Skip to main content
sharethis

วันที่ 20 เม.ย. 2554 ที่ห้องคัทลียา โรงแรมรามาการ์เดนท์ นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาถึงปัญหาของการรวมศูนย์การปกครอง รายละเอียดมีดังนี้ วันนี้เรามาพูดคุยกันเพื่อเราอยากเห็นประเทศของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข เรามีความพยายามมากว่า 100 ปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มีข้าราชการ ราชวงศ์บางคนเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตนเห็นว่าการปกครองเดิมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่พอที่จะแก้ไขปัญหา มีกบฏ ร.ศ.130 ต่อมาก็มี 2475 เราจะเห็นว่าสังคมไทยมีความพยายามดิ้นรน เราผ่านมาเยอะ เราเถียงกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ทุกคนอยากทำให้มันดีขึ้น แต่มีข้อเสียคือเรื่องวิธีคิด ไม่คิดเชิงระบบ มองเป็นเรื่องดีชั่ว เอาพระมาสอนธรรมะ ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบธรรมะนะ แต่มันมีเรื่องโครงสร้าง มีเรื่องระบบ เราอยากเห็นการเมืองดีกว่านี้ ราชการดีกว่านี้ กองทัพไม่ทำรัฐประหาร แต่เราไปจับปลายเหตุ ผมเป็นหมอก็ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรมากมาย รักษาโรคมาเรื่อย ก็สงสารคนทั้งจนทั้งเจ็บ ก็เลยขยับมาทำ เราเห็นว่าปัญหาใหญ่ หรือต้นเหตุคือการรวมศูนย์อำนาจรัฐ มันไม่ใช่ประชาธิปไตยและทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ผมสรุปไว้ เอกสารชุดคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ละเอียดมาก คำว่าท้องถิ่นก็ละเอียดว่าหมายถึงประชาชน ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ผมสรุปไว้ว่าการรวมศูนย์อำนาจเป็นสา่เหตุของปัญหาใหญ่ 5 เรื่อง คือ หนึ่ง ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ จัดการตัวเองไม่ได้ ถ้าชุมชนท้องถิ่นจัดการได้ก็สามารถจัดการปัญหาไปกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมาที่กรุงเทพฯ เมื่อท้องถิ่นจัดการไม่ได้ปัญหาก็พุ่งใส่นายกรัฐมนตรี พอแก้ไขไม่ได้ก็ไปเรียกร้องรัฐประหารอีก สอง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของชุมชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ อาการของความขัดแย้งก็มีในหลายรูปแบบรวมถึงในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะแก้ไม่ได้เลยถ้าไม่กระจายอำนาจ เราทุ่มเทไปเป็นหมื่นล้านก็ยิ่งแก้ไม่ได้ สาม ทำให้ระบบราชการเป็นปัญหาอย่างหนัก สมรรถนะต่ำ คอร์รัปชั่นสูง ระบบราชการใช้อำนาจไปทั่วแผ่นดินทุกตารางนิ้วของประเทศ ใช้อำนาจไม่ได้ใช้ปัญญา ระบบราชการควรใช้ความรู้ แต่เมื่อทำไม่เป็นก็เกิดระบบรัฐที่แก้ปัญหาไม่ได้ เรามีข้าราชการทั่วประเทศกินภาษีอากรเยอะ แต่ถามว่าแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ไหม จัดการปัญหาความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน ป่าไม้แหล่งน้ำ ความรุนแรงได้ไหม ไม่ได้ เกิดสภาพที่เรียกว่ารัฐล้มเหลว ทำให้เกิดความระส่ำระสายทั่วไป สี่ นำไปสู่ปัญหาทางการเมือง เราอยากให้การเมืองดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็ทำอะไรไม่ได้ การรวมศูนย์อำนาจก็ทำให้การแย่งชิงรุนแรง นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็แย่งชิงอำนาจกันรุนแรง ลูกฆ่าพ่อ พ่อฆ่าลูก ปัจจุบันก็เกิดการเมืองสมรรถนะต่ำ คอร์รัปชั่นสูงเกิดขึ้น ใครๆ ก็อยากให้ดีขึ้น แต่ถ้าระบบเหมือนเดิมก็แก้ไม่ได้ ห้า รัฐประหารได้ ใช้คนไม่กี่ร้อยคนก็ยึดอำนาจได้ แต่ถ้ากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นหมด ก็ไม่รู้จะไปยึดอำนาจตรงไหน เมื่อก่อน ดูอย่างญี่ปุ่น มีท้องถิ่นจำนวนมาก แต่ก่อนหน้านี้นายพลโตโจคนเดียวคุมหมด การกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง นี่คือต้นตอของปัญหา เรามาถึงขณะนี้ จริงๆ ความพยายามก็มีอยู่แล้ว มีการสร้างโครงสร้างขึ้นแล้ว ฉะนั้นเรามาดูที่ตรงนี้ซึ่งป็นช่วงของการพัฒนา คุณอุดร ตันติสุนทรไปค้นคว้ามา จีนเป็นคอมมิวนิสต์แต่เขากระจายงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นสูงที่สุดในโลก เราก็ต้องมาช่วยกัน พัฒนาให้มันดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น โครงสร้างเรามีแล้ว มีรายละเอียดที่ต้องพัฒนากันเยอะ มาถึงตรงนี้ผมคิดว่าเราช่วยกันได้ ช่วยกันทำ เพราะรายละเอียดยาก เราต้องการคนคิด ต้องการคนร่วมมือ เราน่าจะมีเวทีแบบนี้ แล้วชวนทั้งตัวแทนพรรคการเมือง และท้องถิ่น และนักวิชาการมาพูดกัน เป็นเวทีพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั้งระดับประเทศ และระดับจังหวัด ผมเห็นเวทีจากจังหวัดมุกดาหาร ประชุมคน 5,000 คนจากทุกตำบล เอากองฟางมาทำโต๊ะนั่ง ชาวบ้านมา เอาข้าวมากินเอง ข้อดีคือถ่ายทอดวิทยุโทรทัศน์ตลอดเวลา เอาผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นมาด้วย ถ้ามีเวทีเช่นนี้ประจำเป็นเวทีพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทำทุกจังหวัด ย้ายตำบลที่ประชุมกันไปเรื่อยๆ ระดับชาติก็เชิญนักการเมืองและนักวิชาการมาเพื่อจะหาว่ามีปัญหาอะไร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากันไป ผมดีใจมากที่มีการประชุมวันนี้ เป็นการประชุมแบบสุนทรียสนทนา เน้นการฟังกัน การพัฒนานโยบาย ต้องมีผู้ปฏิบัติมาร่วมสนทนาด้วยเสมอเพราะผู้ปฏิบัติรู้ปัญหา รู้ว่าขาดอะไรไป เรามาประชุมกันวันนี้ เราได้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับๆ มีการประชุมในภูมิภาค มีเวทีต่างๆ เราก็เห็นพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมพูดคุย ผมคิดว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ก้าวข้ามความแตกแยกสู่ความสร้างสรรค์ ผมคิดว่าทะเลาะกัน ตีกันเท่าไหร่ก็ออกจากปัญหาไปไม่ได้ ต้องมาร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net