Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ออกแถลงการณ์จวกรัฐร่วมทุนช่วงชิงทรัพยากรชุมชน บังคับใช้กฎหมายเสมือน “โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน” ประกาศจุดยืนล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมือง วันนี้ (5 เม.ย.54) ที่เทศบาลตำบลโนนสูง จ.อุดรธานี เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่โปแตซ ของบริษัทเอเชียแปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ร่วมกับบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ซึ่งมีขึ้นในวันเดียวกันนี้ พร้อมระบุให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินงานใดๆ ในพื้นที่ จนกว่าจะกลับไปทบทวนถึงผลดีผลเสียของการสร้างเหมืองผ่านกระบวนของสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง และให้หยุดการสร้างความแตกแย้งในชุมชนผ่านการใช้อำนาจเงิน นายวงศกร สารปรัง นักศึกษาในเครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทยกล่าวว่า เวทีครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม อีกทั้งกระบวนการยังไม่ชอบมาพากลตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ต.ค.53 จ.อุดรธานี เคยมีการเวทีประชุมเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 เพื่อเป็นการชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ถัดจากเวทีนั้นก็มีการเร่งรีบทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการฯ นายวงศกรกล่าวต่อมาว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้คัดค้านโครงการมาโดยตลอด โดยระบุว่าต้องมีการชี้แจงก่อนจะมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ ซึ่งทางบริษัทฯ กลับอ้างถึงเวทีเพื่อชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมฯ ว่าเป็นเวทีเพื่อปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการฯ ดังนั้น จึงไม่ต้องการให้จัดเวทีที่ไม่ชอบธรรม และไม่มีการชี้แจงที่เป็นจริงเช่นนี้ นายวงศกร ให้ข้อมูลด้วยว่าโดยข้อเท็จจริงตามกฎหมายแร่ หรือตามประกาศโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรค 2 ไม่จำเป็นต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากว่ากรณีเหมืองใต้ดินที่มีเสาค้ำยัน (โครงการเหมืองแร่โปแตซ) ไม่จัดอยู่ในโครงการรุนแรงตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมองได้ว่าทางบริษัทฯ กำลังสอดแทรกการทำประชาคม โดยใช้วิธีให้ชาวบ้านไปร่วมรับฟัง และยกมือสนับสนุนเพื่ออ้างความชอบธรรม ต่อตัวโครงการฯ แถลงการณ์เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๔ ณ เทศบาลตำบลโนนสูง จ.อุดรธานี ตามที่เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ได้มีการสรุปบทเรียน และนำเสนอปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ต่างในประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ มาระยะเวลาหนึ่ง เช่น พื้นที่เหมืองทองคำ จ.เลย พื้นที่เหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้เกิดผลกระทบขึ้นแล้ว และยังมีพื้นที่ที่ยังมีการที่จะดำเนินการในการก่อสร้างอีกมากมาย ทั้งพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม หรือแม้แต่ จ.สกลนคร ที่ผ่านมา ได้พบปัญหาผลกระทบที่รุนแรงอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่างๆ จากการสะท้อนสภาพการณ์ปัญหาและบทเรียนการต่อสู้คัดค้านโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกัน จึงมีคำถามที่สำคัญคำถามหนึ่งว่า “รัฐ โดยเฉพาะกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้มีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ ได้ทำร้ายทำลายช่วงชิงทรัพยากรซึ่งควรเป็นสิทธิของคนในชุมชนพื้นที่ที่จะตัดสินใจดูแลและปกป้องด้วยคนในชุมชนเองและยังนำพาซึ่งโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการหายใจ กินข้าวและสัมผัสกับสารพิษในอุตสาหกรรมเหมืองที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม” อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยที่ภาครัฐคาดหวังถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศแต่เพียงด้านเดียว แท้จริงแล้วอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีการขุดเจาะทั้งแบบเปิดทำลายหน้าดิน หรือเป็นโพรงใต้ดิน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพในหลายมิติ นำมาซึ่งการทำลายแหล่งอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำมาหากิน ที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนท้องถิ่นให้เสื่อมโทรม โดยไม่มีหน่วยงานหรือผู้ประกอบการใดแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ รัฐยังได้บังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เปรียบเสมือน “โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน” เพราะได้นำสินแร่ที่อยู่ใต้ถุนบ้านเรือน แหล่งทำมาหากินของประชาชน และชุมชน แปรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของภาษี อัตราค่าภาคหลวงแร่ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่นๆ เข้าสู่คลัง ทั้งๆ ที่รายได้เหล่านั้นคือ “ผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับผลกระทบในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม และสุขภาพของประชาชน” มิหนำซ้ำรัฐยังได้กระทำย่ำยีเพิ่มเติมต่อประชาชนด้วยการผลักดันร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยวางหลักการ “โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการระบุว่า “แร่เป็นของรัฐ” และ “ไม่ให้อำนาจตัดสินใจแก่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่น” ปัญหาดังกล่าวได้พัฒนาไปสู่ปัญหาสังคม ความขัดแย้ง ละเมิดสิทธิบุคคล และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดนโยบาย บังคับใช้กฎหมายกฎระเบียบและการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ที่ไม่เป็นธรรม จากความทุกข์ทนของคนในชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้น จากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทำร้ายทำลาย ทั้งทรัพยากร วิถีชีวิต สุขภาพโดยไร้ซึ่งความเมตตาและเป็นธรรมโดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อชุมชนอีสาน เราในนามกลุ่มนักศึกษาไม่เอาเหมืองแร่ จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการเหมืองแร่และต้องการสื่อสารในเจตจำนงของทางกลุ่มให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ดังนี้ ๑.ต้องยุติและไม่เกิดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการทำเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ในวันที่ ๕ เม.ย.๒๕๕๔ ซึ่งจัดโดยบริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเวทีที่ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินการเหมืองแร่ ซึ่งจะนำสู่การเกิดขึ้นของเหมืองแร่ที่ทำร้ายทำลายวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน ๒.หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องหยุดการดำเนินงานใดๆ ในพื้นที่เพื่อนำพาสู่การเปิดเหมือง จนกว่าจะกลับไปทบทวนถึงผลดีผลเสียของการสร้างเหมืองผ่านกระบวนของสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง ๓.หยุดการสร้างความแตกแย้งให้เกิดขึ้นในชุมชนผ่านอำนาจของเงินตรา เช่น การจ่ายค่าลอดใต้ถุนเพื่อแบ่งชาวบ้านเป็นสองฝ่ายให้ขัดแย้งกัน ทั้งนี้ เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทยขอยืนหยัด ต่อสู้ ด้วยเจตนารมณ์ที่ศรัทธาอย่างมั่นคง จะขอต่อสู้กับผู้ใดก็ตามที่ จับจ้อง มุ่งหวัง ล้างผลาญ ทำร้าย ทำลาย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ชีวิต และความเป็นชุมชนท้องถิ่น อย่างถึงที่สุดและตลอดไป ศรัทธาในชีวิต ธรรมชาติ และความเท่าเทียม เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ๕ เมษายน ๒๕๕๔ เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย - ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น - กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชน (ดาวดิน) - กลุ่มอาศรมบ่มเพาะแนวคิดและจิตวิญญาณ - กลุ่มนักศึกษานกกระจอก มหาวิทยาลัยราชราชราชภัฏนครศรีธรรมราช - กลุ่มนักศึกษาแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง - กลุ่มนักศึกษาระบายฝัน - คนรุ่นใหม่ภาคอีสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net