ยื่นจดหมายนายกฯ เวียดนาม ร้องยุติแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 แห่ง

 

วันนี้ (26 เม.ย.54) เวลา 10.00 น. เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ฟาน วัน ไค แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ สถานทูตเวียดนาม ถนนวิทยุ กทม.ร้องพิจารณายกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 8 แห่งในเวียดนามทันที พร้อมเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกลงนามโดย 22 องค์กร ไทยที่มีความหวั่นวิตกต่อกรณีดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

เรื่อง    ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 แห่ง ในประเทศเวียดนาม

วันที่    26  เมษายน  2554

เรียน    นายกรัฐมนตรี ฟาน วัน ไค แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

จาก      ประชาชนไทยที่วิตกทุกข์ร้อนใจทุกคน

พวกเราคนไทยทุกคนรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลเวียดนามมีทีท่าไม่ให้ความสำคัญแก่สถานการณ์ที่ถือเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ในจังหวัดฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้และประกาศยืนยันที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 8 แห่งในประเทศเวียดนามต่อไปในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศรวมทั้งเยอรมัน ได้พิจารณาที่จะยกเลิกแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตน ความวิตกกังวลและทุกข์ร้อนใจของพวกเราเป็นที่มาของการเรียกร้องในครั้งนี้

1. ความเป็นมา
1.1 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบกับความยากลำบากในการจัดการกับหายนะที่ยังระบุไม่ได้ทั้งในเรื่องการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศเวียดนามกลับยืนยันที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในจังหวัดนินห์ทวน ในปี พ.ศ. 2557 และคาดว่าจะเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2563 แท้ที่จริงแล้วเวียดนามวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นทั่วประเทศถึง 8 แห่ง

1.2 แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเวียดนามจะอ้างว่า เตาปฏิกรณ์ที่จะสร้างขึ้นในจังหวัดนินห์ทวนหรือในจังหวัดอื่น ๆ นั้นมีความทันสมัยมากกว่าเตาปฏิกรณ์ในเชอร์โนบิลและในฟูกูชิมาก็ตาม แต่อุบัติเหตุเช่นที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกูชิมาที่ชาวโลกทุกคนได้เห็นกับตาอยู่ในขณะนี้ก็สามารถจะเกิดขึ้นกับประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเพียงระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตรได้เช่นกัน ผลกระทบที่เป็นอันตรายก็เป็นอย่างที่พวกเราทุกคนได้ประจักษ์แก่ตาที่แม้แต่ประเทศเวียดนามเองก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน ดังเช่นที่เวียดนามสามารถตรวจวัดกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 ซีเซียม-134 และ ซีเซียม-137 ได้ที่ลองซันในทางตอนเหนือ ดาลัด (จังหวัดลามดอง) และนินห์ทวนในภาคกลาง และในโฮจิมินส์ซิตี้ ทั้งในป่าสนและในน้ำฝนที่ตกในเวียดนาม ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนามจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศเวียดนามเพียงประเทศเดียวหรือเป็นความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องหรือประเด็นระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งเพราะโอกาสที่กัมมันตรังสีจะแพร่กระจายส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วภูมิภาคอื่นๆ ของโลกนั้นมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน

2. ข้อเรียกร้อง
พวกเราชาวไทยทุกคนที่มีความวิตกทุกข์ร้อนใจขอเรียกร้องให้รัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประชาชนชาวเวียดนามทั้งประเทศได้โปรดพิจารณายกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 8 แห่งในเวียดนามทันที

ตามจริงแล้วจากการศึกษาวิจัยของธนาคารโลก พบว่า เวียดนามนั้นเป็นประเทศที่โชคดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะเวียดนามมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้มากกว่า โดยสามารถผลิตได้ถึง 513,360   เมกกะวัตต์ หรือ 200 เท่าของพลังงานที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำซันลาที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม หรือเป็น 10 เท่าของพลังงานที่ผลิตได้ทั้งประเทศตามการพยากรณ์สำหรับปี พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ผลของการศึกษายังพบด้วยว่า ในพื้นที่เช่นจังหวัดนินห์ทวน บินห์ทวน ตราวินห์ และซ็อกตรัง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมีขีดความสามารถที่จะผลิตได้ถึง 800 เมกกะวัตต์

จากการที่เวียดนามมีทรัพยากรด้านพลังงานทางเลือกที่อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ การเลือกพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นพลังงานลมเหมือนกับที่ประเทศเยอรมันกำลังพิจารณาจะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานของประเทศยุคหลังวิกฤตินิวเคลียร์ฟูกูชิมาจะส่งผลให้ประเทศเวียดนามและประชาชนชาวเวียดนามได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากชาวโลกและจะกลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และกล้าหาญแห่งประชาคมอาเซียน

ข้อมูลอ้างอิง
1.       The determination of Vietnamese government to head to the construction of eight nuclear power plants:http://www.vnnnews.net/vietnam-to-proceed-with-nuclear-power-plants

2.       The radiation detected in Vietnam: http://en.www.info.vn/science-and-education/environment/23395-japan-raises-nuke-accident-severity-vietnam-still-safe-.html

3.       The wind power capability of Vietnam: http://www.vfej.vn/en/detail/16970/wind_power_industry_in_vietnam

4.        “Japan’s Energy Policy Shift” meeting held in the Diet Offices on April 19, 2011 :http://vimeo.com/22671075;

http://www.ustream.tv/recorded/14132452http://www.ustream.tv/recorded/14132859

5.       Germany’s energy shift: http://www.huffingtonpost.com/2011/03/14/germany-nuclear-power-extension-suspended_n_835457.html

 

รายนามผู้ให้การเห็นชอบจดหมาย

  1. คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

  2. คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  3. สภาองค์กรประชาชน

  4. กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา  

  5. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ (คป.สม.)

  6. เครือข่ายคนฮักน้ำของ 

  7. กลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีเขื่อนปากมูล

  8. กลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีเขื่อนสิรินธร

  9. กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไซย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี

  10. ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ

  11. พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

  12. มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี

  13. มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต

  14. ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

  15. เครือข่ายเฟซบุค ‘มั่นใจว่าคนอุบลราชธานีเกิน 1 ล้านคนคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ (หรือ antinukeubon@group.facebook.com)

  16. เครือข่ายคนอุบลไม่เอานิวเคลียร์

  17. สมาคมไทย-เวียดนามในจังหวัดอุบลราชธานี

  18. สมาคมไทย-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา

  19. เครือข่ายปะทิวรักถิ่นแห่งจังหวัดชุมพร

  20. เครือข่ายรักลุ่มน้ำตาปีแห่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี

  21. เครือข่ายประชาชนผู้คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดตราด

  22. เครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งจังหวัดนครสวรรค์

 

ยื่น ณ สถานทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 
กรุงเทพมหานคร

 

 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท