Skip to main content
sharethis

สภาพม่าตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว ด้าน “เตงเส่ง” ปธน.คนใหม่กล่าวสุนทรพจน์ย้ำความแข็งแกร่งทางการเมือง-เศรษฐกิจ-การทหารจำเป็นสำหรับพม่า พร้อมเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ขณะที่ “ตานฉ่วย” ประกาศสิ้นสุด “สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ” ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่สมัยใช้ชื่อ “สลอร์ก” ในปี 2531 ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ากองทัพพม่ายังมีอำนาจ-บทบาททางการเมือง เตงเส่ง (คนกลาง, ยืนหันหน้า) ระหว่างพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีพม่า ที่สภาแห่งสหภาพที่เนปิดอว์ เมื่อ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ซ้ายมือคือ ถิ่น อ่อง มินต์ อู และ ดร.นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดี (ที่มา: หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 31 มี.ค. 2011 หน้า 1) ประกาศของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ฉบับที่ 5/2011 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2011 ลงนามโดย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ประกาศสิ้นสภาพของ SPDC (ที่มา: หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 31 มี.ค. 2011 หน้า 8) “เตงเส่ง” สาบานตัวเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่าแล้ว หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 31 มี.ค. รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมสภาแห่งสหภาพ (Pyidaungsu Hluttaw) เป็นวันที่ 18 ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า โดยในวันนี้มีการแต่งตั้งและมีพิธีสาบานตนประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของพม่า คือนายเตงเส่ง เป็นประธานาธิบดี ส่วนรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับคือ นายถิ่น อ่อง มินต์ อู และ ดร.นพ.จายหมอกคำ ในพิธีดังกล่าว พล.ท. มินต์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพม่า และอดีตแม่ทัพภาคสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า แทนที่ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนด้วย หลังการสาบานตัว ประธานาธิบดีพม่าได้กล่าวสุนทรพจน์หลังรับตำแหน่ง ใจความตอนหนึ่ง กล่าวว่า ประเทศพม่ามี 3 สิ่งที่จำเป็นในการสร้างประเทศ คือ ความแข็งแกร่งทางการเมือง ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และความแข็งแกร่งทางการทหาร ในคำกล่าวสุนทรพจน์ เตงเส่งยังประกาศว่าพม่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี “เราจะเอาผลประโยชน์ชาติไว้ข้างหน้า จะควบคุมเข้มงวดตลาดแต่เพียงน้อยที่สุด” อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะพัฒนาด้านเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรม และจะเปิดประตู ทำการปฏิรูป และต้อนรับการลงทุน ซึ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาประเทศชาติและประชาชน พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยประกาศยุบสภารัฐบาลทหาร หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับเดียวกัน ยังมีการเผยแพร่ประกาศของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council - SPDC) ฉบับที่ 5/2011 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 โดยประกาศของคณะรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่า ลงนามโดย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ดังกล่าว ระบุว่า ผู้แทนการใช้อำนาจของสหภาพทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รับการรับรองโดยสภาแล้ว ทั้งสภาแห่งสหภาพ (Pyidaungsu Hluttaw) อันประกอบด้วยสภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนแห่งชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือวุฒิสภา ซึ่งเป็นรูปแบบตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสหภาพพม่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 54 นั้น เมื่ออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งใช้โดยสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้เปลี่ยนผ่านมายังคณะบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและระเบียบดังกล่าว และได้รับการรับรองโดยสภาสหภาพในวันที่ 30 มีนาคม 2554 แล้วนั้น สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐจึงสิ้นสภาพลงตามที่ระบุมาข้างต้น นอกจากนี้ SPDC ยังมีการออกประกาศหลายฉบับ เพื่อถ่ายโอนอำนาจไปยังคณะผู้ปกครองชุดใหม่ โดยประกาศฉบับที่ 6/2011 มีผลให้สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ในระดับภูมิภาคและรัฐชนกลุ่มน้อยมีผลสิ้นสภาพ และแทนที่ด้วยสภาแห่งภูมิภาคและสภาแห่งรัฐ (Region or State Hluttaw) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของกองทัพพม่าที่ยังไม่สิ้นสุด สภาเพื่อสันติภาพหรือการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) หรือที่รู้จักก่อนหน้านี้ในชื่อว่า คณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) ได้เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2531 แทนที่ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party) หรือ BSPP ซึ่งทำรัฐประหารครองอำนาจในพม่ามาตั้งแต่ปี 2505 โดยในปี 2540 คณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ กระทั่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. 2553 มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่คณะผู้ได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งชุดใหม่ นำมาสู่การประกาศสิ้นสภาพของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐดังกล่าว การประกาศของ SPDC ดังกล่าว ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองอย่างยาวนานของ SPDC อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่ากองทัพพม่ายังมีบทบาทหลักในการเมืองการปกครองของพม่า ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ที่ระบุว่า สัดส่วนร้อยละ 25 ของที่นั่งทั้งหมดในสภาทั้งสาม ต้องจัดไว้ให้กับกองทัพพม่า โดยผู้แต่งตั้งคือผู้บัญชาการกองทัพพม่า โดยสภาทั้งสามได้แก่ สภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนแห่งชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือวุฒิสภา และสภาแห่งรัฐและภูมิภาค ซึ่งเป็นสภาบริหารท้องถิ่นในพื้นที่ 7 ภาคและ 7 รัฐชนกลุ่มน้อยของพม่า โดยการที่รัฐธรรมนูญพม่าออกแบบให้กันโควตาในสภาร้อยละ 25 สำหรับทหาร เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะต้องใช้เสียงในสภาผู้แทนประชาชน และสภาผู้แทนแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ของพม่าได้ นอกจากนี้ โควตาในสภาร้อยละ 25 ของทหาร ยังทำให้ทหารพม่าสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงสนับสนุน จากสมาชิกสภาที่มาจากพลเรือน ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่า กำหนดให้การเสนอแก้ไขกฎหมายในสภาใช้เสียงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในสภาอีกด้วย ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 31 มีนาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net