คนญี่ปุ่นรักชาติกันอย่างไร: อุดมการณ์การเมืองความเป็นชาติในยามวิกฤต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“คอนนิชิวะ อาริงาโตะ มาโฮโนโคโตะบะเด ทาโนชิ นะกะมา โฮโฮโฮ” (สวัสดี ขอบคุณ มาสนุกสนานกับเพื่อนๆ ด้วยคำทักทายมหัศจรรย์กัน)

หลัง จากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ผู้คนที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นต่างเริ่มคุ้นเคยกับประโยคเพลงข้างต้นเป็นอย่าง ดี บทเพลงดังกล่าวถูกขับร้องพร้อมกับตัวการ์ตูนน่ารักที่ออกมาเต้นรำกันด้วยใบ หน้ายิ้มแย้ม

ฉากประมาณ 15 วินาทีนี้จบลงด้วยสโลแกนที่ว่า “เพื่อนๆ จะเพิ่มพูน เพราะเราทักทายกันนะ!” (เวอร์ชั่นแบบยาวจะเพิ่มคำทักทาย คอมบังวะ ซาโยนาระ ฯลฯเข้าไปด้วย) [1]

ทุก ครั้งที่การรายงานสถานการณ์วิกฤตในสื่อทุกช่องถูกแทรกด้วยโฆษณา เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้ชมจะไม่เห็นโฆษณาสินค้าแทรกขึ้นมาเลย สิ่งที่มาแทนที่โฆษณาสินค้าก็คือ คลิปวีดิโอสั้นๆ ประมาณ 10 ถึง 20 วินาที จัดทำโดยกลุ่มเอซี (เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลญี่ปุ่น) คลิปวิดีโอเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ นอกจากการ์ตูนน่ารักข้างต้นแล้ว ยังมีคลิปที่ใช้นักแสดงที่เป็นคนจริงๆ หรือไม่ก็เป็นแค่ตัวหนังสือขึ้นบนจอ หลังจากถูกถาโถมด้วยคำโฆษณาดังกล่าวมาเป็นเวลาสองสัปดาห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้ (โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ยังไม่เสถียร การติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ถือเป็นหน้าที่บังคับของผู้อยู่อาศัยในประเทศ ญี่ปุ่นเพื่อความปลอดภัยของตัวเองไปโดยปริยาย)

ผู้เขียนเห็นว่า เราสามารถศึกษาวิเคราะห์ข้อความหรือสารต่างๆ เหล่านี้ได้ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐชาติ

บท ความบทนี้พยายามจะให้คำตอบต่อคำถามง่ายๆ ที่ว่า เมื่อประเทศประสบวิกฤต รัฐบาลหรือแม้กระทั่งประชาสังคมญี่ปุ่นเขาบอกให้ประชาชนของเขารักชาติผ่าน สื่อโทรทัศน์ด้วยวิธีใด ผู้เขียนเชื่อว่า นอกจากรายงานความเสียหายและยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (อีกทั้งคำเตือนอาฟเตอร์ช็อคไม่หยุดหย่อน) สิ่งที่ปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์ทุกช่องแทนโฆษณาสินค้าซ้ำไปซ้ำมาตลอดสอง สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนัยยะสำคัญที่สะท้อนอุดมการณ์ความเป็นชาติญี่ปุ่นอยู่ไม่มากก็น้อย แม้ในขณะนี้เอง ช่องโทรทัศน์ต่างๆ จะกลับมาดำเนินรายการตามปกติแล้ว อีกทั้งโฆษณาสินค้าต่างก็หวนกลับสู่หน้าจอ แต่วิดีโอของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังสอดแทรกอยู่ไม่หยุดหย่อนพร้อมๆ กับเวอร์ชั่นใหม่ที่อัฟเดทให้ทันสถานการณ์มากขึ้นอีกด้วย

เอาแค่ตัว อย่างคลิปการ์ตูนข้างต้นก็แสดงให้เราเห็นว่า สำหรับรัฐชาติญี่ปุ่นแล้ว การรณรงค์ให้คนกล่าวคำทักทายต่อกันถือเป็นสิ่งที่ประสานรวมให้ชาติญี่ปุ่นมี ความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น มันยังถูกนำเสนอผ่านเสียงร้องเล็กๆ ใสๆ และภาพตัวการ์ตูนสิงห์สาราสัตว์อีกด้วย

ลองคิดง่ายๆ ว่า หากการรณรงค์ข้างต้นนี้ปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์ประเทศไทยภายหลังโศกนาฎกรรม ครั้งใหญ่อะไรก็ตาม มันคงดูเป็นเรื่องที่ผิดกาลเทศะและไม่ลึกซึ้งกินใจผู้ชมคนไทยสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ บทความชิ้นนี้ไม่เพียงแต่จะมุ่งถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นในขณะ นี้ สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การมองย้อนกลับมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจประเทศของเราเอง

สำหรับประเทศ ไทยแล้ว เรามีเนื้อหาการรณรงค์อย่างไรที่มุ่งกระตุ้นความซาบซึ้งตรึงใจในความเป็น ชาติของเรา โดยเฉพาะในยามวิกฤตคับขัน ผู้เขียนขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า เนื้อหาของบทความนี้แม้จะเกี่ยวข้องกับความเป็นชาติญี่ปุ่นก็จริง แต่ก็เป็นมุมมองจากไกจินหรือคนนอกที่มิใช่คนญี่ปุ่น ผู้เขียนในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์คนไทยคนหนึ่งต้องการจะใช้กรอบความคิดที่ตน มีวิเคราะห์และบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้เอาไว้ และเหนือสิ่งอื่นใด บทความชิ้นนี้ประสงค์จะกระตุ้นให้เราย้อนกลับมามองสังคมไทย และตั้งคำถามกับแก่นกลางอุดมการณ์ความเป็นชาติไทย

 

ภาวะฉุกเฉินและอุดมการณ์ความเป็นชาติ

ความ เป็นชาติ ถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์หรือ ideology อย่างหนึ่ง เพราะความคิดหรือพฤติกรรมชาตินิยมส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องที่ทราบและปฏิบัติ กันทั่วไปในหมู่พลเมืองอยู่แล้ว หากแต่ไม่เคยมีใครตระหนักว่า ความเป็นชาตินั้นเป็นสิ่งที่ถูกจินตนาการ (imagined)หรือสร้างขึ้น (created) และมีนัยยะเชิงอำนาจซ่อนเร้นอยู่ ดังที่ เบเนดิค แอนเดอสัน (Benedict Anderson) นิยามความหมายของชาติหรือ nation ว่าเป็น “imagined political community” [2] หรือ ชุมชนทางการเมืองในจินตนาการ

อย่าง ไรก็ดี แม้จะเป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างหรือเป็นเพียงจินตนาการ แต่เราต่างก็ถูกอัดฉีดกล่อมเกลาอุดมการณ์ความเป็นชาติผ่านสถาบันการเมืองและ สังคมมาอย่างยาวนานและเข้มข้นจนมันแฝงฝังลงในวิธีคิด ความประพฤติในชีวิตประจำวันของเรา และในที่สุด ความคิดหรือพฤติกรรมชาตินิยมกลายเป็นเรื่องที่เรามองว่าธรรมดา เป็นสัจธรรม หรือเป็นเรื่องที่ “มีความเป็นกลาง และ “อยู่เหนือการเมือง” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ผลจากการกระทำแบบชาตินิยมของเราก่อให้เกิดการสืบสานทางอำนาจและโครงสร้างทาง การเมืองและสังคมรูปแบบหนึ่งอยู่

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอเรียกความเป็นชาติว่า เป็นส่วนหนึ่งของหลุมดำแห่งอุดมการณ์ที่ครอบงำเราอยู่ในปัจจุบัน สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) ได้นิยามคำว่าอุดมการณ์ในบริบทโลกยุคหลังประวัติศาสตร์ของพวกเราไว้ว่า คือ “อะไรก็ตามที่เราไม่เคยรู้ว่าเรารู้เกี่ยวกับมันแล้ว (the unknown knowns)” [3] กล่าวคือ บ่อยครั้งที่อุดมการณ์ความเป็นชาติมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดวิธีการคิด การกระทำ หรือปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันของพวกเรา แต่ด้วยเหตุที่ความเป็นชาติแฝงฝังประสานเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นตัวเรามาก เสียจนเราต้องทำตัวประหนึ่งว่า เราไม่ทราบว่าสิ่งต่างๆ ที่เราคิดหรือทำเป็นเรื่องชาตินิยม เราจึงปฏิบัติต่อมันเฉกเช่นหลุมมืดที่มองไม่เห็นว่ามีอะไรอยู่เบื้องล่าง เพราะเมื่อครั้นหลุมมืดเริ่มมีแสงสว่างขึ้น มันคือวินาทีที่เราเริ่มทราบว่า ชาตินั้นมีด้านอัปลักษณ์และปนเปื้อนไปด้วยอำนาจและจินตนาการเพ้อฝัน นั่นย่อมหมายถึงการรับรู้ความจริงที่เราเองไม่อยากจะรู้เกี่ยวกับตัวเองด้วย

หลุม ดำแห่งชาตินิยมจึงเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากหลุมดำในเบื้องลึกของตัวเราเอง นี่จึงนำไปสู่ข้อสรุปของชิเชคที่ว่า อุดมการณ์ในปัจจุบัน (ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ชาตินิยม อุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ฯลฯ) มีกลไกการทำงานที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้ “ปัจเจกบุคคลปฏิบัติตัวประหนึ่งว่าตนไม่ทราบ” [4] เพราะมันเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การครอบงำ อย่างเข้มข้นของอุดมการณ์ประเภทต่างๆ โดยที่ไม่ต้องรู้สึกสมเพชหรือรังเกียจตัวเอง [5]

เมื่อ ชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน หลุมดำอันมืดมิดแห่งอุดมการณ์ความเป็นชาติที่หล่อเลี้ยงรัฐชาตินั้นๆ ซึ่งจากเดิมเคยหลบซ่อนอยู่ในเงามืดจะค่อยๆ เผยโฉมให้เราเห็นชัดยิ่งขึ้น อนึ่ง สภาวะวิกฤตฉุกเฉินสามารถนิยามได้คร่าวๆว่า เป็นการปะทุขึ้นของเหตุการณ์บางอย่างที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและ ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลอย่างไม่ได้คาดการณ์มาก่อน น่าสนใจว่า คนที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ได้มีแต่เหยื่อของวิกฤตโดยตรง เช่น ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่เสียชีวิต หรือผู้ที่สูญเสียบุคคลและทรัพย์สินอันเป็นที่รัก วิกฤตที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปยังคนในรัฐชาติที่เหลือทั้งหมดอีกด้วย โดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจ ผู้คนต่างรู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องเห็นเพื่อนร่วมชาติประสบความทุกข์ยาก วิกฤตที่เกิดขึ้นทำลายขวัญและกำลังใจ รวมไปถึงความภูมิใจในความเป็นชาติของพลเมืองในชาติ และเหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนต่างกังวลและไม่มั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตของตน ดังนั้น สภาวะฉุกเฉินในที่นี้จึงครอบคลุมสถานการณ์ผิดปกติของรัฐชาติในวงกว้าง ไม่ว่าที่เกิดจากหายนะทางธรรมชาติ (แผ่นดินไหว สึนามิในญี่ปุ่น) การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย (เหตุการณ์ 911 ในสหรัฐ) หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนใน ประเทศกันเอง (ความรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปี 2553 ในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งสภาวะไม่ปกติในสังคมไทยในปัจจุบัน)

ภายใต้สภาวะเช่น นี้เองที่อุดมการณ์ชาตินิยมจะทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้คนในชาติกลับมารู้สึกมั่นคงอีกครั้ง เพื่อให้คนในชาติรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้คนในชาติให้ความร่วมมือต่อนโยบายฉุกเฉิน อุดมการณ์ชาตินิยมจึงถูกเผยแพร่และผลิตซ้ำไปมามากกว่าสภาวะปกติผ่านสารต่างๆ ของสื่อหรือผ่านคำพูดให้กำลังใจจากผู้นำประเทศ ดาราคนดังหรือในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วยกันเอง

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรมองข้ามความจริงที่ว่า ความเป็นชาตินิยมที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องหวานชื่น ซาบซึ้งน่ากินใจอันส่งผลให้คนในชาติร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ สภาวะวิกฤต อันที่จริง มันมีเรื่องของอำนาจ การกีดกันบังคับ ความรุนแรงซ่อนเร้นอยู่เสมอ ดังคำพูดที่แอนเดอสันอ้างในหนังสือของเขาว่า “Or l’essence d’une nation est que tous les individus aient beaucoup de choses en commun, et aussi que tous aient oublie bien des chose. (แก่นกลางของความเป็นชาตินั้นก็คือ การที่ปัจเจกบุคคลทุกคนมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน มันก็หมายถึง การที่ทุกคนมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องร่วมกันลืมจำนวนมากเช่นกัน)

ตัวอย่างของสิ่งที่ถูกทำให้ลืมร่วมกันภายใต้จินตนาการแห่งชาติก็คือ สภาพความไม่เท่าเทียมกันหรือการเอาเปรียบขูดรีดภายในชาติ [6] ดังนั้น ผลน่าเศร้าที่ตามมาก็คือ บ่อยครั้งที่ความยากจนหรือความอยุติธรรมในสังคมจึงไม่มีพลังขับเคลื่อนมากพอ ที่จะทำให้ปัจเจกลุกขึ้นต่อสู้และเสียสละชีพตนเอง ทว่าความรักชาติมีพลังมากพอที่จะทำให้พลเมืองยอมสูญเสียทุกอย่างได้แม้ กระทั่งชีวิตของตน

จากตัวอย่างข้างต้น เราสามารถตีความได้ว่า ไม่เพียงแต่ความเป็นชาติจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เพิ่งสร้างขึ้นแล้วถูกปฏิบัติ ประหนึ่งสัจธรรมสูงสุดเท่านั้น มันยังเป็นความเป็นชาติที่ผ่านการคัดสรรเลือกเฉพาะลักษณะบางประการที่พึง ประสงค์ต่อกลุ่มคนบางกลุ่มหรือสถาบันบางสถาบัน พูดง่ายๆ ก็คือ ความเป็นชาติ หรือความรู้สึกชาตินิยมนั้นถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อเอื้อหนุนและสืบสานอำนาจและ ผลประโยชน์บางอย่าง กล่าวคือ ในขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมที่ถูกสถาปนาขึ้นทำการครอบงำและกล่อมเกลาคนในชาติ ผ่านกระบวนการศึกษาและสถาบันทางสังคมต่างๆ ลักษณะความเป็นชาติอื่นๆ ที่ แตกต่าง หลากหลาย หากแต่ไม่น่าพึงประสงค์ ไม่งาม ไม่เอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ ต่อการพัฒนาเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ความเป็นชาติเหล่านี้ก็จะไม่ถูกนับรวมเข้ามาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความ เป็นชาติ บ้างก็ถูกกีดกันกดทับด้วยความรุนแรง หรือถ้าจะให้สอดคล้องกับย่อหน้าข้างต้นก็คือ มันจะต้องถูกทำให้ลืม โดยเฉพาะเมื่อความเป็นชาติที่แตกต่างยังยืนกรานจะดำรงตนอยู่อย่างเปิดเผยและ ภาคภูมิใจ นี่ย่อมหมายถึงการท้าทายความเป็นชาติกระแสหลัก และย่อมถูกตราหน้าว่าเป็นภัยคุกคามที่บ่อนทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายในชาติ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพึงตระหนักไว้อยู่เสมอว่า แม้ในสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินที่เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก มีความสับสนอลหม่านไปทุกๆที่ ประชนชนในรัฐชาติที่กำลังตื่นตระหนกย่อมต้องการศูนย์รวมจิตใจบางอย่าง และอุดมการณ์ชาตินิยมอาจเป็นทางออกที่มีประสิทธิผลมากที่สุด กระนั้นก็ตาม เราก็ไม่ควรมองข้ามความรุนแรงและการกีดกันของอุดมการณ์ชาตินิยมเช่นนั้น ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์หรือคนบางกลุ่มที่ถูกตราหนาว่าเป็นภัยมักถูกคัดออก หรือทำลาย ชาตินิยมไม่ใช่เรื่องหวานชื่นหรือน่าซาบซึ้ง มันเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการเมืองและการครอบงำทางอำนาจที่แยบยล เราจำเป็นต้องมองชาตินิยมด้วยมุมมองวิพากษ์อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี อันดับแรก เราลองมาวิเคราะห์กันก่อนว่า ชาตินิยมในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันนี้มีลักษณะเช่นไร

 

日本がんばろう นิปปงสู้ตาย

คำ ว่า กัมบารุ/กัมบัตเตะ/กัมบาโร (จะพยายามสู้/สู้เค้านะ/มาสู้ด้วยกัน) เป็นคำที่คนที่ติดตามข่าวสารหน้าจอโทรทัศน์ทุกคนได้ยินบ่อยพอๆ กับคำว่า มิลลิซีเวลูโตะ (millisevert: หน่วยวัดสารกัมมัตภาพรังสี) กัมบารุออกมาจากปากนายกนาโอโตะ คัง ผู้ประกาศข่าว นักร้องนักแสดง นักฟุตบอล นักเบสบอล ผู้ใหญ่เด็กทั่วไปที่ต้องการให้กำลังใจเหยื่อ หรือแม้กระทั่งตัวเหยื่อเองก็บอกว่า ตัวเองจะสู้

ในหะแรก ผู้เขียนมีความสงสัยว่า สังคมญี่ปุ่นที่ตื่นตระหนกและตกอยู่ในภาวะช็อคจะหันไปหาสิ่งยึดเหนี่ยวใดที่ จะมีศักยภาพพอที่จะรวมใจคนทั้งชาติเอาไว้ ญี่ปุ่นในฐานะประเทศสมัยใหม่ที่มีความพัฒนา แทนที่จะเป็นเทพเจ้าหรือกษัตราเหนือมนุษย์ ผู้นำประเทศหรือนักการเมืองดีดีคนหนึ่งน่าจะเป็นตัวเต็งที่จะทำหน้าที่นี้ ได้ เฉกเช่นบทบาทของประธานาธิบดีบุชเมื่อเหตุการณ์ 11 กันยา บุชไม่ลังเลที่จะตั้งตัวเป็นเหมือนแก่นกลางของชาติที่กำลังสั่นคลอน แม้ตัวบุชเองอาจจะไม่ใช่ศูนย์รวมยึดเหนี่ยวอเมริกันชนที่ตื่นตระหนก คำปราศรัยของเขาที่สะท้อนทั้งหลักศาสนาคริสต์ ความดี ปีศาจ ความเด็ดขาดและการใช้กำลังทางทหาร ทุกๆ อย่างสะท้อนหลุมมืดแห่งอุดมการณ์ความเป็นชาติสหรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่เมื่อมองกลับมาที่ญี่ปุ่น ผู้เขียนกลับฉงนงงงวยกับท่าทีและการวางตัวของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง เขาออกโทรทัศน์น้อยมากชนิดนับจำนวนครั้งได้ คำปราศรัยให้กำลังใจประชาชนของเขาก็ไม่ได้ถูกฉายซ้ำมากเท่าโฆษณาคอนนิชิวะ ของรัฐบาล และคงมีคนอีกจำนวนมากคิดอย่างผู้เขียนว่า นายกคังน่าจะไม่เก่งเรื่องประชาสัมพันธ์และให้คำปลุกใจสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ นายกคังจึงมักปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์เมื่อมีการรายงานข่าวการออกเดินทางไป ปฏิบัติงานในพื้นที่หรือเมื่อมีการเข้าประชุมเท่านั้น

หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ยังหาตัวเต็งคนต่อไป ซึ่งก็คือ โฆษก ยูคิโอะ เอดาโนะ ผู้ออกโทรทัศน์และให้สัมภาษณ์สื่อนับจำนวนครั้งไม่ถ้วนนับตั้งแต่วันที่ 11 แต่ถึงแม้ใบหน้าอันเมยเฉยเหนื่อยล้าและโหยหาการพักผ่อนของเอดาโนะจะปรากฎให้ เราเห็นเช้า กลางวัน เย็น เขาก็มิได้แสดงตัวเป็นผู้นำของชาติที่ประชาชนจะพึ่งพาอาศัยได้เลย เนื้อหาต่างๆ ที่เขาพูด ล้วนมีแต่เรื่องสถานการณ์และรายละเอียดของปฏิบัติการกู้วิกฤตโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ในแต่ละวัน เราต่างคุ้นเคยกับคำพูดตบท้ายของเอดาโนะหลังจากแจ้งสถานการณ์ที่ทรุดลง เรื่อยๆ ของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงว่า “จะไม่มีผลกระทบร้ายใดใดในตอนนี้ (There will be no immediate effects)” คำตอบของเขาชวนให้ผู้เขียนและผู้ชมที่เหลือต่างอดสงสัยต่อไม่ได้ว่า แล้วในระยะยาวล่ะ แกจะรับผิดชอบฉันไหม ถ้าอีกสิบปีฉันเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาเพราะสารที่มันออกมา ถูกต้อง ท่านโฆษกเอดาโนะไม่ใช่โฆษกพี่ไก่อู เขาไม่มีแฟนคลับ คำพูดเขาไม่มีเนื้อหาปลุกเร้ากระตุ้นความเป็นชาติ อันที่จริงแล้ว คำพูดของเขาไม่มีสาระอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคหรือเรื่องวาทกรรมการเมือง ผู้เขียนแน่ใจว่า ต่อจากนี้ยิ่งเขาออกทีวีมากเท่าไหร่ ผู้ชมก็ยิ่งอยากจะเปลี่ยนช่องโทรทัศน์หรือหมดความไว้เนื้อเชื่อใจหุ่นเชิด รัฐบาลหน้าตายผู้นี้ไปแล้ว

ตัวเลือกตัวสุดท้ายที่ผู้เขียนคิดออกก็คือ บทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่น? ในยามคับขันเช่นนี้ คนญี่ปุ่นอาจหันไปหาศูนย์รวมทางสัญลักษณ์อย่างจักรพรรดิก็เป็นได้ โดยเฉพาะเมื่อนายกคัง และเอดาโนะดูจะไร้สมรรถภาพความเป็นผู้นำทางอุดมการณ์ถึงเพียงนี้ แต่ผู้เขียนก็ต้องส่ายหน้าทันที ไม่ใช่จักรพรรดิแน่นอน ผู้เขียนพลาดมิได้ชมสารที่ท่านจักรพรรดิส่งไปยังประชาชนของพระองค์ทาง โทรทัศน์ ผู้เขียนต้องมาหาดูทางยูทูป ทั้งนี้ก็เพราะช่องโทรทัศน์ต่างๆ ไม่นำคำให้กำลังใจของจักรพรรดิมาฉายซ้ำอีกเลย ไม่มีการอ้างถึงพระราชดำรัสของพระองค์ในรายการใดใด และที่สำคัญที่สุด ผู้เขียนไม่เคยเห็นบรรดาสถานีโทรทัศน์สาธารณะฉายภาพพระองค์ออกปฏิบัติภารกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโทรทัศน์เลยสักครั้ง (แน่นอนว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นอาจเสด็จออกปฏิบัติภารกิจหรืออาจจทรงริเริ่ม โครงการช่วยเหลือ และมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพระองค์ แต่ประเด็นของผู้เขียนก็คือ สื่อต่างๆ จัดให้เรื่องของพระองค์อยู่ชายขอบ ไม่มีการทำให้มันเป็นเรื่องพิเศษหรือนำเสนอซ้ำไปมา ข่าวเกี่ยวกับพระองค์ถูกให้คุณค่าเทียบเท่ากับข่าวเกี่ยวกับบุคคลทั่วไป) ถ้าหากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยกให้พระองค์ดำรงตนเป็นเพียงสัญลักษณ์ ผู้เขียนก็ไม่มั่นใจแล้วว่า พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของอะไรในสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ในปัจจุบัน [7]

ใน ที่สุด ผู้เขียนก็เริ่มเข้าใจว่า ความเป็นชาติที่เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของสังคมญี่ปุ่น มิได้อยู่ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง คนดัง หรือจักรพรรดิ มันมิได้อยู่ในหลักคำสอนทางศาสนา พระผู้เป็นเจ้าเทพยดา หรือผู้นำทางศาสนาคนใด ผู้เขียนจึงเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์ใหม่ แทนที่จะเป็นบุคคลหรือสัญลักษณ์ทางสังคมต่างๆ อุดมการณ์ชาตินิยมของสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ในยามวิกฤตน่าจะเป็น สภาวะจิตใจและวิธีคิด (mentality) แบบใดแบบหนึ่งเสียมากกว่า ซึ่งคำตอบของผู้เขียนก็คือ สภาวะจิตใจแบบกัมบารุ

อันคำว่า ‘กัมบารุ’ นั้นไม่มีคำแปลภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษที่มีความหมายตรง อาจแปลได้คร่าวๆ ว่า หมายถึง การอุตสาหะพยายาม/สู้/ไม่ยอมแพ้ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ทุกๆ คนที่ถูกไมโครโฟนจ่อปากจะไม่วายต้องเอ่ยคำนี้ออกมา ดูเหมือนว่า กัมบารุ จะเป็นเส้นด้ายที่ร้อยเรียงคนญี่ปุ่นเข้าด้วยกันท่ามกลางภาวะตื่นกลัวและไม่ มั่นคงครั้งนี้ ในช่วงภาวะปกติ คำๆ นี้ก็มักเป็นคำลงท้ายคำพูดของคนญี่ปุ่นทั่วไปอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนมักโดนอาจารย์พูดตบท้ายอยู่เสมอหลังบทสนทนาว่า “กัมบัตเตะกุดาซัย (จงพยายามเข้า)” คนเป็นนักเรียน เป็นผู้น้อยอย่างผู้เขียนก็จะต้องตอบกลับไปว่า “กัมบาริมัส (จะพยายาม)” ผู้เขียนเคยถามประเด็นเกี่ยวกับเรื่องวิธีการพูดเรื่องกัมบารุกับเพื่อน ญี่ปุ่นที่เรียนด้วยกัน ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้จะแทนคำนี้ด้วยคำภาษาอังกฤษคำใด เพื่อนคนหนึ่งยังบอกผู้เขียนอีกด้วยว่า เขารู้สึก “ซาบซึ้ง” และมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปเมื่อตะโกนคำว่ากัมบารุตอบกลับอาจารย์ อีกทั้งเขายังให้คำพูดเสียดแทงจิตใจคนนอกอย่างผู้เขียนอีกด้วยว่า เขาไม่ค่อยรู้สึกซาบซึ้งหรือมีกำลังวังชาเท่าไร เมื่อมีคนต่างชาติมาบอกให้เขา กัมบัตเตะ (พยายามเข้า) นึกๆ ดูแล้ว เขาคงกำลังพูดถึงผู้เขียนอยู่นี่เอง

เพราะฉะนั้น กัมบารุจึงไม่ใช่แค่คำพูด มันเป็นจิตวิญญาณแห่งคนญี่ปุ่นที่เฉพาะคนญี่ปุ่นจะซาบซึ้งกับมันในลักษณะที่ พิเศษมากกว่าคนอื่นๆ คำว่ากัมบารุที่ออกมาจากปากคนต่างชาติ ไม่สามารถสื่อความหมายได้อย่างที่คนญี่ปุ่นสื่อสารกันเอง หากคุณไม่ใช่คนญี่ปุ่นผู้ได้รับการกล่อมเกลาวัฒนธรรมกัมบารุตั้งแต่ในสถาบัน ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ฯลฯ กัมบารุก็เป็นคำที่แค่ออกจากปากของคนนอกเท่านั้น

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยที่เมื่อภาวะไม่ปกติ เมื่อความยากลำบาก ความหวาดกลัวมาเยือน กัมบารุจึงเป็นคำขวัญประจำชาติญี่ปุ่น นายกคังก็บอกให้ชาวญี่ปุ่นกัมบารุ ข้อความบนเสื้อที่ดาวดังนักฟุตบอลทุกคนใส่ในการแข่งขันเพื่อการกุศลในวันที่ 29 มีนาคมก็เขียนว่า นิปปง กัมบาโร (ญี่ปุ่น มาพยายามด้วยกัน) น่าสังเกตว่า มันเป็นคำที่ไม่ถูกบุคคลผู้ใดผูกขาด ทุกคนๆ ก็สามารถพูดคำนี้ได้ แม้กระทั่งตัวเหยื่อเอง จะเห็นได้ว่า คำว่ากัมบารุเป็นตัวประสานใจของคนทั้งประเทศเข้าด้วยกัน จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

 

ชาตินิยมไม่รู้ตัว: ธรรมชาติที่จอมปลอม อิสรภาพที่จำกัด ความรักและซาบซึ้งที่บังคับ

กรณีจิต วิญญาณความเป็นชาติญี่ปุ่นข้างต้น นับว่าแตกต่างกับของประเทศไทย กล่าวคือ ในภาวะวิกฤตเมื่อปีแล้ว ความเป็นชาติที่รัฐบาลและสื่อต่างๆ พยายามโปรโมทได้ถูกนำไปเชื่อมโยงที่ตัวบุคคลอย่างพระมหากษัตริย์ให้เป็น ศูนย์กลางของทุกอย่าง สังเกตได้จากการนำพระราชดำรัสมาเผยแพร่ทางวิทยุทุกๆ วันในช่วงที่ความรุนแรงกำลังร้อนระอุ ด้วยความหวังที่ว่า กษัตริย์จะเป็นสิ่งที่สามารถกอบกู้ให้ชาติที่แตกแยกกลับมาสงบและมั่นคงอีก ครั้ง อันคำสอนเรื่องความสามัคคี ความปรองดอง ความไม่เห็นแก่ตัว หากมันไม่ได้อยู่ในพระราชดำรัส หรือถูกนำไปเชื่อมโยงกับตัวพระมหากษัตริย์ (เช่น ทำดีเพื่อพ่อ) หลักคำสอนเหล่านี้ก็ดูจะไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์หรือน่าน้ำหูน้ำตาไหลซักเท่า ไหร่ แน่นอนว่า คนที่อยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยอย่างสมบูรณ์ย่อมไม่เห็น ว่ามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับสารต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ พวกเขาอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความเป็นจริงของสังคมไทย เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับนับถือ พวกเขาอาจเห็นด้วยเสียด้วยซ้ำที่วาทกรรมรักกษัตริย์ควรเผยแพร่ออกไปมากๆ ในช่วงที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย เผื่อพวกคนที่กำลังทำลายชาติจะได้สำนึกและเลิกพฤติกรรมที่รบกวนเบื้องพระ ยุคลบาทเสียที

กรณีของไทยไม่ต่างอะไรกับอุดมการณ์ชาตินิยมแบบกัมบารุ ของญี่ปุ่นในแง่ของนัยยะเชิงการเมืองและอำนาจ อุดมการณ์ทั้งสองถูกโปรโมทอย่างเข้มข้นในยามรัฐชาติเกิดวิกฤต โดยมีเป้าประสงค์จะสถาปนาความเป็นหนึ่งเดียวของชาติขึ้น เพื่อให้ความมั่นคง ความสงบ สภาพปกติหรือสถานภาพ (status quo)เดิมๆ กลับมาอีกครั้ง

น่า สังเกตว่า ในขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมมีนัยยะทางการเมืองเรื่องอำนาจอย่างเข้มข้น บรรดาผู้คนที่อยู่ภายใต้การครอบงำกลับมองไม่เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ระหว่างสองสิ่งนี้เลย พวกเขาไม่สังเกตเห็นความย้อนแย้งในอุดมการณ์ชาตินิยมรวมไปถึงพฤติกรรมของตัว เอง กล่าวคือ ด้านหนึ่ง พวกชาตินิยมที่ไม่รู้ตัวมักยืนกรานอยู่เสมอว่า สิ่งที่ถูกเทิดทูนว่าเป็นศูนย์รวมของชาติ (หรืออุดมการณ์ชาตินิยม) ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ข้ออ้างของพวกเขาก็คือ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องบังคับ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมานาน (เช่น สโลแกนตามสื่อที่ว่า แต่ไหนแต่ไรคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ เราต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้ หรือ พ่อหลวงทรงเหนื่อยมามากแล้ว อย่าทำให้พระองค์เหนื่อยไปมากกว่านี้เลย เป็นต้น)

จะเห็นได้ว่า โฆษณาชาตินิยมส่วนใหญ่มักมีลักษณะของการทึกทักความจริงบางอย่างขึ้น ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง และด้วยเหตุผลที่เป็นความจริงแน่แท้ข้างต้น มันก็จะตามมาด้วยคำสั่งว่า ประชาชนที่ดีควรปฏิบัติตัวอย่างไร ชาตินิยมทึกทักเหตุผลชุดหนึ่งขึ้นมา และบอกกับพวกเราว่า ในเมื่อเหตุเป็นความจริงเช่นนี้ เราในฐานะประชาชนที่รักชาติมีหน้าที่ต้องทำอย่างไร บางครั้ง สารชาตินิยมก็ไม่บอกกับเราตรงๆ แต่เป็นที่รู้กันว่า อะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่ควรปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น การบอกเพียงว่าอย่าทำให้พระองค์เหน็ดเหนื่อยไปมากกว่านี้ ย่อมสะท้อนโดยนัยว่า อย่าชุมนุมประท้วง อย่าริเริ่มขบวนการคัดค้าน ม.112 อย่าตั้งคำถามกับอะไรที่ไม่ควรตั้ง เป็นต้น

ผู้เขียนขอยกโฆษณาชาติ นิยมญี่ปุ่นที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ยังมีโฆษณาของเอซีอีกชุดหนึ่งที่ให้บรรดาดาราดังมาถือป้ายข้อความที่มีใจ ความว่า “สิ่งที่ฉันสามารถทำได้ในเวลานี้” หลังจากนั้น ภาพก็จะตัดไปยังดาราดังคนต่อๆ มาที่ออกมาถือป้ายข้อความที่เขียนทำนองว่า “ถอดปลั๊กออกเมื่อไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์” “ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็น” “ช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรให้เหยื่อกันดี” ฯลฯ ด้านหนึ่งเราอาจเห็นคำสั่งที่รัฐบาลต้องการจะสื่อไปยังประชาชนญีปุ่นทั่วไป โดยตรงว่าต้องประพฤติตัวอย่างไร ทว่า ยังมีสารโดยนัยที่ซ่อนอยู่ในโฆษณาชาตินิยมดังกล่าวนี้ด้วย นั่นก็คือ การบอกทางอ้อมว่า พลเมืองที่ดีในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ต้องไม่ใช่บุคคลที่มีพฤติกรรมต่อไปนี้ เช่น พวกที่ตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาล ประชาชนที่ออกมาตามถนนเรียกร้องให้เทปโก้ (บริษัทไฟฟ้าโตเกียว) หรือรัฐบาลนำเสนอข้อมูลที่โปร่งใสมากกว่านี้ แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็น “สิ่งที่ฉันสามารถทำได้” ในเวลาวิกฤตเยี่ยงนี้เช่นกัน แต่มันก็ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า พลเมืองที่ดีไม่พึงกระทำ หรืออย่างน้อยมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการโปรโมทในสื่ออย่างเปิดเผย เพราะมันมีลักษณะเข้าข่าย “พฤติกรรมไม่รักชาติ”

ความย้อนแย้งจึงอยู่ ที่ว่า พวกชาตินิยมมักปิดตาข้างเดียวไม่รับรู้ความจริงที่ว่า หากความเป็นชาติพวกนี้เป็นสัจธรรม ธรรมชาติ เป็นคอมมอนเซนส์ของทุกคนจริง เหตุใด มันจึงต้องถูกโหมกระหน่ำอัดฉีดประชาสัมพันธ์ หรือไม่ก็ออกเป็นคำสั่งแกมบังคับต่อประชาชนคนในชาติ เช้าเย็นไม่หยุดหย่อนถึงเพียงนี้ (อยู่ในโฆษณา ในคำพูดของดารา บุคคลสำคัญของประเทศ ในรายงานข่าว ในรายการบันเทิง ในเกมส์โชว์ ในคำปราศรัย ฯลฯ) เหนือสิ่งอื่นใด พวกชาตินิยมแสร้งไม่รู้มักอ้างอยู่เสมอว่า เรื่องชาตินิยมหรือศูนย์รวมจิตใจที่น่าซาบซึ้งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือเรื่อง ของการเมืองที่สกปรกและอำนาจการบังคับที่รุนแรง แต่คำถามก็คือ เหตุใด บรรดาคนในชาติที่เห็นต่าง คิดต่าง ประพฤติต่างไปจากห้วงทำนองของอุดมการณ์ชาตินิยมกระแสมักถูกแบน กีดกัน หรือแม้กระทั่งถูกกระทำด้วยความรุนแรง ความย้อนแย้งข้างต้นสะท้อนความจริงที่ว่า ไม่มีชาตินิยมใดที่เป็นอิสระจากเรื่องของการเมือง ตราบเท่าที่มันยังมีการบังคับ การยัดเยียด และการใช้ความรุนแรงต่อคนที่อยู่นอกกรอบอุดมการณ์หลัก

เพราะฉะนั้น ก้าวแรกแห่งอิสรภาพของพวกชาตินิยมไม่รู้ตัวที่คิดว่ากำลังใช้ชีวิตอยู่ใน สังคมที่มีอิสรภาพก็คือ การเริ่มสำเหนียกถึงความจริงข้อนี้ ความจริงที่ว่าอิสรภาพของตนเป็นอิสรภาพที่จำกัด สิ่งที่เป็นคอมมอนเซนส์แท้จริงแล้วมันช่างไร้เหตุผลสิ้นดี สิ่งที่น่าเคารพเกรงกลัวแท้จริงแล้วมันอาจจะเป็นอะไรที่น่าตลกขำขัน และสุดท้าย อาจมีคนบางกลุ่มที่กำลังได้ประโยชน์จากการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน จากการจำยอมเคารพสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเราอยู่ก็เป็นได้

 

อำนาจรูปแบบต่างๆ ในชาตินิยม ชีวอำนาจกับเพลงสุกี้ยากี้

เมื่อ ธรรมชาติถูกทำให้ไม่เป็นธรรมชาติ (denaturalization) เมื่อหลุมดำแห่งอุดมการณ์ความเป็นชาติค่อยๆ ปรากฏขึ้นต่อสายตาพลเมืองหน้าใส (ที่จะไม่ตีหน้าซื่อรับคำบัญชาจากรัฐอีกต่อไป) เรื่องน่าวิเคราะห์ต่อมาก็คือ ในเมื่อความเป็นชาติเป็นเรื่องของอำนาจ แล้วมันเป็นอำนาจแบบไหนกัน จริงอยู่ที่ชาตินิยมในทุกๆ สังคมมีเป้าหมายเดียวกันคือ อาศัยการสร้างความจริงและการบังคับเพื่อให้ผู้คนปฏิบัติตามในฐานะพลเมืองที่ ดี ทว่าวิธีการของมันอาจมีลักษณะหรือยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันก็เป็นได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า อำนาจของชาตินิยมในแต่ละสังคมมีกลไกทำงานอย่างไร เหมือนต่างกันเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราลองเปรียบเทียบรูปแบบอำนาจของชาตินิยมแบบไทยๆ และชาตินิยมแบบจิตวิญญาณญี่ปุ่นที่กำลังทำงานอย่างแพร่หลายในทุกๆอณูของ สังคมภายใต้สภาวะไม่ปกติขณะนี้

กรณีชาตินิยมของไทยและญี่ปุ่นทำให้ ผู้เขียนคิดถึงอำนาจรูปแบบต่างๆ ของมิเชล ฟูโกร์ (Michel Foucault) สำหรับประเทศไทยแล้ว วิธีการปลุกอุดมการณ์ชาตินิยมว่าด้วยเรื่องกษัตริย์ในยามฉุกเฉิน สะท้อนการทำงานของอำนาจแบบรัฐาธิปัตย์แบบเก่า หรือที่เรียกว่า sovereign power [8] อำนาจชนิดนี้พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้มีอำนาจใช้อำนาจเชิงลบในแง่การบังคับขืนใจอย่างตรงไปตรงมาต่อบุคคลที่ อยู่ต่ำลงมา สังคมจึงเต็มไปด้วยการสั่งห้ามปราม จับกุม ลงโทษ ฆ่าทิ้ง ทำให้สมาชิกในสังคมหวาดกลัวเพื่อไม่ให้ลอกเลียนแบบ อุดมการณ์ชาตินิยมแบบไทยจึงเต็มไปด้วยการห้ามปรามมิให้กระทำการใดใดที่จะ บ่อนทำลายแก่นกลางของความเป็นชาติไทยซึ่งก็คือ ชาติ (ซึ่งไม่มีประชาชนไทยรวมอยู่) ศาสน์ กษัตริย์ (ซึ่งอันที่จริง หากดูจากกระแสความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลำดับที่สามควรถูกเอ่ยเป็นอันดับแรก)

ถูกต้องที่ด้านหนึ่งอำนาจก็ทำ งานอย่างแนบเนียนผ่านการศึกษา สื่อ โฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมไทยในสภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง การกระตุ้นเร้าให้เกิดการประณาม ลงโทษและฆ่าฟันต่อบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นภัยต่อความเป็นชาติ เริ่มต้นจากการกระชับพื้นที่ การลอบยิงแกนนำ การจับกุมบุคคลภายใต้ ม.112 มากขึ้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ บรรดาประชาสังคมฝ่ายคลั่งชาติ ขวาจัดก็ออกมาสอดส่อง ทำการประชาทัณฑ์ทางสังคมต่อบุคคลที่คิดต่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนการทำงานของอำนาจเชิงลบ เป็นอำนาจแบบสังคมศักดินาในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่มีการจัดลำดับอำนาจสูงต่ำชัดเจน ดังที่ฟูโกร์บอกไว้ว่า ภายใต้ระบอบอำนาจเช่นนี้ ผู้มีอำนาจมีหน้าที่สั่งฆ่า และปล่อยให้มีชีวิตอยู่ (take life or let live)

คำพูดของพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงที่ว่า “ใครไม่รักพ่อ ก็ออกจากประเทศนี้ไปซะ”...ศีรษะนี้มอบให้พระเจ้าอยู่หัวเพียงผู้เดียว และมีผู้ชม คนเด่นคนดังในห้องส่งต่างลุกขึ้นปรบมือซาบซึ้งกันนั้น ปรากฏการณ์ข้างต้นสะท้อนว่าสังคมไทยยังมีอุดมการณ์ชาตินิยมแบบสังคมศักดินา ที่ยังใช้อำนาจแบบหน้าด้านๆ อย่างชัดเจน สังคมไทยไม่ลังเลที่จะใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่เห็นต่าง พร้อมที่จะขับไล่คนๆ นั้นออกจากรัฐชาติ เปิดไฟเขียวที่จะลงโทษหรือใช้ความรุนแรงต่อเขาคนนั้นได้ และสุดท้าย สังคมไทยยังซาบซึ้งกับความเป็นไทยที่ว่า กษัตริย์มีสิทธิ์ในทุกๆ กบาลใต้หล้าฟ้าไทย

แม้กระทั่งพระผู้นำศาสนา ว.วชิรเมธี ดาวดังของสังคมชั้นชนกลางก็ยังไม่ลังเลที่จะสนับสนุนอำนาจแบบรัฐาธิปัต ย์(หรืออำนาจสั่งฆ่า) ด้วยการประกาศในรายงานโทรทัศน์ในวันที่ 9 เมษายน 2553 (ช่วงที่มีพวกบ่อนทำลายความเป็นชาติเกลื่อนถนน) ว่า "ฆ่าเวลาบาปเสียยิ่งกว่าการฆ่าคน" อีกนัยหนึ่งก็คือ เรามีสิทธิ์ตัดหัวกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้โดยที่หลักศาสนาบอกว่าจะบาปน้อยกว่า การอยู่เฉยๆ ทำตัวไม่เป็นประโยชน์ กล่าวโดยสรุปก็คือ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง การบังคับขู่เข็ญ ลงโทษขืนใจ แม้ว่าประเทศเราจะเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีบีบีใช้กัน มีแบรนด์ดังๆ มีอาหารอร่อยๆ อิมพอตเข้ามาให้บริโภคอย่างท่วมท้น อีกทั้งมีปัญญาชนคนมีการศึกษาที่พูดเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สังคมไทยเราจะปลดปล่อยตัวเองจากระบอบอำนาจแบบศักดินาคร่ำครึไปได้

หาก ชาตินิยมแบบไทยขับเคลื่อน สืบสานไปด้วยวงล้อของอำนาจแบบเก่า อำนาจเชิงลบ แล้วอะไรคืออำนาจแบบใหม่ หรืออำนาจเชิงบวก ฟูโกร์วิเคราะห์ต่อไปว่า อำนาจในสังคมสมัยใหม่ หรือหลังสมัยใหม่มักไม่อยู่ในรูปของการใช้ความรุนแรงหรือการบังคับโดยตรง แต่เป็นการให้สมาชิกของสังคมดูแล บังคับ ควบคุมตัวเอง อำนาจสมัยใหม่เป็นอำนาจทางบวกที่ไม่เน้นไปที่การห้ามปราม สั่งฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย หากแต่เป็นการเลี้ยงดูชีวิตหรือปล่อยให้ตาย (make life or let die) เสียมากกว่า อำนาจเช่นนี้จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า biopower [9] ซึ่งแตกต่างไปจาก sovereign power ข้างต้น

ใน คืนวันที่ 26 มีนาคม 2011 สองอาทิตย์หลังญี่ปุ่นเผชิญกับหายนะธรรมชาติครั้งใหญ่ อีกทั้งพลเมืองทั่วไปยังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวภัยรังสี นิวเคลียร์ โทรทัศน์ช่องหนึ่งได้นำเสนอรายการพิเศษในช่วงเวลาหัวค่ำ ดารานักร้องคนดังจำนวนมากถูกเชิญมาร่วมรายการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยแต่ละคนจะมีเวลา 2-3 นาทีร้องบทเพลงให้กำลังใจเหยื่อผู้ประสบภัยพร้อมกล่าวคำพูดสั้นๆ ที่น่าสนใจก็คือ ในตอนท้ายของรายการ แขกรับเชิญทุกๆคนหวนขึ้นเวทีอีกครั้ง พร้อมร้องเพลงปิดท้าย

ผู้เขียนรู้สึกว่าบทเพลงสุดท้ายดังกล่าวมีนัย ยะสำคัญมากในฐานะสิ่งที่สะท้อนแก่นความเป็นชาติของสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ มันเป็นบทเพลงที่ร้อยเรียงคนญี่ปุ่นเข้าด้วยกันภายใต้สภาวะที่รัฐชาติสั่น คลอน บทเพลงดังกล่าวมิใช่เพลงอื่นใด มันคือเพลงนามว่า อุเอะโอมุอิเตะ อารุโค หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อเพลง ‘สุกี้ยากี้’ นั่นเอง (สำหรับเวอร์ชั่นดั้งเดิมดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=RtXQ31F1A-k และสำหรับเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดที่ทำขึ้นเพื่อให้กำลังใจเหยื่อโดยเฉพาะดู http://www.youtube.com/watch?v=VCWDjeAvhJY หรือ http://www.youtube.com/watch?v=buL3-8yAAKo) หลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า บทเพลงนี้เป็นตัวแทนความเป็นชาติแบบญี่ปุ่นก็คือ ไม่เพียงมันจะเป็นเพลงพิเศษที่สำคัญที่สุดเพราะถูกเก็บไว้ร้องเป็นเพลงสุด ท้ายของรายการและถูกขับร้องโดยแขกรับเชิญทั้งหมดแล้ว เมื่อเหลือบไปมองที่ป้ายชื่อรายการเฉพาะกิจ ชื่อของบทเพลงก็ถูกยกมาทั้งดุ้นให้เป็นชื่อของรายการเลยทีเดียว เพียงเท่านี้เราก็พอจะทราบกันแล้วว่า เพลงสุกี้ยากี้นี้มีความหมายและคุณค่าต่อพลเมืองชาวญี่ปุ่นมากเพียงใด

แน่ นอนว่าเพลงสุกี้ยากี้นั้นเป็นบทเพลงที่โด่งดังทั่วโลก คนไทยจำนวนมากสามารถจดจำท่วงทำนอง (ที่อาจถือว่าคลาสสิค)ได้ แต่คงมีน้อยคนที่จะทราบถึงเนื้อหาของบทเพลงสุกี้ยากี้ว่ามันมีความหมายอย่าง ไร แตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ หรือเพลง ‘เราสู้’ ซึ่งเป็นเพลงชาตินิยมแบบไทยๆ เพลงชาตินิยมญี่ปุ่นเพลงนี้ไม่เกี่ยวกับการพาดพิงถึงส่วนเกินของสังคมใดใด ที่ต้องถูกกำจัดหรือปราบปราม เริ่มจากชื่อออริจินัลภาษาญี่ปุ่นที่ว่า “อุเอะโอมุอิเตะ อารุโค上を向いて歩こう” แปลได้ว่า “แหงนเงยหน้าขึ้นแล้วก้าวเดินไป” นอกจากจะเป็นชื่อเพลงแล้ว ประโยคข้างต้นนี้เป็นประโยคเริ่มต้นในบทเพลงด้วย

จากความหมายของมัน เราก็พอจะเห็นความสอดคล้องกันระหว่างจิตวิญญาณชาตินิยมแบบกัมบารุที่พูดถึง ในตอนต้นของบทความกับบทเพลงชาตินิยมเพลงนี้ ประโยคดังกล่าวสะท้อนความหมายของความไม่ยอมแพ้ สู้ไม่ถอย มุ่งไปข้างหน้า อย่างไรก็ดี เรายังสามารถเรียนรู้ความเป็นชาตินิยมญี่ปุ่นผ่านบทเพลงนี้ได้มากขึ้น หากเราพิจารณาเนื้อร้องต่อมาถัดจากประโยคข้างต้น

คิว ซากาโมโตะร้องต่อไปว่า “นามิดะงะ โคโบเล นะอิโยววนิ” ซึ่งมีความหมายว่า “เพื่อไม่ให้น้ำตาหลั่งลงมา” เพราะฉะนั้น การแหงนเงยขึ้นไปบนฟ้านั้น ไม่ใช่แค่พฤติกรรมของนักสู้ที่ทะเยอทยาน เนื้อร้องถัดมาบอกให้เราทราบว่า เป็นเพราะผู้เงยหน้าไม่ต้องการให้น้ำตาหลั่งลงมาอาบใบหน้านั่นเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชาตินิยมแบบญี่ปุ่น มิใช่ชาตินิยมที่แสดงออกผ่านการซาบซึ้ง น้ำหูน้ำตาไหล ทว่าคือความอดกลั้น แอบซ่อนความรู้สึกเจ็บปวดหรืออารมณ์ตื้นตันไว้ข้างในไปพร้อมๆ กับการสู้ต่อไปข้างหน้า อีกทั้งมันยังไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การตราหน้าประณามใครหรือต้องการจะฆ่าล้าง ขับไล่ใคร ถ้าหากจะมีคนที่ต้องแบกรับความทุกข์และความเจ็บปวด มันก็คงเป็นตัวของบุคคลผู้ขับร้องเพลงชาตินิยมบทนี้เอง

ถูกต้อง ชาตินิยมแบบญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับตนเอง ความอดทนอดกลั้น การเสียสละความสุขความพอใจของตนเอง ไม่มีนางฟ้าเทพยดาที่ไหนมาเป็นที่พึ่งศูนย์รวมจิตใจ ไม่มีศัตรูภายนอกให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าจำเป็นต้องร่วมมือกันขจัด อำนาจกระจายอยู่ในร่างกายและวิธีคิดของพลเมืองทุกคน ทุกคนเป็นตำรวจตรวจตรา สอดส่องพฤติกรรมของตัวเอง

อย่างไรก็ดี เป้าประสงค์ของผู้เขียนไม่ได้มุ่งไปที่การนำเสนอภาพแง่ดีชองชาตินิยมแบบ ญี่ปุ่น ผู้เขียนไม่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าชาตินิยมแบบญี่ปุ่นซึ่งส่งผลให้พลเมือง ส่วนใหญ่มีระเบียบวินัย จิตใจเข้มแข็งพร้อมที่จะก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนามนั้นดีกว่าชาตินิยมแบบ รุนแรงและดั้งเดิมอย่างของไทยเรา

ดังที่ฟูโกร์บอกไว้ biopower หรือชีวอำนาจทำงานในลักษณะที่แยบยลกว่าอำนาจรัฐาธิปัตย์ อำนาจชนิดนี้แฝงฝังลงไปในร่างกายของปัจเจกบุคคล ปัจเจกจะเป็นผู้ควบคุมตัวเองให้อยู่ในกฎระเบียบข้อบังคับที่เคยถูกสั่ง สอนกล่อมเกลามา สังคมสมัยใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้มีอำนาจเหนือกว่าคนใดมาห้ามปรามหรือ บังคบใช้ความรุนแรงทางตรง [10] อย่างไรก็ตาม การครอบงำทางอำนาจและอุดมการณ์ชาตินิยมก็ยังอย่างแพร่หลายอยู่ดี ชีวอำนาจแบบกัมบารุพร้อมกับชีวอำนาจเพลงสุกี้ยากี้ที่ให้เราเก็บอารมณ์ความ เจ็บปวดความอัดอั้นโกรธแค้นไว้ส่งผลโดยนัยให้พลเมืองต่างทำตัวเป็นพลเมือง ที่ว่าง่าย (docile) และไม่ตั้งคำถามท้าทายรัฐบาล

ในโฆษณาเอซี หนุ่มน้อยนักฟุตบอลทีมชาติ อุชิดะซึ่งไปค้าแข้งกับสโมสรชาลเก้บอกกับผู้ชมว่า ขอให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ตนควรทำคนละไม้คนละมือ ญี่ปุ่นคือทีมๆ เดียวกัน ดูจากเปลือกนอก ดังที่ฟูโกร์บอก อำนาจที่แนบเนียนไม่ใช่อำนาจที่กรอกหูเราด้วยคำว่า “ไม่” อยู่เสมอ อำนาจสมัยใหม่มาพร้อมกับใบหน้าที่เมตตา น่ารัก และหล่อเท่ เหมือนกับอำนาจที่ซ่อนเร้นในรอยยิ้มของตัวการ์ตูนเด็กน้อยและสัตว์ผู้เชิญ ชวนให้เรากล่าวคำทักทายกัน อำนาจที่ซ่อนเร้นอยู่ในบทเพลงที่ถูกขับร้องโดยคนดัง อำนาจที่แฝงอยู่ในคำพูดเท่ๆ ของดาวรุ่งกีฬา [11]

อาจ มีผู้โต้แย้งว่า แล้วมันเป็นเรื่องเสียหายอย่างไรกับอำนาจเชิงบวกเช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อสังคมเผชิญกับความวุ่นวายและความสูญเสียที่เกินจะทน คำตอบก็คือ ในเมื่อมันเป็นอะไรที่เกินจะทน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกัมบารุหรือเงยหน้าเพื่อกลั้นน้ำตาเอาไว้ ชีวอำนาจก็สามารถก่อให้เกิดผลที่เป็นโศกนาฎกรรมได้เช่นกันดังตัวอย่างต่อไป นี้

คุณลุงเกษตกรในจังหวัดฟุกุชิมา ปลิดชีวิตตัวเองทิ้งหลังจากทำใจยอมรับไม่ได้ที่ผักของตัวเองถูกห้ามจำหน่ายเพราะมีรังสีปนเปื้อน [12] กรณีข้างต้นสะท้อนลักษณะชีวอำนาจแห่งอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ชีวิตของบุคคลมิได้ถูกตัดสิน กดดันและถูกคุกคามโดยตรงจากภายนอก หากแต่มันคือตัวของบุคคลผู้นั้นเองที่ไม่สามารถกัมบารุต่อไปได้ และต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของตัวเอง บุคคลผู้มีวินัยในการดำรงชีวิตมองไม่เห็นแก่นสารชิวิตของตนอีกต่อไปเมื่อเขา กลายเป็นมนุษย์ที่ไม่มีประสิทธิผลหรือ productive ต่อระบบ เขาไม่รีรอให้กษัตริย์มาตัดหัวเขา เขาชิงตัดหัวตัวเองสังเวยความไร้ประโยชน์ของชีวิต

ชีวอำนาจในสังคม สมัยใหม่ปิดบังความจริงที่ว่า อันที่จริง ชีวิตนั้นอยู่นอกเหนือระเบียบวินัย การปฏิบัติตามหน้าที่ และการเชื่อฟัง แม่ของเด็กอ่อนในโตเกียวไม่ควรที่จะยอมจำนนต่อรัฐบาลแต่โดยดี เมื่อรัฐบาลประกาศในช่วงสายของวันๆ หนึ่งว่า ห้ามให้เด็กอ่อนดื่มน้ำประปาเพราะมีสารปนเปื้อนในระดับอันตราย ไม่ได้มีการเตือนล่วงหน้าก่อนเลย อีกทั้งบรรดาน้ำดื่มสำเร็จรูปในขวดที่มีจำหน่ายตามซูปเปอร์มาเก็ตก็ถูกกวาด ซื้อจนหมดแผง ในชั่วขณะนั้น เราเผชิญกับคำถามที่ว่า สุขภาพและชีวิตของเด็กมีคุณค่ามากหรือน้อยกว่าคุณค่าความเป็นชาติแบบญี่ปุ่น คุณค่าที่เชิดชูการเสียสละตัวเอง การปิดปากเงียบและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

ดูเหมือนคำตอบที่ ผู้เขียนได้จากคนญี่ปุ่นน่าจะเป็นการเลือกคุณค่าอย่างหลัง เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมีอยู่อย่างแผ่วเบามาก แม้ว่าวิกฤตนิวเคลียร์ที่กำลังเกิดขึ้นมีศักยภาพที่จะเป็นภัยต่อสุขภาพและ ชีวิตของประชาชนญี่ปุ่นในวงกว้าง แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ควรปล่อยปัญหาเชิงเทคนิคนี้ให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างเทปโก้เป็นผู้แก้ไข ชีวภาพอำนาจของการควบคุมจิตใจและร่างกายตัวเองในสังคมญี่ปุนนั้นทำงานอย่าง เข้มข้นมากถึงขนาดที่มันอาจจะกลับมาทำลายชีวิตและร่างกายตนเองอีกด้วย

ไม่ เพียงแค่เรื่องของลุงเกษตรกรผู้ฆ่าตัวตายที่ถูกยกเป็นตัวอย่างไปแล้ว ทางด้านผู้บริโภคเองก็เช่นเดียวกัน เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายน มีการรณรงค์ผ่านสื่อให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนซื้อผักหรือสินค้าที่มาจากพื้นที่ ใกล้โรงงานไฟฟ้า ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้รัฐบาลจะประกาศว่าอาหารเหล่านี้ปลอดภัย แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าบริโภคอาหารเหล่านี้อยู่ดี ผลก็คือ มีการรณรงค์ออกสื่อสาธารณะให้ผู้บริโภคซื้ออาหารที่ผลิตที่จังหวัดใกล้เคียง กับจังหวัดฟุคุชิม่า นักข่าวทำการสัมภาษณ์ลูกค้าที่ให้ความร่วมมือซื้อผัก เขาบอกว่า เขาเชื่อรัฐบาลว่าผักสามารถบริโภคได้ และถ้าผักพวกนี้ขายไม่ออกเลย ชาวไร่ที่ปลูกผักคงต้องเดือดร้อนมาก

จาก กรณีข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชีวอำนาจกำลังบอกพลเมืองญี่ปุ่นว่า หน้าที่ของการเป็นผู้บริโภดที่ดีควรประพฤติตนอย่างไร ผู้บริโภคที่ดีต้องมุ่งซื้อสินค้าจากพื้นที่บางที่เท่านั้น ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นการตราหน้าทางอ้อมหรือทำให้ผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่ยังปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือเป็นคนเห็นแก่ตัวและรู้สึกละอายใจ ขอเพียงลุงเกษตรกรผู้นั้นยอมทนอยู่มาอีกไม่กี่สัปดาห์ เขาอาจเริ่มเห็นความหวังในหน้าที่การงานมากขึ้น และไม่ต้องจบชีวิตตัวเองก็ได้

จะเห็นได้ว่า เบื้องหลังสภาพสังคมที่ดูเหมือนจะไม่มีความรุนแรง ไม่มีการกดขี่ บังคับขู่เข็ญ หรือไร้ซึ่งความสับสนวุ่นวาย แท้จริงแล้วมันมีเส้นแห่งความตึงเครียดขึงอยู่ในทุกๆ ร่างกายและจิตวิญญาณของสมาชิกในสังคมที่พร้อมจะขาดผึงอยู่เสมอ

หาก การกดทับทางอำนาจของอุดมการณ์ชาตินิยมไทย คือการกดทับจากภายนอกแล้ว การกดทับทางอำนาจของอุดมการณ์ชาตินิยมญี่ปุ่นก็คือการกดทับจากภายในนั่นเอง ความสงบสุขเรียบร้อยที่เห็นเป็นฉากหน้านั้นเกิดขึ้นจากการการควบคุม ดูแลยับยั้งชั่งใจตัวเองอยางเคร่งครัดโดยตัวของสมาชิกภายในสังคมทุกคนเอง ความเจ็บปวดอัดอั้นหรือความรุนแรงจึงมักจะเป็นสิ่งที่ปัจเจกกระทำต่อตนเอง เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถจะตอบสนองอุดมการณ์ชาตินิยมต่อไปได้

ลักษณะ สังคมเช่นนี้สอดคล้องกับคำอธิบายของฟูโกร์ที่ว่า ชีวอำนาจจะพัฒนาไปจนมันกลายเป็นอำนาจแห่งการปกครองแบบชีวญาณ (governmentality) เขาบอกว่า อำนาจในยุคสังคมหลังสมัยใหม่จะมีลักษณะไม่รวมศูนย์ ไม่มีลำดับขั้นสูงต่ำ หากแต่จะกระจายไปในทุกๆ อณูของสังคม อณูที่เล็กที่สุดอย่างตัวปัจเจกบุคคลเองนี่แหละที่จะเป็นผู้ควบคุมดูแล จัดการตัวเอง

แน่นอนย่อมมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยต่อเนื้อหาทั้งหมด ของผู้เขียน บ้างก็อาจจะบอกว่า การเปรียบเทียบของผู้เขียนเป็นเหมือนส้มกับแอปเปิ้ล ด้วยบริบทที่ต่างกันจึงไม่ควรที่จะนำมาวิเคราะห์เทียบกันได้อย่างไร บ้างก็อาจจะมองว่าผู้เขียนมองโลกมืดมนเต็มไปด้วยนัยยะเชิงอำนาจ บางทีในภาวะวิกฤตย่อมมนุษย์ย่อมต้องการความหวัง ความเห็นใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ไม่มีการบังคับ ไม่มีนัยยะแอบแฝง บ้างก็อาจจะหาว่า ผู้เขียนเป็นผู้ฉวยโอกาสเอาหายนะของญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือบังหน้าแอบด่า สถาบัน

จะเป็นข้อกล่าวหาใดก็ตามแต่ ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนมิประสงค์จะเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อโน้มน้าวหรือนำเสนอว่าสังคม แบบใดดีกว่า แบบไหนเลวร้ายกว่ากัน ในฐานะนักรัฐศาสตร์ หน้าที่ของผู้เขียนคือการเผยคลี่ให้เห็นการทำงานของอำนาจและบรรดาอุดมการณ์ ในแต่ละสังคม หน้าที่ของผู้เขียนคือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ผู้คนมักทึกทักเอาว่าเป็นความ จริง เป็นสัจธรรมโดยปราศจากการมองอย่างวิพากษ์ เช่น เพราะคนญี่ปุ่นขยัน อดทน หรือ เพราะประเทศไทยมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือเพราะเรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าปกป้องคุ้มครอง ฯลฯ หรือสิ่งที่มักถูกทึกทักเอาว่าไม่มีทางเกี่ยวข้องกัน

ผู้เขียนต้อง การจะผูกโยงสัจธรรมจอมปลอมเหล่านี้เข้ากับความเป็นชาติ เพื่อเน้นย้ำให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า ชาติคือสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องอาศัยกระบวนการทางอำนาจและการอัดฉีดทางอุดมการณ์ อย่างเข้มข้นทุกเมื่อเชื่อวัน ชาติมิใช่เรื่องหวานชื่น โรแมนติคเฉกเช่นท่วงทำนองเพลงสุกี้ยากี้ หรือน่าซาบซึ้งตื้นตัน

ชาติคือหลุมดำแห่งอำนาจและอุดมการณ์ที่บ่อยครั้งมักลงเอยด้วยการกดทับ การใช้รุนแรง และการจำยอม

ตราบ เท่าที่ชาติยังกดทับอิสรภาพของมนุษย์เอาไว้ด้วยตัวเทพยดาเหนือหัว ด้วยกฏระเบียบ ด้วยจารีตธรรมเนียม มนุษย์ย่อมไม่มีวันปลดปล่อยตัวเองได้

 

อ้างอิง:

  1. สามารถดูคลิปโฆษณาได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=EsRm78ZSOgc
  2. Benedict Anderson, “Introduction,” in Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (New Edition) (London and New York: Verso, 2006), p. 6.
  3. ดู Slavoj Žižek อธิบายและให้ความหมายคำว่า ideology หรือ อุดมการณ์ ในบริบทสังคมปัจจุบันได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=_x0 eyNkNpL0 เริ่มจากนาทีที่ 04.00
  4. Matthew Sharpe and Geoff Boucher, “Žižek and the Radical-Democratic Critique of Ideology,” in Žižek and Politics: A Critical Introduction (Edinbergh : Edinbergh University Press, 2010), pp.42-43.
  5. ชิ เชคกล่าวถึงการทำงานเชิงอุดมการณ์ซึ่งสะท้อนผ่านพฤติกรรมของมนุษย์ยุค ปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างเรื่องปฏิกิริยาของพวกเราต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก เราต่างหลอกตัวเองโดยร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเล็กๆน้อยๆเพียงเพื่อ ไม่ให้รู้สึกแย่ต่อตัวเองหรือรู้สึกผิด ในขณะเดียวกันก็แสร้งปฏิเสธที่จะยอมรับอย่างจริงจังว่าหายนะทางสิ่งแวดล้อม โลกนั้นรุนแรงมากเกินกว่าที่การกระทำเล็กน้อยของพวกเราจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง ได้ ดูคลิปการบรรยายล่าสุด (เมษายน, 2554)ได้ที่ http://fora.tv/2011/04/04/Slavoj_Zizek_Catastrophic _But_Not_Serious เริ่มจากนาทีที่ 29.40
  6. Benedict Anderson, “Introduction,” p. 7.
  7. วัน ที่28 เมษายน 2554 หนึ่งเดือนกว่าหลังหายนะ ผู้เขียนเห็นข่าวการเสด็จเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยของจักรพรรดิและจักรพรรดินี เป็นครั้งแรก จากเนื้อหาพบว่า บางทีผู้เขียนอาจจะประเมินสถานะและคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ของจักรพรรดิต่ำไป โดยเฉพาะ เมื่อนักการเมืองไร้ประสิทธิภาพ จักรพรรดิมีโอกาสเป็นที่พึ่งจิตใจของเหยื่อได้ ตามที่คำสัมภาษณ์ของเหยื่อผู้ดีใจที่ได้พบผู้มาเยือนจากวังว่า “หากผมเจอนายกฯตอนนี้ ผมคงอยากจะชกหน้านายกฯไปแล้ว...ผมรู้ว่าเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ผมอยากจะบอกว่า จักรพรรดิเป็นเสมือนพระเจ้าสำหรับผม” ดูเนื้อหาข่าวรายละเอียดได้ที่ http://mdn.mainichi.jp/mdnnews/news/20110427p2g00m0dm002000c.html
  8. Michel Foucault, “Right of Death and Power over Life,” in History of Sexuality ( London: Penguin Books, 1976), p. 243.
  9. Michel Foucault, “Right of Death and Power over Life,” pp. 138-41.
  10. Michel Foucault, “Governmentality,” in The Foucault Effect: Studies in Governmentality, eds., Graham Burchell, Colin Gordon and Peter Miller (United Kingdom: Harvester Wheatsheaf, 1991), p. 97.
  11. ดูคำบรรยายเกี่ยวกับอำนาจสมัยใหม่ที่ฟูโกร์อธิบายไว้อย่างเข้าใจง่ายและตรงประเด็นได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=kawGakdNoT0 ตั้งแต่นาทีที่2เป็นต้นไป
  12. http://www.asahi.com/national/update/0328/TKY201103280468.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท