Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.กามารุซซามาน อัสกันดาร หรือ ดร.แซม แห่งเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย ผู้มีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพใน 3 พื้นที่ความขัดแย้งในอาเซียน คือ อาเจะห์ของอินโดนีเซีย เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์และชายแดนใต้ของไทย ในนาม “Dream Keeper” หรือคนเฝ้าฝันสันติภาพแห่งอาเซียน ดร.กามารุซซามาน อัสกันดาร (ขวา) หรือ ดร.แซม แห่งเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย กับภรรยาชาวเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เรียกตัวเองว่า Dream Keeper หรือคนเฝ้าฝันสันติภาพแห่งอาเซียน - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 3 พื้นที่ขัดแย้งแห่งอาเซียน เครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อทำงานด้านการสร้างสันติภาพ ปัจจุบันเรามีพื้นที่ทำงานสามพื้นที่คือ จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ผมเป็นผู้ประสานงานศูนย์วิจัยและศึกษาเพื่อสันติภาพ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย การทำงานวิจัยและศึกษานี่แหละจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพให้ทั้งสามพื้นที่ได้ โดยพื้นที่แรกที่เราเริ่มทำงานคือ อาเจะห์ เราเข้าไปในอาเจะห์เป็นครั้งแรกในปี 2001 ต่อมาในปี 2004 สันติภาพในอาเจะห์ก็เกิดขึ้น และภารกิจในอาเจะห์ของเราก็สิ้นสุดลงในปีเดียวกันนั้นเอง ตอนนี้เรายังเหลือพื้นที่ทำงานอีกสองแห่ง คือ มินดาเนาของฟิลิปปินส์ กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เราเริ่มเข้ามาศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2004 คือหลังจากมีเหตุปล้นปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 รูปแบบการทำงานของเรา คือ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ ซึ่งอันที่จริงแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งมันคงยากที่จะให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นและจบลงง่ายๆ แต่เราก็พยายามศึกษาถึงสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อนำไปใช้ในการสร้างสันติภาพ การแก้ปัญหานั้นของเรามี 2 ขั้นตอนหลัก คือ1.เปลี่ยนจากการแก้ปัญหาโดยยาก ไปสู่การแก้ปัญหาโดยง่าย 2.สร้างให้คนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการสร้างสันติภาพ ที่มินดาเนา เราได้ศึกษาวิจัยร่วมกับภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งเราไม่ยึดข้อมูลของคู่ขัดแย้งอย่างเดียว นั่นคือรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการMILF (....) เพราะข้อมูลที่ดีที่สุด คือข้อมูลที่มาจากฝ่ายที่อยู่ตรงกลางระหว่างคู่ขัดแย้ง นอกจากนี้ เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ เช่น องค์กรที่มาจากประเทศญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าเราร่วมกันทำงานกันหลายฝ่าย เราเริ่มเข้าไปทำงานการสร้างสันติภาพในมินดาเนาตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากการที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการMILF บทบาทในชายแดนใต้ของไทย เราได้สร้างเครือข่ายเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนของเรา มีหลายพื้นที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ การศึกษาวิจัยจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าเราไม่นำองค์ความรู้ที่ได้มา นำไปปฏิบัติจริง ศูนย์วิจัยและศึกษาเพื่อสันติภาพ ซึ่งเราตั้งอยู่ที่มาเลเซีย เพราะความเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ระหว่างที่ยังมีความไม่สงบอยู่ มีชาวอาเจะห์จำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาเลเซีย หรือกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็มีคนในพื้นที่ไม่น้อยที่หลบหนีความขัดแย้งเข้ามาทางรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐบาลมาเลเซียอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างสันติภาพให้ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเราจึงมีโครงการที่จะสร้างสันติภาพให้กับพื้นที่อาเจะห์ มินดาเนาและชายแดนภาคใต้ของไทยขึ้นมา สำหรับแนวทางการสร้างสันติภาพนั้น ไม่มีทฤษฏีตายตัว เพราะในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการดึงคนในพื้นที่กระบวนการสร้างสันติภาพนั้น เป็นกุญแจที่สำคัญมาก เพราะคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะเข้าใจปัญหาต้นตอของความขัดแย้งได้ดีที่สุด ข้อมูลของคนในพื้นที่จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นมาก การสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนในพื้นที่ มีส่วนช่วยในการทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมุสลิมด้วยกัน ซึ่งจะมีความลึกซึ้งมากกว่าคนที่มาจากต่างศาสนา ความเป็นจุดร่วมของเรา จะต่างจากจุดร่วมขององค์กรที่มาจากชาติตะวันตก แนวทางการทำงานของเราคือ เข้าไปช่วยเหลือคนในท้องถิ่นที่ต้องการสร้างสันติภาพ สำหรับการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2004 นั้น เริ่มจากการพูดคุยกับนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เข้าไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศมาเลเซีย จากนั้นเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ เรายังได้ศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เราได้สร้างความสัมพันธ์กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพขึ้นมา โดยเราได้สร้างหลักสูตรที่เรียกว่า “สันติศึกษา” ตอนนี้เราได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งวิทยาเขตหาดใหญ่และวิยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเราได้ดึงนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย หลักสูตรสันติศึกษา ประกอบด้วย วิชาว่าด้วยทางออกของความขัดแย้ง วิชาว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน กำเนิด Dream Keeper คนเฝ้าฝันสันติภาพ ในปี 2008 เราได้เริ่มโครงการ Dream Keeper หรือคนเฝ้าฝัน ทำไมเราถึงใช้คำนี้ เพราะเราเชื่อว่า ทุกคนทุกฝ่ายต่างก็มีความฝันที่จะเห็นสันติภาพที่ยั่งยืน ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง เราทุกคนต่างมีฝันที่จะเห็นสันติภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ทุกคนมีบทบาทในการปกปักรักษาความสงบ ถึงแม้ในความจริงวันนี้สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น วันนี้เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยความฝัน จากนั้น ขั้นต่อไปก็ต้องคิดถึงว่า ใครจะเป็นคนที่ดำเนินความฝันที่มีนั้นให้เป็นจริง ดังนั้นเป้าหมายของเราคือคนรุ่นหนุ่มสาว เยาวชน นักศึกษา เพราะเราคาดการณ์ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ต้องใช้เวลานานพอสมควร ถึงแม้ในช่วงชีวิตของคนรุ่นผม อาจจะไม่เกิดสันติภาพตามที่ได้ตั้งใจไว้ แต่เราคาดหวังว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคต่อไป จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง เราเข้าไปสนับสนุนในด้านกระบวนการสร้างสันติภาพมากกว่า เพราะไม่ใช่ภาระหน้าที่ที่เราจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง คนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง จะต้องเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ด้วยตัวของเขาเอง เราเข้าใจว่า โดยลำพังคนในพื้นที่เองนั้น ทำงานด้วยความยากลำบากมาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ศักยภาพของคนทำงาน การสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพเองก็ยังมีน้อย อาจเป็นเพราะคนทำงานขาดประสบการณ์ เราสามารถช่วยเหลือในสิ่งที่คนในพื้นที่ยังขาด เราก็จะเข้าไปเติมเต็ม อะไรที่คนทำงานในพื้นที่ไม่มี เราก็จะเข้าไปสร้าง หากคนทำงานขาดประสบการณ์เราก็จะจัดอบรมให้ โดยเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เขาไปศึกษาในเรื่องสันติศึกษาในประเทศมาเลเซีย จากนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เราก็ส่งกลับไปทำงานในพื้นที่ของเขา จากนั้น เมื่อพวกเขากลับมาทำงานในพื้นที่ เราก็จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์กับคนทำงานในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความขัดแย้งเหมือนกัน เพื่อที่พวกเขาจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ หากกลับมาทำงานในพื้นที่แล้วเกิดปัญหาด้านเงินทุน เราก็จะช่วยเหลือหางบประมาณให้ แต่หากเขามีศักยภาพพร้อมทุกด้าน เขาก็สามารถถอนตัวออกจากคณะทำงานของเราได้ เราทำในลักษณะนี้เหมือนกันทุกพื้นที่ เราไม่ได้ทำงานเพื่อหวังชื่อเสียง แต่เราเห็นว่า ผลสำเร็จของการปฏิบัติงานนั้น เป็นฝีมือของคนในพื้นที่เอง เราเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้น ในโครงการ Dream Keeper นี้ เราจะส่งวิทยากรมาให้ความรู้ จากนั้นคนในพื้นที่ก็จะทำงานกันเอง เราจะไม่ลงมาประจำยังพื้นที่เอง สันติภาพต้องมาจากคนพื้นที่ ทั้ง 3 พื้นที่ที่เราทำงานนั้น มีข้อจำกัดในการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งก่อนที่จะลงมือทำงาน เราต้องศึกษาความเป็นพื้นที่ก่อน เพื่อหาแนวทางในการวางบทบาทของเราและต้องสอดคล้องกับพื้นที่ เช่น ในมินดาเนา ซึ่งมีแผนสันติภาพเกิดขึ้นมานานแล้ว เราเข้าไปเป็นเพียงผู้หนุนเสริมให้เกิดสันติภาพจริงอย่างไร เราต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยเจรจากันระหว่างฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน แต่สำหรับในชายแดนภาคใต้ยังไม่มีกระบวนการสร้างสันติภาพจริงๆ ความหวาดระแวง ความหวาดกลัวยังคงเกิดขึ้นมาก ดังนั้นเราจึงเลือกการดำเนินงานโดยผ่านมหาวิทยาลัย ซึ่งการทำงานผ่านมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมมากที่สุด เพราะเป็นการดำเนินงานภายใต้ร่มของการศึกษา ที่ผ่านมาเราได้จัดอบรม เพื่อให้เกิดแนวคิดการสร้างสันติภาพกับคนในพื้นที่ เราได้ร่วมงานกับคณาจารย์และนักศึกษา เรามีความเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดในการต่อสู้แบบสันติ เรารู้ตัวว่า บางครั้งมุมมองของคนอื่นบางคน มักมองว่าเราเป็นกลุ่มที่มาแทรกแซงกิจการภายใน เป็นพวกยุยงบ้าง บางครั้งก็ถูกมองว่า เข้าข้างขบวนการ เราคิดว่า การต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การต่อสู้นั้นมันมีหลากหลายรูปแบบ การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงนั้น มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันกลับเป็นวัฏจักรของความโกรธแค้น การต่อสู้ตามกระบวนการของเรา เป็นทางเลือกเพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างถาวร แต่คนที่จะทำให้เกิดสันติภาพนี้ได้ ต้องมาจากคนในพื้นที่เอง ฝ่ายเราเป็นเพียงผู้สนับสนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณในงานสร้างสันติภาพเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net