Skip to main content
sharethis

คนงานชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เตรียมเข้าสภา 7 เม.ย.นี้ เป็นฉบับ "หล่อไม่เสร็จ" เพราะกองทุนประกันสังคมยังไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง แนะวางระบบรับแรงงานข้ามชาติอีกมากเข้าระบบประกันสังคม เสนอเร่งออกกฎกระทรวงให้ "คกก.ประกันสังคม" มาจากการเลือกตั้ง ชวนจับตา กม.แรงงาน 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาก่อนยุบสภา

(5 เม.ย.54) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน แถลงข่าวจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. … ซึ่งจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 ในวันที่ 7 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม  และรองประธาน คสรท. กล่าวว่า ประเด็นที่แรงงานเสนอไปและได้มาบางส่วน ได้แก่ โครงสร้างของคณะกรรมการประกันสังคมที่ต้องการให้ประธานและเลขาฯ มาจากการสรรหา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการกองทุน ซึ่งปรากฎว่า ประธานยังคงมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตามเดิม ขณะที่คณะกรรมการ 8 คนนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน 1 คน 1 เสียง และมีอำนาจสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบ และผู้ทรงคุณวุฒิในการให้คำปรึกษาในการบริหารกองทุน

ด้านสิทธิประโยชน์ ได้เงินทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ เงินสงเคราะห์บุตร ขอปรับเพิ่มจาก 6 ปี เป็น 20 ปี ได้ที่ 15 ปี การรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย เรียกร้องให้ผู้ประกันตนสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลในเครือข่าย แต่ที่ได้มาคือ สปส.จะทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ ก่อนจะขยายการทำ MOU กับโรงพยาบาลเอกชนต่อไปในอนาคต มีการแก้ไขให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์กรณีที่ฆ่าตัวตาย และแก้ไขให้นายจ้างและลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบ กรณีประสบภัยพิบัติ คราวละ 6 เดือนด้วย

นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า แม้ว่าในอนาคตร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่แรงงานก็ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ยังคงต้องขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ นั่นคือ การทำให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระต่อไป รวมถึงจะทำนโยบายเสนอต่อพรรคการเมืองด้วย


ชี้ยังกังวลอีก 8 ประเด็น

ด้านนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม และรองประธาน คสรท.  กล่าวว่า จากที่เสนอไปได้รับการพิจารณามา 5 ข้อถือว่าไม่ขี้เหร่จนเกินไป โดยต่อไปจะสามารถตรวจสอบสำนักงานประกันสังคมได้ และมีกรรมการลูกจ้างที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ทราบมาว่าในวันที่ 7 เม.ย.นี้ มีการบรรจุการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่ 4 ต่อจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องพรรคการเมือง ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะพิจารณาทันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฝากถึง ส.ส.ที่ขาดประชุมว่าหากยังมีจิตสำนึกและไม่ต้องการให้เริ่มต้นกันใหม่ ก็ขอให้เข้าประชุมด้วย

ทั้งนี้ นายชัยสิทธิ์ระบุว่า แรงงานยังมีข้อกังวลซึ่งได้ทำเป็นบันทึกท้ายรายงานการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 8 ข้อได้แก่ 1.ผลกระทบในเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้น เพราะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีอัตราการเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะครอบคลุมทุกมิติของประชากร เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค แต่ในส่วนของกองทุนประกันสังคมจะดูแลเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วย ดังนั้นในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคควรจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน นอกจากนี้ หากจำนวนของผู้ประกันตนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จะทำให้มีจำนวนคู่สมรสและบุตรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกรณีนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามไปด้วย

2.กองทุนประกันสังคมควรมีแนวทางการบริหารจัดการกองทุนที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตน 3.ระบบการประกันสังคมเป็นเรื่องของการเยียวยาและการแก้ปัญหาด้านสุขภาพแก่ ผู้ประกันตนในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้น กองทุนประกันสังคมจึงควรคำนึงถึงหรือพิจารณาให้การสนับสนุนการส่งเสริมด้าน สุขภาพและป้องกันโรคด้วย

4.กรณีที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินในกองทุนไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ เช่น นำไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อันมีข้อจำกัดในข้อกฎหมายและการครอบครอง ดังนั้น เห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กองทุนสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ อย่างคล่องตัว 5.ให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาแนวทางให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเข้าสู่ระบบ ประกันสังคมตามมาตรา 33 โดยเร็ว

6.ในอนาคตสำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรที่เป็นอิสระที่สามารถกำหนด ระเบียบ วิธีการ ในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความ เป็นจริงและผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิกำหนดนโยบายการปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

7.สำนักงานประกันสังคมต้องจัดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิไปรับบริการทางการ แพทย์จากสถานพยาบาลของรัฐที่สำนักงานประกันสังคมประกาศรายชื่อทุกแห่งโดย เร็ว และให้หาทางขยายบริการลักษณะนี้ไปถึงโรงพยาบาลเอกชนด้วย และ 8.เพื่อให้การบริหารกองทุนมีการบริหารเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส คณะกรรมการตรวจสอบการบริหารกองทุน จึงควรตรวจสอบกองทุนทุกขั้นตอน


แรงงานนอกระบบโอด 'งาน' เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยังไม่ได้ตามที่เรียกร้องทั้งหมด อาทิ การส่งเงินสมทบ ซึ่งแรงงานนอกระบบเสนอให้รัฐสมทบคนละครึ่งหนึ่งร่วมกับแรงงานนอกระบบ แต่ก็ได้มาเพียงไม่เกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น กรณีนิยามของ "ผู้ประกันตน" ปรากฎว่า แม้ผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งทำงานชิ้นเดียวกับแรงงานในโรงงาน มีนายจ้างชัดเจน แต่กลับไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับคนในโรงงานได้

นอกจากนี้ นางสุจินยังได้วิจารณ์การจะใช้งบประมาณของกระทรวงแรงงานในการจัดประกวด เทพธิดาแรงงานด้วยว่า ควรนำเงินมาจัดการศึกษาให้กับแรงงานนอกระบบ เกี่ยวกับการเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะดีกว่า

แนะวางระบบรับแรงงานข้ามชาติอีกมากเข้าระบบประกันสังคม
ด้านนายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายผู้ปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ 8 หมื่นคนในระบบประกันสังคม และจะเพิ่มขึ้นอีกมากหลังจากการพิสูจน์สัญชาติภายในสองปีนี้เสร็จสิ้น แต่ระบบที่จะรองรับให้แรงงานข้ามชาติเข้ามามีส่วนร่วมนั้นยังไม่ดีพอ เสนอว่าควรมีเวทีพูดคุยเพื่อเตรียมรองรับเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ นายบัณฑิต วิจารณ์ด้วยว่า แม้จะมีการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้คณะกรรมการมาจากการเลือกตั้ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ยังไม่มีความเป็นอิสระ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็น "ฉบับหล่อไม่เสร็จ"


เสนอออกกฎกระทรวงให้ "คกก.ประกันสังคม" มาจากการเลือกตั้ง
ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันจะพ้นวาระในเดือนมิถุนายนนี้ ในช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.ยังไม่เสร็จ จึงอยากเสนอให้ รมว.แรงงานออกกฎกระทรวงว่าด้วยการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการโดยตรงแทนวิธีเดิม ด้าน พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่แรงงานเข้าชื่อ 15,000 ชื่อเพื่อเสนอนั้น ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าจะทันการเข้าสู่การพิจารณาในรัฐบาลชุดต่อไป


ชวนจับตา กม.แรงงาน 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาก่อนยุบสภา

อนึ่ง วันที่ 7 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการนำกฎหมายแรงงาน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ….เข้าสู่การพิจารณาก่อนยุบสภา

โดย บุญยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักกิจกรรมด้านแรงงาน ตั้งข้อสังเกตในเว็บไซต์ http://voicelabour.org  ว่า แม้ว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะเกี่ยวข้องกับพี่น้องแรงงานที่มีกว่า 36 ล้านคนในประเทศไทย ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และข้ามชาติ แต่นั่นมิได้หมายความว่ากฎหมายดังกล่าวจะเอื้อหรือเป็นประโยชน์กับพี่น้อง โดยทั้งหมด ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ปรากฏในร่างรายงานทั้ง 3 ฉบับ โดยหลายประเด็นที่ยังคลุมเครือเอาเข้าจริงแล้ว ควรที่จะปรากฏในแต่ละมาตราได้เลย มิจำเป็นต้องตั้งเป็นข้อสังเกตหรือแขวนไว้หรือรอแปรญัตติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net