Skip to main content
sharethis

 

ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ตรัง ฉะ กกต.คุมใช้เฟซบุ๊ค-ทวิตเตอร์หาเสียง ไร้สาระ แนะให้เอาเวลาไปตรวจสอบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงดีกว่า เย้ยแม้แต่มีกระทรวงไอซีทียังจัดการพวกหมิ่นสถาบันไม่ได้ ปชป.รุกโซเชียลเน็ตเวิร์คทำแอพบนมือถือ

ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (21 พ.ค.) นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกกฎเหล็กควบคุมการหาเสียงของพรรคการเมือง ผ่านทางระบบโซเชียลมีเดีย หรือระบบสังคมออนไลน์ ทั้งอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ต้องคิดรวมค่าใช้จ่ายด้วยนั้น ตนเห็นว่าปัจจุบันระบบโซเชียลมีเดียเป็นสื่อออนไลน์ช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.ทั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับการนำเสนอผลงานและหาเสียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วและทันสมัย หากใครที่ไม่เคยใช้ช่องทางดังกล่าวในการติดต่อสื่อสารก็ถือว่าล้าหลัง ในยุคสมัยที่โลกมีวิวัฒนาการที่เจริญพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ส่วนการคิดค่าใช้จ่ายทางระบบโซเชียลมีเดียของทาง กกต.นั้น ตนยังมองไม่ออกว่าจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างไร นอกจากจะเรียกเก็บเป็นค่าบริการทางอินเตอร์เน็ตรายเดือนตามความเป็นจริง ไปรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เท่านั้น
       
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ตนจึงไม่เห็นด้วยที่ทาง กกต.จะมาออกกฎเหล็กดังกล่าว เพื่อควบคุมการหาเสียงของผู้สมัคร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และจะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับทาง กกต.ด้วย ควรจะเอาเวลาที่จะมาจับผิดผู้สมัครเรื่องดังกล่าว ไปตรวจสอบการทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียง และการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต่างๆ ที่ยังมีอีกหลายพื้นที่ จะดีกว่าการมาเสียเวลาตั้งบุคลากรเพิ่ม เพื่อติดตามตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะขนาดกระทรวงเทคโนโลยีและสาระสนเทศ (ICT) ที่ว่าเก่งและมีเครื่องมือที่ทันสมัยแล้ว ก็ยังไม่สามารถจัดการพวกหมิ่นสถาบันตามเว็บไซต์ต่างๆ ได้ แล้วทาง กกต.จะเก่งกว่าได้อย่างไร
       
"ถ้าทาง กกต.ออกกฎเหล็กสั่งห้ามไม่ให้ผู้สมัครเล่นเฟซบุ๊ค หลังเวลา 18.00 น.ในวันที่ 2 ก.ค.นั้น ถือเป็นเรื่องไร้สาระมาก ซึ่งผมเห็นว่าการใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้บอกกล่าวแจ้งเตือนสมาชิกคนอื่นให้ออกไปใช้สิทธิ์ และอย่านอนหลับทับสิทธิ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ การใช้ระบบโซเชียลมีเดีย ถือเป็นช่องทางสื่อสารที่เปิดเผย ดังนั้น ทาง กกต.ไม่ควรจะมาจับผิดอย่างไร้สาระ ควรเอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า" อดีต ส.ส.ตรัง พรรค ปชป.3 สมัย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง พรรค ปชป.เขต 4 กล่าว

ปชป.รุกโซเชียลเน็ตเวิร์คทำแอพบนมือถือ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 พ.ค. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการเลือกตั้งภาคกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าว เปิดตัวช่องทางการหาเสียงประชาสัมพันธ์ข่าวสารของพรรค ผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค ว่า ระบบดังกล่าวถือเป็นยุทธศาสตร์ที่จะรุกใช้ในการหาเสียงออนไลน์ ซึ่งมีผู้ใช้ขณะนี้ประมาณ 9 ล้านคน โดย 60 % อายุเฉลี่ย 18-35 ปี ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะเริ่มพบปะพูดคุยกับประชาชนและแฟนเพจกว่า 6 แสนคนแบบสด ๆผ่านระบบ “Livestream” ผ่านเฟซบุ๊กของนายอภิสิทธิ์ www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva “Ch.10” ซึ่งจะใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารโดยตรงถึงนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค โดยใช้สโลแกนว่า อยากถามอภิสิทธิ์ ฮิต ชาแนล 10 โดยจะเริ่มครั้งแรกในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 20.10 น.

นายอภิรักษ์ กล่าวจต่อว่า ส่วนในอีกช่องทาง จะใช้สื่อผ่านเฟซบุ๊กของพรรคประชาธิปัตย์ที่ www.facebook.com/DemocratPartyTH ในช่อง “DEM10” ซึ่งจะมีไฮไลท์การลงพื้นที่ประจำวันของผู้สมัครในส่วนต่างๆ ของพรรค ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลทุกคืนเช่นกัน โดยจะเริ่มต้นในวันอาทิตย์ ที่ 22 พ.ค.นี้เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 20.10 น. ทั้งนี้ จุดเด่นของช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่นี้ คือ จะเป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารกับแฟนคลับ หรือ แฟนเพจ ของพรรคเพื่อให้ได้รับรู้ข่าวสาร และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับนโยบายของพรรค อีกทั้งสามารถโพสต์ข้อความเข้ามาถามตอบ ได้แบบสด ๆ ได้โดยตรงถือเป็นการติดต่อสื่อสาร 2 ช่องทาง

นอกจากนี้ ยังสามารถเชิญชวนเพื่อน ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายออนไลน์ให้สามารถเข้ามาติดตาม และ ร่วมการสนทนาได้ ซึ่งระบบนี้ถือเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในสังคมออนไลน์ ที่ทั้งคนในประเทศ และ ต่างประเทศ สามารถติอต่อได้ และ แตกต่างจากระบบสไกป์และวีดิโอลิงค์ และ ทวิตเตอร์ ที่เป็นการสื่อสารช่องทางเดียว เน้นเจาะฐานคนรุ่นใหม่เพดิ่งมีสิทธิ์โหวตครั้งแรกกว่าเสียง

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของโทรศัพท์ในระบบสมาร์ทโฟน อาทิ ไอโฟน เพื่อให้สื่อสารกับพรรคได้ โดยมีการสร้าง “DEMOCRAT Application” ที่จะสามารถติดตาม ทวิตเตอร์ของพรรค รูปภาพกิจกรรม นโยบาย และ ที่สำคัญจะฟังเสียงนายกฯ ด้วยการเขย่าเครื่องไอโฟน แล้วฟังเสียงการปราศัย หรือ ข้อความที่ต้องการสื่อ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามนโยบายของพรรค ซึ่งยุทธศาสตร์ถือเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่ม “เฟิร์สโหวต” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ของวัยรุ่นผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1 ล้านคน เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลและออกมาใช้สิทธิ์ เพราะพบว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ออกมาใช้สิทธิน้อย และ ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มากในชีวิตประจำวัน ไม่หวั่นคู่แข่งโพสข้อความป่วน ขอสู้เชิงสร้างสรรค์

ผอ.ศูนย์การเลือกตั้ง ภาคกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า การหาเสียงผ่านช่องทางนี้ จะไม่มีปัญาเรื่องการชี้แจงค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะได้สอบถามจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว และได้รับการยืนว่าไม่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และแอดเข้ามาโจมตีระหว่างการสนทนาจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ไม่เคยปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่อยากให้เป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ และต่อสู้กันในเชิงนโยบายมากกว่า

คุมเข้มหาเสียงโซเชียลมีเดีย

อนึ่งเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเรื่องการหาเสียงผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์ค ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้หารือกับตัวแทนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การหาเสียงผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเว็บไซต์นั้นกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะต้องคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยหากมีการโพสต์ข้อความในช่วงที่ พ.ร.ฏ.เลือกตั้งผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์คจะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ และหากมีค่าใช้จ่ายจะมีวิธีการนำมาคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งได้อย่างไร ในขณะเดียวกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้คอการเมืองจะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยอาจจะเชิญชวนให้คนในเครือข่ายมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแม้เป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่การเชิญชวนให้เลือกผู้สมัครหลังเวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน หรือแสดงความเห็นในลักษณะเข้าข่ายการหาเสียงใส่ร้ายก็ถือว่ามีความผิด จะขัดต่อกฎหมาย ทางกระทรวงไอซีทีจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการป้องปรามการกระทำผิดในโลกไซเบอร์ ไม่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือผู้สมัครกระทำความผิด

ด้านนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงไอซีที ได้ชี้แจงว่า ทางกระทรวงฯ ก็มีความเป็นห่วงเรื่องการแอบอ้างตัวว่าเป็นผู้สมัครและไปโพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ต่างๆ แต่ในกรณีนี้สามารถตรวจสอบได้จากประวัติการใช้งานและสภาพแวดล้อม แต่ในส่วนของโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ ที่มีเซิร์ฟเวอร์ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ซึ่งหากจะตรวจสอบจะต้องทำเรื่องร้องขอความร่วมมือไปยังต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร นอกจากนี้ เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ยังเป็นระบบที่เปิดให้ใช้บริการฟรี หากจะคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในเบื้องต้นต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ผู้ใช้เป็นเจ้าของจริงหรือไม่ หรือมีใครสมัครให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก ดังนั้น จึงขอให้ กกต.มอบนโยบายกับผู้สมัครและพรรคการเมืองว่า ห้ามหาเสียงผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์หลังเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง

“ขอเสนอให้ กกต.และกระทรวงไอซีที ตั้งทีมงานทางด้านเทคนิคขึ้นมาตรวจสอบการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คหาเสียงหลัง เวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง และต้องมีการทำประชาสัมพันธ์อย่างหนักเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงการออกกฎบังคับให้คอบคุมสื่อวิทยุชุมชนที่ออกอากาศผ่านทางออนไลน์ หากมีการโพสต์ข้อความใส่ร้ายป้ายสีและมีผู้ร้องเรียนเข้ามาจะได้ตรวจสอบได้ ซึ่งเราต้องเขียนเสือให้วัวกลัว” นายธานีรัตน์ กล่าว

ที่มาข่าว: บ้านเมืองASTV ผู้จัดการออนไลน์ไทยรัฐออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net