Skip to main content
sharethis

<--break- />

หลังจาก ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard (แมลงในสวนหลังบ้าน) และเครือข่ายคนดูหนัง ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เพราะอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวขัดต่อศีลธรรมอันดี เป็นคดีดำเลขที่ 671 / 2554 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา 

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 54 เวลา 13.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องในกรณีที่ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่งชั่วคราว ให้สามารถฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษาได้ ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง โดยยืนยันว่าจะมีมาตรการควบคุมให้ผู้ชมเฉพาะที่อายุเกิน 20 ปีเข้าชมด้วย

ตุลาการศาลปกครองอธิบายถึงกระบวนพิจารณาในวันนี้ว่า การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ทุเลาคำสั่ง เป็นกระบวนการที่ศาลปกครองให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นการพิจารณาในวัตถุแห่งคดี โดยจะต้องตรวจสอบในสามประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในกรณีนี้น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สอง หากไม่มีการทุเลาคำสั่งจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาอย่างไร และสาม หากมีการอนุญาตหรือทุเลาคำสั่ง จะเกิดอุปสรคคต่อการดำเนินงานทางปกครองในหน่วยงานนั้นหรือไม่

ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ชี้แจงต่อศาลว่า ได้ยื่นภาพยนตร์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาสองครั้ง ครั้งแรกยื่นโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส ขอเรต 18+ เมื่อไม่ผ่านก็ยื่นเป็นครั้งที่สองยื่นในนามตัวเอง โดยขอเรต ฉ 20 แต่ทั้งสองครั้งทีมงานผู้สร้างไม่เคยได้เข้าชี้แจงในกระบวนการพิจารณา จนในชั้นอุทธรณ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นได้เรียกธัญญ์วาริน เข้าไปพบ แต่การพูดคุยครั้งนั้นมีอนุกรรมการเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่สอบถามในราย ละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่อนุกรรมการส่วนใหญ่สอบถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นในภาพยนตร์ เช่น ทำไมจึงมีบัตรประชาชนสองใบ ทำไมถึงเลือกเสนอเรื่องราวเชิงลบ (Negative) แทนที่จะเสนอภาพเชิงบวก (Positive) แบบภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก  

ธัญญ์วารินเห็นว่า คำสั่งที่ได้รับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการควรชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจได้มากกว่านี้ ไม่ใช่บอกเพียงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดี ผู้ทำภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ชี้แจงเหตุผล การได้เข้าไปพูดคุย ก็ไม่ได้คุยในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ คณะกรรมการที่ลงมติก็มิได้ดูภาพยนตร์ครบทุกคน เจตนาของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสะท้อนปัญหาสังคม ไม่ใช่ภาพยนตร์ลามกอนาจารดังที่คณะกรรมการให้ความเห็น นอกจากนี้ ธัญญ์วารินกล่าวเสริมเหตุผลที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมว่า คนทุกคนมีสิทธิเลือกเพศ เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินเป็นผู้ที่มีอคติไม่อาจเรียกเป็นความยุติธรรมได้ ดังที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวในงานเสวนาครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องผิดเพศ เป็นเรื่องอนาจาร

ประเด็นการขอทุเลาชั่วคราว ขอฉายในงานวิชาการ

ทั้งนี้ คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ส่งผลต่อชื่อเสียงและหน้าที่การงานของธัญญ์วา ริน เพราะเมื่อไปยื่นโครงการทำภาพยนตร์ก็จะมีคำถามว่า จะทำหนังโป๊หรือ ทำแล้วจะได้ฉายหรือไม่ นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบต่อสังคมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งหวังจะสร้างความเข้าใจในสังคม ให้เห็นมิติความหลากหลายทางเพศในแง่มุมที่แตกต่างแทนการนำเสนอภาพคนรักเพศ เดียวกันด้วยภาพลักษณ์แบบเดียวดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อทุกวันนี้ และอยากให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความเข้าใจผิด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การศึกษา และให้เกิดความเข้าใจในสิทธิความหลากหลายทางเพศ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวเสริมว่า เหตุที่ต้องขอการทุเลาคำสั่งให้สามารถฉายภาพยนตร์ในวงจำกัดคือในวงวิชาการ และการศึกษาได้ เพราะหลังจากมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งวงการภาพยนตร์และวงการนิติศาสตร์ต่างมีความเห็นทั้งสนับสนุนและเห็นแย้ง อีกทั้งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ก็เป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายแม้กระทั่ง กระทรวงวัฒนธรรมเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาและเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข และจากคดีนี้ได้จุดประเด็นให้สังคมสนใจการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องช่วยกันคิด ถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางเดินไปด้วยกัน ดังนั้น หากจะให้การแลกเปลี่ยนในทางวิชาการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ก็จำเป็นต้องมีวัตถุ แห่งคดี คือควรได้ดูภาพยนตร์ก่อน

ธัญญ์วารินตอบคำถามตุลาการศาลปกครองว่า การขอให้ทุเลาคำสั่งนี้ มุ่งหวังให้สามารถฉายภาพยนตร์ในกิจกรรมวิชาการ เช่น ในสถานศึกษา การฉายภาพยนตร์จะมีการเสวนาวิชาการประกอบทุกครั้ง โดยจะต้องมีการตรวจบัตรประชาชนเพื่อกำหนดอายุผู้ชุมให้เกิน 20 ปีขึ้นไป และหากจะเป็นการขออนุญาตต่อศาลเป็นครั้งคราวไปก็อาจเป็นได้

กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ชี้แจงหรือตัดทอนก่อน

นายวิภาส สระรักษ์  อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการชั้นต้นที่พิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินงานตามกรอบที่กฎหมายกำหนด คือเมื่อมีผู้เสนอภาพยนตร์มา ก็จะตรวจเอกสารหลักฐานให้ครบ เมื่อครบแล้วคณะกรรมการก็จะชมภาพยนตร์ จากนั้นก็จะประชุมเพื่อให้เรทติ้งตามมาตรา 26 (1) - (7) กรณีได้เรท (7) คือห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ก็จบ แต่หากได้รับเรท (1)-(6) คือ เรทส่งเสริม - เรทอายุ 20+ ก็จะพิจารณาในลำดับต่อไปว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 29 ซึ่งจะพิจารณาว่ามีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาตหรือสั่งไม่อนุญาต เลย โดยไม่ต้องสั่งให้ตัดทอนก่อนก็ได้

นายวิภาสกล่าวว่า คณะกรรมการไม่ได้เรียกให้แก้ไขดัดแปลง เพราะเป็นการสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 29 ซึ่งไม่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการต้องเรียกให้มาชี้แจง เพราะขั้นตอนนี้ไม่มีในกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ภาพยนตร์ถูกให้เรทห้ามฉายตามมาตรา 26 (7) คณะกรรมการถึงจะมีหน้าที่ต้องแจ้งคนทำภาพยนตร์ว่าให้ตัดทอน

คณะกรรมการยันหากไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ไม่อนุญาตให้ฉาย

กรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ส่งเข้าสู่การพิจารณาครั้งแรกโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ว่าให้เรท (6) แต่ขัดต่อมาตรา 29 มิใช่เรทห้ามฉายตามมาตรา 26(7) ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ จากนั้นมีการยื่นภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาให้พิจารณาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นมาเป็นในนามของตัวผู้กำกับเอง พร้อมทั้งเพิ่มข้อความกำกับว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้าง พฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครเป็นเพียงเรื่องสมมติ" คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาส่วนอื่นๆ ไม่มีการแก้ไขใดๆ เลย จึงมีมติไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ดังเดิม

คณะกรรมการอุทธรณ์แจงกรรมการทุกคนมีมติชอบแล้ว

เชลียง เทียมสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากกรมศาสนา กล่าวว่า ในชั้นของการอุทธรณ์ คณะกรรมการใช้ดุลพินิจดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยชอบด้วยเหตุผล โดยหลักของวิญญูชน คณะกรรมการประกอบได้ด้วยคณะกรรมการผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยว ชาญ โดยในวันที่ชมภาพยนตร์นั้นมีผู้เข้าชมทั้งหมด 15 คน ในวันที่ลงมติ มีผู้ร่วมลงมติทั้งสิ้น 22 คน แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่าผลโดยละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งทางคณะอนุกรรมการจะถอดเทปการประชุมรายงานต่อศาลในภายหลัง

ไม่ใช่หนังห้ามฉายเรื่องแรกดังเป็นข่าว แต่เป็นเรื่องที่ 6

เชลียง เทียมสนิท เสริมข้อมูลว่า ที่ธัญญ์วาริน ผู้ฟ้องกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ทั้งสิ้น 5 เรื่องที่สั่งไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ได้แก่ 1) Zack and Miri Make a Porno 2) ถ้ำมองชอตเด็ด 3) ราคะสาบเสือ 4) เหมยฮัว หญิงร้อยรัก และ 5) รสสวาทสาบภูเขา

รวมฉากขัดศีลธรรม เห็นอวัยวะเพศ เซ็กส์จัด ระบุมหาลัย ฆ่าพ่อ ขายบริการ

ตุลาการ ศาลปกครองถามคณะกรรมการว่า คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาใดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาในชุดนี้ด้วย กล่าวว่า มีหลายฉากที่ขัดต่อศีลธรรม ได้แก่ ฉากเห็นอวัยวะเพศขณะร่วมเพศซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว มีฉากฆ่าบิดามารดาที่แม้จะเป็นความคิดของตัวละครแต่เป็นเรื่องที่ขัดต่อ ศีลธรรม มีฉากเพศสัมพันธ์ในชุดนักเรียน ขายบริการในชุดนักเรียน มีฉากที่ระบุชื่อสถาบันการศึกษา มีฉากที่ตัวละครชายพูดกับแฟนสาวว่าขอโทษที่ต้องทำให้ไปขายตัวซึ่งตัวละคร หญิงตอบว่า "ไม่เป็นไร มันเป็นความคิดของฉัน คนอื่นไม่มีสิทธิมาตัดสิน"

รักศานต์กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ทำทำเอง เขียนบทเอง แสดงเอง จึงสะท้อนสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจตัวผู้กำกับ ไม่ใช่การสะท้อนสังคม เพราะเรื่องรักร่วมเพศสังคมรับได้อยู่แล้ว กรรมการทุกท่านไม่เคยกีดกัน เพียงแต่ประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ให้เห็นอวัยวะเพศประมาณ 5 วินาที อีกทั้งฉากร่วมเพศทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง รวมถึงชายกับหญิง ซึ่งเน้นเนื้อหาเรื่องเพศมากเกินไปซึ่งไม่เหมาะกับสังคมไทย

ต้องสั่งไม่อนุญาต เพราะให้เรทไปก็คุมเด็กไม่ได้

นอกจากนี้รักศานต์เห็นว่า หากอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะเป็นเรทอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่สามารถควบคุมคนดูตามอายุได้ตามที่กำหนด เพราะการกำหนดเรทติ้ง คนที่ดูภาพยนตร์ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนเอาผิดผู้ชมไว้ ดังนั้นอาจมีผู้ชมที่อายุต่ำกว่ากำหนดเข้าชมได้

การไต่สวนเสร็จสิ้นเวลา 17.55 น. ตุลาการศาลปกครองคาดว่าใช้เวลาราว 2 สัปดาห์จะสามารถแจ้งผลการขอทุเลาคำสั่งว่าให้ฉายในงานวิชาการได้หรือไม่

ใน วันดังกล่าว มีสื่อมวลชนสนใจไปติดตามจำนวนหนึ่ง ธัญญ์วารินจึงจัดแถลงข่าวบริเวณโถงชั้นล่างของศาลปกครอง และมีนักกิจกรรมกลุ่มบางกอกเรนโบว์ไปร่วมให้กำลังใจโดยเตรียมป้ายเพื่อ แสดงออกถึงความคิดเห็นไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลปกครองไม่อนุญาตให้ชูป้ายในบริเวณ เพื่อให้ถ่ายรูป จึงต้องใช้วิธีวางป้ายไว้กับพื้นซึ่งสามารถทำได้

ที่มา: iLaw.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net