Skip to main content
sharethis

บีบีซีรายงานว่า ผู้พิพากษาในมาเลเซียไม่อนุญาตให้ทนายความคริสเตียนว่าความในศาลชารีอะห์ ซึ่งเป็นศาลในระบบกฎหมายอิสลาม โดยทนายความผู้นี้เตรียมอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว ขณะที่ทนายความมุสลิมยืนยันว่า “เป็นเรื่องเข้าใจผิด” ว่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะไม่สามารถหาความยุติธรรมได้ในศาลชารีอะห์

สำนักข่าวบีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ความพยายามของทนายความคริสเตียนในมาเลเซียเพื่อขออนุญาตเป็นทนายในศาลชารีอะ ห์ ของศาสนาอิสลาม ไม่ประสบผลสำเร็จ

โดยนางวิคตอเรีย จายาซีลี มาร์ติน ทนายความชาวคริสเตียน กล่าวว่า เธอต้องการทำงานเพื่อลูกความที่ไม่ใช่มุสลิมต่อสู้คดีในศาลชารีอะห์ เพื่อให้พวกเขามีผู้แทนทางคดีที่ยุติธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในมาเลเซีย มีคดีความในศาลมุสลิมมากขึ้น โดยมีคู่ความทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยศาลแพ่งใช้ตัดสินคดีสำหรับพลเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม ขณะที่ใช้ศาลระบบอิสลามตัดสินคดีความให้กับชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของ ประเทศ

ทั้งนี้ผู้พิพากษาในกัวลาลัมเปอร์คัดค้าน คำร้องของจายาซีลี มาร์ติน โดยให้เหตุผลว่า ทนายความในศาลอิสลามต้องเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น

ด้านนางจายาซิลี มาร์ติน กล่าวว่า คำตัดสินของผู้พิพากษาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเธอมีแผนจะอุทธรณ์คำตัดสินของศาล ส่วนทนายความของนางมาร์ติน รันจิต ซิงห์ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะหาที่ทนาย เพราะทนายมักไม่ต้องการแก้ต่างทางคดีซึ่งขัดแย้งกับความศรัทธาทางศาสนาของ ทนาย

ขณะที่หนึ่งในทนายความของสภาสหพันธรัฐอิสลาม นายอัมดุล ราฮิม ซินวาน กล่าวว่าเรื่องนี้ “ไม่เป็นปัญหา” สำหรับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะหาทนายความมุสลิมเพื่อแก้ต่างให้ตน

“มันเป็นเรื่องที่มากกว่านั้นก้าวหนึ่ง เพราะมันเป็นคำถามต่อเรื่องความศรัทธา เพราะว่าเมื่อมุสลิมยึดถือข้อคิดเห็นที่มาจากผู้พิพากษา มันคือคำถามเกี่ยวกับความศรัทธา ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมไม่มี” เขากล่าว

ผู้สื่อข่าวบีบีซี เจนนิเฟอร์ ปาก กล่าวด้วยว่า ทนายผู้นี้ยังบอกด้วยว่า “มีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่า ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมไม่สามารถหาความยุติธรรมได้ในศาลชารีอะห์” ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “ความเข้าใจผิด”

ทั้งนี้ มีคดีความจำนวนมาก ระหว่างคู่ความที่นับถือคนละศาสนา เช่น มีคู่สมรสคู่หนึ่งที่แต่งงานกัน และอีกฝ่ายไม่ยอมเปลี่ยนเป็นมุสลิม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิในการดูแลบุตร

เมื่อปีก่อน รัฐบาลมาเลเซียเห็นชอบให้ มีการตั้งผู้พิพากษาหญิง สำหรับศาลอิสลามเป็นครั้งแรก ซึ่งกลุ่ม ภราดรหญิงในอิสลาม (the Sisters in Islam - SIS) เรียกร้องมาหลายปี โดยกลุ่มดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายอิสลาม ซึ่งพวกเขาเห็นว่าไม่ได้เป็นทุกครั้งที่มีการจัดการและการใช้ปฏิบัติกฎหมาย ดังกล่าวด้วยความเหมาะสมและยุติธรรม

ขณะที่ศาลแพ่งมีผู้พิพากษาหญิงมานานแล้ว โดยเขตอำนาจของศาลแพ่งจะครอบคลุมในคดีแพ่งหลักๆ ขณะที่ศาลชารีอะห์ในระบบอิสลาม จะมีเขตอำนาจศาลอยู่ที่กฎหมายครอบครัว และมักตัดสินคดีในเรื่องการหย่า การมีภรรยาหลายคน และการร้องขอสิทธิในการดูแลบุตร
 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Malaysian Christian lawyer barred from Shariah courts, BBC, 17 March 2011 Last updated at 07:27 GMT

http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-12768939

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net