จดหมายจากชาวนาหนองแซงถึงชาวเมือง (และคนอนุมัติโรงไฟฟ้า)

ชื่อบทความเดิม: ถามนายกอภิสิทธิ์ ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ท่านเป็นผู้อนุม้ติให้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อทำลายพื้นที่เกษตรชั้นดีที่หนองแซง-ภาชีหรือ?? น้องลำธาร ทารกหญิงที่ลืมตาดูโลกได้ 3 เดือน สะดุ้งตื่นร้องไห้จ้า เนื่องจากเสียงรถขุดดินโครมครามตอน 2 ทุ่ม ห่างจากหลังบ้านแค่ 100 เมตร ทารกน้อยเพิ่งหลับไปไม่ถึงชั่วโมง ยายต้องอุ้มขึ้นมาปลอบพักใหญ่กว่าจะหายตกใจ ชาวชุมชน ต.หนองกบ อ.หนองแซง ไม่เคยคิดว่าตนเองต้องทนกับเสียงดังของรถขุดดิน รถสิบล้อที่ขนดินเข้าออกตั้งแต่ ตี 4 ถึง 4ทุ่ม ชาวบ้านบางคนถึงกับน้ำตาตกด้วยความเสียใจและคับแค้น ไปร้องเรียนให้อุตสาหกรรมจังหวัดมาดูแล หลังจากร้องเรียน เสียงทำงานในยามวิกาลเงียบไปแค่ 2 วัน ก็เริ่มใหม่อีก คนแก่ คนป่วยที่นอนพักผ่อนตอนกลางวันไม่สามารถนอนหลับได้ สภาพเป็นอย่างไรน่ะหรือ รถสิบล้อกว่า 50 คัน วิ่งสวนสนาม ขนดินเข้าออก รถแม็คโครขุดดินอีกนับสิบคัน รถบดอัดดินขนาดใหญ่ เร่งทำงานอย่างขยันขันแข็ง ตั้งแต่ตี 4 ยัน 4 ทุ่ม ไม่นับรถสิบล้อที่ไม่ปิดคลุมทำดินก้อนใหญ่ ๆ หล่นตามทางสัญจรของหมู่บ้าน เวลารถชาวบ้านวิ่งไปรับส่งนักเรียนต้องวิ่งซิกแซกหลบแบบรถมอเตอร์ไซค์วิบาก หรือกรณีที่อยู่ดีดีน้ำจากคลองไส้ไก่ส่งน้ำเข้านาหายไปเพราะบริษัทเจ้าของโครงการอาจไปประสานงานกับชลประทานลดปริมาณน้ำปล่อยเข้าคลองระพีพัฒน์ เพื่อให้บริษัทสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่เป็นท้องกะทะระบายใส่คลองไส้ไก่ได้สะดวก เพื่อเกรดดิน ถมดินให้สูง บดอัดให้แน่นเตรียมการลงเสาเข็มต่อไป เมื่อน้ำในคลองระพีพัฒน์หายไป คลองไส้ไก่ก็ไม่มีน้ำ ชาวนา 30 กว่าคนต้องไปตามเรื่องให้ปล่อยน้ำมาให้ต้นข้าวอายุ 20 วันเพื่อจะได้อยู่รอดต่อไป ไม่ตายยกแปลง บ่อน้ำของชาวบ้านที่ได้รับน้ำจากคลองไส้ไก่เอาไว้ปลูกผักขายตลอดปี น้ำหายไป ทำให้ปลูกผักไม่ได้ขาดรายได้ นี่คือผลกระทบเบื้องต้นจากการลงมาปรับถมที่ดิน ชาวเมืองที่ไม่มีอาชีพเกษตรและไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบชนบทย่อมจินตนาการไม่ออก นักวิชาการที่ตรวจมาตรการลดผลกระทบแต่ในกระดาษยิ่งมองไม่ห็นภาพ “ผลกระทบต่อวิถีชีวิต” แต่ชาวหนองแซงที่อยู่ล้อมรอบพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 1600 เมกะวัตต์ กำลังประสาทกินกับผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชาวบ้านบางคนบอกว่า นี่เพิ่งเริ่มต้น....!!! โครงกรก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี อยู่ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือ IPP ภายใต้แผน พีดีพี 2007 แผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของชาติฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่มีการเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่มีการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมหรือฟังประชาชนในพื้นที่ก่อนประกาศผลการประมูลและยังถูกวิพาก์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยเซ็นต์สัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ก่อนอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ได้รับการอนุมัติ อีไอเอ โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเมื่อ 20 สิงหาคม 2551 โดยไม่มีการตอบคำถามเกือบ 30 ข้อที่ชาวบ้านถาม ซึ่งหลายข้อ ไม่มีคำตอบ โดยชาวบ้านระบุว่าเป็นมาตรการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เรื่อง อ.หนองแซงเป็นพื้นที่ร่างผังเมืองอนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรมอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายจะประกาศใช้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีคำวินิจฉัยว่าถ้าสร้างโรงไฟฟ้าจะทำให้กระบวนการทำผังเมืองที่ทำมาแล้วเสียงบประมาณและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์แล้วไม่ต้องรื้อร่างผังเมืองมาทำใหม่หรือ? ผลกระทบต่อข้าวจากอากาศที่จะร้อนขึ้น จากการปล่อยไอน้ำจากหอหล่อเย็น ไอเสียจากปล่องระบายมลสารของโรงไฟฟ้า หรือปัญหาแสงสว่างจากโรงไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังไม่ตอบคำถาม ว่า น้ำจากระบบชลประธานของแม่น้ำป่าสัก และเจ้าพระยาไม่พอใช้แก่เกษตรกรในหน้าแล้งอยู่แล้วทุกปี แล้วเหตุไฉนจึงอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำได้จากแหล่งเดียวกับที่เป็นน้ำต้นทุนจัดสรรให้ชาวนาในหน้าแล้ง ในอีไอเอบอกว่าจะทำสัญญาประกันผลกระทบกับผู้เลี้ยงไก่ทุกราย ในรัศมี 1-2 กม. แต่เมื่อเริ่มปรับที่ดิน ก็ยังไม่มีการทำสัญญาประกันผลกระทบกับผู้เลี้ยงไก่ทุกรายแม้บางรายอยู่ติดรั้วโรงไฟฟ้า ก่อนการก่อสร้างบริษัทไก่ไข่ไม่ส่งแม่ไก่ให้เกษตรกร เพราะกลัวผลผลิตจากไก่ลดลงทั้งบริษัทและเกษตรกรจะขาดทุน คนงานบริษัท เที่ยวมาเก็บผัก หาปลา เก็บผลไม้ ตามบ้านชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่บริษัทขึ้นป้ายห้ามคนงาน แต่ผู้บริหารบริษัทไม่เคยมาดูแล ช่วงเริ่มต้นมาปรับดินใหม่ ๆ รถขุด,ขน บดอัด ดิน เสียงดังตั้งแต่ตี 4 ถึง 4 ทุ่มคนแก่ เด็กอ่อน คนป่วย คนที่มีโรคประจำตัว ไม่ได้พักผ่อน ทั้ง ๆ ที่ชุมชนนี้อยู่อย่างสงบมาก่อน กลางคืน มีแต่เสียงกบเขียด ยุง จิ้งจก ตุ๊กแก รายละเอียดเหล่านี้ไม่เคยมีผู้ชำนาญการ สผ.คนไหนคำนึงถึง พวกเขาท่องคาถาว่า “ตัวเลขไม่เกินมาตรฐาน” โรงไฟฟ้าสูบน้ำออกมาใส่ลำรางสาธารณะ โดยไม่บอกชาวบ้าน และไม่รู้ว่าบ่อน้ำธรรมชาติในที่ตัวเองเป็นน้ำกร่อย น้ำไหลไปเข้านาชาวบ้าน ต้นข้าวตาย เสียหายไปแล้ว ชาวบ้านจะไปเรียกร้องกับใคร ชาวบ้านยังไม่ทันเก็บหลักฐาน ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว คณะนักวิชาการที่ให้ใบอนุญาตอีไอเอ ไปทำลายสิ่งแวดล้อมชุมชนหนองแซงหายไปไหนหมด ชาวบ้านเดือดร้อน ไปร้องศาลปากครองให้เปิดไต่สวนฉุกเฉิน ศาลถามว่ามีคนตายไหม ชาวบ้านไล่จับได้ว่าในที่ดินของโรงไฟฟ้าฝั่ง อ.ภาชี เกือบ 300 ไร่ที่จะทำบ่อเก็บกักน้ำ มีคลองร่องหนู และคันคลองที่เป็นทางเดินที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันมาหลายสิบปี บริษัทลงมาทำงานล้อมรั้ว สร้างคันดิน ขุดร่องใหม่เพื่อทำบ่อเก็บน้ำของตัวเอง ทำรั้วกั้นคลอง และทางเดินบนคันคลอง ชาวบ้านเดินไม่ได้ ได้แต่ยืนดูคลองอยู่นอกรั้ว อบต.ผู้ดูแลสาธารณะสมบัติในตำบล ก็บอกว่าไม่กล้า กลัวบุกรุกที่เอกชน ชลประทานในพื้นที่ก็บอกว่าน้ำยังไหลได้ ชาวบ้านทำจดหมายบอก อบต.ให้เปิดทางเดิน 1 เมตรคันคูน้ำที่เคยเดินไปเก็บผัก หาปลา ดูน้ำ ยื่นจดหมายไปนานกว่า 2 เดือน ไม่มีทีท่าว่าจะมีการเปิดทั้ง ๆ ที่คณะข้าราชการผู้ร่วมกันให้ใบอนุญาต ทั้งกรมโรงงาน , สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, กรรมการกำกับกิจการพลังงาน , ปลัดอำเภอ, ปลัดอบต. มาดูเห็นจัง ๆ ต่อหน้า เมื่อ 8 เมษายนนี้เอง ก็ไม่สามารถสั่งให้บริษัทเปิดรั้วได้ ต้องกลับไปเปิดกฎหมายว่าตัวเองมีอำนาจหรือเปล่า ที่สาธารณะ คลองสาธารณะที่ชุมชนใช้ร่วมกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบ่งน้ำกันทำนามากว่า 50 ปี ถูกปิดกั้นคันคองมา 2 เดือน หน่วยราชการก็เตรียมอนุญาตให้บริษัทย้ายคลองร่องหนูของชาวบ้านได้ ชาวบ้านไปถามก็เกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้ยอมให้บริษัทย้ายคลองได้ แต่ตัวเองเห็นคนทำผิดคาตา ที่มาล้อมรั้วปิดทางสาธารณะกลับไม่ทำอะไร ได้แต่ดูเฉย ๆ บอกว่า ผมมีลูกเมียต้องเลี้ยงดู ที่ดินของโรงไฟฟ้าทั้ง 600 ไร่ เป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ เก็บน้ำทำนาได้ดี พอบริษัทถมสูงเตรียมก่อสร้าง ต่อไปหน้าฝนชุก น้ำไม่มีทางไปก็จะเอ่อท่วมชาวบ้านทั้งที่นาและบ้านเรือนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าทั้งหมด ไม่มีนักวิชาการคนไหนในกรุงเทพเชื่อชาวบ้าน เพราะในอีไอเอ ไม่มีการพูดเรื่องนี้ และผ่านการอนุมัติมาแล้ว ในอีไอเอ เขียนแต่มาตรการป้องกันโรงไฟฟ้าไม่ให้น้ำท่วมแต่ไม่มีมาตรการป้องกันน้ำท่วมชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ ที่ดินของโรงไฟฟ้า ชาวบ้านพากันเขียนจดหมายร้องเรียนกว่า 50 ฉบับ สารพัดเรื่องเดือดร้อนจากการเริ่มปรับที่ดิน เช่น เรื่องเสียงดัง, ชายหนุ่มที่เป็นญาติสนิทกับ อบต.ใช้อำนาจเถื่อนสร้างร้านค้าบนคันคลองระพีพัฒน์เพื่อให้คนงานบริษัทเช่า ทั้งที่ชาวบ้านยังรู้ว่าระเบียบชลประทานห้าม อบต.ผู้ดูแลเอาป้ายให้รื้อไปติด ญาติ อบต. คนนั้นกลับก่อสร้างเพิ่มเติมเข้าไปอีก เย้ยกันสุด ๆ อุตสาหกรรมจังหวัดเปิดประชุมรับฟังการร้องเรียนจากชาวบ้าน 2 ครั้ง แต่ไม่มีบันทึกการประชุม ผู้ร้องเรียนทวงบันทึกการประชุมมาระยะเวลาล่วงเลยเกิน 1 เดือนยังไม่ได้รายงานครั้งแรก การประชุมหลังสุด เมื่อ 1 เมษายน มีตัวแทนทุกหน่วยงาน มาประชุมครบ จากส่วนกลาง คือ กรรมการกำกับกิจการพลังงานผู้ออกใบอนุญาต , กรมโรงงาน, สผ. ผู้อนุมัติ อีไอเอ, จากส่วนจังหวัดคือ อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี, ทรัพยากรจังหวัดสระบุรี, พลังงานเขตสระบุรี, ปลัดอำเภอหนองแซง, ปลัดอบต.หนองกบ เจ้าของพื้นที่และ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมสระบุรี แต่ตัวแทนบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าไม่มา เพราะต้องการให้ไปประชุมกันที่โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ในอาณาจักรของบริษัทชาวบ้านไม่ยอมไปเพราะกลัวถูกถ่ายรูปไปลงวารสารของโรงไฟฟ้า วันที่เขียนบทความนี้ รายงานการประชุมที่อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีเมื่อ 1 มีนาคม 2554 ยังไม่คลอด เพราะอุตสาหกรรมจังหวัดบอกว่าไม่ใช่การประชุมอย่างเป็นทางการ แล้วเนื้อหาการร้องเรียนทั้งหมด ท่านข้าราชการเอาไปโยนไว้ที่ไหน หรือเป็นเพราะยังไม่มีคนตาย ชาวบ้านร้องเรียนอย่างเปิดเผย ชอบที่ข้าราชการจะรีบสนองทำให้การตรวจสอบผลกระทบจากอุตสาหกรรมเข้มงวดขึ้น ช่วยกันทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ของการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม-ชุมชน แต่ทำไมรัฐราชการในภูมิภาคยังคงสับชาวบ้านดังผักปลาโยนลงหม้อแกงกินเล่นอย่างเอร็ดอร่อย การเปลี่ยนพื้นที่ทำนาชั้นดีที่รัชกาลที่ 5 สร้างคลองระพีพัฒน์ไว้ให้ปลูกข้าวสองครั้ง มาเป็นโรงไฟฟ้า1600 เมกะวัตต์ โดยไม่สนใจว่าพื้นที่นี้มีร่างผังเมืองอนุรักษ์ชนบทเกษตกรรมที่อยู่ในขั้นสุดท้ายจะประกาศ มันสมควรแล้วหรือ ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท