Skip to main content
sharethis

นายเจะอามิง โตะตาหยง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์มา 4 สมัย หากการเลือกตั้งครั้งนี้ เจะอามิงได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ก็จะเข้าเป็นรัฐมนตรีตามบรรทัดฐานที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเจะอามิงเชื่อว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาคงจะได้รับโอกาสนี้ สำหรับดูแลแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายเจะอามิง โตะตาหยง 0 0 0 นโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แนวทางการหาเสียงวันนี้ คือพูดถึงนโยบายที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง พูดถึงในแง่การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคายางพาราสูง ทำให้ภาพรวมการเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ก็เป็นที่พอใจของประชาชน เงินผู้สูงอายุที่ได้กันทุกคนทุกครัวเรือน นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านพอใจ เงิน อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เข้าโรงพยาบาลรักษาโรคฟรีก็เป็นที่พอใจของชาวบ้าน มีคำถามว่า ต่อไปรัฐบาลประชาธิปัตย์จะยังคงนโยบายเหล่านี้ไว้หรือไม่ ก็เป็นแนวนโยบายที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะเดินหน้าต่อ เป็นการสานต่อนโยบายหลักของพรรค ส่วนในมิติการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้พยายามสื่อสารกับชาวบ้านว่า ณ วันนี้ รัฐบาลได้แสดงความตั้งใจและจริงใจโดยการออกกฎหมาย ศอ.บต.(พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553) ซึ่งประชาชนยังไม่ทราบว่า มีแนวนโยบายอย่างไรบ้าง ประชาชนยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ แต่เดิม การแก้ปัญหาที่ผ่านมาที่ไม่ได้ผล ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เป็นเอกภาพของระบบราชการ วันนี้พอออกกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานต้องมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้หน่วยงานราชการเกิดเอกภาพ ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเดิมต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาดูแลโดยตรง และมีรัฐมนตรีดูแลอีกหนึ่งคน ไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยแต่จะขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง สาระสำคัญคือ ชาวบ้านสามารถชี้แนวทางการแก้ปัญหาผ่านสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.(หมายถึง สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) แนวทางต่างๆ ไม่ว่า ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ประชาชนไปคิดมา ผ่านสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. เพื่อกลั่นกรอง ซึ่งเป็นการลัดขั้นตอนไปถึงนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องผ่านนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนสามารถร้องเรียนไปยังเลขาธิการ ศอ.บต. ถ้ามีมูลความผิดจริง เลขาธิการ ศอ.บต.ก็สามารถสั่งย้ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขต่อประชาชน ในมิติการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เราจะขับเคลื่อนงบประมาณค้างท่อ เช่น ที่ผ่านมา ถนนสาย ยะลา – สี่แยกดอนยาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเดิมเป็นเงินค้างท่อ สร้างไม่เสร็จ เราจึงได้ลบล้างข้อครหาที่ว่า งบลงมาแล้วแต่ไม่ดำเนินการอะไรเลย เราดำเนินการจนสร้างเสร็จในสมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ถนนสายสี่แยกตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา – ปาลอบาต๊ะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หรือ ถนนสาย 4066 ก็เกิดจากเงินค้างท่อ ซึ่งสร้างจนเสร็จอีกเส้นทางหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาสเราได้พัฒนาสนามบินบ้านทอนให้เป็นสนามบินระดับนานาชาติ เพื่อรองรับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะใช้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเราได้ขยายรันเวย์เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ทำให้สามารถรองรับเครื่องบินบินตรงไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเลย ตอนนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว โดยพยายามให้สามารถใช้งานได้ทันในช่วงฤดูการทำฮัจย์ปีนี้ให้ได้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เดิมมีแค่ป้าย แต่นักศึกษาไปฝากตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ขอนแก่นบ้าง เชียงใหม่บ้าง กรุงเทพบ้าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บ้าง พอเรียนจบก็จะมาสวมชุดครุยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ตอนนี้รัฐบาลได้ให้งบไทยเข้มแข็งเกือบพันล้าน เพื่อสร้างอาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตอนนี้คืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว ส่วนโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ตอนนี้ ยกระดับมาเป็นโรงพยาบาลศูนย์แล้ว นี่เป็นผลงานรัฐบาลอภิสิทธิ์เช่นกัน ในด้านเยาวชน รัฐบาลได้ให้งบพัฒนาการกีฬา โดยทุ่มงบกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน สร้างสนามฟุตบอลในจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนในจังหวัดยะลา รัฐได้ให้งบสร้างสนามบินเบตง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้คนหลั่งไหลไปเที่ยวเบตง แล้วจะเป็นจุดขาย ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ยังติดค้างเรื่องการเวนคืนที่ดิน อีกจุดหนึ่ง คือการขยายถนนเส้นทางไปยังเบตง กำลังดำเนินการอยู่ นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงจังในงานพัฒนา นโยบายทางด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อถามถึงมิติในด้านความมั่นคง ถึงแม้ที่ผ่านมาอาจจะดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แนวทางการแก้ปัญหาตราบใดที่ยังมีการสูญเสียของประชาชน ก็ยังไม่แฮปปี้ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มีหลายขั้นตอนหลายเงื่อนไข การแก้ไขนับตั้งแต่นี้ไป ต้องแก้ไขในแต่ละเงื่อนไข แก้ปมไปทีละปม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ขอยืนยันว่า แนวทางการเมืองนำการทหารบวกกับการพัฒนา เป็นแนวทางที่ดีมากของรัฐบาล แต่ความสำเร็จทั้งหลายมันต้องอยู่บนพื้นฐานกลไกของรัฐ คนที่รับผิดชอบต้องตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหา สิ่งที่สำคัญคือ คนที่จะมารับผิดชอบแก้ปัญหาชายแดนใต้ ต้องรู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาที่นี่ ถ้าไม่มีความละเอียดพอ มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความละเอียดของปัญหา ความละเอียดของการรู้ปัญหาจะสามารถแก้ปัญหาได้ดี อันนี้ก็ส่วนหนึ่งที่มองดูแล้วว่ามันขับเคลื่อนแล้วดี ถามว่า แนวทางนับแต่นี้ไป รัฐบาลประชาธิปัตย์จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ยังไง ยังยืนยันว่า แนวทางเดิมของพรรคยังค้างอีกเยอะ ยังต้องเดินต่อเนื่องไป ต้องไปดูนโยบายเก่า การผดุงความเป็นธรรมของพี่น้องประชาชนต้องเกิดขึ้น ที่สำคัญประเด็นชายแดนใต้เราต้องเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันกับให้คนที่ไม่พอใจนโยบายรัฐบาล ความหมายคือพูดคุยในทางสันติ ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้อารมณ์ ต่างฝ่ายต้องรู้จักถอยคนละก้าว เพื่อหาจุดร่วม สำหรับส่วนที่ก่อเหตุก็ต้องกล้าเปิดตัวมา ไม่อย่างนั้นรัฐบาลเปิดพื้นที่มาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร ความไม่เข้าใจกัน มันสามารถแก้ไขด้วยความการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เรื่องทุกเรื่องบนโลกนี้ มันต้องจบด้วยการพูดคุยกัน มันจะไม่จบด้วยวิธีอื่น การไม่แก้ปัญหานอกรูปแบบ การพูดคุยมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น มันไม่ใช่เหตุผลของมุสลิมที่จะทำอย่างนั้น การพูดคุยกับคนที่เห็นต่างกับรัฐ คือสิ่งสำคัญเป็นหลัก นี่คือกรอบความคิดส่วนตัวของผม กับการแก้ปัญหา มันเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องคิด ผมต้องสะท้อนให้รัฐบาลชุดต่อไป การพูดคุยต้องเป็นประเด็นหลัก ในการแก้ปัญหาต่อไป ถ้าไม่พูดคุยแล้ว ก็กลายเป็นว่าฝ่ายที่แก้ก็แก้ไป ส่วนฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ก็ไม่แก้ เพราะมันไม่ได้เป็นข้อตกลง แต่สิ่งที่สำคัญในการพูดคุยกัน คือ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่าไปเหนือกว่ากรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะมันทำไม่ได้ ในพรรคยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ แต่พูดคุยกันในเรื่องการพัฒนาและการให้ความเป็นธรรม แต่วันนี้ความคิดของผมที่ตั้งใจไว้ในงวดหน้า คือ ต้องเอาเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติ คุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ ปัญหาต้องจบด้วยการพูดคุย หากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะจะเป็น ส.ส.สมัยที่ 5 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะนับความอาวุโสทางการเมืองสำหรับคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีด้วย เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น กระบวนการคัดสรรของระดับผู้บริหารทางการเมือง ต้องเป็นผู้ที่มีความอาวุโสทางการเมือง มีความพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ฝ่ายบริหารของพรรค ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์หลักๆ ที่ทางพรรคได้ปฏิบัติมาโดยตลอด เช่น ต้องเป็น ส.ส.มาแล้วอย่างน้อย 5 สมัย ตอนนี้ผมเป็น ส.ส.มาแล้ว 4 สมัย สมัยแรกปี 2535 รุ่นเดียวกับนายกฯอภิสิทธิ์ ถ้าพูดถึงความอาวุโสและตามหลักเกณฑ์ ถ้าสมัยหน้าผมได้เป็น ส.ส.ก็จะเข้าเกณฑ์พอดี ช่วงที่ผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ก็จะเห็นว่า ผลงานผมก็ออก มีการออกสื่อทีวี หนังสือพิมพ์เป็นระยะๆ แม้กระทั่งบทบาทในการประชุมสภา อันนี้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ คนที่จะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ต้องมีบทบาทในการทำงาน ต้องสะอาด สังเกตได้ว่า ที่ผ่านมาเวลาใครในพรรคโดนข้อครหาหน่อย ก็ลาออกแล้ว ไม่มีพรรคไหนเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายวิฑูร นามบุตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกข้อครหาทั้งๆ ที่จนวันนี้ก็ยังมีการตัดสินว่าผิด แต่ก็ลาออกก่อนแล้ว นี่คือสปิริตแสดงความรับผิดชอบ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ผมยังเชื่อว่า พรรคน่าจะให้โอกาสให้กับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและวิถีชีวิตของคนที่นี่ เพราะคนที่นี่จะรู้วิถีชีวิตของคนที่นี่ดี แม้กระทั่งการสื่อสาร ก็ไม่ต้องผ่านล่าม คุยกับพี่น้องโดยตรงได้ ในการทำงานมวลชนก็จะต้องให้คนที่นี่เป็นตัวหลัก ยังมีอีกที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ คือ การผลักดันออกกฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม เรื่องอาหารฮาลาล กองทุนซากาต(ทานบังคับ) ศาลชารีอะฮฺ และกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ตอนที่ผมเป็นประธานกรรมาธิการกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ผมได้จัดทำหนังสือแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เชิงรุกทุกด้าน แม้กระทั่งด้านการศึกษา มีทั้งระยะสั้น ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว โดยเรื่องที่ได้นำมาเป็นนโยบายของพรรคตอนนี้คือ เรื่องการออกกฎหมายดังกล่าว การพัฒนาพื้นที่ การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ตอนนี้มีการบรรจุการสอนวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนสามัญนำร่อง แต่ผมต้องการให้ประกาศเป็นนโยบายถาวรของรัฐบาล ไม่ใช่แค่นำร่อง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะจะให้ได้ 100 ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามที่เราต้องการเลย คงยาก อย่างน้อยก็ให้ขับเคลื่อนไปก่อน เพราะในฐานข้อมูลทางการศึกษา พบว่า เด็กที่เรียนในโรงเรียนประถมมีจำนวนเยอะมาก แต่พอขึ้นระดับมัธยมก็หายไป เพราะเด็กไปเข้าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนที่นี่อยากให้ลูกได้เรียนวิชาศาสนาและสามัญควบคู่กันไปด้วย เพราะเป็นวิถีชีวิตของมุสลิม ทำไมไม่กำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นนโยบายของรัฐไปเลย พื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่ของมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ให้เอาหลักสูตรของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามาบรรจุไว้ในโรงเรียนประถมประจำหมู่บ้าน เพื่อดึงคนในหมู่บ้านให้เรียนหนังสือ อีกอย่างคนที่จบศาสนาอิสลามชั้น 10 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว หรือเรียนจบปริญญาจากต่างประเทศแล้ว จะได้กลับมาสอนหนังสือเด็กในโรงเรียนประถมได้ เป็นการจ้างงานเพิ่ม เด็กบ้านเราไม่ได้เรียนต่อเป็นแสนคนต่อปี เลิกเรียนทั้งสามัญและศาสนา นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง มันเกิดจากสถาบันครอบครัวที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา ซึ่งมันจะนำไปสู่ความอ่อนแอของสังคมในบ้านเราในภายภาคหน้า เราต้องติดอาวุธทางความคิดให้กับประชาชนนั่น คือการศึกษา มีพรรคอื่นเสนอนโยบายกระจายอำนาจที่ให้ท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์มีแนวนโยบายลักษณะนี้ด้วยหรือไม่ ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น พรรคประชาธิปัตย์ทำมานานแล้ว นั่นคือ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) การออกฎหมาย ที่บอกว่าจะเอาเขตปกครองพิเศษนั้น ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีส.ส.กว่า 500 คน แม้ส.ส.ในจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมดเห็นด้วย แต่ยังมี ส.ส.อีก 400 กว่าคนที่ไม่เห็นด้วย ก็คงยากที่ผ่านกฎหมายนี้ไปได้ ดังนั้น จะพูดเรื่องนี้ได้ในแง่หาเสียงโน้มน้าวให้คนเลือก แต่ความเป็นไปได้จริงๆ มันยาก ไม่เป็นรูปธรรม ผมมองว่าเป็นการสร้างภาพเพื่อหวังผลทางคะแนนเสียง ซึ่งในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้เลย คนที่ปลุกเรื่องเขตปกครองพิเศษ ก็คือนักการเมือง ไม่ใช่ชาวบ้าน การออกกฎหมายมันต้องดูที่ความเป็นไปได้ด้วย ปัญหาอุปสรรคในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้มันหยุมหยิมเกินไป บางทีอาจจะไม่สามารถดึงดูดใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธ์เลือกตั้งได้มากๆ ผู้สมัคร ส.ส.เองก็เกร็ง เพราะต้องตั้งป้ายโฆษณาหาเสียงเฉพาะจุดที่ กกต.เท่านั้น ซึ่งบางจุดไม่ได้เป็นที่ชุมชน จะติดตั้งที่บ้านตัวเองก็ไม่ได้ เพราะเป็นที่ส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้ทำให้การเลือกตั้งดูกร่อย เรื่องแผ่นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ใครมีกำลังเท่าไหร่ก็ทุ่มลงไป แต่ต้องไม่เกินที่ กกต.กำหนด แต่ความจริงคือ การติดป้ายเยอะๆ จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาเลือกตั้งเยอะขึ้น เหมือนกับภาพยนตร์ที่มีการโหมโฆษณา ทำให้คนไปแห่ดูในโรงมากขึ้น การเลือกตั้งก็เหมือนกัน ถึงแม้แต่ละพรรคมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่พอโฆษณาเยอะๆ ก็ทำให้คนอยากไปใช้สิทธิ์มากขึ้น วันนี้ผมต้องใช้วิธีเคาะประตูในการหาเสียง ต้องใช้เวลาประชาสัมพันธ์มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net