สธ.เผยน้ำท่วมภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 56 ป่วย 79,677 ราย

เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สธ.เผยได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตแล้ว 56 ราย ป่วย 79,677 ราย คชอ.เตรียมงบฯ ช่วยน้ำท่วม 2,900 ล้านบาท เผยมีบ้านเรือนที่อยู่ในข่ายได้รับความเสียหายประมาณ 58,000 ครัวเรือน ด้าน ศธ.ของบ 402 ล้าน ซ่อม ร.ร.น้ำท่วม สธ.เผยน้ำท่วม เสียชีวิตแล้ว 56 ราย ป่วย 79,677 ราย เนชั่นทันข่าว วันนี้ (7 เม.ย.54) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงว่า จากปัญหาน้ำท่วมได้รับรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 56 ราย ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช 25 ราย สุราษฎร์ธานี 10 ปี พัทลุง 6 ราย กระบี่ 10 ราย ตรัง 2 ราย ชุมพร 2 ราย พังงา 1 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหาย 1 ราย ที่ผ่านมาได้มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แล้ว 1,941 ครั้ง มีผู้มารับบริการ 79,677 ราย เป็นหวัด 44.9% น้ำกัดเท้า 36% มีปัญหาสุขภาพจิต 848 ราย ในจำนวนนี้เครียดสูง 68 ราย ซึมเศร้า 103 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 56 ราย ส่วนสถานพยาบาลสังกัด สธ.ได้รับความเสียหาย 187 แห่ง ในจำนวนนี้ 17 แห่งยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 16 แห่ง และ รพ.ชุมชน 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ท่าโรงช้าง แต่คาดว่าวันจันทร์ที่ 11 เม.ย.จะสามารถเปิดดำเนินการได้ ทั้งนี้ สธ.ได้ส่งยาและเวชภัณฑ์ไปช่วยภาคใต้แล้ว 279, 000 ชุด นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบว่า ใน จ.นครศรีธรรมราช ยังไม่มี รพ.ชุมชนใน 3 อำเภอ คือ อ.นบพิตำ อ.พระพรหม และ อ.ช้างกลาง ซึ่ง สธ.ได้อนุมัติให้สร้าง รพ.ชุมชน โดยได้โอนงบประมาณให้แล้วแห่งละ 12 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นจะให้สร้างตึกผู้ป่วยนอกก่อน คชอ.เตรียมงบฯ ช่วยน้ำท่วม 2,900 ล้านบาท เนชั่นทันข่าว วันเดียวกันนี้ (7 เม.ย.54) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผู้ว่าราชการ 10 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ นายสาทิตย์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานสำรวจข้อมูล ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อให้เงินช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ตามหลักเกณฑ์ที่ คชอ.กำหนดไว้ เช่น ต้องเป็นบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมโดยฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย บ้านพักถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อไม่น้อยกว่า 7 วัน บ้านพักได้รับความเสียหายจากดินโคลนถล่ม นอกจากนี้ ต้องเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน หรือในกรณีที่เป็นบ้านเช่า ผู้เช่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณช่วยเหลือความเสียหายจากอุทกภัยไม่เกิน 2,900 ล้านบาท ซึ่งมีบ้านเรือนที่อยู่ในข่ายได้รับความเสียหายประมาณ 58,000 ครัวเรือน นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า จะเร่งจ่ายเงินงบประมาณในส่วนของงบช่วยเหลือผู้ประสบภัยช่วงปลายปีที่แล้ว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ ขณะนี้งบประมาณช่วยเหลือใหม่นี้จะเริ่มทยอยจ่ายหลังจากนั้นตามแต่ละจังหวัดที่ทำการสำรวจข้อมูลเสร็จสิ้น และจากการตรวจสอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย คาดมีบ้านพักได้รับความเสียหายทั้งหลังประมาณกว่า 360 หลังคาเรือน ได้แก่ จ.กระบี่ 167 หลังคาเรือน ตรัง 9 หลังคาเรือน นครศรีธรรมราช 180 หลังคาเรือน สงขลา และชุมพร จังหวัดละ 5 หลังคาเรือน ส่วน จ.สุราษฎร์ธานี ยังไม่สามารถสำรวจได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งได้มีการเตรียมเงินจากกองทุนช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยจำนวน 60 ล้านบาทไว้รองรับ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มใน จ. สุราษฎร์ธานี โดยเตรียมน้ำดื่ม 100,000 ขวดไว้ให้การช่วยเหลือ ผวจ.สุราษฎร์แจงรัฐจ่ายชดเชยน้ำท่วม จังหวัดละ 100 ล้าน เนชั่นทันข่าว นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาคใต้ของประเทศไทย 10 จังหวัด ประสบอุทกภัย นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ได้ออกมาตรการเร่งด่วน โดย กระทรวงการคลัง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จังหวัดละ 100 ล้านบาท กรณีผู้เสียชีวิต ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว จ่ายรายละ 50,000 บาท กรณีเป็นบุคคลในครอบครัว จ่ายรายละ 25,000 บาท กรณีบ้านเรือนที่พักอาศัยเสียหาย เสียหายทั้งหลัง จ่ายเงินชดเชย หลังละ 30,000 บาท เสียบางส่วน จ่ายเงินชดเชย หลังละ 20,000 บาท เครื่องมือประกอบอาชีพ จ่ายตามความเป็นจริงไม่เกิน 10,000 บาท ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินครอบครัวละ 5,000 บาท เบิกจ่ายที่ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารออมสิน ส่วนครัวเรือนที่ถูกอุทกภัย กรณีใดๆ กรณีหนึ่งใน 3 กรณี คือ น้ำท่วมบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันทรัพย์สินเสียหาย, น้ำท่วมบ้านพักอาศัยติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 7 วัน, ที่พักอาศัยถูกน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ทั้งนี้ จะต้องอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ นายธีระยุทธ กล่าวอีกว่า กรณีน้ำประปาขาดแคลน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั้งจังหวัด เพื่อแก้ไขสถานการณ์ และบรรเทาความเดือดร้อนจะได้จัดซื้อเครื่องปั้มน้ำใหม่แทนของเดิมที่ถูกน้ำท่วมขัง โดยให้ตั้งสูงขึ้น 5 เมตร ป้องกันน้ำท่วมขัง เพื่อประชาชนจะได้ใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง รวมทั้ง โรงงาน โรงแรม และภาคอุตสาหกรรม โรงพยาบาล สถานศึกษา จะได้ใช้น้ำอย่างบริสุทธิ์ สะอาด และปลอดภัยในเร็ววัน ศธ.ของบ 402 ล้าน ซ่อมร.ร.น้ำท่วมภาคใต้ ไทยรัฐออนไลน์ วันนี้ (7 เม.ย.54) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเรื่องเร่งด่วน 4 จุด คือที่อ.นบพิตำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช อ.เขาพนม จ.กระบี่ และอ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยนำแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาดูแลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งให้นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา มาซ่อมแซมบ้านเรือน ซึ่งในวันที่ 10 เม.ย.นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวของครูที่ถูกน้ำท่วมในเขตพื้นที่นครศรีธรรมราช และวันที่ 11 เม.ย.จะไปช่วยเหลือที่สุราษฎร์ธานีและชุมพร ครอบครัวละ 5,000 บาท เงินทั้งหมดได้จากการบริจาคผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังตรวจสอบความเสียหายของโรงเรียนทั้ง 613 แห่ง เพื่อของบประมาณ งบกลาง หรืองบฉุกเฉิน ในการช่วยเหลือซ่อมแซม คาดว่าจะใช้ประมาณ 402 ล้านบาท เพื่อให้ทันต่อการเปิดภาคเรียนเดือนพ.ค.นี้ ชาวบ้าน 2 จว.ใต้รวมตัวร้องปัญหาเงินช่วยน้ำท่วม-วาตภัย สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (7 เม.ย.) กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กว่า 400 คน รวมตัวกันหน้าที่ว่าการอำเภอและตั้งเวทีเรียกร้องให้อำเภอชี้แจงกรณีมีคำสั่งยกเลิกเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อครั้งก่อน ขณะที่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งล่าสุดยังให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง โดยนายจำแลง คงวัดใหม่ และนายไมตรี ไชยราช ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2553 และวันที่ 16 พ.ย.2553 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2554 สำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เชียรใหญ่ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกัน ที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาชาวบ้านได้นำหลักฐานตามที่อำเภอแจ้งมา เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ความคืบหน้า กระทั่งล่าสุดสั่งยกเลิกเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งก่อน การที่ชาวบ้านมารวมตัวนั้น เพราะเกิดความแคลงใจและต้องการคำชี้แจงว่ามีเหตุผลใดต้องยกเลิกเงินช่วยเหลือ ด้านนายอัมรินทร์ เขมรัตน์ นายอำเภอเชียรใหญ่ ซึ่งติดภารกิจนอกพื้นที่ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เรียกตัวแทนชาวบ้านมาหารือและทำความเข้าใจเรื่องเงินช่วยเหลือ รวมทั้งให้ตรวจสอบว่ามีหมู่บ้านใดที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อจะได้เร่งดำเนินการทันที ชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายจากพายุดีเปรสชั่นร้องจังหวัดปัตตานีโวยยังไม่รับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดรับเรื่องพร้อมที่จะรีบนำไปดำเนินการเรียนรัฐบาลเป็นการด่วน เช่นเดียวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี กลุ่มชาวบ้านประมาณ 100 คน จาก 3 อำเภอ พื้นที่ติดชายฝั่งปัตตานี รวมตัวเรียกร้องเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท จากความเสียหายของพายุดีเปรสชั่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ทางนายเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้รับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน และรับปากว่าจะเร่งประสานกับรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่จะต้องรีบแก้ไข แต่เนื่องจากรายชื่อที่ประชาชนแจ้งขอรับเงินช่วยเหลือนั้นมีจำนวนมากถึง 35,000 ครัวเรือน ดังนั้น เพื่อความถูกต้องจะต้องให้นายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ กลั่นกรองข้อมูลให้เป็นไปตามจริงและเข้าหลักเกณฑ์ของทางการ ก่อนเสนอไปยังรัฐบาลภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือ คำชี้แจงดังกล่าวสร้างความพอใจแก่ชาวบ้านจึงแยกย้ายเดินทางกลับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท