Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขออนุญาตไม่เสียเวลาเท้าความถึงคำปราศรัยของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเมื่อคืนวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในประเด็นสำคัญของหลักการประชาธิปไตย และสะท้อนให้เห็นสำนึกอันอ่อนแอในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

ปัญหาสำคัญของมาตรา 112 และท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยที่ผ่านมาคือ การไม่แยกแยะระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือในฐานะสถาบันหรือองค์กรที่เป็นสาธารณะหรือมีอำนาจสาธารณะ กับการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย หรือล่วงละเมิดโดยผิดกฎหมาย และการอ้างสิ่งที่อาจจะเป็นเพียงประเพณีทางการเมือง ซึ่งมีความคลุมเครือ ขึ้นมาอยู่เหนือหลักการประชาธิปไตย (เช่นในกรณีของการ “มั่ว” ขอนายกฯ พระราชทานโดยอ้างมาตรา 7)

ความสำนึกอันอ่อนแอในเรื่องหลักการประชาธิปไตย และท่าทีอันบิดเบี้ยวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนี้ คือสิ่งที่ชักนำปัญหาการเมืองในช่วงก่อนรัฐประหาร ให้เดินออกไปจากการแก้ปัญหาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ด้วยการยกข้ออ้างในเรื่องประเพณีทางการเมืองที่ไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

กระทั่งเกิดการรัฐประหาร และตามมาด้วยขบวนการตุลาการวิบัติ และเหตุการทางการเมืองจำนวนมากที่ล้วนบ่งชี้ถึงระดับของวิกฤตการณ์ที่มีแต่ จะรุนแรงขึ้น จึงปรากฏชัดว่า พลังจารีตนิยมคือสิ่งที่บ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย และบิดเบือนระบอบการปกครองประเทศไปจากระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นสำคัญคือ สิทธิความเสมอภาคทางการเมืองของคนไทย ณ วันนี้ มันไม่เท่ากัน ฝ่ายจารีตนิยมได้อาศัยประเพณีทางการเมืองมากดขี่และบิดเบือนสิทธิ์ของ ประชาชนซึ่งมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง กองทัพไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาลเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายขวาส่งอันธพาลการเมืองออกมาป่วนบ้านเมือง จนกระทั่งสามารถล้มรัฐบาลเลือกตั้งลงไปได้ เมื่อฝ่ายจารีตนิยมได้อำนาจรัฐ ประชาชนที่ไม่ยอมรับการเล่นการเมืองด้วยวิธีการสกปรกดังกล่าว จึงออกมาประท้วงต่อต้าน และในที่สุดก็ถูกเข่นฆ่าไปถึงสองครั้งสองครา

การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิความเสมอภาคทางการเมืองในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งเดียวกับการต่อสู้ให้หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่เหนือ หลักจารีตประเพณี ซึ่งโดยตัวของมันเองไม่มีหลักการอะไร เป็นแต่เพียงการยึดติดกับตัวบุคคล

การได้มาซึ่งความเสมอภาคทางการเมือง ต้องควบคู่มากับสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งย่อมต้องหมายถึงการแสดงความคิดออกมาดัง ๆ โดยเฉพาะความคิดเห็นที่เป็นความคิดเห็นทางการเมือง หลักการนี้คือหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันจักต้องไม่ถูกกดอยู่ใต้จารีตประเพณี หรือค่านิยมอื่นใด หมายความว่า หากสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมากล่าวอ้างทางการเมือง หรือถูกนำมายุ่งเกี่ยวทางการเมืองนอกเหนือไปจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใด ย่อมมีความจำเป็น และเป็นเสรีภาพของประชาชนที่จะอภิปราย และวิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่าโดยประเพณีจะยังให้ความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่โดยหลักการ ในสถานการณ์เช่นนี้ หรือในสถานการณ์ที่แหลมคมกว่านี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อำนาจในการอภิปรายเรื่องดังกล่าว ต้องเป็นอำนาจของสาธารณชน และไม่ว่าจะเป็นจารีต ประเพณี หรือแม้แต่กฎหมาย ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายดังกล่าว อำนาจในการอภิปรายเรื่องนี้ เป็นอำนาจของสมาชิกทุกคนในสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของชนชั้นนำไม่กี่คน

ในเวลาที่ผ่านมา แกนนำ นปช. ไม่เคยแสดงให้เห็นแม้แต่น้อย ว่ามีวุฒิภาวะ และมีความสำนึกในหลักการประชาธิปไตยตามที่กล่าวมา หากแต่ยังปฏิบัติไปในทางตรงกันข้าม เช่น การพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรา 112 เอาผิดชนชั้นนำซึ่งมีรายชื่ออยู่ในโทรเลขที่วิกิลีกส์นำมาเปิดเผย ทั้งที่สิ่งที่ควรรณรงค์คือให้มีการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็น สาธารณะได้โดยกฎหมายไม่เป็นอุปสรรค ไม่ใช่ให้กระซิบกระซาบกันในหมู่ชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน

คำพูดที่กล่าวว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ของ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำว่า “ปากสว่าง” ของณัฐวุฒิ จนบัดนี้ แกนนำ นปช. ยังไม่เข้าใจว่า ประชาธิปไตยนั้น “วิธีการ” คือ “เป้าหมาย” โดยตัวของมันเอง แสดงให้เห็นว่า คำปราศรัยของนายณัฐวุฒิอันเปี่ยมไปด้วยสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยที่ได้รับ ความชื่นชมอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม เมื่อปีก่อน ก็เป็นเพียงแต่การแสดงไปตามบทเท่านั้น หาได้เกิดจากสำนึกที่แท้จริง

เพราะสังคมประชาธิปไตย สมาชิกของสังคมคือ “ผู้ใหญ่” ที่มีวุฒิภาวะ ประชาชนคือ “ผู้ใหญ่” ที่ต้องการรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่ “เด็ก” ที่เรียกร้องหาพ่ออยู่ตลอด การเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเมืองที่เป็นไปตามหลักการ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็ไม่ใช่เกม “หนามยอกเอาหนามบ่ง” หรือ เกม “พรายกระซิบต่อ”

การ “กระซิบ” คือ พฤติกรรมของเด็กที่ “ไร้อำนาจ” เป็นการยอมให้อำนาจของจารีตประเพณีอยู่เหนือหลักการที่ถูกต้อง คนไทยไม่ได้เพิ่งมา “ตาสว่าง” หรือเพิ่งมา “กระซิบ” ในพ.ศ. 2554 แต่ “กระซิบ” กันมาหลายร้อยปีแล้ว ถ้าการกระซิบจะสามารถนำมาซึ่งการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็คงจะได้มาเมื่อร้อยปีก่อนแล้ว

การกระซิบจะไม่มีวันนำมาซึ่งความเสมอภาคทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตยที่แท้ เพราะการกระซิบ นัยหนึ่งคือความหวาดกลัว คือความไม่สามารถที่จะพูดอย่างเปิดเผย ซึ่งก็คือ การ “ยืนยัน” และ “ยอมรับ” อำนาจของสิ่งที่ถูกกระซิบ นอกจากนี้ การกระซิบยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่น่าไว้วางใจ และสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งที่ตัวเองกำลังยืนยันสิ่งที่เป็นความถูกต้องชอบธรรมซึ่งสามารถกล่าวออก มาดัง ๆ อย่างสง่าผ่าเผยแท้ ๆ แต่กลับเอาแต่กระซิบกันอยู่ จึงได้โดนข้อหา “ล้มเจ้า” แต่แม้ขณะนี้ แกนนำก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้าใจสิ่งนี้

การออกมาพูดสองแง่สามง่าม และเอาแต่ท่อง อียิปต์ ๆ ๆ ๆ นั้น อาจจะสร้างความผ่อนคลายและเสียงหัวเราะบนเวทีที่มีแต่ฝ่ายเดียวกันนั่งดูได้ แต่จะไม่มีวันนำไปสู่ความเข้าใจในประเด็นสำคัญ และนัยหลักการซึ่งต้องอยู่เหนือประเพณี

การกระซิบ นอกจากจะไม่สามารถแน่ใจได้ว่า “ฝ่ายเดียวกัน” เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องตรงกันจริงหรือไม่ (หรือว่าหัวเราะไปอย่างนั้นเอง) แล้ว ยังจะไม่มีวันทำให้คนที่ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกันเข้าใจ หรือมองเห็นนัยสำคัญของสิ่งนี้ และหันมาหาทางออกร่วมกัน แต่อาจจะก่อให้เกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามแทน ต้องเข้าใจว่าท่าทีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นปัญหานี้ เป็นสิ่งที่มีฐานคติมาจากจารีตประเพณีมากกว่ากฎหมาย เหตุที่ฝ่ายจารีตนิยมสามารถใช้มาตรา 112 ได้อย่างรุนแรงเกินขอบเขต ก็เพราะการอ้างหรืออนุมานถึงสำนึกอันเป็นจารีตนี้ ดังที่มีการกล่าวกันว่า เป็นกฎหมายที่มิได้จารลงเป็นอักขระ หากแต่เขียนลงในสำนึกของผู้คนโดยตรง การ “กระซิบ” จึงมีแต่จะช่วยยืนยันรับรอง “อำนาจที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้” ดังกล่าว มากกว่าจะบ่อนทำลาย วิธีการที่ถูกต้องคือต้องประกาศความคิดออกมาดัง ๆ และในเมื่อความคิดดังกล่าวหาได้มีลับลมคมในอันใด หากแต่เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย แล้วเหตุใดจึงต้องกระซิบเล่า

ท่าทีทางการเมืองของ แกนนำ นปช. ในเรื่องนี้ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างกลับหัวกลับหางอย่างเหลือเชื่อ ฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นตามหลักการประชาธิปไตยต้องใช้วิธีการ “กระซิบ” ในขณะฝ่ายที่กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตยกลับสามารถ “ประกาศ” ออกมาดัง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ถวายคืนพระราชอำนาจ, ขอนายกฯ พระราชทาน, ขอรัฐบาลพระราชทาน, รัฐบาลแห่งชาติ หรือแม้แต่เรียกร้องการรัฐประหาร)

17/03/54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net