Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เรียกคนเสื้อแดงว่าเป็น “คนยากจน หรือคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเพียงพอ” [1] ส่วน ส.ส.แห่งพรรคประชาธิปัตย์ผู้หนึ่งพูดถึงเสื้อแดงอีสานว่า เป็นได้แค่คนรับใช้และเด็กปั๊ม แปลไทยเป็นไทยได้ว่า คนเสื้อแดงในทัศนะของทั้งสอง คือคนต่างจังหวัดต่ำชั้น ซึ่งถ้าไม่เป็นคนจนก็เป็นคนโง่ หากแปลเป็นภาษาแห่งการดูแคลน การชุมนุมของคนเสื้อแดงก็คือ “ม็อมเติมเงิน” กล่าวได้ว่ามุมมองต่อ “ชาวบ้าน” เช่นนี้เป็นมุมมองมาตรฐานของชนชั้นกลางชาวเมือง พูดอีกอย่าง คนชั้นกลางในเมืองใหญ่ยังคงมองชนบทในแบบ “โง่-จน-เจ็บ” ผู้ไม่มีสำนึกทางการเมืองเป็นของตนเอง อันเป็นภาพซึ่งถูกแช่แข็งมาหลายสิบปีแล้ว ทัศนะแบบ “โง่-จน-เจ็บ” กลายเป็นสมมุติฐานสำคัญในการสร้าง “ทฤษฎี” สองนัคราประชาธิปไตยอันโด่งดังของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ในปี 2537 ซึ่งมีข้อสรุปว่า คนชนบทเป็นแค่ฐานเสียง แต่ไม่ใช่ฐานนโยบาย [2] ในขณะที่คนเมืองเป็นฐานนโยบายของนักการเมือง และจากจำนวนที่มากกว่ามากของคนชนบท เขาจึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล (ฐานเสียง) ส่วนคนเมือง (ฐานนโยบาย) เป็นผู้ล้มรัฐบาลผ่านสื่อ หรือการประท้วง ข้อสรุปนี้สร้างจากข้อสมมุติว่า เนื่องจากคนชนบทเป็นคน “โง่-จน-เจ็บ” การออกเสียงเลือกตั้งจึงไม่ได้คิดแบบ “เสรีชน” เช่นคนเมือง แต่เป็นเรื่องของผู้น้อย “ที่ใช้การลงคะแนนเสียงเป็นการเลือกว่าจะเชื่อมโยงตนเองและชุมชนเข้ากับเจ้านายหรือสายอุปภัมภ์สายใด” [3] ดังนั้นชนบทจึงเป็นแค่ฐานเสียงไม่ใช่ฐานนโยบาย สาเหตุที่ชนบทในทัศนะของเอนกอยู่ภายใต้การอุปภัมภ์เกิดจากการที่ชนบทถูกทอดทิ้งจากรัฐ ปล่อยให้ภาคชนบทอันเท่ากับภาคเกษตรกรรมซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเมืองมากล้าหลังและมีพลังการผลิตต่ำ ดังนั้นจึงยากจน พึ่งตัวเองไม่ได้ และต้องเข้าสังกัดสายอุปภัมภ์ใดสายหนึ่ง โดยแลกคะแนนเสียงกับเงินหรือความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งจากนักการเมือง มุมมองของเอนกข้างต้น สร้างขึ้นจากภาพชนบทในทศวรรษ 2523 เช่นเดียวกับนักวิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องเจ้าพ่อและการซื้อเสียงในชนบท เราอาจยอมรับได้ว่า ทัศนะข้างต้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของชนบทในทศวรรษนั้น แต่ตลกร้ายก็คือ ในขณะที่เอนกเขียน “สองนัครา” ในปี 2537 นั้น ชนบทกลับกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิชาการทั้งหมดมองไม่เห็น ในช่วงนั้น แรงเหวี่ยงของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้นักวิชาการพุ่งความสนใจไปสู่การศึกษาบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลาง การศึกษาชนบทเองกลับถูกละเลยจากนักวิชาการทั้งหลาย ทศวรรษ 2523 เป็นช่วงที่การประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจเริ่มลงตัว กลายเป็นระบอบ ประชาธิปไตยครึ่งใบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งนิธิเห็นว่าเป็น “ระบอบเลือกตั้งที่มีการกำกับโดยกองทัพร่วมกับชนชั้นนำตามจารีต เข้ามาร่วมกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลโดยลับๆ หรือโดยเปิดเผย คือก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่” การเลือกตั้งระดับชาติ [4] จึงเกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอนี้จึงทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่สนามเลือกตั้งทั้งหลาย คุ้มค่าที่จะสร้างสายอุปภัมภ์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนในหลายมิติและในระยะยาวขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับผู้มีสิทธิลงคะแนน ในอีกทางหนึ่ง ชาวชนบทก็ตระหนักดีว่า คะแนนเสียงของตนไม่สามารถแปลเปลี่ยนเป็นนโยบายระดับมหภาคที่ “กินได้” ดังเช่นที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลัง พ.ศ.2544 มันจึงสมเหตุสมผลมากที่เขาจะยอมแลกคะแนนเสียงของตัวเองกับ โครงการพัฒนาระดับท้องถิ่นที่ ส.ส.ดึงมาลงเขตเลือกตั้งของตัวในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง และเงินสดๆ ในช่วงการหาเสียง สิบปีหลังจากกำเนิดของ “สองนัครา” อัมมาร สยามวาลาได้ทบทวนอดีตและมองอนาคตของภาคเกษตร แล้วสรุปว่า ชนบทไทย “จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ค่อยๆ ดีขึ้น สมการที่เป็นสมมติฐานหลักของการเมืองไทยคือ ชนบท = เกษตรกรรม = ความยากจน น่าจะเป็นจริงน้อยลง อย่างน้อยก็ในส่วนที่ระบุว่าเป็นชนบทหรือเกษตรกรแล้วต้องยากจน” [5] เนื่องจากตั้งแต่ทศวรรษ 2533 เป็นต้นมานั้น แรงงาน (หนุ่มสาวอายุ 15-34 ปี) จากภาคเกษตรและชนบทไหลออกในอัตราเร่งในช่วง 2532-2541 สู่เมือง และส่วนใหญ่สู่โรงเรียน เมื่อย้ายออกแล้วหนุ่มสาวจำนวนมากกว่า 3.5 ล้านคนเหล่านี้จะไม่หวนกลับไปทำงานในภาคเกษตรอีก ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เกษตรกรจึงต้องหันมาใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทนแรงงานอย่างกว้างขว้าง พร้อมๆ ไปกับการใช้แรงงานรับจ้าง ในทางสังคม กิจกรรมการเกษตรจึงเลิกเป็นกิจกรรมแบบครอบครัว กล่าวอีกแบบคือ สังคมชนบทไทยเลิกเป็นสังคมชาวนาแล้ว (no longer a peasant society) แต่แตกตัวออกเป็นสองกลุ่มย่อยคือ กลุ่มมืออาชีพหรือเกษตรพาณิชย์ และกลุ่มดั้งเดิมหรือเกษตรพอเพียง โดยกลุ่มแรกจะมีอายุน้อยกว่า ใช้เทคนิคการผลิตสมัยใหม่ เข้าใจและรับมือกับความผันผวนของตลาดได้ และขนาดของไร่นามีแนวโน้มที่จะใหญ่ขึ้นด้วย เนื่องจากเขาก้าวข้ามข้อจำกัดของแรงงานครอบครัวด้วยเครื่องจักรและลูกจ้าง พวกมืออาชีพจะมีรายได้สูงกว่าระดับเฉลี่ยของเกษตรกรในปัจจุบันมาก และจะกลายเป็นกลุ่มหลักของภาคเกษตร ส่วนกลุ่มที่สองนั้น จะเป็นคนสูงอายุที่ลูกหลานย้ายออกไปแล้ว อาศัยเงินส่งกลับของลูกหลานจากนอกภาคการเกษตร ส่วนตัวเองก็ทำการเกษตรแบบพอยังชีพ และจะมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ การแยกตัวของภาคเกษตรออกจากสังคมชาวนายังแสดงออกด้วยความหลากหลายของอาชีพใหม่ๆ ในชนบท เช่นรับเหมาก่อสร้าง ตัดผม เสริมสวย ค้าปลีก ขายอาหารสำเร็จรูป ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์หรือเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งในอดีตไม่สามารถมีได้เพราะอุปสงค์ไม่เพียงพอ ดังนั้น ไม่เพียงแต่สัดส่วนของเกษตรกรจะลดลงเมื่อเทียบกับประชากรไทยทั้งหมดเท่านั้น แต่ลดลงเมื่อเทียบกับประชากรในชนบทเองด้วย หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2553 นี้เองที่ Keyes เสนอบทความ “From Peasant to Cosmopolitan Villagers: Refiguring the ‘Rural’ in Northern Thailand” ที่ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงในรอบห้าสิบปีของหมู่บ้านหนองตื่น อ.เมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสอดรับกับภาพของอัมมารอย่างมาก กล่าวคือ Keyes พบว่าในปี 2548 นั้น ไม่มีครอบครัวใดในหมู่บ้านนี้ปลูกข้าวเพื่อขายอีกต่อไป แต่เป็นการปลูกเพื่อบริโภคเองในครอบครัวขยายของตนเพื่อลดความเสี่ยงเท่านั้น [6] ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งมีพี่น้องสี่คน ชายสองหญิงสอง ลูกชายทั้งสองและสามีของลูกผู้หญิงคนหนึ่งทำงานขับเท๊กซี่ในกรุงเทพ ส่วนลูกผู้หญิงคนสุดท้ายยังคงอยู่ในหมู่บ้าน ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งสี่ครอบครัว โดยใช้เทคนิกการปลูกข้าวแบบใช้ทุนเข้มข้นในทุกขั้นตอนการผลิต [7] ส่วนทั้งสามคนในเมืองก็ส่งเงินกลับไปเป็นทุน และลงแรงไปช่วยทำนาเป็นครั้งคราว ในแง่นี้จึงไม่แปลกที่คนขับเท๊กซี่ผู้นี้จะเรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวบ้าน” หรือ “ชาวนา” ทั้งๆ ที่รายได้เกือบทั้งหมดของเขามาจากนอกภาคการเกษตร เช่นเดียวกับคนที่หมู่บ้าน Keyes เสนอต่อไปว่า การอพยพออกจากภาคการเกษตรมาสู่เมืองในช่วงแรก ตามด้วยการไปทำงานต่างประเทศในช่วงหลัง โดยเริ่มจากแรงงานชาย ตามด้วยผู้หญิงในยุคต่อมา สร้างประสบการณ์ทำงานต่างถิ่นให้แก่ชาวบ้าน ประกอบกับการขยายตัวด้านการศึกษาและความแพร่หลายของสื่อสารมวลชน ทั้งหมดนี้ได้ทำให้โลกทัศน์ของ “ชาวบ้าน” เปลี่ยนไปมาก คนชนบททุกวันนี้จึงเป็น “ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง” (cosmopolitan villagers) ซึ่งห่างไกลยิ่งนักจากภาพชาวบ้าน-ชาวนาแบบเศรษฐกิจพอยังชีพ ซึ่งมีลักษณะ โง่-จน-เจ็บ อย่างที่เป็นในทศวรรษ 2493 จากบทความของอัมมารและ Keyes เราอาจสรุปได้ว่า สังคมชนบทไทยมิได้เป็นสังคมชาวนาอีกต่อไป แม้ว่าเขายังคงเรียกตัวเองว่า ชาวบ้านหรือชาวไร่-ชาวนาเช่นเดิม แต่เราอาจจะสรุปภาพสังคม “หลังชาวนา” ในปัจจุบันได้ว่า เป็นสังคมที่ผู้คนมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในภาคเกษตรหรือนอกภาคเกษร คนเหล่านี้มีรายได้สูงขึ้น และมีแหล่งรายได้หลักจากงานนอกภาคเกษตรกรรม เข้าถึงสื่อ เช่นโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถืออย่างทั่วถึง ลูกหลานมีการศึกษาสูงขึ้น รวมทั้งมีแบบแผนการบริโภคไม่แตกต่างจากคนเมือง คนกลุ่มนี้คือสิ่งที่นิธิเรียกว่า “ชนชั้นกลางระดับล่าง” หรือ “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” [8] แต่คนเหล่านี้ ล้วนขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เช่นไม่ได้อยู่ในอาชีพที่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคม ดังนั้น “คนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมือง เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่เป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่การร้องทุกข์ทางเศรษฐกิจ หรือร้องขอการอุปถัมภ์จากรัฐ” [9] ดังที่ช่างเฟอร์นิเจอร์เสื้อแดงหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า “(เมื่อก่อน) พึ่งพานโยบายรัฐน้อย หมดหน้าข้าวก็ต้องปลูกแตง ปลูกอย่างอื่นต่อ วนๆ กันไป ไม่ได้คิดถึงนโยบายของรัฐ คิดว่าต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก เมื่อก่อนยังมีที่ดินทำกินอยู่ แต่พอที่ดินไม่มี เราก็ต้องพึ่งพิงนโยบายรัฐมากขึ้น และรู้สึกว่าการเลือกตั้งสำคัญกับตัวเองมากขึ้น” [10] ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งระดับชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ทศวรรษที่ 2523 และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหลังปี 2542 ซึ่งกำหนดโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทำให้โดยปกติแล้วท้องที่หนึ่งๆ จะมีการเลือกตั้งในทุกระดับประมาณ 5-6 ครั้งต่อสี่ปี ไม่ว่ากระบวนการเลือกตั้งจะ “บริสุทธิ์ยุติธรรม” มากน้อยเพียงใดก็ตาม คงกล่าวได้ว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยในแง่มุมที่ว่า ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองของตน ได้กลายเป็นสำนึกของชาวบ้านแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลไทยรักไทยไปแปรเปลี่ยนคะแนนเสียงของชาวบ้านเป็นประชาธิปไตย “ที่กินได้” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ในปี 2544 ในรูปของนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน การรับจำนำพืชผล ซึ่งสอดรับกับความต้องการของชาวบ้านอย่างยิ่ง เนื่องจากโครงการเหล่านี้ลดความไม่มั่นคงในชีวิติทางเศรษฐกิจแบบอิงตลาดอย่างแนบแน่นของเขาลง ในสายตาของชาวบ้าน การรัฐประหาร 2549 จึงเป็นการปลดผู้บริหารที่เขาเป็นผู้แต่งตั้งด้วยวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง ในแง่นี้เป้าหมายเริ่มต้นของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือการปกป้องประชาธิปไตยที่กินได้ของเขา จึงไม่แปลกเลยที่การรัฐประหารครั้งล่าสุด จะไม่สามารถรื้อฟื้นระเบียบทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้ดังเช่นการรัฐประหารในอดีต เนื่องจากชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือเสียงส่วนใหญ่ของสังคมในปัจจุบัน เกิดสำนึกใหม่ทางการเมือง เขาเห็นว่าตนเป็นพลเมือง เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางอำนาจที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง เขาไม่ใช่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอีกต่อไป เขาเรียกร้องต้องการสิทธิ์-เสียงที่เท่าเทียมกับชนชั้นสูง-กลาง การรัฐประหารและความอยุติธรรมทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาในสายตาของพวกเขาแล้ว จึงเป็นความพยายามของชนชั้นนำที่จะตัดสิทธิ์-ปิดพื้นที่ทางการเมือง และทำให้เขากลับไปเป็นไพร่ฟ้าเช่นเดิม ดังเช่นที่ เสื้อแดงมอเตอร์ไซต์รับจ้างท่านหนึ่ง อธิบายถึงสาเหตุที่ตนออกมาต่อสู้ว่า “ทุกวันนี้พวกผมมองว่ามันไม่มีสิทธิเสรีภาพ อย่างคนในมหาวิทยาลัยมองว่ามีเสรีภาพ เพราะพวกเค้า (ตำรวจ) ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียงด้วย แต่คนอย่างพวกผมไม่มีเสรีภาพ บางทีตำรวจก็มาขอเหล้าลังหนึ่ง ถ้าไม่ให้มันก็มาจับอีก บอกว่าไม่ใส่หมวกกันน็อกบ้าง รองเท้าไม่เรียบร้อยบ้าง ถ้าอย่างอาจารย์มหาลัย ไปขอเหล้าขวดหนึ่ง ตายเลยตำรวจคนนั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมันเยอะ ความกดดันของคนจนมันเยอะ พอมีหนทางออกมาต่อสู้ก็ต้องออกมา พอถึงจุดๆหนึ่งโดยยิงตายเยอะ มันเอาจริง ก็หลบก่อน แต่วันหนึ่งลุกฮือก็ไม่แน่” โดยรวมแล้ว อาจสรุปได้ว่าทัศนะประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงนั้น มีจุดเน้นอยู่ที่อำนาจทางการเมืองสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ต้องมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำต้องเคารพผลการเลือกตั้ง ต้องไม่แทรกแซงการเมืองผ่านใช้อำนาจนอกระบบ ดังที่ชาวบ้านเสื้อแดงอีกผู้หนึ่งนิยามประชาธิปไตยว่า “ต้องมาจากประชาชนโดยตรง ตราบใดที่ต้องให้ (ผู้มีอำนาจ) คอยอนุญาต มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีสิทธิในการเลือกผู้นำของเรา ถ้าไม่ดีก็ว่ากันไป ต้องไม่ถูกรัฐประหารไล่คนของเราออก” ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ภาพชาวบ้านแบบโง่-จน-เจ็บ และตกอยู่ใต้ระบบอุปภัมถ์ของนักการเมือง ซึ่งเป็นภาพมาตรฐานของคนชั้นกลางเก่าในเมือง ดังเช่นที่กล่าวอ้างโดยเจิมศักดิ์ ปิ่นทองข้างต้นนั้น จึงเป็นภาพที่ฉายขึ้นเพื่อที่จะปฎิเสธความเป็นพลเมืองของคนเสื้อแดง เราต้องพยายามเขาใจว่า ณ ขณะนี้เขาไม่ได้ร้องขอความจุนเจือแบบสังคมสงเคราะห์จากชนชั้นนำ แต่เขาต่อสู้เพื่อหาความเท่าเทียมทางการเมือง เพื่อสิทธิ์-เสียงที่เท่าเทียม เพื่อเป็นกลไกที่จะแก้ไขโครงสร้างสังคม-เศรษฐกิจอยุติธรรมที่เขาพบเจอมาตลอดชีวิตต่างหาก ในแง่นี้ความพยายามที่จะปฎิรูปความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หากยังไม่ยอมรับความเท่าเทียมของความเป็นพลเมืองของชาวบ้าน จึงยากที่จะสำเร็จโดยพื้นฐาน อ้างอิง อ้างใน Keyes, C. “From Peasant to Cosmopolitan Villagers: Refiguring the ‘Rural’ in Northern Thailand” บทความเสนอในการบรรยายพิเศษ จัดโดยโครงการปริญญาเอก ภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 15 พ.ย. 2553. เพื่อความเป็นธรรมกับเอนก เขาพูดถึง “จน-เจ็บ” แต่ไม่ได้มองว่าชาวบ้านโง่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2538) สองนัคราประชาธิปไตย กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน. น. 8 นิธิ เอียวศรีวงศ์ “พื้นที่การเมืองที่ปิดไม่ลง” มติชนออนไลน์, 2010-11-30, 10:51. อัมมาร สยามวาลา “ชราภาพของภาคเกษตร: อดีตและอนาคตของชนชทไทย” บทความเสนอในที่สัมมนาวิชาการประจำปี 2547 เรื่อง เหลียวหลังแลหน้า: ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วันที่ 27-28 พฤศจิกกยน 2547 หน้า 11. (social insurance) พูดอีกแบบคือ ไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะผันผวนอย่างไร ครอบครัวตนอย่างน้อยก็จะมีข้าวกิน อ้างแล้ว หน้า 15-16 จากการสำรวจขั้นต้น เราพบว่าคนเสื้อแดงแถบนครปฐมมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวถึงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์มาก นิธิ อ้างแล้ว ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ม.ค. 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net