อภิชาต สถิตนิรามัย: สิทธิเลือกตั้ง เงินซื้อเสียง ใครโง่ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้จะอธิบายว่า ทำไม "ชนชั้นกลางระดับล่าง" หรือ "ชาวบ้าน" จึงให้ความสำคัญกับสิทธิการเลือกตั้ง

0 0 0 0 0

กล่าวอ้างได้ว่า ความแตกต่างระหว่างการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กับการรัฐประหารทุกครั้งก่อนหน้านี้ คือการที่ "ชาวบ้าน" ออกมาปกป้องสิทธิการเลือกตั้ง บทความนี้จะอธิบายว่า ทำไม "ชนชั้นกลางระดับล่าง" หรือ "ชาวบ้าน" จึงให้ความสำคัญกับสิทธิการเลือกตั้ง

หากเราถือว่าผู้มีรายได้ต่อคนต่อเดือนมากกว่า 5,000 บาทขึ้นไปในปี 2552 (เส้นความยากจนด้านรายได้เท่ากับ 1,443 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2550) เป็นชนชั้นกลางแล้ว พบว่ามี 2 กลุ่มอาชีพ คือ เกษตรกร และแรงงานไร้ฝีมือ (ประมาณ 32% ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงจาก 55% ในปี 2529) เท่านั้นที่ไม่ใช่ชนชั้นกลาง โดยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 3,214 บาท ในขณะที่อาชีพการค้าและบริการ (20%) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นชนชั้นกลางระดับล่างสุดมีรายได้ 5,828 บาท (พอ ๆ กับรายได้ของคนงานภาคการผลิตในอุตสาหกรรม) หรือสูงกว่าเกษตรกรเกือบสองเท่า แต่ยังต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยต่อคน (6,239 บาท) กลุ่มการค้าและบริการนี้เพิ่มจาก 10% เศษในปี 2529 เป็น 20% ในปี 2552 ที่น่าสนใจคือกลุ่มอาชีพนี้มีแนวโน้มกระจายตัวออกจากเขตเมืองไปสู่เขตชนบท และกระจายตัวออกจาก กทม.ไปทุกภูมิภาค

ด้านการออมนั้น สัดส่วนของครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมลดลงจาก 48% ในปี 2531 เป็น 25% ในปี 2552 (คิดเป็น 5 ล้านครัว) ในส่วนครัวเรือนที่มีเงินออมนั้น ออมเพิ่มขึ้น 10-12 เท่า จาก 507 บาท 5,145 บาทต่อเดือน แต่หากแบ่งประชากรทั้งหมดออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% แล้ว กลุ่มที่จนสุดยังคงมีการออมติดลบในปี′52 ส่วนกลุ่มที่จนรองลงมาเริ่มมีอัตราการออมเป็นบวกตั้งแต่ปี 2550 สรุปคือประมาณ 75% ของประชากรมีเงินออมในปัจจุบัน เมื่อคนส่วนใหญ่มีการออมเพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่ความมั่งคั่งในรูปสินทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มที่จนที่สุดด้วย

ด้านภาระหนี้สินพบว่า สัดส่วนหนี้นอกระบบมีน้อยมากเพียง 3.4-8.7% ในช่วงปี 2549-2552 ทั้ง ๆ ที่สัดส่วนคนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 41% ในปี 2537 เป็น 60% ปี 2552 แต่หนี้ส่วนใหญ่ (60-66%) เป็นหนี้เพื่อการลงทุนในช่วงหลังจากปี 2547 ในขณะที่ภาคอีสานและภาคเหนือมีสัดส่วนผู้เป็นหนี้สูงสุด (72%, 62%)

สรุปแล้ว แม้ชีวิตทางเศรษฐกิจทุกซอกมุมของสังคมไทยจะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาด เนื่องจากมีวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบตลาด แต่คนส่วนข้างมากของสังคมซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับล่างขึ้นไป มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงขึ้น สามารถรองรับความไม่แน่นอน (uncertainty) ทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ในขณะที่ครัวเรือนเกษตรกร แรงงานไร้ฝีมือ และคนจนกลายเป็นชนข้างน้อย 

แม้เมื่อพิจารณากลุ่มเกษตร ซึ่งไม่สามาถจัดเป็นคนชั้นกลางระดับล่างได้ พบว่ามีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากกลุ่มชนอื่น เขาผลิตภายใต้ตรรกะของกลไกตลาดอย่างเข้มข้นเช่นกัน ในแง่นี้เขาก็ใช้วิธีคิดแบบ calculative ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณราคาเฉกเช่นเดียวกับผู้คนในภาคการผลิตอื่น ๆ ในฐานะผู้ประกอบการด้านเกษตร เขาต้องคาดการณ์ราคาพืชที่จะปลูกล่วงหน้า คำนวณต้นทุนปัจจัยการผลิต เพื่อที่จะเลือกปลูกหรือเลือกไม่ปลูกพืชชนิดใด และเนื่องจากอาชีพนี้มีความไม่แน่นอนสูงทั้งด้านราคาผลผลิตและเงื่อนไขการผลิต จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามชาวไร่-ชาวนาต่างบริหารความไม่แน่นอนเหล่านี้ผ่านวิธีการ เช่น กระจายชนิดพืชที่ปลูก พูดอีกแบบคือจะไม่ปลูกพืชไร่ชนิดเดียวเท่านั้นบนที่ดินของตน 

อีกตัวอย่างคือ อาจปลูกข้าวไว้บริโภคเองด้วยเพื่อเป็นหลักประกันความไม่แน่นอน ทั้ง ๆ ที่หากปลูกพืชไร่ทั้งหมดอาจให้ผลตอบแทนสูงกว่า การคำนวณกำไร-ขาดทุนและการบริหารความไม่แน่นอนเหล่านี้สะท้อนว่า เกษตรกรใช้วิธีคิดทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากผู้คนในภาคการผลิตอื่น ๆ แน่นอนว่ารายได้ของเกษตรกรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภาคการผลิตอื่น ทำให้เขาขาดหรือมีเงินออมน้อยกว่าที่จะรองรับความไม่แน่นอนได้ดีเท่าผู้อื่น เมื่อเหตุการณ์ด้านลบเกิดขึ้น เขาย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่ข้อมูลชี้ว่าสัดส่วนคนน้อยกว่า 9% เท่านั้นที่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ในแง่นี้แม้แต่เกษตรกรก็มีเครื่องมือในการจัดการความไม่แน่นอนดีขึ้น 

หากความหมายของระบบอุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจ คือ การที่ผู้ยากจนต้องพึ่งพาผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ด้านลบ (adverse shock) ซึ่งเขาต้องตอบแทนกลับในหลายรูปแบบ รวมทั้งการลงคะแนนเสียงทางการเมืองแล้ว การที่ชนส่วนใหญ่ของสังคมกลายเป็นชนชั้นกลาง หรือแม้แต่ชาวนา ซึ่งฐานะต่ำกว่าก็มีเครื่องมือในการจัดการกับความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น สิ่งนี้มีนัยว่าการพึ่งพิงเครือข่ายอุปถัมภ์อาจลดลง 

การผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตภายใต้กลไกตลาด ย่อมกล่อมเกลาให้ผู้คนมีวิธีคิดแบบ calculative ในทางเศรษฐกิจ บทความนี้เชื่อว่าชาวบ้านใช้วิธีคิดเช่นนี้กับปริมณฑลทางการเมืองเช่นกัน การเมืองท้องถิ่นระดับ อบต.-เทศบาลมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2546 และการพึ่งพิงเครือข่ายอุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจที่น้อยลง ทำให้ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ทั้งหมดนี้อาจหมายความว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง (เงินซื้อเสียง ผลงานของนักการเมือง ฯลฯ กับเสียงสนับสนุน) มีทิศทางที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านมากขึ้น 

พูดอีกแบบคือ การกระจายอำนาจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาให้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในสายตาชาวบ้าน รวมทั้งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เมื่อประกอบกับการที่พรรคไทยรักไทยตอบแทนคะแนนเสียงของชาวบ้านด้วยนโยบายประชานิยมตั้งแต่ปี 2544 แล้ว คงอ้างได้ว่า ประชาธิปไตยในสายตาชาวบ้านนั้นอย่างน้อยต้องมีความหมายว่า เขาคือผู้มีสิทธิในการกำหนดตัวผู้บริหารของเขา ดังนั้นการรัฐประหาร 2549 จึงขาดความชอบธรรมในสายตาของชาวบ้าน

จากตรรกะข้างต้น การซื้อเสียงซึ่งขาดไม่ได้ในทุกระดับการเลือกตั้ง คงไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะชาวบ้านเป็นคนยากจน อยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ และขาดวิธีคิดที่ซับซ้อน แต่อาจหมายถึงเพราะการที่ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้และคิดแบบ calculative ต่างหาก ในขณะที่เขาก็ตระหนักดีด้วยว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินยังคงสูงมาก เขาจึงต่อรองในทุกระดับและทุกรูปแบบกับนักเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดในระหว่างการเลือกตั้ง และโครงการที่ "กินได้" ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง และเขารู้ดีว่าเครื่องมือที่มีประสิทธิผลที่สุดในการกระจายรายได้และทรัพย์สินก็คือ การเลือกตั้งที่ทุกคนมี 1 เสียงเสมอหน้ากัน เพราะเขาคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม

............................
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท