TDRI: มาตรการฝีมือแรงงาน กลไกแก้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำ

ผอ.วิจัยฯทีดีอาร์ไอเสนอกลไกแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานระยะยาว ต้องกำหนดให้สถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน จูงใจลูกจ้างทำงาน และสามารถเข้ารับการทดสอบเพิ่มค่าจ้างได้ตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ เพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานฐานล่างการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์โดยยึดค่า จ้างตามกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด

 
แฟ้มภาพ: ประชาไท

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึง ทางออกแก้ปัญหาเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นเสมอ โดยโครงสร้างค่าจ้างภาพรวมยังจำเป็นต้องปรับให้กับแรงงานระดับฐานล่างแต่ควร ใช้การปรับเป็นเปอร์เซ็นต์และกำหนดระยะเวลาในการปรับที่ชัดเจน ช่วยลดผลกระทบโครงสร้างค่าจ้างและศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เมื่อมีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะในนายจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีสัดส่วนรองรับแรงงานจำนวนมาก แต่มีศักยภาพในการจ่ายได้น้อย

และเพื่อไม่ให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปกระทบกับโครงสร้างจ้างในส่วนของ แรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ก็ควรมีการแก้ปัญหาในระยะยาว อาทิ การเพิ่มกลไกให้นายจ้างที่มีแรงงานจำนวนพอสมควร ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง รวมทั้งใช้มาตรฐานวิชาชีพกำกับ ให้ลูกจ้างสามารถทดสอบเพิ่มระดับมาตรฐานฝีมือ ว่ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับใด(แต่ละระดับมีอัตราค่าจ้างกำกับไว้) เช่น ระดับ 1 2 3 ก็จะได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเชี่ยวชาญและสามารถ เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นายจ้างได้แรงงานคุณภาพ ลูกจ้างได้เพิ่มศักยภาพตนเอง และวางแผนอนาคตได้

ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามนำเรื่องสมรรถนะแรงงานหรือมาตรฐาน ฝีมือแรงงานมาใช้เป็นกลไกเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาและกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม ทั้งสองฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานโดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานก็ได้มีการเริ่มในส่วนของวิชาชีพช่างต่าง ๆ คาดว่าจะมีการประกาศอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน 11 สาขาอาชีพในเร็ว ๆ นี้ ใน 3 กลุ่มสาขาอาชีพ คือ อาชีพช่างกล อาชีพภาคบริการ และอาชีพช่างไฟฟ้า โดยกำหนดเป็นมาตรฐานวิชาชีพแห่งชาติระดับ 1 2 3 และคุณสมบัติฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ พร้อมทั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พึงได้ไว้ด้วย เช่น ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 2 3 จะมีอัตราค่าจ้างที่ได้รับไม่น้อยกว่า 315,380,445 ตามลำดับ เป็นต้น

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การปรับที่สะท้อนความเป็นจริง การปรับฐานค่าจ้างแรงงานควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะดีกว่าการปรับเป็นตัวเงิน เท่ากันหมด เพราะการปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะทำให้แรงงานทั้งประเทศได้รับการปรับเพิ่มค่า จ้างเท่ากันแต่จำนวนเงินที่ได้รับมากน้อยต่างกันตามฐานรายจ่ายและค่าจ้าง ขั้นต่ำที่ได้รับแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกันไปตามมาตรฐานค่าครองชีพของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด เช่น กรุงเทพฯกับภาคอีสาน เป็นต้น และยังทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจได้ว่าเขาจะไปลงทุนที่ไหน อย่างไร การแก้ปัญหาต้องให้แหล่งจ้างงานย้ายไปหาคน(แรงงาน)ไม่ใช่คนย้ายไปหาแหล่ง จ้างงาน ซึ่งหลายอุตสาหกรรมสามารถทำได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงทรัพยากรจากท้อง ถิ่น ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้ต้นทุนทางสังคมของแรงงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

การปรับเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างไม่มาก และหากกำหนดได้ว่าจะปรับในอัตราเท่าใดในช่วงระยะเวลาใดที่จัดเจน ก็จะทำให้นายจ้างมีการเตรียมตัว เพราะสิ่งสำคัญต้องคำนึงถึง ศักยภาพการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะนายจ้างในกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งมีศักยภาพการจ่ายได้ไม่มาก แต่เป็นตลาดแรงงานที่ดูดซับแรงงานจำนวนมากกว่าครึ่งของจำนวนแรงงานทั้ง ประเทศ อีกทั้งยังเป็นนายจ้างกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภัยพิบัติ ต่าง ๆ

ดร.ยงยุทธ เสนอว่า เพื่อไม่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นไปจนชนเพดานของโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ควรมีการกำหนดกฎหรือระเบียบให้สถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนหนึ่ง (อาจเป็น 200 คน) ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อสร้างความชัดเจน สร้างแรงจูงใจ ทำให้แรงงานมีเป้าหมายในการทำงาน สามารถวางแผนอนาคตของตนเองได้ ว่าสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้แค่ไหน ตำแหน่งอะไร รายได้เท่าไหร่ ซึ่งสถานประกอบการเอสเอ็มอียังไม่มีเรื่องเหล่านี้

การแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานในระยะยาว นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังต้องคงไว้เพราะเป็นฐานของแรงงาน ใหม่ที่อยู่ในฐานล่างของโครงสร้างค่าจ้าง แต่สำหรับแรงงานเก่าก็ต้องได้ควรการคุ้มครองและสามารถมีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ตามความรู้ ทักษะ ความสามารถ ดังนั้นการนำกลไก ที่กำหนดให้สถานประกอบการควรมีโครงสร้างค่าจ้าง และการนำกลไกทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาใช้ จะช่วยทำให้ลูกจ้างและนายจ้างพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย

อีกทั้ง หากกฎระเบียบนี้ประกาศใช้ซึ่งอยู่ในอำนาจของกระทรวงแรงงานดำเนินการได้นั้น ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เขาสอบได้ มาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลไปในการปรับค่าจ้าง ในระยะยาวก็จะไม่ต้องมาเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงาน อีกทั้งการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้างค่าจ้างตามวิชาชีพนี้ ยังสะท้อนว่า พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องค่าจ้างอีกต่อไป คนต่างจังหวัดไม่ต้องวิ่งเข้าไปทำงานนอกพื้นที่ และย่อมส่งผลช่วยลดผลกระทบทางสังคมต่อตัวเขาและครอบครัวที่จะเกิดขึ้นได้ไป ในตัว อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวยังจำกัดให้เป็นเรื่องสมัครใจของนายจ้าง จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะสังคมมาตรฐานต้องเกิดขึ้นจากแรงงานมาตรฐาน.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท