นิวยอร์กไทม์รายงาน กรณีสมศักดิ์ เจียมฯ ถูกกองทัพบกฟ้องด้วยมาตรา 112

โทมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทม์ รายงานกรณีที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกกองทัพบกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระบุเป็นการฟ้องร้องภายใต้ภาวะตึงเครียดทางการเมืองของไทย อันเกี่ยวเนื่องจากความเห็นที่แตกแยกในสังคมไทยในประเด็นสำคัญสองประการคือ บทบาทของสถาบันกษัตริย์และบทบาททหารในการเมืองไทย มีรายละเอียดดังนี้.... กรุงเทพฯ: เป็นเวลาเกือบ 17 ปีที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้เขียนงานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยจากมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นที่ๆ ปลอดภัยแห่งหนึ่ง แต่เมื่อวันพุธ สมศักดิ์ต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ และเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจล 50 นาย พร้อมกับเสียงตะโกนให้กำลังใจจากผู้สนับสนุนที่บอกว่า “สู้! สู้!” สมศักดิ์โดนกล่าวหาจากกองทัพไทยซึ่งมีอำนาจว่าละเมิดกฎหมายที่ห้ามไม่ให้กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรงและมีโทษจำคุกมากถึง 15 ปี คดีของสมศักดิ์เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ในสภาวะที่ความเคารพนับถือของชาวไทยต่อสถาบันกษัตริย์อยู่ในสภาพขึ้นๆ ลงๆ และมีผู้กล้าพอที่จะตั้งคำถามต่อการรายงานข่าวเรื่องชู้สาว และความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กับทหาร เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตของการเมืองที่แบ่งแยก ยุคที่ทหารครองเมือง และยุคที่ประชาชนต่างกังวลถึงพระพลานามัยที่ทรุดโทรมลงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระชนมพรรษา 83 พรรษา และเป็นสัญลักษณ์สำคัญสุดของเอกภาพของคนในชาติ สมศักดิ์เป็นรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติมากสุดแห่งหนึ่งของประเทศ เมื่อปีที่แล้วเขาได้เขียนบทความซึ่งอาจเทียบได้กับข้อเสนอ 95 ข้อ (95 Theses) ของมาร์ติน ลูเธอร์ (ที่นำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของนิกายโปรเตสแตนต์) ซึ่งท้าทายต่อรูปแบบของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ของไทย ผู้สนับสนุนสมศักดิ์บอกว่า พวกเขาไม่พอใจที่ทหารเป็นฝ่ายแจ้งข้อกล่าวหาต่ออาจารย์ พวกเขามองว่าข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นการคุกคามทางการเมืองอย่างหนึ่งในช่วงที่เข้าใกล้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม ทหารมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาอย่างยาวนาน บรรดานายพลที่กราดเกรี้ยวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 18 ครั้งรวมทั้งการยึดอำนาจเมื่อห้าปีก่อน คราวนี้บรรดานายพลอาวุโสทั้งหลายเริ่มสยายปีกอีกครั้ง นอกจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสมศักดิ์แล้ว กองทัพบกยังได้จัดการเดินสวนสนามพร้อมอาวุธหนักภายนอกฐานทัพถึงสามครั้งในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หรือที่สื่อมวลชนไทยเรียกว่าเป็น “การตบเท้า” กองทัพบกยังเป็นเจ้าของแผนการรณรงค์มูลค่า 240 ล้านบาทซึ่งเป็นงบจากรัฐบาลไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อ “ปกป้องสถาบันฯ” เสียงทางการเมืองที่เป็นเอกฉันท์จากการอุดหนุนของพระมหากษัตริย์ในช่วงกว่าหกทศวรรษในราชบัลลังก์ เริ่มแตกกระจายในช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ ประเทศแบ่งขั้วเป็นทั้งฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์ระบบโครงสร้างลดหลั่นแบบเดิม กับผู้ที่ต้องการทำลายอิทธิพลอำนาจของบรรดาชนชั้นนำ ทั้งที่เป็นบรรดานายทุนขุนศึก บรรดาข้าราชการ และข้าราชบริพารทั้งหลาย แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งในรอยปริแยกมากมายของสังคมไทย ไม่นับความแบ่งแยกระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ความแตกแยกเนื่องจากความภักดีต่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม และนักการเมืองบางคน ความแตกแยกในสังคมร้าวลึกยิ่งขึ้นอันเป็นผลมาจากการที่ทหารปราบปรามการชุมนุมประท้วงต่อรัฐบาลอย่างรุนแรงที่กรุงเทพฯ อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 90 คน ในท่ามกลางความโกลาหลทางการเมือง มีสัญญาณหลายประการที่บ่งชี้ว่าราชวงศ์ที่เคยได้รับความเคารพนับถือและความจงรักภักดีอย่างเหนียวแน่นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มตระหนักว่าความชื่นชมเหล่านี้ได้เสื่อมคลายลง หรืออาจถึงขั้นรู้สึกถูกคุกคาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ พระราชธิดาองค์เล็กของพระเจ้าอยู่หัวให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า คนไทยยังไม่ซาบซึ้งดีพอถึงการทำงานหนักของพระราชวงศ์ โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัว “ข้าพเจ้ากังวลว่าคนรุ่นใหม่ อย่างเช่นวัยรุ่นที่มีอายุประมาณ 20 ปีไม่ค่อยทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทำอะไรมาบ้าง” พระองค์ตรัสในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ แต่ละค่ำคืนสถานีโทรทัศน์ไทยที่เป็นของรัฐต่างเสนอข่าวในพระราชสำนัก เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจในแต่ละวัน แต่เจ้าฟ้าหญิงฯ เสนอว่าให้แต่ละสถานีเพิ่มเวลาอีกคืนละ 10 นาทีเพื่อเน้นย้ำให้เห็นพระราชกรณียกิจอันมีคุณค่าของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี “โปรดเห็นใจพระองค์” เจ้าฟ้าหญิงฯ ตรัสต่อผู้สัมภาษณ์ซึ่งเริ่มมีน้ำตานองหน้า “พระองค์ทำงานอย่างทุ่มเทให้กับคนไทย ทั้งสองพระองค์ต่างใส่ใจต่อคนไทยมาก” ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อกล่าวหาต่อสมศักดิ์ ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทำงานศึกษาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และอยู่รอดปลอดภัยมาจนวันนี้ แต่เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธว่า ข้อกล่าวหาในครั้งนี้เกี่ยวโยงกับ “จดหมายเปิดผนึก” สองฉบับที่เขาเขียนและเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตภายหลังการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของเจ้าฟ้าหญิงฯ ในจดหมายดังกล่าว สมศักดิ์ได้วิจารณ์เจ้าฟ้าหญิงฯ ในแง่ที่ทรงไปร่วมงานศพของผู้ประท้วงที่จงรักภักดีต่อสถาบันเมื่อปี 2551 แต่ในการประทานสัมภาษณ์พระองค์กลับไม่ตรัสถึงการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจากการปราบปรามของทหารเมื่อปีที่แล้วเลย สมศักดิ์กล่าวว่า เขาเชื่อว่าตนเองคงไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดนั้น ให้ความคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท เมื่อเดือนมกราคม 2553 อ.สมศักดิ์ได้เผยแพร่ข้อเสนอแปดประการเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทยทางเว็บไซต์ ในบรรดาข้อเสนอต่าง ๆ เขาได้เสนอให้ยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญซึ่งกล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์ที่อยู่ “ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” และให้ยกเลิก “การประชาสัมพันธ์และการให้ความรู้ด้วยข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์” เขาสนับสนุนการยกเลิกคณะองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับการยกเลิกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งคอยบริหารจัดการธุรกิจมากมายของพระเจ้าอยู่หัว เขายังเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คนไทยจำนวนมากเริ่มมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ต่อการนำเสนอข่าวในลักษณะแซ่ซ้องสรรเสริญราชวงศ์เพียงถ่ายเดียว ไม่ว่าจะในทางโทรทัศน์ หรือที่ผ่านภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ หรือในโรงภาพยนตร์ นักกิจกรรมคนหนึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2551 เพราะปฏิเสธที่จะยืนขึ้นในโรงภาพยนตร์ระหว่างการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทำกันจนเป็นประเพณีตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป การแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นไปในทางลบหลู่สถาบันทางอินเตอร์เน็ตก็ถูกปิดกั้นโดยหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเหมือนเกมแมวจับหนู แต่ไม่มีใครทราบถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคนในประเทศทั้งหมด เพราะไม่เคยมีการสำรวจความเห็นในเรื่องนี้ เราอาจคาดเดาถึงทัศนคติของสังคมต่อสถาบันกษัตริย์ได้จากจำนวนของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้น ในแต่ละปีมีคดีหมิ่นฯ ที่ฟ้องร้องต่อศาลกว่า 100 คดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงสิบปีก่อนหน้านี้ จำนวนคดีหมิ่นฯ ในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 10 คดีเท่านั้น ทั้งนี้ตามข้อมูลของกลุ่มรณรงค์มาตรา 112 ซึ่งต่อต้านการใช้กฎหมายฉบับนี้ ข้อมูลนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการใช้กฎหมายฉบับนี้ในลักษณะที่คุกคามมากขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ส่วนนายพลระดับสูงอีกสองท่านก็ปฏิเสธเช่นกัน ก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเดินหน้าปราบปรามการจาบจ้วงสถาบันฯ ในสังคมไทย “กองทัพบกมีหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักทั้งสามอันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” เขากล่าวเมื่อปีที่แล้วก่อนจะขึ้นเป็นผบ.ทบ.ไม่นาน เมื่อเดือนที่แล้วตอนที่ผู้สื่อข่าวถามถึงภัยคุกคามต่อสถาบัน เขาได้กล่าวประณาม “นักวิชาการที่คงสติไม่ดีหรือบ้า” สมศักดิ์เชื่อว่าผบ.ทบ.กล่าวถึงตัวเขา และเขารู้สึกอึดอัดที่ประชาชนไม่สามารถพูดอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ “มันขัดกับหลักประชาธิปไตย ขัดกับสามัญสำนึกด้วยซ้ำ” สมศักดิ์กล่าวในการให้สัมภาษณ์ “เป็นไปไม่ได้ที่สถาบันกษัตริย์จะถูกต้องตลอดเวลา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท