ชาวชุมชนพระราม 6 บุก "ประชาธิปัตย์" ทวงถามการแก้ปัญหาไล่รื้อที่

ผบก.น.1ขนเครื่องแอลแรด คุมม็อบคนจนเมือง หลังเจรจาร่วมได้ข้อสรุปส่งรถสุขา-น้ำ-ไฟ ช่วยเหลือชาวชุมชน ส่วนวันจันทร์นัดเอาเอกสารเสนอจัดพื้นที่ใหม่รองรับชุมชนที่ถูกไล่รื้อมอบ “ผู้การแต้ม” ในฐานะบอร์ด ร.ฟ.ท. เช้าวานนี้ (1 เม.ย.54) ชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ร่วมกับชาวบ้านสมาชิกของสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กว่า 300 คน เดินเท้าจากที่ตั้งชุมชนพระราม 6 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวง-เขตบางซื่อ โดยมีจุดมุ่งหมายที่กระทรวงคมนาคม เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้กับชาวชุมชนที่ถูกไล่รื้อแล้วจากการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยใช้เส้นทางถนนพระราม 6 เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางถนนสวรรคโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.ชาวบ้านได้เปลี่ยนเป้าหมายเดินขบวนไปที่พรรคประชาธิปัตย์แทน นางเบญจวรรณ ชาวชุมชนโชติวัฒน์ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชันกล่าวว่า ชาวบ้านได้ทราบว่านายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้อยู่รอรับเรื่องของชาวบ้าน มีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายที่รออยู่ จึงตัดสินใจที่จะไม่ไปที่นั่น ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นที่ผ่านมาชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องการไปทวงถามถึงหนังสือต่างๆ ที่ได้ยื่นไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อชาวบ้านเดินทางมาถึงบริเวณถนนทางเข้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการผลักดันกับตำรวจปราบจลาจลราว 100 นาย จนกระทั้งชาวบ้านสามารถนำรถเครื่องเสียงเข้าไปยืดพื้นที่ถนนบริเวณหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้นำเครื่องแอลแรด (LRAD: Long Range Acoustic Device) ออกมาใช้ควบคุมผู้ชุมนุม โดยได้มีการเจรจาให้ชาวบ้านเปิดเส้นทางการจรจรให้กับผู้ที่สัญจรไปมา ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมก็ปฏิบัติตาม โดยเปิดพื้นที่ถนนครึ่งหนึ่งให้รถสัญจรได้ จากนั้น พล.ต.ต.วิชัย เสนอให้ชาวบ้านส่งตัวแทน 10 คน ร่วมพูดคุยกับผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้อง ซึ่งหลังการพูดคุยโดยใช้เวลาราว 30 นาที ได้ข้อสรุปว่าในกรณีเรื่องเร่งด่วนคือรถสุขาจะมีการจัดรถไปให้บริการชาวชุมชนภายในวันเดียวกันนี้ ส่วนเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปาจะมีการดำเนินการให้ในวันจันทร์ สำหรับข้อเรียกร้องหลักของชาวบ้านที่ต้องการทำสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยทดแทนพื้นที่ที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว จะมีการมารวบรวมเอกสารที่เคยมีการเจรจาที่ผ่านมานำมามอบให้ พล.ต.ต.วิชัย เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในฐานะบอร์ด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย.นี้อีกครั้ง ด้านนายวิมล แดงสะอาด ผู้ประสานงานชุมชนป้อมมหากาฬ และสมาชิก สอช.กล่าวปราสัยต่อผู้ชุมนุมว่า จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงมีชุมชนหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และยังมีโครงการก่อสร้างอีก 12 สาย ซึ่งปัญหาเดิมๆ ก็จะเกิดขึ้นให้ต้องแก้กันไม่จบสิ้น ที่ผ่านมา สอช.มีข้อเสนอในนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ขัดแย้งกับการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ แต่การพัฒนานั้นต้องทำเรื่องสังคมควบคู่กันไปด้วย ปัญหาต่างๆ จะได้ไม่เกิดขึ้น หลังการเจรจาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันเดินขบวนกลับไปที่ชุมชนพระราม 6 อย่างไรก็ตามผู้ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงได้กล่าวย้ำว่าหากไม่มีการดำเนินการตามที่ได้เจราจาตกลงกัน ชาวบ้านจะกลับมาอีกครั้งในขบวนที่ใหญ่กว่านี้ ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน และถูกดำเนินการบังคับคดีให้รื้อย้ายตามคำพิพากษามี10 ชุมชน อาทิ ชุมชนพระราม 6, ชุมชนแพริมน้ำ, ชุมชนสีน้ำเงิน 3, ชุมชนสะพานดำ, ชุมชนยิ้มประยูร, ชุมชนสมถวิล, ชุมชนสุขสันต์, ชุมชนโชติวัฒน์, ชุมชนพร้อมใจ โดยก่อนหน้านี้ชาวชุมชนได้เสนอให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการแบ่งปันพื้นที่ของการรถไฟฯ ได้แก่ ชุมชนโรงถ่าน และพร้อมใจพัฒนา ให้เช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่ที่ผ่านมาการทำสัญญาเช่าพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับผู้ที่จะถูกไล่รื้อยังไม่มีความคืบหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท