“บริจาคหนังสือเสรี” ประเทศชาติจะฉิบหายจริงหรือ

(1)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติอัดแน่นไปด้วยปริมาณผู้คนนับแสนที่ เบียดเสียดกันอยู่ตามบู้ธของสำนักพิมพ์ต่างๆ บนพื้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในขณะเดียวกัน วงการหนังสือของไทยก็มีความเคลื่อนไหวของ ‘โครงการเฝ้าระวังการบริจาคหนังสือเสรี’ นำโดยมกุฎ อรดี ผู้ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่คนในวงการหนังสือรู้จักกันเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็มีทั้งผู้ที่เห็นต่างจากคุณมกุฎ และผู้ที่อยู่ในวงการหนังสือบริจาคต่างก็คอยติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เช่น กัน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ร่างประมวลรัษฎากรฉบับหนึ่ง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และถูกประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ระบุถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สำหรับผู้ที่บริจาคหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งเสริมการอ่าน ให้แก่สถานศึกษาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่บริจาคจะได้รับการงดเว้นภาษีถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ใช้ไปกับการบริจาค

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. บริจาคหนังสือให้แก่ห้องสมุดไปเป็นมูลค่า 10,000 บาท นาย ก. ก็จะได้รับการหักภาษีที่ตนต้องเสียได้ถึง 20,000 บาท

กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการอ่านจากภาครัฐ ที่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านให้แก่เยาวชนและ สังคม หลายคนเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้หนังสือกระจายมายังห้องสมุดได้อย่าง ทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มที่เห็นต่างกับกฎหมายฉบับนี้


ภาพโดย Ozyman

(2)

“บริจาคหนังสือเสรี ประเทศจะฉิบหาย”

นั่นคือคำจำกัดความสั้นๆ ต่อนโยบายบริจาคหนังสือเสรีในมุมมองของมกุฎ อรดี ผู้ขับเคลื่อนโครงการเฝ้าระวังหนังสือบริจาค

มกุฎเห็นว่าการบริจาคหนังสือเสรีจะนำมาสู่ความเสียหายของชาติอย่างใหญ่ หลวง กล่าวคือจะเกิดการเหมาหนังสือราคาถูกและไร้คุณภาพเข้ามายังห้องสมุดต่างๆ และจะนำมาสู่ปัญหาการคอรัปชั่น มกุฎเห็นว่ากฎหมายนี้สร้างประโยชน์ให้แก่เฉพาะกลุ่มพ่อค้าและนักการเมือง กล่าวโดยสรุปคือ

ประเด็นแรก จะเกิดการเหมาซื้อหนังสือลดราคาหรือหนังสือมือสองราคาถูกไปบริจาค แต่เมื่อนำไปยื่นเรื่องหักภาษีก็จะยื่นใบเสร็จซึ่งเป็นตัวเลขตามราคาตามปก และจะนำมาสู่ปัญหาคอรัปชั่น

ประเด็นที่สอง กลุ่มนักการเมืองจะฉวยโอกาสจากการบริจาคหนังสือ โดยการพิมพ์หนังสือที่เขียนถึงประวัติของตนเอง แล้วให้เครือข่ายซื้อไปบริจาคตามห้องสมุด เท่ากับว่านักการเมืองคนนั้นได้ประโยชน์ทั้งการโฆษณาตนเอง และได้ประโยชน์จากการหักภาษี

ประเด็นที่สาม หนังสือที่ถูกซื้อไปบริจาคนั้น อาจเป็นหนังสือที่ไร้คุณภาพ ทั้งนี้ทางห้องสมุดที่รับบริจาคก็ไม่สามารถทำลายหรือจัดการกับหนังสือเหล่า นั้นได้ เพราะเป็นหนังสือที่นำมาบริจาคโดยมีภาระผูกพันในแง่ที่ว่าเป็นหลักฐานเพื่อ อ้างอิงการหักภาษีของผู้ที่ซื้อบริจาค

ประเด็นที่สี่ หนังสือที่เข้ามายังห้องสมุดยังขาดคนที่มีความรู้ในเรื่องของการคัดเลือก หนังสือให้เหมาะสมกับห้องสมุด เพราะประเทศไทยยังมีจำนวนบรรณารักษ์ไม่เพียงพอ และยังขาดผู้ที่มีความรู้ในเรื่องหนังสืออย่างแท้จริง

ปัจจุบัน มกุฎ มรดี กำลังเดินหน้าทำโครงการเฝ้าระวังการบริจาคหนังสือเสรี โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงผลเสีย และเฝ้าระวังผลกระทบที่จะตามมากับกฎหมายบริจาคหนังสือเสรีฉบับนี้ในอนาคต ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่คิดเห็นในประเด็นนี้ต่างจากความคิดเห็นของมกุฎ

 

(3)

ปัญหาคอรัปชั่นเป็นคนละเรื่องกับการสรุปว่าหนังสือเก่าเป็นหนังสือไม่ดี

ธนาพล อิ๋วสกุล กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันเป็นผู้หนึ่งที่เห็นแย้งกับมกุฎ โดยเห็นว่าปัญหาเรื่องคอรัปชั่นที่มากับการบริจาคหนังสือเสรีตามที่มกุฎได้ กล่าวถึงนั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่แท้จริง ธนาพลกล่าวว่า “คุณ มกุฎบอกว่าการบริจาคหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งของการคอรัปชั่น เช่น ไปซื้อหนังสือราคาถูกๆ แล้วเอามาหักภาษีเต็มๆ กับราคาปกหนังสือ มันก็เป็นธรรมดาของประเทศไทยอยู่แล้วที่จะมีการคอรัปชั่น” ธนาพลเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่สามารถพบได้กับทุกเรื่องอยู่แล้ว ตนจึงไม่เห็นว่าการคอรัปชั่นที่จะมากับการบริจาคหนังสือนั้นเป็นเรื่องที่ น่าแปลกใจอะไร

ธนาพลเห็นด้วยกับกฎหมายบริจาคหนังสือเสรีฉบับนี้ โดยกล่าวว่า “การ ที่จะให้หนังสือโดยมาตรการภาษีแบบนี้ สำหรับผม ผมว่ามันควรจะมี ส่วนมีแล้วจะเกิดปัญหาใดบ้างก็ต้องมาแก้ที่ปัญหาของมัน ไม่ใช่จะมาบอกว่า การบริจาคหนังสือเก่าเป็นการคอรัปชั่น มันไม่ใช่ตรรกะแบบนั้น” ธนาพลเห็นว่าหนังสือที่เก่าไม่ได้หมายความว่าเป็นหนังสือที่ไม่ดี พร้อมทั้งเห็นว่าหนังสือเก่าที่ดีก็มีมากมาย

สำหรับหนังสือเก่าที่ผ่านไปหลายปีแล้วราคาเปอร์เซ็นต์ตามปกต้องลดลงนั้น ธนาพลเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ ส่วนเรื่องความเหมาะสมของหนังสือบริจาคที่เข้าไปยังห้องสมุดนั้น ธนาพลกล่าวว่าปัจจุบันก็ไม่เห็นห้องสมุดแห่งไหนจะมีหนังสือที่เหมาะสมอย่าง แท้จริงทั้งนั้น

 

(4)

“การครอบงำ”ไม่ใช่ว่าแค่ส่งหนังสือบริจาคไปห้องสมุดก็ครอบงำได้เบ็ดเสร็จ

นักเขียนหนุ่มผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แสดงความเห็นต่างจากมกุฎ โดยกล่าวถึงประเด็นที่มกุฎเห็นว่าจะเป็นช่องทางให้คนพิมพ์หนังสือครอบงำความ คิดของผู้อ่าน เขาเห็นว่าปกติแล้ว ภาพยนตร์ หนังสือ เว็บไซต์ และสื่อต่างๆ ก็มีการใส่ “อุดมการณ์” อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้เขียนหรือผู้สร้างอยู่แล้ว นอกจากนี้หากนักการเมืองจะใช้การพิมพ์หนังสือหาเสียง ก็ยังมีวิธีอื่นที่สะดวกกว่า ใช้เงินน้อยกว่า เห็นผลตรงจุดกว่าการลงทุนพิมพ์หนังสือหาเสียงไปบริจาคห้องสมุด ส่วนเรื่องลัทธิสอดไส้แฝงไปกับหนังสือบริจาคนั้น เขาเห็นว่าสมัยนี้ใช้เว็บไซต์น่าจะเห็นผลกว่า

“ปัญหาคือเราเอาอะไรไปวัดว่า ‘ข้อมูล’ หรือ ‘อุดมการณ์ใด’ เป็นอุดมการณ์ที่ ‘ดี’ ที่ ‘ถูก’ และอุดมการณ์หรือข้อมูลใด ‘ผิด’ หรือเป็น ‘อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ’ ? ถ้าเราใช้เหตุผลเช่นนั้นในการ ‘เฝ้าระวัง’ หนังสือ เท่ากับเราก็ยอมรับในแนวคิด ‘พี่ใหญ่’ หรือ ‘คุณพ่อรู้ดี’ เราก็จะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปเรียกร้องต่อสู้เวลาที่เขาบล็อกเว็บหรือเซน เซอร์หนัง เพราะนั่นเขาก็อ้างว่าทำเพื่อ ‘ความมั่นคง’ ของชาติ (ประกอบศีลธรรมอันดีด้วย) เช่นกัน” เขาชี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเราจะยอมให้มีอุดมการณ์หลัก (แห่งชาติ) เพียงอุดมการณ์เดียวที่ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้ครอบงำลงสู่ผู้อ่านเท่านั้นหรือ

เขาเสนอว่าห้องสมุดควรจะมีโอกาสให้หนังสือได้ “ปะทะ” กันบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวางหนังสืออย่าง “พระราชอำนาจ” ของ ประมวล รุจนเสรี หรือหนังสือของ ธงทอง จันทรางศุ ได้ เราก็ควรวางหนังสือของ ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ลงไปข้างๆ ได้เช่นกัน หรือถ้ามี “ความสุขของกะทิ” ก็ควรจะมี “ก็ไพร่นี่คะ” ให้เลือกอ่านได้ในห้องสมุดเดียวกัน “เราเคยเชื่อหนังสือบางเล่ม อย่างหัวปักหัวปำ แต่พออ่านหนังสืออีกเล่ม มันล้างความคิดของหนังสือเล่มก่อนหน้านั้นไปเลย ไม่มีหนังสือเล่มใดหรอกที่จะครอบงำเราได้ตลอดไป และมันมีหนังสือใหม่ๆ รอมาครอบงำเราตลบหลังได้เรื่อยๆ” เขาขยายความ

สำหรับสาเหตุที่สนับสนุนนโยบายบริจาคหนังสือเสรีนั้น ท่านผู้นี้เห็นว่าจะเป็นการสร้างความหลากหลายให้กับหนังสือในห้องสมุด กล่าวคือ หนังสือที่กว่าจะไปปรากฏในห้องสมุดนั้นต้องผ่านด่านหลายด่าน คือ รสนิยมและอุดมการณ์ของบรรณารักษ์ ความจำเป็นและความต้องการของผู้อ่าน และทุนในการจัดหาหนังสือ

เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า “ต่อให้บรรณารักษ์มีแนวคิดที่ดี ส่งเสริมการอ่านวรรณกรรม แต่สมมติมีงบเหลือซื้อหนังสือได้ 350 บาท ระหว่างช่อการะเกดกับคู่มือ Windows 7 (ซึ่งอาจจะได้สองเล่มด้วยซ้ำ) แน่นอนว่าบรรณารักษ์คงต้องเลือกรายการหลัง เพราะเป็นรายการที่อยู่ในความจำเป็นมากกว่า แม้เขาเองจะคิดว่า น่าจะมีวรรณกรรมไว้บริการก็ตาม หรือถ้ากรณีหนังสือวรรณกรรมด้วยกันระหว่างช่อการะเกดกับแฮร์รี่พอตเตอร์ แน่นอนว่า เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้หนังสือที่มีคนอยากอ่าน บรรณรักษ์ก็คงต้องเลือกเล่มหลังเช่นกัน”

เขาเห็นว่าอย่างน้อยมาตรการภาษีนี้ก็ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องทุนลงไปได้บ้าง และเป็นการสร้างโอกาสให้กับหนังสือใหม่ๆ แปลกๆ ที่ปกติห้องสมุดอาจไม่คิดจะซื้อ หรืออยากจะซื้อ แต่มีเล่มอื่นเร่งด่วนหรือเป็นประโยชน์ จำต้องจัดซื้อก่อน จึงเห็นว่าหนังสือบริจาคอาจลงไปช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้

แม้ว่าเขาจะเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการบริจาคหนังสือเสรี แต่เขาก็คิดว่าอาจจะต้องหาวิธีให้กระชับรัดกุมเพื่อป้องกันการใช้เป็นช่อง ทางทุจริตหรือเลี่ยงภาษี สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในขั้นต้นที่บุคคลท่านนี้เห็นว่าจัดการได้ คือการกำหนด “เพดานสูงสุดของการลดหย่อนภาษี” และการใช้หลักคล้ายๆ “อนุโมทนาบัตร” หรือการรับหนังสือโดยออกหนังสือรับรองให้ จากนั้นค่อยนำหนังสือรับรองนั้นแนบใบเสร็จรับเงินเอามาใช้ลดหย่อนภาษี เพื่อจะช่วยป้องกันหนังสือขยะที่อาจหลั่งไหลเข้ามายังห้องสมุด

นโยบายส่งเสริมการอ่านที่ท่านนี้เห็นว่ารัฐควรทำคือ รัฐควรสนับสนุนการ “แปล” หนังสือต่างประเทศดีๆ ทั้งวิชาการและวรรณกรรมมาเป็นภาษาไทยบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ รัฐควรสนับสนุนให้มีหนังสือ Edition ราคาปกติ กับ Edition ราคาถูก เป็นลักษณะเช่นเดียวกับหนังสือของต่างประเทศ คือพอกเก็ตบุ๊คถูก พิมพ์ด้วยกระดาษบางๆ ที่เนื้อกระดาษอาจจะไม่ค่อยดีนัก แค่พออ่านได้ อ่านแล้วทิ้งไว้ตามสนามบินให้คนอื่นอ่านต่อ ส่วนผู้ที่เป็นนักสะสมหนังสือนั้นก็ซื้อฉบับราคาปกติไป

“หนังสือก็แค่หนังสือ ก็เหมือนเสื้อผ้า เราเลือกอย่างที่เราชอบ ใส่ได้พอดีตัวเรา เราใส่มันจนเราพอใจ แล้วก็ถอด ใส่ตัวใหม่กันไป ตัวไหนชอบมากหน่อย ก็ใส่นานใส่ซ้ำ ส่วนตัวไม่คิดว่าหนังสือเป็นของดีวิเศษกว่าสิ่งไหนใดอื่น - ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ห้ามบริจาคกันมั่วซั่ว เพราะทุกอย่างแหละครับ ไม่ว่าจะปลากระป๋อง รองเท้าแตะ เสื้อกันหนาว มันก็ไม่ควรบริจาคมั่วซั่วทั้งนั้น” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

(5)

ผู้บริจาคได้ประโยชน์จากการหักภาษี แต่ผู้รับอาจได้สิ่งที่ไม่สมควรจะได้

จิรัชฌา อ่อนโอภาส นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งเคยทำกิจกรรมค่ายอาสาโดยใช้โครงการบริจาคหนังสือให้แก่เยาวชนใน พื้นที่ต่างจังหวัด จิรัชณาเล่าว่า “หนังสือที่คนในมหาวิทยาลัยเอามาบริจาค ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเรียนที่ใช้แล้ว หรือเป็นหนังสือที่มีเยอะแต่ไม่ได้ใช้”

จิรัชณาเห็นว่าคนที่มาบริจาคหนังสือนั้น นำหนังสือจำนวนมากมาบริจาค ซึ่งตนก็เห็นว่าหนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือที่ดี เช่น หนังสือธรรมะที่ได้รับบริจาคมาเป็นจำนวนมาก แต่ผู้บริจาคก็ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือผู้ที่จะได้รับหนังสือตามเป้าหมายที่แท้จริง

สำหรับในเรื่องการบริจาคหนังสือเสรีนั้น เธอกล่าวว่า “เขาได้หักภาษี แต่พอหักภาษีไปแล้ว สิ่งที่เด็กได้ก็อาจไม่สมควรที่จะได้” เธอเล่าว่า ตอนที่เธอทำค่ายอาสานั้น เธอต้องทำเรื่องขอไปที่ทางสำนักพิมพ์เพื่อขอรับบริจาคหนังสือ สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมอบหนังสือมาให้เป็นนิตยสารชื่อดังประจำสำนักพิมพ์ตน เธอเห็นว่าหากตนขอรับบริจาคหนังสือในตอนที่กฎหมายฉบับนี้ออก อาจมีคนจำนวนมากยินดีที่จะให้การบริจาคก็เป็นได้

 

(6)

ยิ่งหลากหลายความคิดเห็น ก็ยิ่งเป็นสัญญาณทีดีที่ต่างก็มีการตรวจสอบกัน

มูลนิธิกระจกเงาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำโครงการรับบริจาคหนังสือโดยตรง ภายใต้ชื่อว่า “โครงการอ่านสร้างชาติ” จรัญ มาลัยกุล ผู้เป็นหัวหน้าโครงการเล่าว่า มูลนิธิทำโครงการนี้มานานกว่า 3 ปีแล้ว โดยดำเนินการภายใต้ความเชื่อที่ว่า “หนังสือมีอยู่จำนวนมาก แต่อยู่ในมือของคนที่มีโอกาส มีเงิน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี” และเห็นว่าหนังสือกระจุกอยู่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น

จรัญเล่าว่า แต่ละปีทางมูลนิธิจะได้รับหนังสือบริจาคเข้ามาเป็นแสนเล่ม หนังสือที่ได้รับบริจาคมาเป็นหนังสือที่สภาพสมบูรณ์และใหม่ก็จริง แต่มักจะเป็นหนังสือที่ผู้บริจาคไม่ชอบ จรัญชี้ว่า “มันเป็นทัศนคติ ที่มีปัญหา สังคมยังไม่ค่อยตระหนักว่า หนังสือดีที่มีประโยชน์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเจ้าของได้ พัฒนาคนอื่นได้ แต่คนยังไม่ค่อยนึกถึงตรงนี้กันเท่าไหร่ ยังเป็นข้อจำกัดในเรื่องวิธีคิด” ส่วนหนังสือที่ได้รับบริจาคมาจากทางสำนักพิมพ์โดยตรงนั้น จรัญเล่าว่าที่ผ่านมามีเพียงจำนวน 2 รายเท่านั้น และหนังสือที่ได้มาก็เป็นหนังสือที่ขายไม่ออกแล้ว

หนังสือที่ได้มานั้นต้องมีการคัดแยกอีกที สุดท้ายแล้วเหลือที่ใช้ได้จริงมีแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ทางโครงการก็จะนำไปขายเพื่อนำเงินสมทบเข้ากองทุนพิมพ์หนังสือเด็กต่อไป ส่วนหนังสือเล่มไหนที่เข้ามาซ้ำกันเป็นจำนวนมาก ก็จะเอามาลงขายทางเว็บไซต์ในราคา 20 เปอร์เซ็นต์จากปก แล้วนำเงินสมทบเข้ายังกองทุนเช่นกัน เพื่อนำเงินไปจัดพิมพ์หนังสือนิทานท้องถิ่นต่อไป โดยจรัญกล่าวว่า “อยาก ได้แนวความคิดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเอามาใช้ประโยชน์ได้ เช่น นิทานมาจากเรื่องเล่าปราชญ์ชาวบ้าน คิดว่าทำแบบนี้จะตอบโจทย์ได้ และจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของหนังสือด้วย”

เมื่อถามถึงนโยบายบริจาคหนังสือเสรีในมุมมองของมกุฎ จรัญมองว่าเป็นการกลัวและเกรงกันไปก่อนว่าจะเกิดปัญหาแบบนั้นแบบนี้ โดยเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีการยืดหยุ่นบ้าง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคนที่ทำหนังสือดีจะกลายเป็นผู้ผูกขาดบางอย่างจน เกินไป ในเรื่องปัญหานักการเมืองที่มกุฎกังวลนั้น จรัญเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองทำผิดแล้วจะไม่มีนักการเมืองอีกฝ่าย มาคอยตรวจสอบ

จรัญเปรียบเทียบประเด็นนี้ว่าเป็นเสมือนงานศิลปะอย่างหนึ่ง และคงสุดโต่งเกินไปที่จะมองมุมเดียว “สังคมมีหลายระดับ คนที่อยากช่วยก็มี แต่คนมีตังค์ก็อาจไม่มีความรู้ว่าจะซื้อหนังสืออะไร มันเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก”

จรัญกล่าวว่า สำหรับเรื่องคอรัปชั่น ก็เห็นด้วยเช่นกันว่ามีอยู่จริง แต่การปิดกั้นตั้งแต่แรกโดยพูดถึงแต่เรื่องของคอรัปชั่นนั้น มันไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้อง แต่ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลายแบบนี้เป็นบรรยากาศที่ดี แต่ละฝ่ายจะได้มีการตรวจสอบกัน

จรัญชี้ว่าเมื่อมีการขับเคลื่อนกันหลายๆ ฝ่าย ทุกอย่างก็จะเกิดความพร้อมกันไปเอง “สังคม ต้องมีคนเห็นต่างแล้วมาตรวจสอบกัน ไม่งั้นจะบอกตัวเองได้อย่างไรว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องมีมารฐานของมัน หนังสือดีมันก็มีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่อย่าพยายามเอาแต่ผูกขาดว่ากลุ่มของตนเองที่ทำหนังสือดีที่สุดเท่า นั้น...มันไม่ใช่ทั้งหมด”

 

(7)

ต้องบริจาคเป็นหนังสือที่สามารถใช้ได้ และบรรณารักษ์ต้องรู้ว่าอะไรที่เหมาะกับห้องสมุด

ห้องสมุดสิกขาเอเชีย เป็นห้องสมุดเด็กแห่งหนึ่งในชุมชนคลองเตย ห้องสมุดแห่งนี้เป็นเสมือนแหล่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยเปิดบริการให้แก่ชาวคลองเตยในชุมชน 70 ไร่มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว

อลิสา อุปศรี ผู้ซึ่งนำหน้าที่ผู้ช่วยประสานงานและเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ของห้องสมุดเล่า ว่า หนังสือบริจาคที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเรียนที่ใช้แล้ว รับมาก็เอาไปใช้ไม่ได้ จึงต้องเอาไปขาย แล้วเอาเงินสมทบกล่องบริจาค “หลังๆ เราก็ต้องบอกเขาว่า เราไม่รับ เพราะรับมาแล้ว ถ้าเขาเห็นเราเอาไปขาย เขาจะมองแล้วรู้สึกไม่ดีก็ได้” นั่นคือคำพูดของผู้ที่ต้องจัดการกับกองหนังสือที่ถูกขนเข้ามาบริจาคยังห้องสมุด

เมื่อถามเธอว่าหากเลือกได้ระหว่างเงินบริจาคกับหนังสือบริจาค? เธอตอบว่า “อยาก เลือกเป็นเงินมากกว่า เพราะเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องการอ่านอะไร ชอบแนวไหน ถ้าเขาอยากซื้อหนังสือแล้วคิดว่าให้เป็นตัวเงินแล้วดูไม่ดี ก็อยากให้มาคุยกับห้องสมุดก่อนว่าอยากได้หนังสือแนวไหนยังไง”

เธอยกตัวอย่างว่า เงินสองร้อย ตนเห็นว่าสามารถซื้อหนังสือปกอ่อนได้ถึงสองเล่ม ก็อยากบอกว่าขอเป็นเล่มนี้ได้ไหม เพราะเด็กชอบอ่านเล่มนี้มาก อลิสาคิดว่าควรจะเป็นแบบนี้ ดีกว่าการไปคิดเองว่าต้องเป็นหนังสือเล่มนั้นดีเล่มนี้ดี แต่จริงๆแล้วเด็กไม่ชอบ “วรรณกรรมบางเล่มอ่านให้เด็ก แต่เด็กก็ไม่เข้าใจ เช่น โต๊ะโตะจังเป็นใคร คืออะไร แฮรี่พอตเตอร์คืออะไร คือมันต้องใช้จินตนาการและเวลา บางที่มันอาจยังไม่เหมาะกับเด็กในช่วงวัยนี้” อลิสาขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น

ถามถึงความคิดเห็นเรื่องนโยบายบริจาคหนังสือเสรี อลิสาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยไปร่วมประชุมกับ กทม. และเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่พอมาอ่านความคิดเห็นของมกุฎและกลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านนโยบายดังกล่าว ทำให้เธอคิดว่าหากเป็นอย่างนั้นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน อลิสาเห็นว่าบรรณารักษ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เธอกล่าวว่า “บรรณารักษ์ ต้องเข้มแข็งพอ ต้องเลือกได้ว่าอะไรที่จะรับหรือไม่รับ ไม่ใช่ว่าเค้าบริจาคมาก็รับ อย่าคิดว่าไม่มีหนังสือแล้วต้องรับหนังสืออะไรเข้ามาก็ได้ เลือกเอาหนังสือที่ใช้ได้ดีกว่า ดีกว่าการที่มีหนังสือเยอะๆเข้ามาเต็มตู้แล้วใช้ไม่ได้”

เมื่อถามเธอถึงปัญหาบรรณารักษ์ของประเทศที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอดังความ คิดเห็นของมกุฎ เธอตอบว่า “จริง” อลิสาเล่าว่า เธอทำงานที่ห้องสมุดแห่งนี้มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว แต่ทางห้องสมุดสิกขาเอเชียเองก็ต้องเปิดรับสมัครบรรณารักษ์มาใหม่ทุกปี เพราะหน้าที่ของบรรณารักษ์ห้องสมุดเด็กไม่ใช่มีเพียงแค่นั่งลงทะเบียนเท่า นั้น เธอเล่าต่อไปว่า เคยคุยกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สาขาบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นต้องเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาให้ฟังดูทัน สมัยขึ้น เพราะไม่มีคนเรียน

ทั้งหมดนี้คือคำบอกเล่าและความคิดเห็นของบุคคลผู้ที่อยู่ทั้ง เบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการงานหนังสือ และวงการหนังสือบริจาค ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีข้อคิดเห็นและมองเห็นข้อดีข้อเสียกันคนละมุม แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับมุมมองของ “ผู้บริจาค” ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้เล่นที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท