Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้ผมจะวิจารณ์การอ้างพุทธศาสนา หรือการนำ “ธรรมะ” มาใช้อธิบาย และ/หรือเสนอทางออกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในหลายบทความว่า ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมคิดว่าควรปิดกั้นการเสนอทัศนะทางพุทธศาสนาในการแก้ปัญหาการเมือง หรือคัดค้านการอ้างอิงทัศนะทางพุทธศาสนาอธิบายการเมือง เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การเสนอนั้นๆ มีปัญหาอย่างไรบ้าง บทความนี้ผมต้องการเสนอทัศนะทางพุทธศาสนาเป็นทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง ตามความเข้าใจ (ตีความ) ของผมดังนี้ 1. การทำความเข้าใจปัญหาผ่าน “กฎอิทัปปัจจยตา” หรือ กฎความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง ที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดที่สำคัญคือ เมื่อพระสงฆ์บางรูปอธิบายว่า “ตราบใดที่นักการเมืองคอร์รัปชันย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดรัฐประหาร” ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่า คอร์รัปชันเป็น “สาเหตุจำเป็น” ของการเกิดรัฐประหาร เหมือนประโยคว่า “อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร” ซึ่งความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหารกับคอร์รัปชันไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างจำเป็นเหมือนอวิชชากับสังขาร ตามกฎอิทัปปัจจยตา (เรียกอีกอย่างว่า “ปฏิจจสมุปบาท”) เมื่ออวิชชาเกิดสังขารต้องเกิดตามมาอย่างจำเป็น (necessary) แต่ในทางการเมืองเมื่อเกิดคอร์รัปชันไม่จำเป็นว่ารัฐประหารต้องเกิดตามมาเสมอไป ในอารยประเทศเมื่อมีปัญหาคอร์รัปชันเขาก็แก้ด้วยวิธีอื่นๆ ได้ เช่น การตรวจสอบในสภา การตรวจสอบของนักวิชาการ สื่อ ใช้กระบวนการถอดถอน และ/หรือกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น หากจะใช้กฎอิทัปปัจจยตาอธิบายเหตุปัจจัยของรัฐประหาร ต้องจัดความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยให้ถูก เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดรัฐประหารอย่างจำเป็นคือระบบสังคม-การเมือง หรือระบบกฎหมายของรัฐที่เปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้ 2. พุทธศาสนาถือว่าทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ทุกข์หรือปัญหาในชีวิตและปัญหาทางการเมืองเป็นต้น ก็ย่อมมีสาเหตุเช่นกัน จะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ฉะนั้น หากจะออกจากปัญหาความขัดแย้งก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุให้ได้ แก้ที่ต้นเหตุ คือแก้เรื่องอำนาจนอกระบบและรัฐประหาร แล้วปัญหาคอร์รัปชันไม่แก้หรือ แก้ครับ ต้องแก้ทุกวัน แก้ไปเรื่อยๆ เหมือนแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นต้น แต่ต้องไม่แก้ด้วยวิธีรัฐประหาร เพราะเราไม่รู้ว่าปัญหาคอร์รัปชันจะหมดไปเมื่อใด เหมือนกับไม่รู้ว่าปัญหาเศรษฐกิจจะหมดไปเมื่อใด และก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจะไม่คอร์รัปชัน หรือจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจเก่งกว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือก 3. การแก้ที่อำนาจนอกระบบและรัฐประหารมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นต้องแก้ปัญหาที่รัฐประหารก่อขึ้น คือ 1) การทำลายระบบนิติรัฐด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดการทำลายระบบนิติธรรมตามมาด้วยการสร้าง “ระบบสองมาตรฐาน” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเอาผิดนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม แต่ช่วยเหลือนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตัวเองอย่างน่าเกลียด ทั้งในกรณีคดียุบพรรคและการไม่ต้องรับผิดต่อการสลายการชุมนุมที่ผิดหลักสากล จนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องแก้สองเรื่องหลักๆ คือ ก) คืนสิทธิที่จะต่อสู้ในคดีความต่างๆ แก่นักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินการเอาผิดจากกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีสิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่ฝ่ายรัฐประหารเป็นโจทย์กล่าวหาเอง สืบสวนสอบสวนเอง ส่งฟ้องเอง ตัดสินเอง ข) มีกระบวนการที่เป็นกลางไต่สวนหาข้อเท็จจริงและเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกรณีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 (โดยต้องพิจารณาความผิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมาย) 2) ส่วนระยะยาว ต้องมีคณะกรรมการพิจารณาการจัดวางระบบกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์และกองทัพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นแนวทางปกป้องสถาบันให้อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง ให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกอย่างแท้จริง และจะเป็นการปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร 4. หยุดการการตีความพุทธศาสนาเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ เช่น การอ้างอิงคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร ไม่ควรอ้างอิงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ “ยอพระเกียรติ” เท่านั้น ดังประเพณีที่ทำตามๆ กันมา ต้องซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมดังกล่าวโดยกล้าหาญที่จะอ้างอิงว่า หลักทศพิธราชธรรมคือหลักการตรวจสอบผู้มีอำนาจว่าได้ใช้อำนาจนั้นถูกทำนองคลองธรรมหรือไม่ ไม่ใช่หลักสำหรับสนับสนุนว่ามีบางอำนาจที่สมควรตรวจสอบไม่ได้ 5. การอ้างพุทธศาสนานั้น ต้องกล้าชี้ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างด้วย ไม่ใช่เพียงเตือนสติให้คนละโลภ โกรธ หลง หรือเป็นกลางแบบลอยตัวเหนือปัญหาเท่านั้น โครงสร้างอำนาจนอกระบบที่เป็นสาเหตุให้เกิดรัฐประหารนั้น หากพิจารณาตามหลักการพุทธศาสนาย่อมเป็น “โครงสร้างอยุติธรรม” ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข หรือแทนที่ด้วยโครงสร้างที่ยุติธรรมที่อยู่บนหลักเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นคน จะว่าไปแล้ว หลักกรรมในพุทธศาสนานั้น คือ “หลักความเสมอภาคทางศีลธรรม” ในความหมายว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง “ใครทำดีย่อมได้รับผลดี ใครทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว” โดยหลักการนี้หากนำมาประยุกต์ใช้ในทางกฎหมายก็เท่ากับว่า “ทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย” ฉะนั้น จึงไม่มีใครที่ทำผิดแล้วสมควรได้รับการยกเว้การเอาผิดตามกฎหมายภายใต้ “มาตรฐานเดียวกัน” นอกจากนี้หลักกรรมยังเป็นหลักที่ยืนยัน “ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์” ในความหมายว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกการกระทำ และเมื่อใช้เสรีภาพในการเลือกย่อมต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำนั้นเสมอ ฉะนั้น หลักคิดดังกล่าวจึงสนับสนุนหลักการมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หลักกรรมที่อธิบายว่า “คนเราเกิดมาต่างกัน มีฐานะทางสังคมต่างกัน ควรได้รับการปฏิบัติต่างกัน โดยกฎหมายและโดยวิธีอื่นๆ เพราะทำกรรมมาต่างกันในอดีตชาติ” นั้น ต้องดูว่าเป็นการตีความตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ หรือไม่ และต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของการตีความหลักกรรมในความหมายดังกล่าวด้วยว่า มีวัตถุประสงค์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร สำหรับผมเห็นว่า การตีความหลักกรรมในความหมายที่ยืนยันความเสมอภาคทางศีลธรรม และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ น่าจะสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าสอนมากกว่า (ถึงแม้ไม่ตรงทั้งหมด แต่ก็มีประโยชน์ต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากกว่า) 6. สุดท้าย ผมคิดว่าพุทธศาสนาไม่ได้มองชีวิตและโลกสมบูรณ์แบบ สัจธรรมข้อแรกคือ “ทุกข์” ในอริยสัจสี่นั้น คือการยืนยันความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตและโลกในความเป็นจริง ซึ่งหมายความว่าชีวิตและโลกในความเป็นจริง ไม่ว่าในมิติของปัจเจก สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ มีปัญหา มีข้อบกพร่องต่างๆ ให้เราต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแก้ไขไปเรื่อยๆ บางเรื่องอาจเป็นไปได้ที่จะแก้ไขได้เสร็จสิ้น บางเรื่องอาจต้องเรียนรู้และแก้ไขอยู่ร่ำไป ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงชี้แนะให้เราเปิดกว้างที่จะเรียนรู้และเลือกใช้ความคิดและวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ แบบ เพื่อให้เลือกใช้ความคิดและวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงไม่ปฏิเสธวิถีทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในทางสังคม-การเมือง เพราะพุทธศาสนายืนยันวิธีแก้ปัญหาด้วยปัญญามากกว่าวิธีแก้ปัญหาด้วยอำนาจ แน่นอนว่าวิถีทางประชาธิปไตยเป็นวิถีทางที่ใช้ปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าวิถีทางเผด็จการ ฉะนั้น ภายใต้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงกว่า 5 ปี มานี้ เราจำเป็นต้องหาทางออกจากปัญหาให้ได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหารัฐประหาร และกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหาร รวมถึงปัญหาการจัดวางสถานะ อำนาจ และบทบาทของอำนาจนอกระบบและกองทัพ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยปัญญาที่ยึดโยงอยู่กับหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น และสำหรับพุทธศาสนา การเดินตามหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง คือความหมายของการตัดสินใจที่เรียกว่ามี “ธรรมาธิปไตย” หรือการตัดสินใจอย่างยึด “ความถูกต้อง” เป็นใหญ่ ในบริบทของสังคม-การเมืองยุคปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net