Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยในความสูญเสียของประชาชนทั้งสองฝ่ายกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและกัมพูชากรณีพื้นที่ชายแดน โดยจดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้ยุติการใช้อาวุธสงครามทันทีโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ยุติการใช้เขาพระวิหารเป็นเงื่อนไข เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายในของแต่ละฝ่าย ให้ใช้แนวทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยเคารพในสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทั้งสองประเทศจะต้องได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้ง รวมทั้งยื่นเรื่องให้ UNESCO ยืดเวลาการพิจารณาเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อลดทอนบรรยากาศความขัดแย้งและตึงเครียดของทั้งสองฝ่าย 0 0 0 จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เรื่องข้อเสนอแนะกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชาโดยเครือข่ายผู้หญิงฯ 4 พฤษภาคม 2554 สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและกัมพูชากรณีพื้นที่ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร จ. ศรีสะเกษ และที่บริเวณปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย จ.สุรินทร์และชายแดนจ.บุรีรัมย์ ที่ได้ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2554 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ มีผู้ที่สูญเสียชีวิต บาดเจ็บ จำนวนมาก คนชรา เด็ก และผู้หญิงต้องอพยพจากหมู่บ้านและที่พักอาศัย เพื่อหลบหนีภัยจากอาวุธสงครามที่ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กัน ประชาชนกว่า 40,000 ชีวิต ต้องตกอยู่ในสภาวะยากลำบากไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ได้ก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกเป็นอย่างยิ่ง เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรผู้หญิงจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีความห่วงใยในชีวิตของประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ต้องพลัดที่อยู่ บาดเจ็บ และสูญเสียชีวิต อันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งจากกรณีพิพาทบริเวณชายแดนดังกล่าว ทั้งที่ประชาชนทั้งสองฝ่ายเคยถ้อยทีถ้อยอาศัยและอยู่อย่างปกติสุขมายาวนาน จึงขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังนี้ -ยุติการใช้อาวุธสงครามทันทีโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ -ยุติการใช้เขาพระวิหารเป็นเงื่อนไข เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายในของแต่ละฝ่าย -ใช้แนวทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยเคารพในสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทั้งสองประเทศจะต้องได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามพันธสัญญาของกติการะหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกฎบัตรอาเซียนที่เน้นถึงการอยู่ร่วมเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีสันติภาพและความสงบสุข -สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งตามมติขององค์การสหประชาชาติที่ 1325 (UN Resolution No 1325) โดยรับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการของประชาชนและกลุ่มผู้หญิง ตลอดจนให้การเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น -ยื่นเรื่องให้ UNESCO ยืดเวลาการพิจารณาเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อลดทอนบรรยากาศความขัดแย้งและตึงเครียดของทั้งสองฝ่าย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฯพณฯ จะเร่งดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น เพื่อให้เกิดสันติภาพและสันติสุขแก่ประชาชนทั้งสองประเทศและในประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืนสืบไป ขอแสดงความนับถือ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ รายชื่อเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ มูลนิธิผู้หญิง กลุ่มหญิงสู้ชีวิต มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิศูนย์ธารทิพย์ สมาคมสตรีตาบอด กลุ่มผู้หญิงอันดามัน เครือข่ายสตรีภาคใต้ องค์การคนพิการสากล กลุ่มแรงงานทำงานบ้าน เครือข่ายภาคประชาชนกรุงเทพฯ เครือข่ายผู้ด้อยโอกาสชุมชนเมือง เครือข่ายประชาชนเขตภาษีเจริญ กลุ่มแรงงานนอกระบบหนองจอก สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสิทธิผู้หญิง สมาคมเพื่อความก้าวหน้าคนตาบอด เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย มูลนิธิเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กเครือข่ายแม่หญิงล้านนา เชียงใหม่ เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม ศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี มูลนิธิเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมอาสาสมัครกฎมายเพื่อผู้หญิง ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มด้วยใจ กลุ่มครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net