Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายหลังจากที่น้องไตเติ้ล เด็กชายวัย 3 เดือน ซึ่งถูกคนร้ายลักพาตัวไปจากแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้ตัวน้องไตเติ้ลกลับคืนมาภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืนก็ตาม กลับเกิดคำถามมากมายตามมาว่า เหตุใดสถานที่ที่น่าจะปลอดภัยที่สุดอย่างโรงพยาบาล กลับกลายเป็นสถานที่อันตรายที่สุดที่เด็กจะถูกลักพาตัว ทั้งยังมีคำถามตามมาว่า ปลายทางของการลักพาตัวเด็ก จะเอาเด็กไปทำอะไร และนี่คือ ขบวนการค้ามนุษย์ใช่หรือไม่ – มูลนิธิกระจกเงา จะพาท่านร่วมถอดรหัส “ลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาล” ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ตำนานคดีสะเทือนใจพ่อแม่-ลักเด็กแฝดที่ลพบุรี เดือนมิถุนายน 2550 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนเป็นพ่อแม่ เมื่อมีคนร้ายลักพาตัวเด็กแฝดวัยเพียง 2 วัน จากโรงพยาบาลลพบุรี โดยคนร้ายแต่งตัวด้วยชุดกาวน์คล้ายผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ก่อนก่อเหตุลักพาตัวแฝดผู้น้องที่นอนอยู่ในห้องคลอดไป ทิ้งแฝดผู้พี่ไว้ให้แม่ดูต่างหน้า คดีนี้มีแนวทางในการสืบสวนข้อเท็จจริงอยู่หลายประเด็น ทั้งในด้านเหตุภายในครอบครัว เหตุส่วนตัวระหว่างแม่เด็กและภรรยาอีกคนของพ่อเด็ก แม้ว่าการสืบสวนในระยะแรกจะหลงประเด็นไปจนออกหมายจับผู้กระทำความผิดผิดตัวก็ตาม โชคดีที่คดีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งตำรวจนักสืบฝีมือดีออกไล่ล่าและสืบสวนข้อเท็จอย่างเอาเป็นเอาตาย จนกระทั่งพบข้อมูลบางประการอันนำไปสู่การที่ตำรวจจับคนร้ายพร้อมเด็กที่ถูกลักพาตัวได้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้เวลาในการติดตามตัวเด็กถึง 7 วัน นี่เป็นตำนานคดีแรกในรอบ 7 ปีเหตุการณ์ลักพาตัวเด็ก สดๆ ร้อนๆ ในรอบปี 2554 กลางโรงพยาบาลดัง 13 กุมภาพันธ์ 2554 ห้องพักฟื้นผู้ป่วยคลอด กลางโรงพยาบาลขอนแก่น กลายเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่มีคนร้ายบุกเข้ามาลักพาตัวเด็กวัยเพียง 2 วันถึงเตียงนอน โดยผู้กระทำผิดเป็นหญิงวัยกลางคน อายุประมาณ 35-40 ปี รูปร่างอ้วน ผิวคล้ำ รวบผม สูงประมาณ 160 ซม.สวมเสื้อสีขาวดำ สวมเสื้อนอกสีขาวทับ กางเกงขาสั้นถึงเข่า ทำทีเป็นญาติของผู้ป่วย เดินเข้าอุ้มเด็กจากเตียงออกไปทางประตูด้านหลังโรงพยาบาล ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่เบาะแสแน่ชัดในการติดตามตัวเด็ก จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งรางวัลเบาะแสนำจับถึง 1 แสนบาท !!! ล่าสุด 30 พฤษภาคม 2554 ห้องโถงผู้ป่วยนอก กลางโรงพยาบาลราชวิถี เกิดเหตุคนร้ายลักพาตัวเด็กชายวัย 3 เดือน โดยผู้กระทำผิดทำทีตีสนิท อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิทำงานด้านเด็ก ก่อนจะขออุ้มเด็กและอาศัยจังหวะแม่เด็กเผลอลักพาตัวเด็กไปในที่สุด เดชะบุญได้ตัวเด็กกลับคืนมาอย่างปลอดภัย โดยกระบวนการกดดันผู้กระทำผิดบางอย่างจนต้องนำเด็กมาส่งคืน!!!! 7 ใน 10 เด็กทารกหาย-ถูกลักพาตัวในโรงพยาบาล ย้อนรอยตำนาน 7 ปีหลังสุดการลักพาตัวเด็กเด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ทั้งสิ้น 10 ราย ดังนี้ ลำดับ วันเกิดเหตุ อายุเด็ก สถานที่เกิดเหตุ วิธีการ จุดประสงค์ การพบตัว 1 ต.ค. 48 11เดือน (หญิง) หน้าบ้านเด็ก ท้องที่ สน.พระโขนง ปลอมเป็นหมอดูทำนายชะตาเด็กและอุ้มหนี ยังไม่ชัดเจนให้การเพียงว่าจะนำไปขายเป็นบุตรชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามกดดันจนยอมนำมาคืน 2 ต.ค. 49 6 เดือน (หญิง) ในบ้านของเด็ก ท้องที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ปลอมเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ยังไม่ชัดเจนให้การเพียงว่าจะนำเด็กไปเลี้ยง เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามกดดันจนยอมนำมาคืน 3 เม.ย. 49 2 วัน (หญิง) ร.พ.ลพบุรี แต่งชุดคล้ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ต้องการนำเด็กไปเลี้ยงดู พบที่โรงพยาบาลจ.ศรีสะเกษ เนื่องจากพยาบาลสงสัยว่าคนพาเด็กมารักษาไม่ใช่แม่ 4 มิ.ย. 50 1 วัน (ชาย) ร.พ.ประชาธิปัตย์ จ.ปทุมธานี เพิ่งเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ร.พ.ได้ 1 วัน ให้การสับสนคล้ายป่วยทางจิต ครอบครัวติดตามไปพบหน้าโรงพยาบาลในขณะเกิดเหตุ 5 ธ.ค. 50 1 วัน (หญิง) ร.พ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ทำทีตีสนิท ขออุ้มเด็กแล้วจึงลักพา ต้องการเด็กไปเลี้ยงเนื่องจากแท้งลูก ติดตามจากเบาะแสหญิงที่คลอดแล้วแท้ง 6 มี.ค. 51 1 วัน (ชาย) ร.พ.ถลาง จ.ภูเก็ต เข้าไปลักในห้องคลอด ผู้ต้องหาหลบหนีไปได้ พบที่โรงพยาบาลจ.กระบี่ เนื่องจากพยาบาลสงสัยว่าคนพาเด็กมารักษาไม่ใช่แม่ 7 ก.ค. 53 15 วัน (หญิง) หน้าบ้านเด็กที่จังหวัดสุพรรณบุรี ลักพาตัวจากในบ้านขณะคนในบ้านเผลอ ต้องการเลี้ยงเพราะอ้างกับสามีว่าท้อง นำเด็กมาส่งคืนใกล้บ้าน 8 ธ.ค. 53 1 วัน (หญิง) ร.พ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร ทำทีตีสนิทเป็นญาติคนไข้และอุ้มเด็กจากห้องคลอด ต้องการนำเด็กไปเลี้ยงดู เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนติดตาม 9 ก.พ. 54 2 วัน (หญิง) ร.พ.ขอนแก่น ทำทีตีสนิทเป็นญาติคนไข้และอุ้มเด็กจากห้องคลอด ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ที่ชัดเจน ยังไม่พบตัวเด็กและยังไม่มีเบาะแสเพิ่มเติม 10 พ.ค.54 3 เดือน (ชาย) ร.พ.ราชวิถี อาจเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ขออุ้มเด็กและลักพาไป ต้องการนำเด็กไปเลี้ยงดู นำเด็กมาส่งคืน ใคร คือ คน ลักพาตัวเด็ก ? การถูกลักพาตัวของเด็กทารก ทั้ง 10 ราย พอจะวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของคนลักพาตัวเด็กได้ว่า เป็นคนที่ต้องการมีลูกเป็นของตัวเอง แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยสาเหตุต่างๆ โดยผู้ก่อเหตุทั้งหมดเป็นผู้หญิง ซึ่งมีท่าทีปกติ และดูเหมือนจะรักเด็กเป็นพิเศษ นอกจากนี้กลุ่มที่ลักพาตัวเด็กทารก ยังอาจเป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งมีความต้องการเด็กไปเลี้ยง และตัดสินใจที่จะหาเด็กไปเลี้ยงโดยวิธีการขโมยไปจากพ่อแม่!!! นอกจากนี้กลุ่มคนที่แท้งลูกก่อนคลอดไม่นาน ก็อาจจะเป็นผู้ที่ตัดสินใจก่อเหตุลักพาตัวเด็กทารก เนื่องจากยังทำใจไม่ได้ที่ลูกของตัวเองเสียชีวิตในครรภ์ และตั้งความหวังไว้สูงว่าจะได้เลี้ยงลูก แต่ปรากฏว่า แท้งเสียก่อน จึงลงมือก่อเหตุลักพาตัวเด็ก ผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนมีฐานะ เพราะพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิด หลายราย ไม่มียานพาหนะส่วนตัว โดยหลังจากการก่อเหตุ มักจะโดยสารรถสาธารณะหรือรถรับจ้าง เด็กทารกคนไหนจะถูกลักพาตัว เด็กที่จะถูกลักพาตัว อาจขึ้นอยู่กับโอกาสของผู้กระทำความผิดและการดูแลเอาใจใส่ในระหว่างเด็กอยู่ในโรงพยาบาล จากสถิติพบว่าเด็กทารก 10 รายที่ถูกลักพาตัวในรอบ 7 ปีมานี้ เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย โดยมีอายุตั้งแต่ 1 วันถึง 11 เดือน ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กย่อมมีความน่ารักอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เด็กทุกคนมีความเสี่ยงในการถูกลักพาตัว ทั้งนี้ ที่เกิดเหตุมักเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีคนไข้ และญาติคนไข้เข้าออกจำนวนมาก ลักพาตัวเด็กทารกไปทำอะไร ถ้าจับประเด็นเฉพาะการลักพาตัวเด็กทารก ไม่นับการซื้อขายเด็กทารกจากแม่ที่ตั้งใจขายลูกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จะพบว่า สมมุติฐานเดิมที่สังคมเคยตั้งกันไว้ว่า การลักพาตัวเด็กทารกในประเทศไทย น่าจะเป็นการค้ามนุษย์ จับเอาเด็กไปตัดแขนตัดขาเพื่อขอทาน ไม่เป็นความจริง !!! เพราะเด็กขอทานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ถูกนำพาเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่การลักพาตัวเด็กไทยเพื่อให้ขอทาน เพราะเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน มีเยอะและนำเข้าง่ายกว่าการลักพาตัวตามโรงพยาบาล จากประสบการณ์เด็กทารกถูกลักพาตัวทั้ง 10 ราย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การลักพาตัวเด็กทารกเป็นไปเพื่อการนำเด็กมาเลี้ยงดู ทั้งจากความเสน่หา ความรักใคร่ชอบพอเด็ก และผู้กระทำผิดประสงค์จะมีลูกเป็นของตัวเอง แต่ให้กำเนิดบุตรไม่ได้ ทำไมต้องโรงพยาบาล เด็กทารก 7 ราย จาก 10 ราย ที่หายตัวไป ถูกคนร้ายลักพาตัวไปจากโรงพยาบาล คำถามคือ ทำไมต้องลักพาเด็กในโรงพยาบาล จากการวิเคราะห์สภาพข้อเท็จจริงและวิธีการลักพาตัวเด็กของผู้กระทำความผิด พบว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่เปิด ซึ่งมีคนเข้านอกออกในจำนวนมาก ประกอบกับบุคลากรในสถานพยาบาลมีอย่างจำกัด ทำให้การดูแลด้านความปลอดภัยมีไม่ทั่วถึง นอกจากนี้โรงพยาบาลยังน่าจะเป็นแคตตาล็อคชั้นดี ที่ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกเด็กได้ ว่าจะลักพาตัวเด็กคนไหน เพราะมีเด็กจำนวนมากให้เลือก ทั้งเด็กแรกคลอดและเด็กที่มารักษาพยาบาล เนื่องจากภาพจากกล้องวงจรปิดและคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ เห็นตรงกันว่า ผู้กระทำความผิด มักเดินเข้าออกในห้องคลอดหรือบริเวณที่จะลักพาตัวเด็กหลายครั้ง เพื่อสังเกตเด็กตามเตียงต่างๆ ที่สำคัญ คือ เมื่อคนร้ายลงมือลักพาตัวโดยการอุ้มเด็กจากพื้นที่เกิดเหตุ ไม่ว่าเด็กจะหลับหรือเด็กจะร้องไห้ทุกคนในโรงพยาบาล ก็คงคิดเหมือนกันว่าเป็นแม่เด็ก หรือญาติของเด็ก ดังนั้น คนร้ายจึงสามารถอุ้มเด็กเดินออกจากโรงพยาบาลได้โดยง่าย วิธีการลักเด็กทารก ก่อการลงมือก่อเหตุลักพาตัวเด็กของผู้กระทำความผิด มีการวางแผนและวิธีการเสมอ ดังนั้น ผู้กระทำความผิดจะเข้ามาหาเด็กในรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น การปลอมเป็นบุคคลกรทางการแพทย์ อันนี้จะแนบเนียนและตบตาญาติเด็กมากที่สุด เพราะน่าไว้วางใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือทำทีเป็นญาติของคนไข้รายอื่นๆ ซึ่งจะตบตาเจ้าหน้าที่ในการเดินเข้านอกออกในห้องผู้ป่วยได้โดยง่าย ผู้กระทำความผิดบางคนเดินเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จนเจ้าหน้าที่คุ้นหน้าและคิดว่าเป็นญาติที่มาเฝ้าไข้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ในรายล่าสุดที่โรงพยาบาลราชวิถี ยังแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็กอ่อนเพื่อมาช่วยอุ้มเด็กขณะรอตรวจรักษา จะเห็นว่าผู้กระทำความผิดลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาล มักปลอมเป็นคนที่อยู่ในโรงพยาบาลอย่างแนบเนียน ทั้งบุคคลกรทางการแพทย์ ญาติคนไข้ และ อาสาสมัครในโรงพยาบาล ซึ่งตบตาผู้เสียหายได้แนบเนียน และญาติแทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ใครคือตัวจริง ตัวปลอม นอกจากการสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น พยายามตื้อขออุ้มเด็ก หรือเดินเข้าออกห้องผู้ป่วยเพื่อมาดูเด็กตามเตียงต่างๆ หลายครั้ง เป็นต้น ทำอย่างไรถึงได้เด็กคืน เด็กทารก 9 คนจาก 10 คนที่ถูกลักพาตัว โชคดีที่ได้ตัวกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย มีเพียงกรณีลักพาตัวเด็กในโรงพยาบาลที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นปี 2554 เท่านั้นที่ยังไม่ได้ตัวคืน การได้ตัวเด็กคืนมีด้วยกันหลากหลายวิธี พบว่า วิธีที่ส่งผลต่อการนำตัวเด็กมาคืนโดยผู้กระทำความผิดมากที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด ที่จับภาพผู้กระทำความผิดได้ และภาพที่พ่อแม่เด็กขอร้องวิงวอนผ่านสื่อมวลชน ทำให้ผู้กระทำความผิดมักใจอ่อน ยอมนำเด็กมาคืน เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผู้กระทำความผิดมีจิตใจรักเด็ก ไม่ได้มุ่งหวังการทำร้ายร่างกายหรือหวังผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน ดังนั้น เมื่อนำเด็กไปจึงพยายามเลี้ยงดูอย่างดี และเมื่อผู้กระทำความผิดเห็นภาพของตัวเองและภาพของพ่อแม่เด็กที่ร่ำไห้ ผู้กระทำความผิดมักจะใจอ่อน สุดท้ายจะนำเด็กมาคืนโดยวิธีการต่างๆ ส่วนใหญ่จะนำเด็กมาวางคืนไว้ตามที่ต่างๆ ใกล้ที่เกิดเหตุ การสืบสวนติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสืบข้อเท็จจริงจากปมปัญหาภายในครอบครัวของผู้เสียหายก่อน ทั้งเรื่องการแย่งความปกครองบุตร หรือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างครอบครัวเด็กกับบุคคลภายนอก หลังจากนั้นจึงตั้งข้อสันนิษฐานในประเด็นอื่นๆ ต่อไป แต่ต้องไม่หลงทางว่าเป็นกลุ่มแก๊งค์ค้ามนุษย์ เพราะกลุ่มค้ามนุษย์ไม่มีแผนประทุษกรรมในการลักพาตัวเด็กจากโรงพยาบาลมาก่อน นอกจากนี้พบว่า เมื่อผู้กระทำความผิดก่อเหตุแล้ว มักจะต้องพาเด็กไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาล เนื่องจากเด็กทารกเพิ่งเกิดได้ไม่มีวัน มีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ยิ่งถ้าต้องเดินทางโดยรถประจำทางข้ามจังหวัด อาจทำให้เจ็บป่วย ผู้กระทำความผิดจำเป็นต้องพาเด็กเข้ารับการรักษา จึงทำให้บุคคลกรทางการแพทย์ในการโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีไหวพริบดี สังเกตเห็นว่า น่าจะไม่ใช่แม่เด็ก ทั้งการเลี้ยงดู การอุ้ม การให้นม หรือพฤติกรรมส่วนตัวต่างๆ ที่แสดงออกมาแบบลับๆ ล่อๆ ก็จะทำให้บุคคลกรทางการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็ก เพราะเหตุสงสัยและเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ ดังนั้น กระทรวงสาธารณะสุขจำเป็นต้องส่งประกาศและข้อมูลเด็กถูกลักพาตัว และวิธีการสังเกตพิรุธของผู้กระทำผิด ตลอดจนขั้นตอนแนวทางปฏิบัติเมื่อพบเหตุสงสัยว่าคนพาเด็กมารักษาไม่ใช่แม่เด็กว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ถึงเวลาศูนย์ติดตามคนหายของรัฐเสียที เด็กถูกลักพาตัวหลายกรณี ตำรวจทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เช่น กรณีที่ขอนแก่น พบว่ามีความพยายามทำงานสืบสวนหลายวิธี แต่ก็ยังไร้เบาะแส แต่หลายกรณีพบว่าตำรวจยังเดินตามหลังนักข่าวต้อยๆ ช้ากว่าหน่วยงานอื่นๆ และขาดองค์ความรู้ในการวิเคราะห์ผู้กระทำความผิด วันนี้ต้องบอกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่รู้ว่าเด็กถูกลักพาตัวเอาไปเพื่ออะไร ลักแล้วไปไหนต่อ หลายครั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ยังให้สัมภาษณ์ว่าเด็กถูกลักพาตัวโดยแก๊งค์รถตู้ไปตัดแขนตัดขาเพื่อขอทาน ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง การมีศูนย์ติดตามคนหายของหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งแผนประทุษกรรมผู้กระทำผิด และแนวทางที่ชัดเจนในการสืบค้นหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น และรัฐต้องไม่ตั้งรับกับปัญหา แม้ประชาชนไม่ได้แจ้งรัฐโดยตรง เพราะตอนเกิดเหตุพ่อแม่อยู่ในภาวะตายทั้งเป็น ร้อนรุ่มวุ่นวายในการตามหาลูก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งจะรับภารกิจเรื่องรับแจ้งคนหายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จำเป็นที่จะต้องออกโรงมาร่วมด้วย ทั้งแง่การดูแลสภาพจิตใจครอบครัว การประสานงานหน่วยงานต่างๆ หรือถ้าทำเองไม่ได้ด้วยปัจจัยด้านบุคคลกร ความเชี่ยวชาญและอำนาจตามกฎหมาย ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายด้วยกัน นี่อาจจะเป็นแนวทางตั้งรับในเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net