ใบตองแห้งออนไลน์: ขอบคุณความเห็นต่าง

หมอตุลย์โผล่ไปนิติราษฎร์ โดนเสิ้อแดงโห่ไล่!

ถ้าฟังพาดหัวข่าว บางคนก็อาจสะใจ แต่พอฟังหมอตุลย์ให้สัมภาษณ์ประชาไท เห็นด้วยกับการแก้ไขไม่ให้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง บางคนก็สับสน บ้างก็หาว่าแกยืนอยู่กลางกลุ่มคนเสื้อแดง เลยต้องทำเป็นเห็นด้วยไปงั้น

แต่ถ้าเราไม่มองในมุมของข้างใดเลย มองเฉพาะปรากฏการณ์ที่ผู้มีความเห็นแตกต่างกัน (แทบจะสุดขั้วด้วยซ้ำถ้ามองจากที่ผ่านมา) กล้าเดินเข้าไปรับฟังการอภิปรายของคนอีกข้าง และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น โดยไม่วิตกต่อการแสดงปฏิกิริยาใดๆ

ถามว่านี่ก็คือบรรยากาศประชาธิปไตยที่เราต้องการไม่ใช่หรือ นี่ก็คือท่าทีที่ควรชื่นชมไม่ใช่หรือ

ไม่ใช่ว่าผมรู้จักหมอตุลย์จึงชื่นชม ต่อให้ไม่รู้จักก็ชื่นชม แต่เมื่อผมรู้จักทั้ง อ.วรเจตน์และหมอตุลย์ ก็เลยโทรไปคุยกับ อ.วรเจตน์ ซึ่งดีใจที่หมอตุลย์ไปฟัง และอยากให้แสดงความเห็นหน้าเวทีด้วยซ้ำ เพราะ อ.วรเจตน์ต้องการความเห็นหลากหลาย ต้องการให้โต้แย้งกันอย่างมีเหตุผล และหวังว่าจะได้เสวนากับหมอตุลย์หรือนักวิชาการนักกฎหมายที่เห็นต่าง ในบรรยากาศเอื้ออำนวยกว่านี้

ผมโทรไปคุยกับหมอตุลย์ หมอตุลย์ย้ำว่าฟังกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์แล้ว ฟังขึ้น แต่ก็บอกว่าคนที่คิดแก้ไข ม.112 มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนที่บริสุทธิ์ใจ มีหลักวิชาการ กับกลุ่มคนที่ต้องการโจมตีโค่นล้มสถาบัน คนกลุ่มแรกต้องระวังจะตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มหลัง

หมอตุลย์ย้ำความเห็นว่า ม.112 ควรจะแยกกำหนดโทษหลายระดับ เช่น สำหรับผู้ที่อาฆาตมาดร้ายหรือต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ ให้กำหนดโทษสูงสุด แต่กรณีที่เป็นการกล่าวกระทบกระเทียบ ตัวอย่างเช่นกรณีวีระ มุสิกพงศ์ ควรมีโทษสถานเบา หรือกรณีที่ไม่ยืนในโรงหนัง น่าจะมีโทษเบาโดยศาลสามารถตัดสินเพียงรอลงอาญาเท่านั้น

ในส่วนขั้นตอนของการดำเนินการ หมอตุลย์เห็นว่าควรให้อัยการหน่วยพิเศษเป็นผู้พิจารณาและฟ้องคดี โดยในกรณีที่เป็นความผิดซึ่งมีโทษสถานเบาสามารถให้ประกันตัวได้

นั่นคือความเห็นหมอตุลย์ ซึ่งไม่ใช่ผมเห็นด้วย แต่ก็ถือเป็นความเห็นเชิงบวก และยังดีกว่าพวกขวาคลั่ง ที่บางรายยังเอาหมอตุลย์ไปด่าในบล็อกอย่างสาดเสียเทเสีย หาว่าหมอตุลย์ “หลงป่า” ช็อกความรู้สึกประชาชน ตกหลุมพวกนักวิชาการเสื้อแดงล้มเจ้า หรือจะมีแนวคิดไปทางแดงล้มเจ้าก็บอกมาตรงๆ (นิสัยพันธมิตร ใครไม่เห็นด้วยกลายเป็นศัตรู ต่อให้เคยเป็นพวกกันเอง)

การที่หมอตุลย์ถูกโห่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมวลชนสั่งสมความไม่พอใจมานาน โดยเฉพาะบทบาทหมอตุลย์ในช่วงพฤษภา 53 แต่บางส่วนก็มีความเข้าใจผิดและขยายความเกลียดชังกันจากข่าวร่ำลือ เช่น บอกว่าหลังสลายม็อบหมอตุลย์ไปสนามศุภฯ คอยชี้ให้ทหารจับพวกเสื้อแดง (ยังกะหมอตุลย์เป็นหน่วยข่าวกรอง) หรือลือว่าไม่ยอมรักษาคนไข้เสื้อแดง ซึ่งหมอตุลย์ยืนยันกับผมว่าไม่จริง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นจรรยาแพทย์ จะปฏิเสธไม่รักษาใครใม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยมีหมอจุฬ่าฯ ประกาศไม่รักษาตำรวจ แต่ก็ไม่ใช่แก ที่ผ่านมาแกบอกว่ารักษาคนไข้ตั้งหลายคน ที่เห็นเปิดทีวีเสื้อแดงดูในห้องคนไข้เฉยเลย

ผมเห็นด้วยว่าเรื่องนี้เหลวไหล เพราะระบบโรงพยาบาล เราไปเข้าคิวทำบัตร พยาบาลข้างล่างเขาก็จะส่งขึ้นไปหาหมอตามอาการ หมอเลือกไม่ได้หรอกว่าใครเสื้อเหลืองเสื้อแดง หมอบางแผนกตรวจคนไข้วันละเป็นร้อย แทบไม่ได้เงยหน้าดูสีเสื้อคนไข้เลยด้วยซ้ำ

ใครไม่เชื่อก็ลองดู ลองไปทำบัตรแล้วเจาะจงขอพบหมอตุลย์ ใส่เสื้อแดงเข้าไปในห้อง ดูซิว่าหมอตุลย์จะรักษาไหม แต่ถ้าเป็นผู้ชาย แกคงไม่รับรักษา เพราะหมอตุลย์เป็นหมอสูตินรีเวช เชี่ยวชาญโรคมะเร็งปากมดลูก

ซึ่งไอ้การปลุกความเกลียดชังกันจากข่าวร่ำลือเนี่ย ที่ผ่านมาก็โดนกันหมดนะครับ ไม่ว่าแกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดง นักวิชาการ ไปถาม อ.วรเจตน์ดูสิ โดนมาสารพัด

ผมมองหมอตุลย์ว่าเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางคนกรุงเทพฯ ที่เพิ่งตื่นตัวทางการเมือง เมื่อเกิดกระแสไล่ทักษิณ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร กับความเกลียดทักษิณในยุคนั้น ผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากรวมทั้งหมอเหวง ก็เคยไล่ทักษิณ เพียงแต่เราอาจเป็นคนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เคยต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาก่อน จนสั่งสมอุดมการณ์ประชาธิปไตยไว้มั่นคง

แต่หมอตุลย์คือตัวแทนของคนที่ไม่เคยมีพื้นฐานทางการเมือง เป็นคนรุ่นอายุสี่สิบกว่า ซึ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปลายทศวรรษ 2520 ถูกตัดขาดจากผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุค 2516-2519 โดยสิ้นเชิง คนรุ่นนี้เรียนจบก็ทำงานตามสาขาอาชีพของตัว ยึดถือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด “ตามแนวพระราชดำรัส” สัมผัสการเมืองอยู่ห่างๆ สั่งสมความเกลียดชังนักการเมือง ไม่มีอุดมการณ์อะไรให้เขายึดมั่นนอกจากความ “รักในหลวง” และยกย่องคนดีมีคุณธรรมในทัศนะของคนชั้นกลาง (ผมรู้จักหมอตุลย์เพราะไปสัมภาษณ์คัดค้านการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งหมอตุลย์เห็นว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพาณิชย์ นิสิตนักศีกษาต้องจ่ายแพง)

หมอตุลย์ในมุมมองของผมจึงเป็นตัวแทนคนชั้นกลางผู้ “บริสุทธิ์” ที่ถูกดึงเข้ามาในกระแส ได้รับข่าวสารแบบคนชั้นกลาง ที่มีหลากหลายทั้งจากสื่อ อีเมล์ ซุบซิบ คำร่ำลือปากต่อปาก จนเกิดความเกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” ทั้งด้านที่มีเหตุผลและด้านที่ต่อเติมจนไร้เหตุผล โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน คนเหล่านี้เคยเป็นมวลชนพันธมิตรอย่างแข็งขัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นมวลชนเฟซบุค ที่สนับสนุนการปราบม็อบเสื้อแดง

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจุดที่เห็นต่างกันอย่างตรงข้าม เพราะในมุมมองของนักประชาธิปไตยนักสิทธิมนุษยชน แม้เราไม่ได้เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเสื้อแดงทั้งหมด แต่ก็คัดค้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ขณะที่ในมุมมองของคนชั้นกลางคนกรุงเทพฯ เขามองว่านั่นคือการสนับสนุน “รัฐ” ให้ใช้อำนาจเพื่อคืนความสงบสู่สังคม (นี่เป็นมุมมองที่มีหลายมิติซ้อนกันอยู่ คือผู้ที่สนับสนุนให้ปราบม็อบ มีทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์และสนับสนุน “รัฐ” พูดง่ายๆ ว่ามีตั้งแต่คนเกลียดทักษิณ เกลียด “แดงถ่อย” รักอภิสิทธิ์ ไปกระทั่งคนที่ไม่ได้ชอบรัฐบาลนักหรอก แต่เห็นว่า “รัฐ” ต้องทำหน้าที่รักษาความสงบ)

นั่นเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ความคิดกันต่อไป แต่จุดที่น่าสนใจคือ พลังของคนชั้นกลางแบบหมอตุลย์ จะก้าวต่อไปทางไหน เพราะถึงวันนี้ ท่าทีของพวกเขาไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์เต็มตัวเหมือนก่อน เพราะโดยพื้นฐานความคิด พวกเขาเกลียดนักการเมืองอยู่แล้ว แม้ช่วงแรกๆ ยอมรับได้กับการผสมพันธ์มาร์ค-เนวิน แต่นานวันเข้าก็เริ่มผิดหวังกับอภิสิทธิ์ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถอยห่างจากพันธมิตร ซึ่งไปไกลเสียจนสุดขั้วสุดโต่ง ดังจะเห็นได้ว่าหมอตุลย์ไปยื่นคัดค้าน JBC แต่หมอตุลย์ก็เลี่ยงๆ ไม่ขึ้นเวทีพันธมิตรซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่าไปไม่รอด

ปฏิรูปสถาบัน

การที่หมอตุลย์สนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 112 แม้เห็นต่างจากนิติราษฎร์ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะในทัศนะของผู้จงรักภักดีอย่างหมอตุลย์ ก็มองเห็นว่าถ้าปล่อยให้มีการใช้กฎหมายพร่ำเพรื่อ กลับเป็นผลเสียต่อสถาบัน ซึ่งสั่งสมบารมีมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ใช่พระเดช

อันที่จริงเราจะเห็นได้ว่า ผู้ต้องโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้รับโทษสูงสุดตามคำพิพากษา เพราะเมื่อคดีสิ้นสุด และขอพระราชทานอภัยโทษ ก็มักได้อภัยโทษ เช่นกรณีสุวิชา ท่าค้อ นั่นแสดงว่าสถาบันเข้าใจดีว่า การใช้กฎหมายลงโทษรุนแรงไม่ใช่เรื่องดี ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องคดีเอง จึงเหมาะสมแล้ว

หมอตุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า การดึงสถาบันกษัตริย์มาพูดบนเวทีทางการเมือง เป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ว่าสถาบันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ผมคิดว่าหมอตุลย์เข้าใจดี ในฐานะผู้ที่เคยเดินเข้าบ้านพลเอกเปรมมาแล้ว ว่า “ความเชื่อ” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มันมีที่มาจากบทบาทของผู้ใกล้ชิดสถาบัน ตั้งแต่พลเอกเปรม พลเอกสุรยุทธ์ ไปจนปีย์ มาลากุล หรือองคมนตรีที่เรียงหน้าออกมาด่าทักษิณ

ประเด็นที่ผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริงควรคิดต่อยอดไปจากวิกฤตครั้งนี้คือ ทำอย่างไรจะเอาสถาบันออกไปจากวิกฤต และทำอย่างไรจะให้สถาบันธำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นทึ่เคารพเทิดทูนของพสกนิกร ซึ่งคำตอบคือต้องทำให้สถาบันปลอดพ้นจากความเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่เป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งมันไม่เข้าใครออกใคร ใครเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องตกเป็นที่ครหาทั้งสิ้น

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกแบบมาเพื่อให้สถาบันปลอดจากการเมือง ดังที่ผมกล่าวไปแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจน ยังมีความคลุมเครือ ในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะต้องแก้ไขทั้งตัวบทกฎหมายและการทำความเข้าใจร่วมกันของสังคม ในเรื่องของพระราชอำนาจ พระบารมี สถานะบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ในเรื่องพระราชอำนาจ ต้องทำให้ชัดเจนว่า การลงพระปรมาภิไธยเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพียงแต่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งในบางกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่น ยับยั้งพระราชบัญญัติ หรือยับยั้งในกรณีที่กระบวนการพิจารณามีปัญหา

เพราะการใช้อำนาจเรื่องหนึ่งเรื่องใดในทางการเมืองการปกครอง ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ มีผู้พึงพอใจมีผู้ไม่พอใจ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาให้สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างการแต่งตั้งบุคคล ก็ต้องมีทั้งผู้สมหวังผิดหวัง จึงต้องทำให้ชัดเจนว่าการโปรดเกล้าฯ เป็นเพียงสัญลักษณ์ สถาบันไม่มีส่วนแม้กระผีกในการเลือกใคร

ซึ่งบางเรื่องก็เข้าใจกันชัดเจน เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 108 เขียนว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการที่จะยุบสภา คงไม่มีไอ้บ้าที่ไหนเชื่อว่าในหลวงท่านสั่งให้ยุบสภา เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่านายกฯ เป็นคนยุบสภา แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นเชิงสัญลักษณ์

แต่บางเรื่องก็มีความคลุมเครือ เช่น การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ซึ่งปรากฏเป็นข่าวเสมอว่า ต้องให้พลเอกเปรมพิจารณากลั่นกรองโผทหารก่อน มีข่าว “เด็กป๋า” คนนั้นคนนี้ได้ดี ต่อไปหมดพลเอกเปรมก็คงเป็นพลเอกสุรยุทธ์ ทั้งที่ความจริงแล้ว พลเอกเปรมไม่มีอำนาจใดๆ เลย ที่จะมาเกี่ยวข้องกับโผทหาร แต่อย่าโทษสื่อนะครับ ไม่มีไฟก็ไม่มีควัน

ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ต้องทำให้ชัดเจน สมมติเช่นอาจต้องประกาศรายชื่อก่อนทูลเกล้าฯ ยกเลิกประเพณีที่ว่ายังไม่เปิดเผยโผจนกว่าจะทูลเกล้าฯ ซึ่งถ้าทำมาตามระบบ เช่นปัจจุบันที่มีสภากลาโหมกลั่นกรองก่อน การเปิดเผยชื่อก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้าสภากลาโหมเสนอชื่อโดยเปิดเผย แล้ว รมว.กลาโหมจะเปลี่ยนโผ คุณก็ต้องมีเหตุผล ว่าทำไมถึงเปลี่ยนโผ

ถามว่าถ้าทูลเกล้าฯ ไปแล้ว สถาบันยับยั้งได้ไหม อาจได้ ในกรณีที่สภากลาโหมและรัฐมนตรีดึงดันใช้อำนาจไม่ฟังใคร สมมติตั้งพลเอกคนนี้เป็น ผบ.ทบ.แล้วมีอดีต ผบ.ทบ.กับนายพลเกษียณนับร้อยคนเข้าชื่อกันถวายฎีกาเป็นหางว่าว แบบนั้นยับยั้งได้สิครับ เพราะมันแสดงว่าคุณไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างความขัดแย้งแตกแยก

แต่โดยหลักแล้ว นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะที่ประชาชนเลือกเขามา นี่คือหลักนิติรัฐ ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบ พลเอกเปรมไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และสถาบันก็อยู่เบื้องสูง ไม่อยู่ในสถานะที่จะให้มารับผิดชอบต่อประชาชน

ทำความคลุมเครือให้กระจ่าง

ผมเคยสัมภาษณ์องคมนตรีมาหลายท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ 2 ครั้ง อ.เกษม วัฒนชัย 2 ครั้ง พล.อ.พิจิตร 1 ครั้ง แถม ดร.สุเมธอีกครั้ง บอกได้ว่าทุกท่านเป็นคนที่ผมชื่นชม และพูดได้เต็มปากว่าเป็น “คนดี” แม้จะเห็นต่างกันบางเรื่อง สมมติเช่น “บิ๊กเสือ” ท่านคือนายทหารที่มีเกียรติประวัติสูงส่ง เป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว กล้าหาญ เสียสละ รักลูกน้อง ลองไปถามทหารรุ่นหลังดู ไม่เคยมีใครนินทาไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง มีกิตติศัพท์ในความสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา โผงผาง ขวานผ่าซาก ไม่เคยพัวพันเรื่องผลประโยชน์ใดใดในกองทัพแม้แต่น้อย

แต่ถ้าพูดเรื่องทัศนะประชาธิปไตย กล่าวได้ว่า “บิ๊กเสือ” 0% เพราะท่านมีแต่จะเอ็กเซอร์ไซด์สถานเดียว

ดร.สุเมธก็เป็นคนดี ที่ยกมือไหว้ได้สนิทใจ ถึงจะดู “แอ๊บแบ๊ว” บางเรื่อง ที่ผมแซวว่าท่านขี่เฟอร์รารีไปพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ผมค้านเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านควรเข้าใจว่า ในประเทศนี้ 60 กว่าล้านคนไม่มีใครไม่ชอบรถเฟอร์รารี แต่จะมีซักกี่คนที่เขาเอาเฟอร์รารีมาขายให้ในราคาถูก ถ้าไม่ได้อยู่ในสถานะอย่างท่าน (แบบเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ซื้อบ้านสนามกอล์ฟในราคาลดพิเศษ พิเศษมาก) ฉะนั้นการพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องพูดไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างสังคม การสร้างความเท่าเทียม ไม่ใช่พูดแล้วมีผลค้ำจุนโครงสร้างเดิม

พลเอกเปรมก็เป็นคนดี ตามที่ได้ฟังคำเล่าขาน ทั้งวงนอกวงใน แม้มีบางคนไม่พอใจแต่คนชื่นชมมากกว่า กระนั้นพลเอกเปรมมีสายสัมพันธ์ที่กว้างขวาง “เพื่อนป๋า” “ลูกป๋า” มีตั้งแต่คนดีที่โลกยกย่อง ไปจนบิ๊กทหารที่ตายแล้วมีมรดกมหาศาลโดยไม่รู้ว่าเอามาจากไหน พลเอกเปรมมีเพื่อนพ้องเป็นกลุ่มนักธุรกิจระดับชาติ พลเอกเปรมมีมูลนิธิรัฐบุรุษ ที่ผู้รับสัมปทานรายใหญ่ เช่นเสี่ยเจริญโรงเหล้า หรือคิงพาวเวอร์ฯ บริจาคสม่ำเสมอ

ถามว่าถ้าพลเอกเปรมเป็นแค่อดีตนายกฯ อดีต ผบ.ทบ.จะมีบารมีขนาดนี้ไหม

ในสังคมไทย หรืออาจกล่าวได้ว่าสังคมตะวันออก สายสัมพันธ์ น้ำใจ น้ำมิตรไมตรี กับอำนาจและผลประโยชน์ พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก ตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่างสุด สมมติคุณเป็นตำรวจจราจร ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา แต่ไอ้คนที่ขับรถฝ่าไฟแดงดันเป็นเพื่อนบ้านกัน ถ้าคุณเขียนใบสั่งปรับตามพิกัด ก็ถูกด่ามองหน้ากันไม่ติด หรือตำรวจบุกจับบ่อน เจอครูสมัยมัธยมเป็นหนึ่งในนักพนัน ยกมือไหว้ผู้มีพระคุณ เอ้า ช่วยครูหน่อยเหอะ ถ้ามีชื่อเป็นผู้ต้องหาจะถูกไล่ออกจากราชการ

เราจึงต้องยึดหลักการทำให้อำนาจนั้นชัดเจน มีการถ่วงดุลได้ และตรวจสอบได้ ป้องกันการวิ่งเต้นเข้าหาสร้างความผูกพันกับ “ขั้วอำนาจ” ที่ตรวจสอบไม่ได้

การทำให้พระราชอำนาจเป็นที่ชัดเจน และมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อปลอดพ้นจากความเกี่ยวข้องพัวพันกับการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ อันเป็นปกติวิสัยโลกย์ โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยม จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในอันที่จะธำรงสถาบันให้เป็นที่เคารพสักการะ โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ (เหมือนไม่จำเป็นต้องเขียนว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะความเคารพนับถือเป็นเสรีภาพ)

นั่นคือสาระเดียวกันที่ผู้จงรักภักดีสามารถเห็นพ้องกับข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบัน” ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งก็รวมถึงการจำกัดบทบาทหรือยกเลิกองคมนตรี

อันที่จริงการเขียนเรื่ององคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องตลกนะครับ ต่อให้มองจากมุมของผู้จงรักภักดี เพราะองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาในหลวง พระองค์ท่านควรจะเลือกใครก็ได้ตามพระราชอัธยาศัย และเป็นการส่วนพระองค์ ไม่จำเป็นต้องให้ประธานรัฐสภาไปเกี่ยวข้องรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่จำเป็นต้องกำหนดจำนวน ไม่จำเป็นต้องคุณสมบัติ ก็เรื่องของในหลวง รัฐธรรมนูญไปยุ่งอะไรด้วย ไม่ต้องมีคำว่า “องคมนตรี” พระองค์ท่านก็สามารถตั้งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

ยิ่งรัฐธรรมนูญ 50 ยิ่งแล้วใหญ่ ไปแอบเขียนไว้ในมาตรา 196 วรรคสอง ให้มีบำเหน็จบำนาญขององคมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่ง บ้าไปแล้ว เพราะในทางปฏิบัติองคมนตรีอยู่ในตำแหน่งจนตาย หรือถ้าองคมนตรีคนไหนในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ออก (ซึ่งไม่เคยมี) ถามว่ายังควรจะให้บำเหน็จบำนาญอยู่ไหม

การทำให้ “เคลียร์-คัท” ในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผู้จงรักภักดีที่แท้จริงควรยอมรับ อย่างเช่นที่สำนักข่าวต่างประเทศไปลงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่ สุดในโลก แล้ว ดร.สุเมธท่านออกมาโต้ว่าไม่จริง เพราะสำนักงานทรัพย์สินไม่ใช่สมบัติของพระองค์ กระทรวงการคลังดูแล

ความจริงเรื่องนี้ก็มีปัญหาอยู่ มีปัญหาซับซ้อนด้วย เพราะสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ในสถานะที่ไม่ชัดเจนอย่างยิ่ง ว่าเป็นหน่วยงานอะไร กฤษฎีกาเคยตีความหลายครั้ง ก็ตีความกลับไปกลับมา ว่าเป็นส่วนราขการหรือเป็นเอกชน (ดูเหมือนครั้งหลังสุดตีความเป็นส่วนราชการ) แม้จะมี รมว.คลังเป็นประธาน อย่าง ดร.สุเมธพูด แต่กฎหมายก็เขียนไว้ว่าสามารถนำไปใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งมันลักลั่นกัน จริงไหมครับ บอกว่าไม่ใช่สมบัติส่วนพระองค์ แต่สามารถนำไปใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย มันจึงลักลั่นว่าจะเป็นหน่วยราชการก็ไม่เชิง จะเป็นสมบัติส่วนพระองค์ ดร.สุเมธก็ว่าไม่ใช่

มันมีเรื่องทับซ้อนคลุมเครืออยู่เยอะ เช่น ท่านบอกว่า รมว.คลังเป็นประธาน แต่ถามว่า รมว.คลังมีอำนาจเปลี่ยนบอร์ด หรือเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งผู้อำนวยการไหม ผมก็ไม่เคยเห็น

นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมีปัญหาอีกว่าจะดำเนินกิจการอย่างไร เพราะมีทั้ง 2 บทบาท คือช่วยเหลือประชาชน เช่นให้ที่ดินเช่าพักอาศัยราคาถูก กับการต่อสู้แข่งขันทางธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งต้องแสวงกำไรสูงสุด ฟาดฟันแข่งขันกับกลุ่มทุนทั้งหลาย ซึ่งตอนหลังๆ บทบาท 2 ด้านก็เริ่มขัดแย้งกัน เช่น ทรัพย์สินฯ ไล่ที่ชาวบ้านมาสร้างคอมเพล็กซ์ ซึ่งทำให้สับสนอีก เพราะถ้ามองตามมาตรฐานของธุรกิจเอกชน ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นความชอบธรรมในระบบทุนนิยม ที่ต้องบริหารจัดการให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่พอเป็นทรัพย์สินฯ มันยังไงก็ไม่รู้

แต่ผมเห็นด้วยกับ ดร.สุเมธนะครับ ที่ว่าในหลวงท่านทรงใช้จ่ายน้อยที่สุด ท่านประหยัด จนเป็นต้นแบบของความพอเพียง เพราะฉะนั้น ที่กฎหมายเขียนว่านำไปใช้จ่ายได้ตามพระราชอัธยาศัย ก็เขียนไว้เปล่าๆ เท่านั้นเอง ควรจะแก้ไขเสียให้เกิดความชัดเจน

ใบตองแห้ง
30 มี.ค.54

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท