมาเกือบจะครบ ทศวรรษ โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย ยังมีเจตนารมณ์เดิม คือ การผลักดันให้รัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาคนหายได้อย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานที่ดูแลปัญหาเป็นการเฉพาะ แต่ภารกิจดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จโครงการก็มีอันต้องสิ้นสุดลงเสียก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่า หลังจากที่โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย ได้นำภาพถ่ายคนหายเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์ และมีผลการดำเนินงานผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้ง จึงทำให้โครงการเป็นที่รู้จักทางสาธารณะในวงกว้าง ในแต่ละเดือนจึงมีการรับแจ้งเหตุคนหายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สวนทางกับผู้สนับสนุนโครงการซึ่งไม่มีเลย การดำเนินโครงการในช่วงเวลานี้ จึงประคับประคองโครงการด้วยต้นทุนที่จำกัด การทำงานกับเคสที่มีความยาก และเดินทางไกล ไม่สามารถทำได้คล่องตัวนัก มีเคสหลายรายที่ไม่สามารถติดตามตัวได้พบ และมีเคสจำนวนมากที่โครงการไม่สามารถเข้าไปจัดการได้อย่างทั่วถึง สภาพโครงการจึงอยู่ในลักษณะตั้งรับ และเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล และคำปรึกษาเท่านั้น

ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย จึงไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ ยอดเงินบัญชีในโครงการจะเป็น 0 บาทในสิ้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ หากเป็นการเปรียบเทียบในเชิงเศรษฐศาสตร์ โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย อยู่ในสภาวะขาดทุนและต้องควักเนื้อโดยตลอด ซึ่งหากยังดันทุรังพาโครงการต่อไป โครงการดังกล่าวนี้ อาจจะมีสภาพไม่ต่างจากการทำงานของหน่วยงานรัฐ ที่ตั้งรับกับปัญหาขนาดใหญ่ และไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาได้อย่างทั่วถึงเป็นที่น่าพอใจของประชาชนที่ เดือนร้อนและเข้ามาขอความช่วยเหลือ มติของกรรมการมูลนิธิกระจกเงา จึงมีความจำเป็นต้องยุติโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย หยุดภารกิจการรับแจ้งเหตุคนหาย นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป

ก้าวต่อไป-กับภารกิจสนับสนุนรัฐในการจัดการปัญหา

แม้วันนี้โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย จำเป็นต้องยุติบทบาทการรับแจ้งเหตุคนหาย ด้วยปัจจัยภายนอกซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งภารกิจเกี่ยวกับปัญหาคนหายในประเทศไทยยังไม่บรรลุถึงเป้าประสงค์ที่ ตั้งไว้ ก้าวต่อไปของมูลนิธิกระจกเงา ต่อการจัดการปัญหาคนหาย จะเปลี่ยนบทบาทและท่าที จากผู้ปฏิบัติงานรับแจ้งเหตุ เป็นการมอนิเตอร์ ให้คำปรึกษา แก่หน่วยงานรัฐที่รับภารกิจรับแจ้งเหตุคนหายไปดำเนินการต่อ และรวบรวม สังเคราะห์ การจัดการความรู้ (KM) เกี่ยวกับเรื่องคนหายเพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยภายหลังจากการปิดโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย การแจ้งหายคนหาย จะถูกส่งต่อไปยัง หน่วยงานบ้านพักเด็กและครอบครัว (ศูนย์ประชาบดี 1300) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น มูลนิธิกระจกเงา จะสนับสนุนระบบโปรแกรมฐานข้อมูลคนหาย ติดตั้งให้กับหน่วยงานบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด และจะระดมทุนเพื่อจัดเวทีถอดบทเรียนประสบการณ์ เพื่อใช้ในการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนผลิตเอกสารคู่มือติดตามคนหาย สำหรับการแจกจ่ายไปยังหน่วยงานที่รับบทบาทการรับแจ้งคนหายต่อทั่วประเทศ

วันนี้แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงาน แต่ปณิธานที่มุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการปัญหาคนหายในประเทศ ไทยยังคงก้าวต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมจะเข้าใจ และยังคงให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของมูลนิธิกระจกเงา ตลอดจนการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันภารกิจจัดการปัญหาคนหาย ให้เกิดกลไกที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเพื่อพาคนหายทุกคน กลับบ้านอย่างปลอดภัยต่อไป

 

หมายเหตุ: มูลนิธิกระจกเงาจะมีการแถลงข่าวปิดศูนย์ข้อมูลคนหาย ในวันพุธที่ 16 มีนาคมนี้ เวลา 11.00 น. ณ มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานกรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-9414194-5 ต่อ 104, 086 794 8670

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท