การเลือกตั้งเท่ากับการเลือกนอมินี?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พรรคเพื่อไทยจะต้องแสดงให้เห็นนโยบายที่ชัดเจนในทุกเรื่องว่า เลือกยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยแล้ว ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะถูกแก้ไขอย่างก้าวหน้าไปบนวิถีทางประชาธิปไตยด้วยพร้อมๆ กันไปได้อย่างไร เป็นความจริงว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น “นอมินี” ของคุณทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทยก็คือนอมินีของคุณทักษิณ แต่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่นอมินีของระบบอำมาตย์หรือ? แทบทุกพรรคการเมืองที่เหลือไม่ใช่นอมินีของนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือ? และหากจะว่าไปแล้ว ก็พวกที่ออกมาโจมตีนอมินีนั่นแหละครับที่เป็นสาเหตุให้เกิด “ปรากฏการณ์นอมินีทางการเมือง” อย่างที่เป็นอยู่ หากพันธมติรจำกัดบทบาทการตรวจสอบให้อยู่ภายใต้กรอบหรือกติกาตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปฏิเสธการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง และอำมาตย์ไม่ทำรัฐประหารปี 49 ปรากฏการณ์นอมินีทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น แต่น่าสังเกตว่า พวกที่โจมตีนอมินียิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย จงใจจะไม่พูดถึงนอมินีอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ สุดท้ายแล้วก็เสนอ “วาระการเลือกตั้ง” ว่า หากเลือกยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยทักษิณจะกลับมา สังคมจะยังตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งในปัญหา “ทักษิณ-ไม่ทักษิณ” อย่างไม่รู้จบ แต่ถ้าเลือกอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ ทักษิณจะไม่ได้กลับมา และประเทศจะเดินหน้าต่อไป ปัญหา “อำมาตย์-ไม่อำมาตย์” กำลังถูกกลบเลื่อนให้เลือนหายไป พูดให้ตรงคือปัญหาประชาธิปไตยภายใต้กำกับของระบบอำมาตย์ กับประชาธิปไตยที่เป็นอิสระจากการกำกับของระบบอำมาตย์ดูเหมือนจะไม่ถูกชูขึ้นเป็น “วาระการเลือกตั้ง” อย่างชัดเจนนัก คุณยิ่งลักษณ์บอกว่า “ไม่แก้แค้น” แต่จะ “แก้ไข” ถามว่าจะแก้ไขอย่างไร หากไม่สามารถวางรากฐานประชาธิปไตยที่เป็นอิสระจากการกำกับของระบบอำมาตย์ได้ เช่น ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญบนฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้น พูดให้ตรงคือ หากพรรคเพื่อไทยไม่เสนอนโยบายที่ชัดเจนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ให้เป็น “สัญญาประชาคม” แก่ประชาชน ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในคดีความของคุณทักษิณ หรือในกรณีของคนเสื้อแดงได้ เพราะ “เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย” และสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น คือฐานรองรับ “ความชอบธรรม” ในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีความของคุณทักษิณ ของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และติดคุก/ถูกขังลืม ฉะนั้น ถ้าจะทำให้การเลือกคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่แค่ได้ “นอมินี” ของคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเสนอวาระการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการกำกับของระบบอำมาตย์ให้ชัดเจน และเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและโดนใจประชาชน พูดอีกอย่างคือ คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยจะต้องแสดงให้สังคมเห็นว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่คุณทักษิณและคนเสื้อแดงได้รับ คือปัญหาที่ต้องแก้ไปพร้อมๆ กับการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ ผมไม่เห็นด้วยเลยที่เมื่อถูกจี้ถามปัญหาเรื่องคุณทักษิณ หรือถูกโจมตีว่าพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงยึดติด “ตัวบุคคล” มากกว่าคิดถึงประเทศชาติที่ต้องก้าวต่อไป แล้วพรรคเพื่อไทยพยายามเลี่ยงๆ ที่จะตอบประเด็นคุณทักษิณ และหันไปพูดถึงเรื่องปากท้องของประชาชน หรือความปรองดองสำคัญกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่ว่าปัญหาคุณทักษิณ ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนเสื้อแดง ปัญหาปากท้อง ความปรองดอง-ไม่ปรองดอง ประเทศจะเดินหน้าหรือถอยหลังมันก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาพื้นฐานอันเดียวกัน คือ ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือปัญหาประชาธิปไตยภายใต้กำกับของระบบอำมาตย์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน จึงจะปลดล็อกความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง ฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยต้องการเป็น “ทางเลือกที่ดีกว่า” หรือเป็นทางเลือกที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เป็นธรรมของคุณทักษิณและคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยจะต้องแสดงให้เห็นนโยบายที่ชัดเจนในทุกเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สังคมเห็นภาพชัดๆ ว่า เลือกยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยแล้ว ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะถูกแก้ไขโดยที่ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปบนวิถีทางประชาธิปไตยด้วยพร้อมๆ กันไปได้อย่างไร ส่วนเลือกอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์นั้น ประชาชนย่อมได้ประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของระบบอำมาตย์ต่อไปแน่ กองทัพยังคงมีพลังอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงต่อไปแน่ (อาจมากขึ้นกว่าเดิม) และประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของระบบอำมาตย์ กองทัพเข้มแข็งกว่ารัฐบาล ขออะไรจากรัฐบาลก็ได้หมด ความมั่นคงของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการสนับสนุน-ไม่สนับสนุนของกองทัพ ฯลฯ ระบบการเมืองที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยสมัยใหม่เช่นนี้ไม่มีทางพ้นไปจากวงจรความขัดแย้งได้ ที่สำคัญความไม่เป็นธรรมกรณีประชาชนที่เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ระบบสองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำของอำนาจต่อรองทางการเมือง การกดขี่เสรีภาพ และความไม่เสมอภาคในความเป็นคนก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป อาจดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งและเกรี้ยวกราดมากขึ้น ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ในทางรูปธรรมจะชัดเจนว่าเป็นการเลือก “นอมินี” แต่ก็มี “นัยยะ” ของการเลือก “อุดมการณ์” ประชาธิปไตย-ไม่ประชาธิปไตยแฝงอยู่อย่างสำคัญ หากประชาชนเลือกถูก อย่างน้อยที่สุดผลของการเลือกตั้งจะทำให้ได้พรรคการเมืองที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ และเรียกร้อง/กำกับให้แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นต่อไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท