Skip to main content
sharethis

“เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิด... โลกร้อน...คนร้อน ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นทุกๆวัน โลกร้อน...เราจึงรีบร้อนในการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น โลกกลับยิ่งร้อน...เพราะการผลิตไฟฟ้าของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก แล้วเราจะมีทางเลือกในการจัดการพลังงานอย่างไรบ้าง? (เอกสารงานสัมมนา, มูลนิธินโยบายสุขภาวะ) คำถามนี้นำไปสู่การดำเนินโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ทางเลือกของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงานไฟฟ้า” โดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพความเป็นไปได้ของทางเลือกในการผลิตและจัดการพลังงาน และพัฒนาทางเลือกต่างๆ ของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) เพื่อสนองตอบความต้องการไฟฟ้า และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งวิเคราะห์และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดความคิด ชวนผลิตแผนพลังงาน ร่วมต้านโลกร้อน” เพื่อนำเสนอศักยภาพ ความเป็นไปได้ ของการจัดการพลังงานในรูปแบบต่างๆ และระดมสมองเพื่อร่วมกันค้นหาทางเลือกในการพัฒนาแผนพลังงานที่ยั่งยืนขอสังคมไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มี.ค.54 ที่ผ่าน เป็นการเสวนาเวทีสาธารณะครั้งที่ 1ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพฯ รูปแบบของงานเสวนา เป็นการชวนคิดและรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และประชาสังคม ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอแนะทางเลือกด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การวางแผนพลังงานต่อไป 000 “ปี 53 ที่ผ่านมาเราเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดในรอบ 20 ปี ในช่วงปลายปีเราก็เจออากาศหนาวที่สุดในรอบ 15 ปี และก็เจอน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุด ทั้งภาคใต้และภาคอีสาน” ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวนำก่อนเข้าสู่หัวข้อบรรยาย “เปิดมุมมอง ความคิด โลกร้อนกับทางเลือกการวางแผนพลังงาน” โดยให้ความสำคัญที่สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกสำหรับประเทศไทยต้องเตรียมตัวสังเกตการว่าจะมีการออกเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบอย่างไรบ้าง และส่วนแบ่งของประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างไร โดยในงานวิจัย ICCC ของสหรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ชี้แนวโน้มค่อนข้างชัดเจนต่อรัฐบาลประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามีสัญญาต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตอันใกล้ประมาณร้อยละ 15-30 “ในปี 48 มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้ออกแผนพลังงานทางเลือกว่า ถ้า 15 ปีเราไม่พัฒนาแบบรัฐผลจะเป็นยังไง” จากคำถามนี้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ของมูลนิธินโยบายสุขภาวะจึงเกิดขึ้น ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า ประเด็นแรกเราต้องกลับมาพิจารณา แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาปัจจุบันที่รัฐบาลอนุมัติกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าปี 2553-2573 รัฐบาลอนุมัติเมื่อปี 53 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหนึ่งหน่วยการผลิตไฟฟ้าลดลง แต่เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้นมาก จึงปรากฏว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงขึ้นมาก 79-80 ล้านตันจากปี 2552 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 128 ล้านตัน ในปี 2573 ศุภกิจอ้างต่อว่า เอกสารของ Sir Nicholas Stern ชื่อว่า economic of climate change ซึ่งเป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือและได้รับการอ้างอิงค่อนข้างมาก เสนอหลักคิดทิศทางการพัฒนาที่น่าสนใจว่า จำเป็นที่จะต้องเกิด การปฏิวัติอุสาหกรรมรอบใหม่ จุดหลักคือเพื่อที่จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตรายได้ทางเศรษฐกิจกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน ในเอกสารได้เสนอต่อไปว่า ในการพัฒนาเราไม่น่าจะคิดว่าเป็นต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในการทำสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมา (การพัฒนาโรงไฟฟ้า การพัฒนาการขนส่ง) พัฒนาแบบนั้นแบบนี้เปลี่ยนแล้วแพงขึ้นหรือไม่? แต่ต้องมองด้วยหลักคิดใหม่ว่าเป็นโอกาสในการลงทุน เป็นโอกาสในการพัฒนาสร้างนวัตกรรม การลงทุนที่ก่อให้เกิดโลกร้อน องค์กรและประเทศที่ปรับตัวได้ก่อนจะเป็นผู้ได้เปรียบ ประเด็นต่อมา คือ ภาครัฐมีบทบาทสัมพันธ์ในหลายเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพลังงานที่สำคัญคือการกำหนดนโยบายขยายความเสี่ยงแบบคาร์บอนสูง (เป็นการลงทุนที่ก่อโลกร้อน) เช่น การผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอน ตัวอย่างที่ชัดเจนก่อโลกร้อนมากที่สุดคือ ถ่านหิน ตามมาด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรืออย่างอื่น เช่น การวางผังเมืองที่เอื้อต่อการใช้รถส่วนตัว กับการวางผังเมืองเพื่อรถจักรยาน นโยบายของรัฐควรเกื้อประโยชน์ได้การลงทุนที่ปล่อยคาร์บอนน้อย ไม่ใช่ไปให้การสนับสนุนทางอ้อมกับถ่านหินและน้ำมัน องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ ก็มีการวิเคราะห์ภาคพลังงานของโลก ภูมิภาคต่างๆ โดยศึกษากรณีแบบปัจจุบันกับแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแบบ 450 scenarios ว่าการลดก๊าซเรือนกระจกหลักๆ มาจากมาตรตาการนโยบายใดบ้าง ที่เห็นได้ชัดเจน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นตัวหลักประมาณ70% มาอีก 20-25 ปีลดไป 50% พลังงานหมุนเวียนก็เป็นลำดับต่อมา การดักจับการกักเก็บคาร์บอนเป็นทางเลือกของภาคพลังงานในระยะสั้นมีสัดส่วนน้อยมากอาจจะเพิ่มขึ้นต่อไป ส่วนพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงชีวภาพโดยร่วมเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก 7% - 9% ในส่วนของภาคโครงสร้างอุตสาหกรรม สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลัก คือ อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานต่ำแต่มีมูลค่าเพิ่มสูง แล้วก็ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศสูง ควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่อุตสาหกรรมที่ไม่ควรส่งเสริมและควรปรับนโยบาย อย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตโลหะซึ่งใช้พลังงานมาก มีมูลค่าเพิ่มต่ำและก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศโลกเปรียบเทียบ “หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ มีศักยภาพประหยัดพลังงานในปี 2573 หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านหน่วย ถัดไปเป็นส่วนภาคที่อยู่อาศัย (หม้อหุงข้าว ตู้เย็น หลอดไฟ) ในปี 2573 มีการวิเคราะห์ว่า สามารถประหยัดได้ หนึ่งหมื่นสี่พันล้านหน่วย ภายใน 20 ปี” ศุภกิจกล่าวถึงงานวิจัย E-policy ที่พึงเสร็จเมื่อปี 2552 นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะยังกล่าวถึงเรื่องการออกแบบอาคารบ้านเรือน เพื่อรับมือกับความร้อนว่า เครื่องปรับอากาศเป็นสิ่งที่มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80 ของการประหยัดพลังงานภาคที่อยู่อาศัย หลักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ เช่น เพิ่มร่มเงาให้กับอาคารบ้านเรือน การจัดการระบบระบายความร้อน การแลกเปลี่ยนความร้อน การใช้ประโยชน์จากความร้อน เช่น การต้มน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ การวางผังเมืองการพัฒนาเมือง “พลังงาน” ใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ กับแนวคิดบ้าน Green วรพันธ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกผู้นำแนวคิด green ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนำมาประยุกต์ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม บอกเล่าความคิดในวงย่อย “พลังงาน” ใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ถึงหลักการออกแบบที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบทั้งหมดจะเน้นไปที่แนวคิด green เป็นหลัก ซึ่งสำนักงานของเขามีชื่อว่า green studio วรพันธ์ กล่าวว่า ในโลกของการออกแบบเรื่อง Green ในปัจจุบันนั้น จะแบ่งงานออกเป็นสองประเภท คือ Active กับ Passive โดย Active คือ จะใช้เทคโนโลยีปริมาณมาก เช่น ตึกเอสซีบีแบงค์ หรือตึกกล่องกระจกทั้งหลาย ใช้วัสดุแพง ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการประหยัดพลังงาน ส่วน passive จะเน้นที่ธรรมชาติ อย่างเช่นตึกหอจดหมายเหตุพุทธทาสก็เป็น เป็นระบบที่ประหยัดดูแลง่าย ข้อด้อยคือไม่สามารถควบคุมดูแลระบบได้เท่ากับ Active เพราะแบบนั้นจะสามารถควบคุมความสบายได้ดีกว่า แต่จะแพงกว่ามาก “ปัญหาที่ว่ามนุษย์อยู่กันแล้วร้อน อยู่กันแล้วไม่มีอากาศหายใจ เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว นับเป็นพันปี และก็ถูกแก้ปัญหาไปแล้วหลายพันปี” วรพันธ์ กล่าวถึงพัฒนาการเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาของมนุษย์ วรพันธ์ กล่าวยกตัวอย่างด้วยว่า โรม อินเดีย อิหร่าน หลายแห่งนั้นก็มีสภาพเหมือนสีลมในปัจจุบัน เป็นถนนแคบๆเป็นตรอกแคบๆ ปัญหาก็คือว่า คนจะทำยังไงเพื่อเอาอากาศดีเข้ามาในบ้าน มนุษย์สมัยก่อนได้คิดเทคโนโลยีง่ายๆหลายอย่างเพื่อดึงอากาศดีเข้ามาในบ้าน เช่นเรื่องการทำสวนที่อยู่กลางบ้าน เช่น ในบ้านแบบหนังจีน จะมีสวนอยู่กลางบ้าน เป็นวิธีที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อดึงธรรมชาติเข้ามาในบ้าน เพราะเมื่ออยู่ในเมืองไม่มีที่ก็ต้องเจาะตรงกลางบริเวณบ้าน หรือที่อิหร่านมีการคิดเครื่องดักลมขึ้นมาหรืออุโมงค์ลม บ้างบ้านก็จะพัฒนาให้มีขันน้ำอยู่ด้านล่าง พอลมพัฒนาเข้ามาไอเย็นก็จะลอยขึ้นไป อันนี้เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว “ถ้าบ้านหนึ่งหลังไม่ต้องใช้แอร์ ไม่ต้องใช้พัดลม เราต้องจะประหยัดพลังงานไปได้เยอะ ถ้าเราทำได้ทั้งซอย ได้ทั้งเมือง หรือประเทศ เราจะประหยัดได้แค่ไหน” “บ้านที่ผมจะออกแบบ คุณไม่ต้องเปิดแอร์ หรือบ้างงานผมบอกว่าอาจจะไม่ต้องเปิดพัดลม คุณจะชอบกรีกโรมมันผมไม่สน แต่ถ้าคุณทำตามที่ผมบอกคุณจะได้บ้านที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ” วรพันธ์ กล่าว สถาปนิกแนวคิด Green กล่าวด้วยว่าการสร้างบ้านประหยัดพลังงานไม่จำเป็นที่คุณต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากเมืองนอก สร้างบ้านหนึ่งหลังราคาเป็นสิบล้าน ประเทศเราเป็นสังคมที่ยังมีคนจนเยอะ ใครจะไปสร้างได้ เราก็เหมือนกันเป็นอาชญากรโดยไม่ตั้งใจ ขโมยทรัพยากรจากบ้านนอก ชาวนาไม่มีไฟอ่านหนังสือ ไม่มีไฟฟ้าจะใช้ แต่ดูวิธีการใช้ไฟฟ้าในเมืองที่ใช้อย่างสิ้นเปลือง ทั้งนี้ การเสวนากลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนความรู้ยังมีการพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่อง “ระบบผลิตพลังงานร่วมและระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ” ซึ่งมีการศึกษาพบว่าอีก 10 ปีข้างหน้าระบบนี้จะมีศักยภาพในการลดความต้องการไฟฟ้าได้มากถึงเกือบ 3,200 เมกกะวัตต์ หรือประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 21,864 ล้านหน่วย เรื่อง“การเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ถ่านหิน นิวเคลียร์ และการดักจับคาร์บอน” ซึ่งทำให้ในการผลิตไฟฟ้าปริมาณเท่าเดิม มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง รวมทั้งเรื่องพลังงานทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม แสงแดด สายน้ำ พลังงานจากชีวมวล ชีวภาพ และขยะชุมชน ที่เริ่มเข้ามามีสัดส่วนในแผน PDP มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวแทนชุมชนร่วมยกตัวอย่าง แสดงความเห็นการจัดการพลังงาน “คลองโยงเป็นพื้นที่ที่ใกล้กรุงเทพ ขนาดพันแปดร้อยไร่ ต้องการให้คลองโยงเป็นพื้นที่ที่จัดการตัวเองได้ เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องจัดการร่วมกับชุมชน” ผู้เข้าร่วมเสวนาจากชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง คลองโยงเป็นพื้นที่ที่ห้ามสร้างบ้านจัดสรร ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรม แต่รอบๆชุมชนถูกการพัฒนารอบไว้หมดแล้ว เราจึงคิดว่าทำอย่างไรให้คลองโยงพึ่งพาตัวเองได้ คลองโยงจึงเริ่มทำเกษตรอินทรี ฟางข้าวจำนวนมหาศาล จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในพื้นที่หนึ่งพันเจ็ดร้อยไร่ พลังงานจากหัวไร่ปลายนา อย่างน้อยก็ต้องมีพลังงานที่ไว้ใช้บ้าง เช่น แสงไฟบนถนนเข้าไปหมู่บ้าน ให้กลายเป็นพลังแสงแดดให้กลายเป็นพลังงานที่ใช้ในชุมชน นักเรียนโรงเรียนสถาพร ใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐในครึ่งวัน ส่วนอีกครึ่งวันใช้พลังงานที่ผลิตขึ้นเอง เช่น พลังงานจากผักตบชวา “เราตั้งโจทย์กับชาวบ้านว่า คุณเคยคิดหรือไม่ว่าคุณเป็นชาวนาแต่ต้องซื้อข้าวกิน คำถามนี้นำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะข้าวที่เราปลูกนั้นกินไม่ได้ ” “เทศบาลคลองโยง กับ เทศบาลศาลายามีชีวิตที่ต่างกันมาก เทศบาลศาลายาเป็นเทศบาลใหญ่เก็บภาษีได้เยอะ มีการลงทุนเยอะ แต่เรากำลังทำการศึกษาว่า สิ่งที่ต้องจ่ายออกไปมีอะไรบ้าง เราจะทำการเปรียบเทียบกับคลองโยง” ผู้ร่วมเสวนากล่าวเปรียบเทียบ เป็นการบูรณการใช้ประโยชน์ทุกด้าน ผ่านสิ่งแวดล้อมรอบตัวในเนื้อที่พันแปดร้อยไร่ ส่วน อาจารย์ฝ่ายบริหารงานทั่วไป จากโรงเรียนศรีบุณยานนท์ กล่าวว่า โรงเรียนด้านหน้าติดถนนด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา ผักตบชวามีมากมาย ทำอย่างไรจะให้เอาน้ำจากเจ้าพระยามาใช้ประโยชน์กับโรงเรียน วัด ชุมชนได้ ก่อนหน้าจะมีโครงการโรงเรียนจ่ายค่าน้ำค่าไฟมาก การรณรงค์ก็รั่วไหลมากมาย หลังจากเอาน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ได้ เนื่องจากติดกังหันสูบน้ำขึ้นมา เอามาขึ้นแท้งไว้แล้วปล่อย ใช้ทั้งโรงเรียนและก็ใช้ทั้งวัด ประหยัดเงินในกรใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ และที่สำคัญนักเรียนมีส่วนร่วมในการคิด ทำอย่างไรให้เกิดพลังงานไฟฟ้า อีกกรณีคือ ลูกหมุนที่หมุนระบายอากาศที่อยู่บนหลังค่าโรงพละศึกษา ทางโรงเรียนจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะเอาพลังความร้อนกับพลังงานลมมาใช้ได้ เด็กก็มาคิดเล่นทำให้พัดลมหมุนได้จริง ส่วนการจัดการเรื่องขยะ เนื่องจากโรงเรียนมีขยะจากขวดพลาสติกจำนวนมาก จึงจัดแบ่งเด็กเป็นคณะสี เด็กทุกคนมีสีประจำตัว เด็กนักเรียนก็จะทิ้งขยะลงในกล่องของเขาประจำสีตัวเอง หลังจากนั้นก็นำไปขาย และรีไซเคิลต่อไป ทำให้นักเรียนมีเงินในการจัดกิจกรรมกีฬาสีทุกปี ทั้งหมดนี้โรงเรียนพยายามเป็นที่บ่มเพาะความคิดของนักเรียนก่อนให้ออกไปสู่สังคมภายนอก 000 ที่ผ่านมา “พลังงานทางเลือก” ได้ถูกนำเข้ามาบรรจุลงในแผนพัฒนาพลังงานควบคู่ไปกับพลังงานกระแสหลัก ด้วยความพยายามนำเสนอสิ่งเหล่านี้บนพื้นฐานการปฏิบัติได้จริงสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยแนวคิดที่ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนากระแสหลัก แต่จะทำอย่างไรให้การพัฒนานั้นเป็นการพัฒนาที่สะอาดต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม กับคำถามสำคัญที่ว่า หากไม่อยากให้โลกร้อน ไม่เอานิวเคลียร์ (เพราะหวั่นอันตราย) ไม่เอาถ่านหิน (เพราะเป็นพลังงานสกปรก สร้างคาร์บอนทำโลกร้อน) ไม่เอาเขื่อนขนาดใหญ่ (เพราะกระทบวิถีชีวิตคนริมน้ำ) แล้วเลือกจะเอาพลังงานทางเลือก และการประหยัดพลังงาน เพียงเท่านี้มันจะพอกับการพัฒนากระแสหลักจริงหรือ??? ตรงนี้คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าแผนทางเลือกอีก 4 แผน สำหรับการจัดทำแผน PDP ของไทย ตามโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ทางเลือกของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงานไฟฟ้า” โดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่จะมีข้อสรุปภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะมีข้อเสนออะไรมาให้เราได้ดูกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net