Skip to main content
sharethis

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนโต้ปลัดแรงงานสร้างวาทกรรมผิดๆ จงใจให้ร้ายกล่าวหาต้องการเงิน สปส.ไปรวมกับบัตรทอง ย้ำชัดเงินกองทุน สปส.เป็นเงินสมทบ 3 ฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ จะเอาไปรวมกับบัตรทองไม่ได้ แจงข้อเรียกร้องคือให้นำเงินสมทบรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 1% ไปรวมกับบำนาญชราภาพ และให้รัฐดูแลสิทธิสุขภาพผู้ประกันตนเหมือนที่ดูแลประชาชนกลุ่มอื่น ชี้ข้อหาสร้างนิสัยรับของฟรี ทำประชาชนเป็นขอทานเท่ากับดูถูกประชาชน ระบุหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดการให้ประชาชน ไม่ใช่มองว่าทำให้ประชาชนเป็นขอทาน จี้หยุดให้ร้ายโจมตีสร้างความเข้าใจผิด แล้วมาหารืออย่างจริงใจดีกว่า นางสาวสารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า การที่ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกการร่วมจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพในระบบประกันสังคมนั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะเอาเงินของกองทุนประกันสังคม ( สปส.) มารวมกับ สปสช. การที่ปลัดแรงงานพูดเรื่องนี้ซ้ำๆเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง และขยายความเข้าใจผิดไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ในฐานะผู้ประกันตนคนหนึ่งตระหนักดีว่านี่เป็นเงินสมทบของลูกจ้างทุกคนที่ไม่ควรไปรวมอยู่ในกองทุนไหนทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เรียกร้อง เกิดมาจากข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบสำหรับการรักษาพยาบาลให้กับตัวเองอยู่ ทั้งที่กลุ่มอื่นรัฐบาลรับผิดชอบให้หมด แล้วการที่เรียกร้องให้มียกเลิกการจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพ 1% ในแต่ละเดือนนั้น ก็ระบุชัดเจนว่า เอา 1% ตรงนี้ไปเพิ่มสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพจะมีประโยชน์กับผู้ประกันตนเมื่อยามเกษียณมากกว่า นั่นคือเรายังจ่ายเท่าเดิม นายจ้างและรัฐก็สมทบเท่าเดิม แต่ส่วนที่กัน 1% เพื่อไปใช้สำหรับรักษาพยาบาลนั้นเอาไปเพิ่มบำนาญชราภาพ ส่วนสิทธิสุขภาพของเราให้รัฐบาลดูแล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้สมกับการที่ประชาชนทุกคนเสียภาษีให้รัฐทุกวัน ในนามของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ vat 7% ดังนั้นขอให้สบายใจได้ว่า ไม่ใช่การยึดกองทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน เรากำลังพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมของสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญอยู่ โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า การให้รัฐดูแล ก็ไม่ใช่การสร้างนิสัยรับของฟรี หรือพูดไปไกลว่าเหมือนประชาชนเป็นขอทาน ทำให้คนชอบของฟรี พวกไม่จนก็อยากจนจะได้ไปใช้บริการ จากที่เคยดูแลตัวเองได้ต้องกลายไปเป็นขอทาน เป็นการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง นี่เป็นการสร้างวาทกรรมที่ดูถูกประชาชน สิทธิสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นหลักประกันที่รัฐต้องดูแลประชาชน หากบอกว่าสร้างนิสัยรับของฟรี แล้วจะอธิบายอย่างไรกับกลุ่มประเทศแถบยุโรปที่มีหลักประกันสุขภาพดูแลประชาชนมาหลายสิบปี และเราก็ยกย่องต้องการให้ประเทศไทยดูแลสวัสดิการประชาชนแบบนั้นบ้าง แม้แต่ประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน.... ก็มีหลักประกันสุขภาพเพื่อดูแลประชาชน โดยที่ไม่เคยมองว่าเป็นการสร้างนิสัยรับของฟรีและทำให้ประชาชนกลายเป็นขอทาน “ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนที่ไทยกำลังจะมีหลักประกันสุขภาพ ข้อหาแบบนี้ก็ถูกใช้โจมตีหลักประกันสุขภาพในนามของ 30 บาทรักษาทุกโรคมาตลอด จนถึงปัจจุบัน และเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ย่อมต้องมีคนได้ประโยชน์และคนที่เสียประโยชน์ แต่หลักประกันสุขภาพประชาชนทั้งหมดได้ประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์เป็นกลุ่มที่เคยเสวยสุขกับระบบเก่าที่ประชาชนต้องล้มละลายเพราะกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ข้อกล่าวหาของกลุ่มนี้คือการห่วงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง แต่ไม่เคยสนใจประโยชน์ของประชาชน ถามว่าระบบแบบนี้อยากให้เกิดกับประเทศไทยอีกหรือ ทำไมไม่หยุดการใช้คำพูดให้ร้ายมาโจมตีกันอย่างที่ท่านพูดว่ามันเป็นวิชามาร ซึ่งท่านก็กำลังทำอยู่ขณะนี้ แล้วหันหน้ามาหารือกันด้วยความจริงใจไม่ดีกว่าหรือ”นางสาวสารี กล่าว ด้านดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลระหว่างบัตรทองกับประกันสังคมนั้น บอกชัดเจนว่าเปรียบเทียบเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น ส่วนสิทธิด้านอื่นๆที่ สปส.มีเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชมอยู่แล้ว และในการเปรียบเทียบก็เปรียบแต่ละรายการว่าดำเนินการอย่างไร มีทั้งอันที่ สปส.ดีกว่าบัตรทอง และอันที่บัตรทองดีกว่า สปส. แต่โดยรวมแล้ว บัตรทองดีกว่า การที่ สปส.พูดว่าสิทธิประโยชน์บางประการของ สปส.บางอันดีกว่าบัตรทอง ก็เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ไม่ใช่ชี้นำประเด็นว่าเป็นการจงใจให้ข้อมูลด้านเดียว เพราะผลการศึกษาบอกตลอดว่า แต่ละด้านเป็นอย่างไร และเมื่อเร็วๆนี้ สปส.ก็ยังปรับปรุงสิทธิประโยชน์การแพทย์ในข้อที่ผลการศึกษาบอกว่าด้อยกว่าบัตรทองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอดส์ ไต มะเร็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่การจงใจพูดให้ร้ายว่าทำไมเรื่องที่ดีกว่าไม่พูดถึง ซึ่งการเปิดผลการศึกษาก็นับว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งที่ทำให้ สปส.พัฒนาสิทธิประโยชน์การแพทย์บางรายการ หลังจากที่ไม่เคยสนใจพัฒนามาหลายปี แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลอยู่กลุ่มเดียวเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net