Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านริมโขง 8 จังหวัด จี้รัฐบาลลาว-ไทย เลื่อนตัดสินใจให้ความเห็นชอบโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในการประชุม MRC 19 เม.ย.นี้ ชี้โครงการเดินหน้าทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ด้าน คกก.สิทธิฯ อาเซียน รับลูกนำเข้าหารือ พ.ค.นี้ วันนี้ (18 เม.ย.54) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ราว 100 คน จากจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายถึงนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว แจ้งความกังวลใจและขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีราว 10,000 รายชื่อ สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) จะจัดการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee Special Session) 4 ประเทศ (กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม) ที่สำนักงานในนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ตามจดหมายที่ส่งถึง นายกรัฐมนตรีของลาว ระบุถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.54 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 8 เม.ย.54 เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยความเห็นส่วนใหญ่มองว่า ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ ในขณะที่การก่อสร้างโครงการกลับมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลใจต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีของลาวเลื่อนการตัดสินใจในการให้ความเห็นชอบต่อการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ของคณะกรรมการร่วม MRC ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย.นี้ ออกไป เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและชัดเจน พร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า การเดินทางองชาวบ้านมาที่สถานทูตลาวในวันนี้เป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในการไม่ต้องการเขื่อนของประชาชนริมน้ำโขง โดยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงได้ออกมาพูดด้วยตัวเอง และประชาชนควรเป็นผู้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตที่อยู่ร่วมกับแม่น้ำโขง ไม่ใช่รัฐบาลหรือนายทุน อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษาของ MRC ก็ได้ชี้ชัดแล้วว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง และได้มีข้อเสนอให้ชะลอการตัดสินใจสร้างเขื่อนออกไปอีก 10 ปี เพื่อทำการศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน นายนิวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาราว 5 เดือนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ท่าทีของประเทศสมาชิก MRC ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และไทยเองก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเพราะต่างหวั่นเกรงผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลลาวแล้วว่าจะเคารพการตัดสินใจของประเทศสมาชิกอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้นั้นต้องการยุติกระบวนการในฝั่งของรัฐบาลไทย บริษัทเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของไทย เพราะการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่สามารถกล่าวโทษรัฐบาลลาวแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ สำหรับการไปยื่นจดหมาย พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี 10,000 รายชื่อต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีสี ผู้แทนไทยในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบการดำเนินการโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ดร.ศรีประภาได้รับปากจะนำเรื่องนี้เขาหารือในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนภายในเดือนพฤษภาคม เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบด้านสิทธิของประชาชน และมีผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งควรถูกยกระดับไปสู่การพูดคุยในวงอาเซียน ชาวบ้านหวั่นพื้นที่โครงการเขื่อน อยู่ในเขตรอยเลื่อนเสี่ยงแผ่นดินไหว ส่วนนายสุรชัย แองดี ชาวบ้านจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งอยูห่างจากพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรีเพียง 200 กิโลเมตร กล่าวว่า ชาวบ้านหวั่นเกรงถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องวิถีชีวิต ระบบนิเวศน์ และการสูญเสียพื้นที่เกษตรริมฝั่งโขง ซึ่งที่ผ่านมาจากการสร้างเขื่องกั้นลำน้ำโขงในประเทศจีนก็เป็นบทเรียนของผลกระทบต่อชาวบ้าน เนื่องจากเกิดระดับน้ำขึ้นน้ำลงไม่ปกติ นอกจากนั้น กรณีการเกิดแผนดินไหว 5.4 ริคเตอร์ ในประเทศลาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดความหวั่นวิตก เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีลอยเลื่อนของเปลือกโลกอยู่ซึ่งมีความเสี่ยงหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ในการปราศรัยบริเวณหน้าสถานทูตลาวถึงความหวั่นเกรงต่อผลกระทบด้านต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้ยับยังการก่อสร้างโครงการ โดยให้มีการรับฝังความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวแทนสถานทูตออกมารับจดหมายของกลุ่มชาวบ้าน โดยมีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่าเอกอัครราชทูตได้ไม่อยู่ในสถานทูต ชาวบ้านจึงทำได้เพียงยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการในบริเวณดังกล่าวเป็นตัวแทนรับมอบ ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางไปร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยมีคนทำงานภาคประชาสังคมร่วมสังเกตการณ์ อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์, นางเตือนใจ ดีเทศน์, อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน และได้ยื่นหนังสือต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีสี ผู้แทนไทยในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางต่อไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และต่อไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุรจิต ชิรเวช ส.ว.สมุทรสงคราม ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ส่วนข้อเรียกร้องที่กลุ่มชาวบ้านมีต่อนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายยกรัฐมนตรี คือการให้ยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมทั้งปกป้องทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขงและวัฒนธรรมของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง และให้เลื่อนการตัดสินใจการให้ความเห็นชอบต่อการสร้างเขื่อนดังกล่าวของคณะกรรมการ่วม MRC ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย.54 นี้ออกไป สื่อเผย ช.การช่างเข้าไปปรับพื้นที่แล้ว แถมชาวบ้านได้ค่าชดเชยแค่ 450 บาท ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วานนี้ (17 เม.ย.54) เว็บไซต์บางกอก โพสต์ รายงานข่าวความคืบหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว จากการลงพื้นที่โดยนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า บริเวณโดยรอบโครงการได้มีการเดินหน้าการก่อสร้างแล้ว ทั้งที่โครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มมีการขุดดินปรับพื้นที่ตามแผนการก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือท่าเดื่อราว 20 กิโลเมตร และมีการเริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 5 เดือนแล้ว ด้วยรถบรรทุกและรถแบคโฮของบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่ร่วมโครงการกับรัฐบาลลาว ขณะที่มีชาวบ้านเตรียมจะย้ายออกจากพื้นที่ โดยได้รับค่าชดเชยเพียงรายละ 450 บาท ในส่วนท่าที่ของประเทศสมาชิก MRC นั้น หลังจาก รัฐบาลลาวได้ร้องขอต่อ MRC เมื่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการอย่างเป็นทางการในการอนุมัติก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการแรกใน 11 โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตามข้อตกลงในการจัดทำโครงการพัฒนาที่อาจมีผลกระทบข้ามแดน ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาและให้คำปรึกษาก่อนดำเนินการ โดยตัวแทนของเวียดนามและกัมพูชามีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อโครงการเขื่อน เนื่องจากยังมีความกังวลในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมเรื่องรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการตัดสินใจในการประชุมจะไม่ผูกพันใดๆ กับประเทศสมาชิก หากต้องการที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีแผนจะเริ่มขายไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2562 และเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติของไทยได้รับการอนุมัติข้อตกลงให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาการซื้อไฟฟ้า กับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ช.การช่างที่ได้สัมปทานในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากประเทศลาว ประมาณ 95% ของโครงการซึ่งมีกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ ในอัตรา 2.15 บาทต่อหน่วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net