Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
 
“I am against religion because it teaches us to be satisfied with not understanding the world.
-    
Richard Dawkins [1]
 
        
เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน หนึ่ง นับถือศาสนา สอง รักษาธรรมเนียมมั่น สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน...”
 
จากเนื้อเพลง “หน้าที่ของเด็ก [2]” ที่ยกมาเกริ่นนำข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า “ศาสนา” มีความสำคัญในสังคม และมีการปลูกฝังให้เด็กๆนั้น นับถือศาสนา ฯลฯ แต่ในปัจจุบันนี้ เด็กและวัยรุ่นเติบโตมากับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อันล้ำหน้า หรือที่เรียกว่า “เด็กยุคดิจิตอล” บางคนนั้นเมื่อได้ยินเพลงนี้ อาจจะเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า “จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีศาสนา?”
        
นอกจากเพลงที่ใช้ในการปลูก ฝังเด็กและเยาวชนแล้วรัฐยังมีวลีเด็ดที่ใช้ในการครอบงำทางความคิด หรือเพื่อใช้ต่อเป็น “สร้อย” เป็นประโยคสรุปของการกระทำต่างๆ คือวลีที่ว่า “...เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” [3] แต่พวกเขานั้น “เชื่อ” ในความเป็นศาสนานั้นจริงๆหรือไม่?
       
อีกทั้งในสังคมไทยนั้นเมื่อ พูดถึงคนที่ไม่มีศาสนาหรือเมื่อต้องกรอกข้อมูลลงช่อง “ศาสนา” ณ ที่ว่าการอำเภอ ก็อาจจะได้พบกับสีหน้าประดักประเดิดและเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามว่า “ทำไมไม่มีศาสนา?” เพราะคนไม่มีศาสนาคือคนไม่มีศีลธรรม (?)
       
ในบทความนี้จะพูดถึงคำกล่าวอ้างของศาสนิกชนว่าทำไมจึงต้องมีศาสนา อเทวนิยม (Atheism) นั้น มีมาตั้งแต่เมื่อใด? คนไม่มีศาสนาคืออะไร? คุณธรรมที่พวกศาสนิกกล่าวอ้างนั้นเป็นคุณธรรมจริงหรือไม่? แล้วความดีของพวกอศาสนาคืออะไร?
 
คำกล่าวอ้างของศาสนิกชน
 
ศาสนาและความเชื่อต่างๆเกิดขึ้นและอยู่คู่กับมนุษย์มา เนิ่นนาน แต่เพราะเหตุใดศาสนาจึงมีความสำคัญต่อชีวิต? จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีศาสนา? กลุ่มศาสนิกต่างๆจึงตอบคำถามนี้ว่า เพราะมนุษย์มีความจำเป็นต้องมีเกณฑ์ตัดสินที่จะวัดหรือจำแนกแยกแยะว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิดอะไรควร อะไรไม่ควร มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มิได้มีความต้องการทางด้านวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว แต่มนุษย์ยังมีความคิดและจิตใจที่จำเป็นจะต้องได้รับการสนองตอบความต้องการ อีกด้วย ชีวิต คืออะไร ตัวเขามาจากไหน เขาเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร ใครเป็นคนสร้างโลก และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้วิทยาศาสตร์ยังไม่อาจหาคำตอบให้เป็นที่พอใจแก่เขาได้
 
มนุษย์จำเป็นต้องมีกฎระเบียบทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับประเทศไปจนถึงระดับระหว่างประเทศ มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการที่พึ่งพิงทางจิตใจและต้องการหลักประกันในการ กระทำของตนเอง เช่นเดียวกับมนุษย์ต้องการสิ่งตอบแทนในการทำงานของตนในเรื่องคุณธรรมและ ศีลธรรมก็เช่นกัน หากไม่มีสิ่งตอบแทนให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติความดีแล้ว แน่นอน คงไม่มีใครอยากที่จะทำความดี แต่ในทุกวันนี้ที่ยังมีคนทำดีอยู่ก็เพราะศาสนาได้ให้หลักประกันในการทำความ ดีแก่มนุษย์นั่นเอง หรือแม้กระทั่งเชื่อว่าการมีศาสนาทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์เดรัจฉาน
 
ว่าด้วยความเสแสร้งในทางคุณธรรมและความกลัว
 
แต่หากพิจารณาการให้เหตุผลเหล่านั้นแล้ว พบว่าความเชื่อเกี่ยวกับ “ผู้มีคุณธรรม” เป็นรูปแบบหนึ่งของความเสแสร้ง เมื่อผู้คนกล่าวว่า “คุณธรรมเป็นสิ่งจำเป็น” แท้จริงแล้วเขากำลังพูดว่าเขาต้องการ สังคมที่สงบ เป็นระเบียบ และปลอดภัยมากกว่า “ผู้มีคุณธรรม” ผู้คนต่างพร่ำสอนให้ผู้คนมีศีลธรรม และเชื่อฟังคำสอนของศาสนา แต่เบื้องหลังความคิดเหล่านั้น คือ “ความกลัว” ความกลัวในการกระทำของตนเอง การเสี่ยงภัย การต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง การค้นหาโชคชะตาของตนเอง และการเผชิญหน้ากับความล้มเหลว (ลอเรน เกน 2005 [4])
 
 
 
มุมมองจากผู้มีศาสนา
 
 
“ผมก็ไม่ใช่คนที่เคร่งศาสนานะฮะ แต่ก็คิดว่าตัวเองมีศาสนากับเขาด้วยคนหนึ่ง สำหรับคนที่ไม่มีศาสนา ผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องผิดแปลกอะไร เพราะสำหรับผมศาสนาก็คือ ชุดความเชื่อและมุมมองที่มีต่อโลกและชีวิตสำเร็จรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมันช่วยให้เราสามารถจัดวางตำแหน่งตัวเองและให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราได้
 
แต่ถ้าคนที่ไม่มีศาสนาแล้วเขามีชุดสำหรับมองโลก และชีวิตแบบอื่นๆก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ถ้ามันยังคงอธิบายและให้ความหมายกับการดำรงอยู่ของเขาได้ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่มีก็ตามการแสวงหาความหมายของชีวิตเป็น เรื่องจำเป็น อีกอย่างหนึ่ง สำหรับผมศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตผม รุ่มรวยขึ้น ถ้าคนอื่นเข้ามีอย่างอื่นที่ทำให้ชีวิตเขารุ่มรวยก็ดีครับ และผมอาจง่ายกว่าคนอื่นหน่อยเท่านั้นเอง
 
ความ คิดเห็นจาก “เชฟหมี” ผู้ถือศาสนาฮินดูจากรายการ “ครัวกากๆ” หรือ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
 
กำเนิดอเทวนิยม (Atheism)
 
อเทวนิยมเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์หาคำอธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติด้วยสิ่งธรรมชาติด้วยกัน ได้ดีกว่าศาสนา ซึ่งเริ่มมีมานานแล้วตั้งแต่ปรัชญากรีก ก่อนหน้านี้พระเจ้า “ถูกใช้” อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น โครงสร้างที่ซับซ้อนและน่าอัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตอย่างพืชและสัตว์ ก็ยังมีการอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นผลงานออกแบบของพระเจ้า  ดังนั้นแม้ว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจะเจริญขึ้น แต่จุดยืนที่ยังใช้พระเจ้าอธิบายจักรวาล และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วการอ้างเหตุผลเชิงออกแบบ (Design Argument) ได้ถูกล้มล้างโดยทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) ในศตวรรษที่ 19  จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมอเทวิยมเฟื่องฟูเต็มที่ในศตวรรษที่ 19-20 โดยมีนักปรัชญาอย่าง ฟอยเออร์บาค นิทเช่ มาร์กซ์ ฟรอยด์ รัสเซลล์ และซาร์ตร์ เป็นผู้นำ (สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป [5])
 
คนไม่มีศาสนาคืออะไร?
 
ส.ส.ใต้ปชป ประณามพวกไม่มีศาสนายิงกราดมัสยิด เป็นเหตุให้ชาว มุสลิมเสียชีวิต-บาดเจ็บ จำนวนมากแนะพี่น้อง 3 จ.ใต้ อย่าตกเป็นเหยื่อ-เชื่อข่าวลวง จี้ จนท.หาตัว ผู้ก่อการโดยเร็ว หวั่น ชาวบ้านเข้าใจผิดเป็นไฟลามทุ่ง” พาดหัวข่าวจากคมชัดลึกออนไลน์ (9 มิ.ย. 2552)
 
ในปัจจุบัน ”คนไม่มีศาสนา” ถูกใช้เรียกแทนผู้ที่กระทำความชั่วอย่างแสนสาหัสกระทั่งไม่มีศาสนาใดยอมรับ เข้าอยู่ในศาสนาของตนเอง หรือพวกที่ไร้ศีลธรรมจรรยาเพราะไร้ซึ่งศาสนาสั่งสอน ที่คำว่า “คนไม่มีศาสนา” ถูกใช้ไปในแนวทางนี้นั้น เพราะศาสนานั้นฝังรากลึกในสังคมมนุษย์จนเมื่อบอกว่า ไม่มีศาสนาก็แปลว่า ไม่มีศีลธรรม แต่ “คนไม่มีศาสนา” หรือ “อเทวนิยม” (Atheism) ในที่นี้มีความหมายที่แตกต่างจากความหมายข้างต้น กล่าวคือ อเทวนิยม คือ ทัศนะที่ไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า และพวกอเทวนิยมจึงมิใช่เพียงสงสัยความเชื่อ หากแต่ปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้าด้วย (สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป [6])
 
อีกประการหนึ่งคือ คำว่า “ไม่มีศาสนา” กับ “ไม่มีศีลธรรม” นั้นเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง คน ไม่มีศาสนาสามารถเป็นคนดีได้เช่นกัน และคนมีศาสนาก็ยังสามารถทำเรื่องชั่วร้ายได้ โศกนาฏกรรมส่วนใหญ่ในโลกตั้งแต่เริ่มแรกของอารยธรรมมนุษย์มาล้วนเกิดมาจากคำ ว่า “ศาสนา” ความเกลียดชังของมนุษย์นั้นน่ากลัว และน่ากลัวกว่าเดิมหลายเท่าเมื่อมีการเชื่อมโยงศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำ สงคราม ผูกศาสนาเข้ากับลัทธิชาตินิยม หรือการสั่งสอนว่า สงครามศาสนาคือสงครามศักดิ์สิทธิ์ เช่น สงครามครูเสด  เป็นต้น
 
คุณธรรมเป็นคุณธรรมจริงหรือไม่?
 
นิทเช่ นักปรัชญาเยอรมันมองว่า คนที่มีคุณธรรมหรือเป็นคนดี จะได้รับการสรรเสริญจากคนอื่นก็ต่อเมื่อเขาได้ทำสิ่งที่ดีให้แกพวกเขา (คนอื่น) ตามความจริงแล้ว คุณธรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเชื่อฟัง การรักษาความบริสุทธ์ ความยุติธรรม ความอุตสาหะ ฯลฯ กลับจะทำอันตรายคนที่ยึดถือมันต่างหาก “หากว่าท่านยึดถือคุณธรรมข้อหนึ่งข้อใดแล้ว ...ท่านก็คือเหยื่อของมัน!” ที่เราสรรเสริญคุณธรรมของบุคคลอื่น ก็เพราะเราได้ประโยชน์จากมันนั่นเอง (ลอเรน เกน 2549 : 53)
 
ดังนั้น ความเชื่อเรื่องศีลธรรมจึงเป็นความเชื่อของกลุ่ม และถือว่ากลุ่มมีความสำคัญกว่าปัจเจกบุคคลที่มีความเห็นขัดแย้งกับกลุ่ม “ในแง่ของศีลธรรม ปัจเจกบุคคลจะสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองได้ก็เพียงในฐานะที่เป็นกลไกอันหนึ่ง ของฝูงเท่านั้น” ความคิดเรื่องฝูงนี้ ต่อมาได้กลายเป็นความคิดหลักของนิทเช่ในการคิดถึงเรื่องต้นกำเนิดของศีลธรรม การตำหนิติเตียนการควบคุมทางศีลธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันผ่านความเห็น พ้องของสังคมแล้วเท่านั้น
มันแสดงให้เห็นภาพของคนซึ่งจะอ่อนแอเมื่ออยู่ในฐานะ ปัจเจก แต่จะเข้มแข็งเมื่ออยู่ร่วมกัน (พวกเขาหวังว่า) กฎศีลธรรมจะปกป้องพวกเขา รวมทั้งให้เหตุผลในสิ่งที่พวกเขาทำและวิถีชีวิตของพวกเขา
 
ความดีของพวกอศาสนา
 
“ถ้าพวกคุณไม่มีศาสนา แล้วคุณยึดถืออะไร?”
 
นี่เป็นคำถามยอดนิยมของพวกศาสนิก หากไม่มีคุณธรรมและศีลธรรมให้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติแล้ว อศาสนิกนับถืออะไร? คำตอบของอศาสนานิกคือ มนุษย์ยึดถือ “ความอยู่รอด” ของตนเองเป็นหลัก ความเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือกันของมนุษย์นั้นเป็นไปตามธรรมชาติของการ เป็นเครือญาติทางพันธุกรรม มนุษย์พร้อมเสมอเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเสียสละต่อตนเองต่อสิ่งที่ดีที่ยึดถือร่วมกันเพื่อความอยู่รอดของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งศีลธรรมของศาสนา ดังที่ ริชาร์ด ดอส์กินส์ ได้กล่าวถึง  4 เหตุผลหลักที่ทำให้เราเห็นอกเห็นใจ หรือมี “ศีลธรรม” ในแบบของพวกอศาสนาไว้ว่า
 
“We now have four good Darwinian reasons for individuals to be altruistic, generous or ‘moral’ towards each other. First, there is the special case of genetic kinship. Second, there is reciprocation : the repayment of favours given, and the giving of favours in ‘anticipation’ of payback. Following on from this there is, third the Darwinian benefit of acquiring a reputation for generosity and kindness. And forth, if Zahavi is right, there is the particular additional benefit of conspicuous generosity as a way of buying unfakeably authentic advertising.”  (Richard Dawkins 2007 : 251 [7])
 
 
 
มุมมองจากคนที่ไม่มีศาสนา (หรือพวกเขาอาจจะนิยามตนเองว่าเป็นพวกมีศาสนาแต่เป็นศาสนาที่แตกต่างจากศาสนากระแสหลัก)
 
“ถ้าถามซีเรียสก็ตอบซีเรียสนะ โดยส่วนตัวเชื่อใน God ในฐานะของ Radical Contingency (ความบังเอิญอย่างยิ่งยวด) อ่ะ คือ มันจะมีนักปรัชญาแบบ Spinoza โยง God กับ Necessity (ความแน่แท้) ใช่มะ แต่นี่พี่มองแบบ Hegel (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) อ่ะ ว่า God คือ Negativity (นิเสธภาวะ) ไม่ดิ พูดให้ถูกคือ Radical Contingency/Negativity คือ God ต่างหาก นี่คือ สาเหตุให้ God=Miracle (พระเจ้า = เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด) เพราะ ถึงที่สุดแล้ว Miracle คือสิ่งที่เราคาดไม่ได้ว่าจะเกิด แต่เสือ_เกิด
 
ในทำนองเดียวกัน ความฉิบหายวายป่วยทั้งในชีวิตและในโลกมันก็ถูกอธิบายได้ใน Frame เดียวกัน ถ้าไม่มี God นี่ฉิบหายเลย คิดอย่างพุทธอะไรผิดพลาด แม่_เป็นความผิดกูหมด ไม่ชาตินี้ก็ชาติที่แล้ว หดหู่เชี่_ๆ โดยส่วนตัวเชื่อในความไม่แน่นอนของโลกที่เรารู้มันได้ไม่หมด และนานๆครั้งความไม่แน่นอนก็ไหลบ่าเข้ามาในชีวิตเราบางครั้ง และนั่นแหละ God

...อ้อ โดยส่วนตัวปฏิเสธศาสนกิจของทุกศาสนาด้วย ไม่ชอบฝูงชน” – ปัญญาชนขบถคนหนึ่ง

 
 
สรุป
จากเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าว มาข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าการมีศาสนาไม่ใช่เรื่องสำคัญ คุณธรรมและศีลธรรมที่แท้จริงนั้นขึ้นกับการปฏิบัติต่อบุคคลอื่นอย่างเพื่อน มนุษย์ ไม่ใช่การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหรือครอบงำทางความคิด มนุษย์มีเสรีภาพในการ “เลือก” ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใดได้ ตราบเท่าที่ยังเชื่อในเสรีภาพของตนเอง
 
เชิงอรรถ
[1] : a British ethologist and evolutionary biologist : นักสัตววิทยาและนักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวอังกฤษ
[2] เพลง หน้าที่ของเด็ก แต่งโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ในปี พ.ศ. 2498
[3] เริ่มใช้ในสมัยรัชการที่ 6 โดยได้พื้นฐานมาจาก “God, King and Country” จากประเทศอังกฤษ
[4] ลอเรน เกน. 2005. นิทเช่ : นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้กบฏต่ออารยธรรมตะวันตก (เทพทวี โชควศิน, แปล), กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2549, 53
[5] สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป. อเทวนิยม, เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2554, เข้าถึงจาก http://www.philospedia.net/atheism.html
[6] เรื่องเดียวกัน
[7] Richard Dawkins. The God Delusion, London : Black Swan , 2007, 251
 
อ้างอิง
กูเกิ้ลข่าวสาร. พวกไม่มีศาสนา, เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2554, เข้าถึงจาก  http://news.google.co.th/
ยอร์จ ทอมสัน. 1954. ความเรียงว่าด้วยศาสนา (จิตร ภูมิศักดิ์, แปล), กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2519
ลอเรน เกน. 2005. นิทเช่ : นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้กบฏต่ออารยธรรมตะวันตก (เทพทวี โชควศิน, แปล), กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2549.
สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป. อเทวนิยม, เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2554, เข้าถึงจาก http://www.philospedia.net/atheism.html
Richard Dawkins. The God Delusion, London : Black Swan , 2007

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net