Skip to main content
sharethis

3 เม.ย.54 - เวลาประมาณ 14.00 น.คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม มูลนิโลกสีเขียว กลุ่มคนเมืองที่สนับสนุนการใช้จักรยาน และชาวสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ร่วมขบวนสามล้อถีบติดคำขวัญเรียกร้องให้ร่วมกันลดโลกร้อนอย่างจริงจังที่สาเหตุ และจักรยานกว่า 100 คัน ปั่นรณรงค์ไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าสู่ปลายทางตึกสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องต่อตัวแทนรัฐบาลกว่า 190 ประเทศ ซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มาร่วมประชุมเจรจารอบแรกของปีที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-8 เม.ย.นี้ ข้อเรียกร้องในการรณรงค์ครั้งนี้คือ การให้เร่งสร้างความตกลงที่จะนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ให้ทันวาระสิ้นสุดพันธะกรณีพิธีสารเกียวโตระยะที่หนึ่งในปี 2555 และต้องเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ภาคที่ปล่อยสูงที่สุด นั่นคือภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ไม่ใช่การผลักภาระการลดก๊าซไปที่ภาคการผลิตอื่นๆ ผ่านกลไกตลาดคาร์บอน นส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice) กล่าวว่า ตัวแทนรัฐบาลทั้งหลายที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ควรแสดงความจริงจังในการแก้ไขปัญหา โดยการตกลงการลดก๊าซโดยเร็วเพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยการปรับโครงสร้างการผลิต ปรับการบริโภค มิใช่มามุ่งเน้นอยู่ที่การค้าคาร์บอน นส.กิ่งกร กล่าวอธิบายด้วยว่าการค้าคาร์บอนไม่ได้เป็นการลดก๊าซคาร์บอนที่โครงสร้าง เพราะเป็นเพียงการย้ายที่ลดจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ขณะที่ตัวการก่อปัญหาไม่ถูกบีบให้ต้องปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซ และไม่ต้องรับผิดชอบการปล่อยก๊าซของตัวเองเพียงแต่ไปฝากให้คนอื่นลดแทน แม้ในแง่หนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่การค้าคาร์บอนถือเป็นการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ตรงนี้ทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องลดทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ เช่น กรณีของโรงไฟฟ้าชีวะมวลที่ก่อให้เกิดผลกระทบและมีการต่อต้านของในพื้นที่ขึ้นมาแล้ว ดร.สรณรัชฏ์ กาญจนะวนิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เรามีเทคโนโลยีพร้อมแล้วหากจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ต้องรออีกแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ขาดคือ เจตจำนงทางการเมือง ตัวอย่างเช่น 50 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กทม.มาจากภาคการขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมันเช่นรถยนต์ หากเราสนับสนุนทางเลือกการใช้จักรยานอย่างจริงจังก็จะลดก๊าซได้มหาศาล ด้านนายมงคล วิจะระณะ อุปนายสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า ทางสมาคมรณรงค์เรื่องการใช้จักรยานมากว่า 20 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็นชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้การสนับสนุนให้มีการใช้จักรยานนั้นเป็นการแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ช่วยประหยัดพลังงานน้ำมัน ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และยังสอดรับกับการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนต่างให้ความสนใจด้วย “เรามาร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้เขาลดก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจัง” นักปั่นจากสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทยกล่าวถึงการมาร่วมรณรงค์ในวันนี้ นายมงคล ให้ข้อมูลด้วยว่าสมาชิกของสมาคมเป็นผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็ได้พยายามผลักดันเชิงนโยบายในเรื่องการทำเส้นทางรถจักรยาน ซึ่งก็มีการสนองตอบแนวคิดนี้จากอดีตผู้ว่า กทม.ในสมัยที่ผ่านมา ส่วนข้อเสนอตอนนี้คือการขยายเส้นทางรถจักรยานไปในเส้นทางวงแหวนรอบใน จากถนนจรัญสนิทวงศ์ พระราม 3 คลองเตย สุขุมวิท อโศก ถึงรัชดา ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร และการจัดทำพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นเส้นทางออกกำลังกาย หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเมื่อ 22.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net